เบรกกู้นิคมฯ จี้รัฐบาลตรวจสอบสารเคมี-ขยะพิษปนเปื้อนก่อน

นักวิชาการพิษวิทยา-แรงงานในพื้นที่ระบุเห็นด้วยกับการกู้นิคมอุตสาหกรรมซึ่งถูกน้ำท่วม แต่เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบสารเคมีและขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำออกสู่ภายนอก พร้อมทั้งให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วย (มีคลิปประกอบ) (9 พ.ย.54) ในการเสวนาหาทางออก \กู้นิคมฯ อย่างไรให้ปลอดภัย\" ที่มูลนิธิเอเชีย ถ.คอนแวนต์ สีลม ระหว่างคนงานในพื้นที่อยุธยา นักวิชาการด้านพิษวิทยา นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับการกู้นิคมอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบสารเคมีและขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก โดยมีนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบ ทั้งนี้ ระหว่างรอการฟื้นฟูนิคมฯ ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตรายที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดของเสียอันตรายที่อาจถูกน้ำท่วม ขอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (อ่านรายละเอียดด้านล่าง*) ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ข้อมูลกับประชาชนว่า การเอาน้ำออกสู่ชุมชนจะมีอะไรที่มากับน้ำบ้างและจะปลอดภัยหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างกรณีสหรัฐอเมริกา หลังเกิดพายุเฮอริแคนแคทรีนาว่า สารเคมีที่เป็นพิษและขยะอันตรายได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยกับคน มีน้ำเสียไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ น้ำใต้ดิน ส่งผลต่อสภาพดิน ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย มีทั้งสารเคมีในไลน์การผลิต บ่อบำบัด และขยะพิษที่รอการส่งไปกำจัด มีคำถามว่าบริเวณนั้นๆ ท่วมด้วยหรือไม่ เพราะน้ำที่ท่วมไม่ได้อยู่ที่แค่ที่อยุธยา หรือปทุมธานี แต่ไปที่กรุงเทพพฯ และไหลลงอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเราด้วยเช่นกัน รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ นายกสมาคมพิษวิทยา กล่าวว่า อันตรายที่อาจเกิดขึ้น แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ สารเคมี และเชื้อโรค ซึ่งในส่วนของเชื้อโรค กรมควบคุมโรคออกมาให้ข้อมูลพอสมควร เพราะไม่ได้จำกัดแต่ในโรงงาน จึงไม่น่าเป็นห่วง และเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันด้วยตัวเองได้ แต่เรื่องสารเคมีนั้น องค์กรแรงงานและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรออกมาให้ข้อมูลว่า มีสารเคมีอันตรายใดบ้าง มีสต็อกสารเคมีอยู่เท่าใด และที่อยู่ในไลน์การผลิตซึ่งจะออกมากับน้ำทันทีเท่าใด รศ.ดร.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนการสูบน้ำออก ตรวจมีกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งหากมีการให้ข้อมูลล่วงหน้า จะทำให้การตรวจสอบเร็วและง่ายขึ้น โดยหากมีสารเคมีที่เป็นอันตรายในโรงงานใด อาจล้อมโรงงานนั้น แล้วกู้โรงงานอื่นก่อน ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลข้างต้นไม่จำเป็นต้องทำในวงกว้าง เพราะอาจทำให้สังคมตื่นตระหนก และเกิดปัญหาในการดำเนินการต่อไปได้ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอว่า นอกจากสารเคมีแล้ว รัฐบาลควรเปิดศูนย์รับรองจมน้ำ เพื่อรองรับขยะเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ด้วย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครแตก พบว่ามีคราบน้ำมันไหลออกจากนิคมฯ ตามพื้นถนนลื่นเพราะมีน้ำมันเกาะ ทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านเริ่มทำความสะอาดบ้าน พบว่าทำได้ลำบากเพราะมีคราบน้ำมันติด ต้องใช้ผงซักฟอกและออกแรงขัด นี่คือที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่เชื่อว่ายังมีสารเคมีโลหะหนัก ซึ่งมองไม่เห็น มากกว่านี้ ชาลี กล่าวว่า ในส่วนของการกู้นิคมอุตสาหกรรมนั้นเห็นด้วย แต่รัฐบาลควรมีวิธีป้องกันด้วย เช่นอาจสูบออกแล้วพักไว้ในท้องทุ่ง โดยชดเชยให้เจ้าของที่ เพื่อตรวจสอบสารพิษให้มั่นใจก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ อำนาจ บัวเสือ แรงงานจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง ซึ่งลงพื้นที่น้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เล่าว่า เริ่มมีการสูบน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.54) โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า มีบางบ้านรื้อกระสอบทรายออกหมดแล้ว ทำให้น้ำและขยะอุตสาหกรรม ทั้งถุงมือ หลอดไฟ เข้ามา นอกจากนี้ น้ำที่สูบออกมาเห็นได้ชัดว่ามีส่วนผสมของน้ำมัน ทั้งนี้เขาเสนอว่า อยากให้ชาวบ้านซึ่งเป็นคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และอยากทราบกระบวนการสูบน้ำทั้งหมด เพื่อเตรียมตัวป้องกันด้วย ชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดอยุธยา ซึ่งลงพื้นที่นิคมบางปะอิน เล่าว่า ที่นิคมบางปะอินเริ่มมีการกู้มาสองวันแล้ว วันนี้เป็นวันที่สาม จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่เห็นด้วยกับการกู้นิคมฯ โดยน้ำที่กู้ออกมา ไม่เหมือนตอนน้ำท่วมใหม่ๆ ที่ไหลไปตามทางน้ำ พัดขยะ 60-70% ไปตามน้ำ เหลือติดกับพื้นชาวไร่ชาวนา 30-40% เพราะการสูบออกคราวนี้ ไม่มีที่ระบาย น้ำและขยะจะขังอยู่ในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ กลายเป็นบึงสะสมสารเคมี ทั้งนี้ ในยามปกติตอนที่น้ำไม่ท่วม ชุมชนก็มีปัญหากลิ่นขยะอยู่แล้ว พอมีน้ำท่วมทำให้มีปัญหาเพิ่มทวีคูณ เขาเสนอด้วยว่า ควรมีตะแกรงขนาดใหญ่เพื่อกรองขยะในเบื้องต้น กำหนดทางเดินน้ำ ไม่ให้ไหลเข้าบ้านชาวบ้านเพิ่มอีก ด้านกัญญวรา ธำรงรัตน์ คนงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน กล่าวว่า พบปัญหาน้ำไม่สะอาด มีคราบน้ำมันลอยมา เวลาลงไปใช้น้ำต้องตักน้ำมาแกว่งสารส้ม ทั้งนี้พบปัญหาด้านสุขภาพคือเกิดผื่นแดงตามตัว น้ำกัดเท้า และปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ กัญญวรา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพราะยังไม่มีหน่วยแพทย์เข้ามา โดยตนเองอยู่ในบริเวณเกาะกลางน้ำท่วม มีเด็กเป็นหอบซึ่งไม่สามารถไปหาหมอได้ ทั้งนี้ ยาขยายหลอดลมก็มีราคาแพงขึ้น จากเดิมช่วงน้ำท่วมสัปดาห์แรก 125 บาท ตอนนี้ขึ้นเป็น 160 บาทแล้ว แม้ว่าผู้นำชุมชนจะนำยาเข้ามาแจก แต่ก็แจกเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น คนที่มาเช่าหอพักอยู่ก็ไม่ได้ตรงนี้ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ รัฐบาลและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประชาชนรอบๆ ทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และต้องมีการเยียวยา ฟื้นฟู นอกจากนี้ รัฐบาลไม่ควรเป็น \"คุณพ่อรู้ดี\" คิดเองทำเอง แต่ควรให้ท้องถิ่นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้นจะเกิดสงครามคันกั้นน้ำ นพ.นิรันดร์กล่าวว่า นอกจากทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ชะลอการปล่อยน้ำเพื่อกู้นิคมฯ แล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการกู้นิคมฯ ด้วย ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อจับผิด แต่เพื่อเสริมการทำงานให้สมบูรณ์ขึ้น ------------------ *ด่วนที่สุด จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ตรวจสอบสารอันตราย ขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายนี้ มีข้อเสนอเร่งด่วนที่สุดเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการฟื้นฟูกู้นิคมอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้ ทุกฝ่ายเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วม เพื่อให้แรงงานมีงานทำและสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ เนื่องจากในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งมีโรงงานที่มีสารเคมีและขยะอันตราย ทั้งที่เก็บสำรองและอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตจำนวนมากขณะที่น้ำท่วมมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งของเสียที่อยู่ในกระบวนการบำบัด ดังนั้นก่อนการสูบน้ำออกสู่ชุมชน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและมีกระบวนการตรวจสอบความเป็นอันตรายในทางวิชาการอย่างครบถ้วนชัดเจน รวมถึงมีการจัดการก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลสารอันตรายที่ใช้อยู่ในแต่ละโรงงานของแต่ละนิคมประกอบในการประเมินความเสี่ยงและติดตามตรวจสอบ ให้มีนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อประเมินข้อมูลและประเมินผลตรวจสอบในแต่ละนิคม เพื่อป้องกันผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน ในระหว่างรอการฟื้นฟูนิคมฯ ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตราย (ขยะอุตสาหกรรม) ที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้ สำหรับโรงงานที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดของเสียอันตรายที่อาจถูกน้ำท่วม ขอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีธนชาติ นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ดร.สุมล ประวิตรานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย น.ส.ขวัญยืน ศรีเปารยะ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ 9 พฤศจิกายน 2554"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท