Skip to main content
sharethis

‘สายัณห์ ข้ามหนึ่ง’ เป็นชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ที่เติบโตมาพร้อมกับการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขาเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านในฐานะกลุ่มเยาวชนตะกอนยมตั้งแต่วัย 10 ขวบ จนถึงบัดนี้ผ่านไปนับ 20 ปี เขายังคงเป็นฟันเฟืองหนึ่งของชุมชนที่ยังยืนหยัดต่อสู้ ในนามกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า และยิ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่สุโขทัย ลงไปถึงภาคกลางและกรุงเทพฯ ยิ่งมีหลายคนเริ่มนึกถึงโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาโดยพลัน สายัณห์ ข้ามหนึ่ง ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ นายสายันห์ กล่าวว่า ถ้าได้ข่าวเรื่องของน้ำท่วมก็ต้องนึกถึงแก่งเสือเต้น ตอนที่ผมอายุ 10 ขวบมีกระแสเรื่องของแก่งเสือเต้น มาเกือบ 20 ปี โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ผ่านมาถึงตอนนี้ก็ 30 ปีมาแล้วคิดว่าปัญหาเขื่อน เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ถ้าแก่งเสือเต้นสามารถมีการสร้างได้ เชื่อว่าหลายๆ เขื่อนก็สามารถสร้างได้ “ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐอ้างมาโดยตลอดว่า น้ำยม เป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะในขณะนี้ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่านมีเขื่อนขนาดใหญ่หมดแล้ว เหลือแต่แม่น้ำยมสายเดียว ที่ยังไม่มีเขื่อน แต่ก็นั่นแหละ ทางรัฐก็มีความพยายามที่จะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้” และเมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ในขณะนี้ เชื่อว่าหลังจากนี้ อาจมีหลายฝ่ายมักฉวยสถานการณ์ออกมาแอบอ้างเหตุผลที่ต้องมีการสร้างเขื่อนทุกครั้งไป นายสายันห์ บอกย้ำในเรื่องนี้ว่า หลายครั้งที่มีการอ้างว่า การสร้างเขื่อนเป็นเรื่องของการป้องกันน้ำท่วม แต่ตอนนี้เขาก็คงไม่สามารถพูดได้ เพราะว่าปัญหาหลักที่น้ำท่วมในภาคกลางและกรุงเทพฯในขณะนี้ ก็คือ “เพราะการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงไปนั่นเอง” “เพราะฉะนั้น ทางเลือกในการจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากร น่าจะมีหลายอย่าง ไม่ใช่จะเป็นเรื่องของเขื่อนอย่างเดียว และผมคิดว่า เรื่องเขื่อนนี้เป็นปัญหา เป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่ใช่เรื่องคนในพื้นที่จะสู้กันเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องเอาคนจากข้างนอกเข้ามาร่วมด้วย” ตัวแทนชาวบ้านสะเอียบ กล่าว ใส่รูป ๒ พื้นที่ป่าสักทอง ทั้งนี้ นายสายันห์ ยังได้หยิบงานวิจัยจาวบ้าน ‘แม่น้ำยม ป่าสักทอง...วิถีชีวิตของคนสะเอียบ : งานวิจัยจาวบ้านที่แก่งเสือเต้น’ ซึ่งชาวบ้าน 4 หมู่บ้านในตำบลสะเอียบ ได้ร่วมกันทำงานวิจัยจาวบ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลการศึกษายืนยันกับฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อน ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยชาวบ้านที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่องัดง้างกับข้อมูลกลวงๆ และไม่เป็นจริง ของทีมศึกษาฯ ของกรมชลประทาน (ดาวน์โหลด แม่น้ำยม ป่าสักทอง.. วิถีชีวิตของคนสะเอียบ : งานวิจัยจาวบ้านที่แก่งเสือเต้น ปีที่ผลิต 2549) นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายองค์กรหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา หลายมหาวิทยาลัยได้พากันทำการวิจัยศึกษาเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายคนหลายฝ่ายเริ่มตาสว่างกันมากขึ้น เมื่อผลการศึกษาเหล่านั้นชี้ไปในทิศทางเดียว กัน คือไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือสร้างมาแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ว่ากรณี องค์การอาหารและการเกษตรโลกและกรมชลประทาน ระบุว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้เพียงร้อยละ 9.6 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยก็สรุปว่าในทางเศรษฐศาสตร์ เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ที่ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สรุปผลศึกษาว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรเสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในเมื่อผลการศึกษาทั้งหมดล้วนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ทว่าหากเสร็จศึกสงครามน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ผู้ใดยังหยิบยก ชง ยื่น เสนอ ขึ้นมาอีก นั่นอาจหมายถึงว่าผู้นั้นอาจวิตกจริต หรืออาจคิดแผนการใหญ่อะไรบางอย่างซ่อนเอาไว้ข้างในก็เป็นได้?! ข้อมูลที่น่าสนใจ (อ่าน ผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net