Skip to main content
sharethis

อก.เตรียมแผนเปิดปากเหมืองโปแตชอีสานปีหน้า เล็งเป้าอุดร-สกลฯ ‘เอ็นจีโออีสาน’ เผย ทส.ปลดล็อคกฎหมายแร่ สบช่องทุนจีนเขมือบทรัพยากร ชี้อาจมีการลดพื้นที่ขอประทานบัตร เลี่ยงกลุ่มต่อต้าน เร่งจัดฉาก เกณฑ์ผู้นำ อปท. และชาวบ้านสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแนบ อีไอเอ วันนี้ (4 พ.ย.54) ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ว่า ได้มีความเคลื่อนไหวของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน เพื่อทำเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ มีการจัดเวทีในระดับพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร ที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่5) พ.ศ.2545 เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. เป็นต้นมา บริษัทเอพีพีซี ได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในช่วงต้นเดือน พ.ย.ระหว่างวันที่ 1-6 จะดำเนินการกับชาวบ้านในพื้นที่ ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ที่บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี นางยุพาพร รักษาภักดี สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ตำบลหนองไผ่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เธอพร้อมด้วยสมาชิกสท.ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ มีแผนจะจัดกระบวนการดังกล่าวกับผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครบทุกตำบลในเขตเหมือง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม “ข้อมูลชี้แจงส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะพูดถึงผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นและชุมชนจะได้รับ เช่น ค่าภาคหลวงแร่ การจ้างงาน การสร้างรายได้ แต่ไม่บอกว่าจะมีผลกระทบ หรือหากเกิดผลกระทบขึ้นจริงบริษัทฯ ก็จะมีมาตรการแก้ไขได้ หลังจากนั้นก็ให้กรอกแบบสำรวจความคิดเห็น และลงชื่อในหนังสือแสดงเจตจำนงการมีส่วนร่วมที่บริษัทฯ เตรียมไว้” นางยุพาพรกล่าว นางยุพาพรกล่าวต่อมาว่า บริษัทฯ จะจัดเวทีให้ครบทั้ง 5 ตำบลในเขตพื้นที่เหมือง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งผู้นำ และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาคมหมู่บ้าน และการให้ความเห็นชอบของ อบต.หรือ สท.หลังจากมีการปิดประกาศแผนที่เขตคำขอประทานบัตร อก.เตรียมแผนเปิดปากเหมืองโปแตชภาคอีสาน ให้สำเร็จในปีหน้า ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับแหล่งข่าวภายในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนการผลักดันให้ใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อให้สามารถเปิดหน้าเหมืองและทำการผลิตแร่โปแตชให้ได้ภายในปี พ.ศ.2555 โดยเล็งเป้าในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร หรือที่ใดที่หนึ่งก่อน โดยเฉพาะแหล่งอุดรใต้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการลดพื้นที่คำขอประทานบัตรให้เล็กลงจากเดิม ที่ บริษัทเอพีพีซี ขอไว้กว่า 2.6 หมื่นไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้าน โดยใช้วิธีการให้อนุญาตทีละแปลงแล้วค่อยขยายต่อแปลงอื่นในภายหลัง แหล่งข่าวยังเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ กพร.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ (Strategic Environmental Assessment) โครงการพัฒนาแหล่งแร่โปแตช ภาคอีสาน โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน ซึ่งเมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะชงเรื่องให้ กพร.เพื่อมีความชอบธรรม ต่อการออกใบอนุญาตประทานบัตร ในพื้นที่ที่มีการยื่นคำขอ ให้สามารถทำการเปิดเหมืองได้ทันที เผย ทส.ปลดล็อค ม.6 ทวิ วรรคสองตามกฎหมายแร่ สบช่องทุนจีนจ้องเขมือบทรัพยากร ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ได้เปิดเผยเอกสาร ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ให้ยื่นคำขออาชญาบัตรในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนาม นายสุวิทย์กล่าวด้วยว่า เหมืองโปแตชสกลนคร บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 120,000ไร่ ตั้งแต่ ปี 47 แต่ยังติด ม.6 ทวิ วรรคสอง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอให้กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดพื้นที่ ดังนั้น จากเอกสารจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการรับลูกของกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อปลดล็อค ม.6 ทวิ วรรคสอง ตามกฎหมายแร่ เพื่อให้เอกชนยื่นขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจได้เป็นกรณีพิเศษ และสามารถยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำการผลิตแร่โปแตช ได้ตามขั้นตอน ซึ่งก็จะนำไปสู่การผลักดันเหมืองโปแตช โดยที่มีกลุ่มการเมืองคอยชักใย “ทุนจากประเทศจีนที่มีเงินมหาศาล กำลังรุกหนักโดยการชี้นำของนักธุรกิจสายสมาคมมิตรภาพไทย-จีน และผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง ตั้งแต่สมัยนายพินิจ จารุสมบัติ ยังเป็นรมต.กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ทั้งหมดไม่ได้ตกเป็นของประชาชน” นายสุวิทย์กล่าว คาดลดพื้นที่คำขอประทานบัตร หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้าน เลขา กป.อพช.ภาคอีสาน ต่อมาว่า ในส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี บริษัทเอพีพีซี พยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเลือกเกณฑ์เอาแต่กลุ่มคนที่สนับสนุนโครงการฯ เข้าร่วมเวที แล้วอ้างว่านี่คือกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปประกอบรายงานอีไอเอ และขั้นตอนประทานบัตร ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม “ในพื้นที่อุดรฯ มีกลุ่มชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเลือกทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มที่เห็นด้วย เพื่อให้เสร็จทันกับการศึกษา เอสอีเอ ของ กพร.ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีการลดขนาดพื้นที่ประทานบัตรลงเหลือแค่ 5,000 ไร่ จาก 2.6 หมื่นไร่ เพื่อให้ทันเปิดเหมืองในปีหน้า” นายสุวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net