เผยแผนสร้าง ‘7อ่างเก็บน้ำ’ แก้ท่วมสงขลา ‘สื่อชายแดนใต้’ เข้ากรุงฯมอบของบริจาค

‘สื่อชายแดนใต้’เข้ากรุงฯมอบของบริจาค ‘สงขลา’ประชุมเตรียมรับมือภัยพิบัติ ชลฯเผยแผนสร้าง‘7อ่างเก็บน้ำ’แก้ท่วม ม.อ.ตานีส่งมัสมั่นไก่กระป๋องช่วยน้ำท่วม อุตุฯเตือนภาคใต้เตรียมรับน้ำท่วม กรมชลฯเร่งพร่องน้ำเขื่อนปัตตานี ผ.ศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับบริจาคเงินเพื่อจัดทำถุงยังชีพ ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี จะผลิตมัสมั่นไก่กระป๋อง บรรจุใส่ถุงยังชีพพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคมอบให้กับผู้ประสบภัยด้วย ร.ศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า มัสมั่นไก่กระป๋องที่ผลิตโดยศูนย์วิทยาศาสตร์อาหารฮาลาล ผ่านการแปรรูปและถนอมอาหารถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เก็บไว้บริโภคได้นานกว่า 2 ปี โดยไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถผลิตมัสมั่นกระป๋องได้วันละประมาณ 500 กระป๋อง โดยเริ่มผลิตเพื่อบรรจุถุงยังชีพรอบแรก วันที่ 29–30 ตุลาคม 2554 ประมาณ 1,000 กระป๋อง จากนั้นวันที่ 5–6 พฤศจิกายน 2554 จะผลิตมัสมั่นกระป๋องบรรจุถุงยังชีพรอบที่ 2 ส่วนรอบสุดท้ายจะผลิตวันที่ 12–13 พฤศจิกายน 2554 ขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแล้วประมาณ 50,000 บาท โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมทบเพิ่มอีก 50,000 บาท คณะศึกษาศาสตร์ 50,000 บาท และทางวิทยาเขตปัตตานีสมทบเพิ่มอีก 50,000 บาทรวมเงินบริจาคทั้งสิ้น 200,000 บาท ‘สื่อชายแดนใต้’เข้ากรุงฯมอบของบริจาค เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่มัสยิดนูรุลมูบีน แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร คณะสื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมผู้เข้าร่วมโครงการสานน้ำใจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม กลาง เหนือ อีสาน ได้มอบเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ 2 คันรถบรรทุกหกล้อ แก่นายพิชิต รังสิมันต์ ประธานมูลนิธิสหบำรุงวิทยา ชุมชนสมเด็จ เขตธนบุรี นายระพี มามะ เลขาธิการสมาคมสื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้แจงว่า เงินและสิ่งของทั้งหมดได้รับบริจาคจากพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนในสามจังหวัดมีความห่วงใยผู้ประสบวิกฤติจากภัยพิบัติ จากนั้น เวลา 16.00 น. วันเดียวกัน สื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมคณะฯได้เดินทางไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 พร้อมกับมอบเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 120,000 บาท ให้นายสุรยุทธ สุทัศนจินดา จากรายการครอบครัวข่าวสาม นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ต่อมา คณะสื่อมวลชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เดินทางไปร่วมคัดแยกและบรรจุถุงยังชีพ เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัย ที่กองทัพภาคที่ 1 ในตอนค่ำวันเดียวกัน ‘สงขลา’ประชุมเตรียมรับมือภัยพิบัติ เมื่อเวลา 13.30.–16.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกจังหวัดสงขลา นายพีรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ประจำปี 2554 โดยมีตัวแทนส่วนราชการเข้าร่วมประมาณ 30 คน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งต่อที่ประชุมว่า ช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน 2554 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส มีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงควรเตรียมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้พร้อม นายโส เหมกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา แจ้งต่อประชุมว่า ขณะนี้นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจใช้เป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินถล่มจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็น 4 เขต เขตที่ 1 อำเภอเมือง สิงหนคร สทิงพระ ระโนด และกระแสสินธุ์ ให้นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับผิดชอบ เขตที่ 2 อำเภอหาดใหญ่ นาหม่อม รัตภูมิ ควนเนียง และบางกล่ำ ให้นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลารับผิดชอบ เขตที่ 3 อำเภอคลองหอยโข่ง และสะเดา ให้นายพีรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รับผิดชอบ เขตที่ 4 อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา ให้นายอัครพล บุณยนิตย์ ปลัดจังหวัดสงขลา รับผิดชอบ ชลฯเผยแผนสร้าง ‘7อ่างเก็บน้ำ’ แก้ท่วม นายดนัยวิทย์ สายบัณฑิต ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสงขลา แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำสะเดา อ่างเก็บน้ำคลองจำไหร อ่างเก็บน้ำคลองหลา 930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีรถแบ็คโฮขนาดเล็ก 50 คัน มีการขุดลอกคลอง 14 สาย มีสถานีสูบน้ำ 10 จุด มีเครื่องสูบน้ำ 50 เครื่อง เพื่อผลักดันลงสู่ทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 7 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ้าหากเกิดจำนวนน้ำฝนมาก จะมีสถานีเฝ้าระวัง 43 จุด สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าก่อน 10–11 ชั่วโมง ผ.ศ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยเรียกประชุมคณะทำงานศูนย์วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ส่งผลให้บริหารจัดการน้ำไม่ได้ ขนาดจัดระบบแจ้งภัยล่วงหน้าได้ 10–11 ชั่วโมง น้ำยังท่วมขนาดหนัก ทั้งที่ปริมาณน้ำอยู่ในระดับจัดการได้ ตนจึงไม่ค่อยเชื่อระบบราชการว่า จะจัดการไม่ให้น้ำท่วมได้ เฉพาะหน้านี้จึงควรมีการซ้อมแผน 2 แบบคือ แผนในวันปกติกับวันหยุดราชการ อบรมแจ้งเตือนภัยรอบอ่าวปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. – 17.30 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2554 ที่สำนักงานพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการประชุมคณะทำงาน Pattani Bay Watch (PB Watch) เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ นายดนยา สะแลแม คณะทำงานโครงการ PB Watch แจ้งต่อที่ประชุมว่า วันที่ 31 ตุลาคม 2554 โครงการ PB Watch จะจัดอบรมวิทยุสื่อสารสมัครเล่นกับแกนนำชุมชนรอบอ่าวปัตตานี ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เมื่อปี 2553 รวม 6 ชุมชน ประกอบด้วย หมู่บ้านดาโต๊ะ 2 คน หมู่บ้านบูดี 2 คน หมู่บ้านบางปลาหมอ 2 คน หมู่บ้านบางตาวา 2 คน หมู่บ้านตันหยงลุโละ 2 คน และบ้านปาตาบูดี 2 คน พร้อมด้วยกลุ่มผู้ใช้วิทยุสมัครเล่นในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 20 คน และคณะทำงานโครงการ PB Watch โดยจะอบรมที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมีนายปัญญศักดิ์ สุวรรณวสุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี เป็นวิทยากร นางลม้าย มานะการ คณะทำงานโครงการ PB Watch แจ้งต่อที่ประชุมว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ทาง PB Watch จะเชิญแกนนำชุมชน และหน่วยงานราชการในจังหวัดปัตตานี มาร่วมประชุมถอดบทเรียนเหตุการณ์ภัยพิบัติ เมื่อปี 2553 เพื่อนำมาวางแผนรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อุตุฯเตือนภาคใต้เตรียมรับน้ำท่วม วันเดียวกันนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 ระบุว่าฝนจะตกหนักบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก อาจจะเกิดจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 27–31 ตุลาคม 2554 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ระมัดระวังอันตราย สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ความสูงของคลื่นประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นอาจจะสูงมากกว่า 2 เมตร จึงขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนชลประทานปัตตานีได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนชลประทานปัตตานีลงสู่ทะเล หลังจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนกรมอุตุนิยมวิทยาออกมาแจ้งเตือนว่า ห้วงปลายเดือนตุลาคม 2554 ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2554 จะเกิดมรสุมและมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชน และร้านค้าต่างหาซื้ออิฐนำมากั้นป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันทางจังหวัดปัตตานีก็ได้วางมาตรการป้องกัน ตลอดจนวางระบบเขื่อน, ชลประทาน, ฝายกันน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน กรมชลฯเร่งพร่องน้ำเขื่อนปัตตานี นายอนุรักษ์ ธีระโชติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนชลประทานปัตตานี กล่าวว่าสาเหตุที่เขื่อนชลประทานปัตตานีปล่อยน้ำ เป็นการพร่องน้ำที่กักเก็บอยู่ในเขื่อนลงสู่ทะเล เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2554 หลังจากนี้เขื่อนชลประทานปัตตานี จะยังคงพร่องน้ำอีกเพื่อกดปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อน ให้ลดลงเหลือ 10.50 เมตร เพื่อวางแผนรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมา การพร่องน้ำจะไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ต่างๆ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังประกาศข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด และอย่าหลงเชื่อข่าวลือ ทั้งนี้ เวลา 13.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2554 นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้จัดประชุมติดตามสถานการณ์อุกทกภัยในจังหวัดสงขลา ที่ศูนย์อุตุนิยมภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท