Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ:

สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของ หนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com
 

 

 1

ชายคนหนึ่ง ปลงใจอยู่กินกับหญิงหม้ายที่มีลูกติดสามคน ด้วยความสงสารลูกชายสุดท้องของนางเป็นเบื้องต้น เด็กน้อยผู้นั้นกำพร้าพ่อตั้งแต่สองขวบ หลังพ่อตายแม่ก็พาย้ายจากอีกตำบลมาอยู่ที่โพนทราย เด็กน้อยได้พบชายคนดังกล่าวระหว่างวิ่งเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้าน ไม่รู้มีใจปฏิพัทธ์กันเช่นไร ตกเย็นเด็กน้อยร้องไห้ให้ชายคนนั้นพาไปส่งบ้าน จากนั้นก็ถือวิสาสะเรียกเขาว่า “พ่อ” เรื่อยมา

ชายคนนั้นคือ นายดำ สุขขารมย์ วัย 47 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองครก หมู่ 11 ตำบลโพนทราย อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด

และเด็กน้อยผู้นั้น ก็คือเด็กหนุ่มซึ่งใช้เวลาอีกยี่สิบกว่าปี...(เพื่อ) เติบโตมาเป็นวีรชน “ศพแรกในวัดปทุมฯ”

เรากำลังพูดถึงอัฐชัย ชุมจันทร์ หรือ “ปู” บัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัย 29 ปี ที่ถูกอาวุธสงครามยิงจากที่สูงเจาะเหนือราวนมข้างซ้ายทะลุปอด เสียชีวิตเป็นศพแรกเมื่อเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในเขตอภัยทาน...วัดปทุมวนาราม
 

2

 

 

โพนทรายเป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ชายแดนจังหวัดร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ ติดอำเภอราษีไศล ตัวอำเภอโพนทรายมีสภาพเหมือนเมืองเพิ่งก่อรูป สถานที่ราชการและร้านค้าตั้งอยู่กระจัดกระจาย ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือตลาดใหญ่ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของวัน (ของร้านค้าบางแห่ง) เดินทางมาถึงเอาตอนบ่ายแก่ พร้อมรถสองแถวสีฟ้าสายสุวรรณภูมิ-โพนทราย-ราษีไศล ที่วิ่งผ่านเพียงวันละเที่ยว

บ้านสองชั้นสีน้ำตาลหลังนั้นตั้งอยู่ในกลุ่มบ้านสามหลัง ริมทางดำสายที่ตัดผ่านหมู่บ้าน ห่างจากตัวอำเภอราวสองสองกิโลเมตร ลุงคนขับสองแถวสีฟ้าว่า หนึ่งในสามหลังนั้นคือบ้านคนเสื้อแดงที่ถูกยิงตายเมื่อปีก่อน คนตำบลนี้เขารู้กันทั่ว แต่แกไม่รู้แน่ชัดว่าหลังไหน “ลองไปถามเอาเองเด้อ”

บ้านสามหลังคล้ายไม่มีใครอยู่ ประตูหน้าต่างปิดมิดชิด เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ได้ยินเสียงโทรทัศน์ดังออกมาจากบ้านหลังซ้ายมือสุด เราเข้าไปตะโกนเรียก ชายหญิงกลางคนคู่หนึ่งแง้มประตูออกมาดู ทราบต่อมาว่าทั้งคู่คือน้าสาวและน้าเขยของอัฐชัย ชุมจันทร์

ขณะนั้นพ่อแม่ของอัฐชัยอยู่ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน น้าสาวรีบโทรศัพท์ไปตามตัวให้ สักครู่หญิงร่างล็ก ผิวขาว วัยราวห้าสิบกว่า ก็กลับมาถึงพร้อมชายกลางคนผิวคล้ำร่างสันทัดอีกคน

 

 

ประตูบ้านสีน้ำตาลหลังใหญ่ถูกเปิดออกให้เราเข้าไปภายใน สภาพบ้านยังดูใหม่และเก็บกวาดข้าวของเครื่องใช้เป็นระเบียบจนแทบไม่มีร่องรอยการใช้งาน หญิงร่างเล็กลากเสื่อออกมาปู พลางบ่น “บ้านไม่ค่อยได้อยู่ อยู่กันแค่สองตายาย อาศัยแต่นอน วันๆ ไปอยู่ที่ศาลาโน่น”

ศาลาประชาคมเป็นสถานที่ประชุม พูดคุย ปรึกษาหารือของชาวบ้านหนองครก รวมถึงเป็นสถานที่คลายเหงาของแม่ที่เพิ่งสูญเสียลูกชายไปในโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน

เรานั่งสนทนากันเป็นวงใหญ่ นอกจากนางสุนันทา สมอาสา วัย 54 ปี และนายดำ สุขขารมณ์ หรือผู้ช่วยดำ วัย 47 ปี แม่และพ่อเลี้ยงของอัฐชัยแล้ว ยังมีน้าสาวและน้าเขย คือนางศิริพรและนายชัชวาลย์ ปานบุตรดา วัย 50 ปี และน้าชายของอัฐชัย นายถนอม สมอาสา วัย 52 ปี ที่ล้วนอาศัยอยู่บ้านติดกัน มาร่วมสนทนาด้วย

“บ้านสามหลังนี่ญาติกันหมดเลย” แม่ของอัฐชัยว่า “คู่นั้นเขาเป็นครูทั้งผัวทั้งเมีย” หมายถึงน้าสาวและน้าเขย “อันนี้น้องชาย เขาทำงานเทศบาล” หมายถึงชายกลางคนร่วงท้วมท่าทางสุภาพอีกคนที่มานั่งร่วมวงด้วย “มีแม่นี่แหละไม่ได้เรียน ทำนาให้น้องๆ เขาเรียน” นางสุนันทาพูดอย่างไม่มีริ้วรอยทุกข์โศกปรากฏให้เห็น แต่แน่นอน เราไม่ได้คิดว่านางหายจากอาการโศกเศร้าแล้วเป็นปลิดทิ้ง

ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ของนางสุนันทาได้ร่ำเรียนสูง และล้วนทำงานราชการ มีเพียงนางสุนันทา (และสามี) ที่ยังคงเป็นชาวนา

“ตอนนี้แม่ก็ยังทำอยู่ ทำนาห้าสิบสามไร่ ปลูกข้าวเจ้าเก็บไว้กินด้วย ขายด้วย เหลือกินก็ขาย จ้างเขาทำหมด ค่าแรงวันละสองร้อยบาท มีแต่จ้างอย่างเดียว รถไถก็จ้าง เกี่ยวก็จ้าง”

นางสุนันทามีลูกสี่คน คนโตคือ นางอัญชลี สาริกานนท์ วัย 35 ปี อาชีพครู ปัจจุบันแต่งงานและย้ายไปอยู่กับครอบครัวที่พุทธมณฑลสายห้า นครปฐม ถัดมาคือ พ.ต.ท.ธีรวัฒน์ ชุมจันทร์ วัย 34 ปี เป็นตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี คนที่สามก็คืออัฐชัย ชุมจันทร์ บัณฑิตใหม่ที่กลายมาเป็นวีรชนศพแรกแห่งวัดปทุมฯ และคนสุดท้องคือนางสาวพัชรียา สุขขารมย์ วัย 24 ปี กำลังศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูที่กรุงเทพฯ

ผู้ช่วยดำไม่ใช่พ่อแท้ๆ ของลูกสามคนแรก เมื่อนางสุนันทาหอบลูกกลับมาอยู่ที่นี่หลังสามีคนแรกเสียชีวิตในวัยสามสิบแปดปี นายดำยังเป็นหนุ่มโสด

มีเรื่องเล่าขานกันจนกลายเป็นตำนานของครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือเด็กชายอัฐชัยเป็น “พ่อสื่อ” ชักนำชายหนุ่มที่ชื่อดำให้มารู้จักกับแม่ และได้อยู่กินกันในเวลาต่อมา

“ปูเขาชอบ เขาอยากได้พ่อ เขาไปวิ่งตามเอาที่บ้านเลย” นางสุนันทาเล่า น้ำเสียงแจ่มใส ผู้คนในวงสนทนาพลอยมีรอยยิ้ม “ตอนเด็กๆ ปูเขาไปเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้านนี่แหละ แล้วเขาไปเจอพ่อคนนี้ เขาอยากได้พ่อ เห็นคนไหนๆ เขาก็มีพ่อกัน ตอนนั้นเขาประมาณสองสามขวบนี่แหละ เขาก็ไปเรียกพ่อเลย กลับมาบ้านมาบอกยายๆ ผมจะพาไปหาพ่อ ชวนตากับยายไป เมื่อก่อนตากับยายยังไม่เสีย ยายๆ เดี๋ยวผมจะพาไปหาพ่อใหม่ พ่อใหม่ผมทำนาเก่งนะ ตอนนั้นพ่อเขาเป็นหนุ่มอยู่ พอตอนเย็นพ่อเขาก็มาส่งทุกวัน แม่กับพ่อไม่ได้คุยกันเลย ปูเขาหามาให้แม่”

ขณะนั้นผู้ช่วยดำไม่อยู่ในวงสนทนาแล้ว เห็นว่าผู้ใหญ่บ้านมาตามตัวไปต้อนรับคณะดูงานจากที่ไหนสักแห่ง

น้าสาวของปูเล่าว่า ตอนเด็กๆ ใครว่าพ่อดำคนนี้ไม่ได้ เด็กชายปูจะโกรธเคืองเอา “เขาเอามะพร้าวเอามะยมจากบ้านพ่อเขามาให้เรากิน เราแกล้งบอกว่าไม่กินหรอก ไม่กินของคนขี้เหร่หรอก เขาโกรธใหญ่ที่เราไปว่าพ่อเขาขี้เหร่ บอกไม่กินก็ไม่ต้องแดก แล้วก็เขวี้ยงทิ้งเลย” เรื่องเล่านี้เรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นวงสนทนา คำพูดของเด็กชายปูเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ดูเหมือนคนในครอบครัวยังจำได้ดี

จากนั้นไม่นาน ชายชื่อดำก็กลายมาเป็นพ่อใหม่ของเด็กสามคน เขาช่วยนางสุนันทาทำมาหากินเลี้ยงลูกอย่างแข็งขัน แม้มีลูกสาวหล้าเพิ่มมาอีกคนในอีกไม่กี่ปีต่อมา ทว่าไม่เคยมีใครครหาได้ว่าพ่อรักลูกไม่เท่ากัน

“เพิ่นเป็นคนเลี้ยงลูก เลี้ยงปู ส่งเสียเล่าเรียนหมดทุกคน ก็เหมือนพ่อแท้ๆ” น้าสาวของปูว่า “แกมาอยู่กับแม่ของปูตั้งแต่ปีสามศูนย์ เด็กๆ พวกนี้รักแกมาก เพราะอยากได้หยังแกก็เฮ็ดให้ ทำนา เฮ็ดข้าวปุ้น ส่งลูกเรียน ตอนลูกเรียนแกจะไม่ยอมไปกินเหล้าเลย เก็บเงินส่งให้ลูก”

 

 

ปูสนิทกับพ่อเลี้ยงมาก ผู้ช่วยดำเองก็ผูกพันกับลูกชายคนนี้ไม่น้อยกว่ากัน ปูนอนแทรกกลางระหว่างพ่อกับแม่มาตั้งแต่เด็ก กระทั่งโตเป็นหนุ่มวัยใกล้สามสิบ ไปร่ำเรียนหนังสือถึงกรุงเทพฯ ยามกลับมาบ้านโพนทราย เขายังเบียดเข้าไปนอนแทรกตรงกลางระหว่างพ่อกับแม่เหมือนเคย

“บ่นอนคนเดียวจักเทื่อ” นางสุนันทาว่า “มานอนข้างๆ แม่นี่แหละ แม่นอนตรงนี้ พ่อตรงนี้ เขามาอยู่ตรงกลาง มาอึ๊บกลางเลย” ปูเป็นคนขี้อ้อน และชอบหยอกล้อพ่อแม่เล่นให้ได้หัวเราะสนุกสนาน “ปกติกับแม่เขาต้องหยอกจิ๊กจั๊กๆ อย่างนี้แหละ เพิ่นอารมณ์ดี เป็นคนมักม่วน บ่เคยผิดกับไผ ไม่เคยทะเลาะกับใคร กับแม่ก็เหมือนกัน เวลามาเขาก็มากอดแม่ บอกรักแม่นะ”

ปีหนึ่งปูกลับมาบ้านที่โพนทรายสองสามครั้ง ส่วนใหญ่เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่สงกรานต์หรือวันหยุดยาวต่างๆ

“เวลากลับมาบ้านมาเขามาอยู่กับพวกน้องๆ กับแม่ กับน้าๆ นี่แหละ ไปไหนก็ไปกับเพื่อนฝูงผู้ชาย ไม่เคยเห็นมีแฟน คบแต่เพื่อนผู้ชาย เวลากลับมาถ้าอยากกินอะไร เขาจะบอก แม่...วันนี้ผมอยากกินต้มปลา อยากกินต้มไก่ บางทีเขาก็จะบอกให้น้าเขยทำให้กิน เขาเป็นคนซื่อๆ ใจดี น้องๆ (ลูกของน้าๆ) รักเขาคนนี้แหละที่สุดเลย ปิดเทอมเขาจะรอพี่คนนี้มาจัดงาน ปูเขาชอบดนตรี เล่นเบส กีตาร์ ชอบร้องเพลงเพื่อชีวิต เพลงสตริง เขาทำอะไรก็ทำได้ดี ประสบความสำเร็จ สมัยเรียนมัธยมเคยเป็นตัวแทนโรงเรียนทรายทองไปแข่งดนตรีที่อำเภอ เวลาเขากลับมาก็จะสนุกกัน”

 

3

“ปู” เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2524 ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด หลังนายนิคม ชุมจันทร์ พ่อแท้ๆ ล้มป่วยด้วยโรคพยาธิตัวจี๊ดในสมอง จนเป็นอัมพาต และเสียชีวิตขณะยังหนุ่ม นางสุนันทาตัดสินใจพาลูกกลับมาอาศัยอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องที่บ้านเกิด ขณะนั้นปูซึ่งเป็นลูกคนสุดท้อง อายุราวสองขวบ

ปูเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนหนองบัวประชาสรรค์ หมู่ 7 บ้านหนองบัวหลวงพัฒนา ในตำบลโพนทราย จากนั้นต่อมัธยมที่โรงเรียนทรายทองวิทยา หลังจบ ม.6 เข้ากรุงเทพฯ ไปสมัครเป็นนักศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ตอนเรียนต่อรามฯ เขาไปอยู่กับพี่สาวบ้าง พี่ชายบ้าง ไปๆ มาๆ พี่สาวกับพี่ชายเขาเป็นคนส่งเรียน” ระหว่างนั้นปูไปๆ กลับๆ กรุงเทพฯ-จันทบุรี

แม่ของปูเล่าว่า โดยพื้นฐานแล้วปูไม่ชอบเป็นภาระใคร ระหว่างเรียน นอกจากทำกิจกรรมตามที่ใจรักชอบแล้ว เขายังพยายามไปทำงานหารายได้พิเศษ ด้วยไม่อยากรบกวนพี่ชายและพี่สาวที่ต่างมีครอบครัวแล้ว

 

 

“เมื่อก่อนเขาไปเล่นดนตรีบ้าง ร้องเพลงบ้าง ทำกิจกรรมของนักศึกษา ก็ทำงานไปด้วย เขาเป็นคนไม่อยากให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะพี่ก็บ่นว่าเรียนนานไม่จบซักที ก็เลยไปทำงานเสิร์ฟอาหารบ้าง ไปแบกของบ้าง งวดสุดท้ายนั่นเขามาบ้าน มาหาแม่ ขอเงินว่าจะรับปริญญา แม่ก็เอาทองไปจำนำให้ ได้มาหมื่นนึง แล้วก็ขอยืมน้าให้ ว่าขายข้าวแล้วสิคืนให้ ก็มีเท่านี้ที่เพิ่นขอ นอกนั้นอ้ายเอื้อยเพิ่นส่ง” แม่ของปูเล่า พลางลุกไปเปิดตู้ หยิบอัลบั้มภาพถ่ายของลูกชายออกมาให้ดู “เรียนตั้งแปดปี จบมาบ่ทันได้คุยสักเทื่อ ตายก่อน...ตอนรับปริญญา เขายื่นใบปริญญาให้แม่ อ้ะ ผมมอบให้แม่ ผมไม่เอาแล้ว กราบตีนพ่อกับแม่ครั้งหนึ่งแล้วก็มอบปริญญาให้ อีกไม่กี่เดือนก็ตาย ก่อนตายเขายังไม่ได้ดูรูปรับปริญญาเลย ตอนกลับมาบ้านเทื่อสุดท้ายเขาก็ถามแม่อยู่ว่าพี่สาวล้างรูปให้รึยัง พอบอกว่ายัง เขาก็เดินออกจากบ้านไปหาเพื่อน ก็ไม่ได้ว่าอะไรอีก”

รับปริญญาเสร็จ ปูสมัครงานราชการทิ้งไว้หลายแห่ง พ่อกับแม่มีความหวังว่าลูกชายคนนี้จะได้กลับมาทำงานที่บ้านโพนทราย

“ตอนนั้น อบต.กำลังเปิดสอบ ก็อยากให้ปูไปสอบ จะได้กลับมาอยู่กับแม่ที่บ้าน พี่ๆ น้องๆ ก็ไปอยู่ต่างถิ่นกันหมด เหลือปูคนเดียวที่ยังไม่มีบ้าน ก็อยากให้กลับมาอยู่ที่นี่ ก็เลยไม่ทันได้กลับ” นางสุนันทาว่า พลางพลิกดูภาพถ่ายวันรับปริญญาของลูกชาย

 

4

เมื่อถามว่าบัณฑิตกฎหมายอย่างปูเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ นางสุนันทาตอบว่า

“ตอนไหนนี่แม่ไม่รู้นะ มารู้ก็เมื่อปีที่เขาเสีย ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้พูดอะไร เรียนรามอยู่เจ็ดแปดปี ก็ไม่เห็นเขาพูด ไม่พูดอะไรเลยนะ เพิ่งมาพูดปีที่เขาตายนี่เนาะ แต่แม่ก็ไม่สนใจ ตอนที่ไปบ้านเปรมผมก็ได้ไปนะ เขาก็เล่าให้ฟังอยู่ แต่แม่ไม่สนใจ ไม่นึกว่าเขาจะไปถึงขนาดนี้ไง”

เมื่อการชุมนุมใหญ่ปี 2553 เริ่มขึ้น ปูเข้าไปร่วมชุมนุมอย่างเอาจริงเอาจังเช่นเดียวกับพี่น้องเสื้อแดงอีกมากมาย

“สิบเมษา พวกญาติๆ นี่ดึงแกกลับมาบ้าน ไม่อยากให้แกไปร่วม ถ้างั้นก็เสียตรงนั้นแล้ว ตั้งแต่สิบเมษาแล้ว พอรอดมาได้ แม่ก็สบายใจไปครั้งหนึ่ง กลับมาบ้านได้ แม่ก็ห้ามอยู่ เขาก็บอก มันบ่กล้าฆ่าดอก เขาไม่กล้ายิงหรอกแม่”

ปูเชื่อเช่นนั้น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ

“เขาเคยพูดอยู่ว่าจะต่อสู้เพื่อชาติ ผมรักพระมหากษัตริย์ อ้าว แล้วไม่คิดถึงแม่เหรอ เขาว่า แม่เอาไว้ทีหลัง เอาชาติมาก่อน อ้าว แม่แก่แล้ว ไม่มาดูแลแม่เหรอ เอาไว้ทีหลัง แม่เอาไว้ทีหลัง เนี่ย เขาพูดตอนไปส่งพี่สะใภ้เขาที่จันทบุรีวันที่สองพฤษภา พี่สะใภ้เขาย้ายไปอยู่กับแฟนเขาที่จันท์ แล้วเขาก็มาตายวันที่สิบเก้าพฤษภา”

ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน ภรรยาของ ส.ส.คนหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด โทรศัพท์มาขอให้กลุ่มแม่บ้านหนองครกไปช่วยงานเผาศพ “นายเกรียงไกร คำน้อย” วีรชนสิบเมษา ที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด นางสุนันทาก็ไปกับเขา “กลุ่มแม่ยังไปช่วยจับผ้าตกแต่งเมรุให้เพิ่นอยู่ คนหล๊ายหลาย”

โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่า หลังจากนั้นเพียงชั่วเดือน ก็ต้องมาจัดงานศพลูกชายในลักษณะเดียวกัน

 

5

วันคืนที่ลูกชายไปกินนอนอยู่ในที่ชุมนุม ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิดเสียงล้อเลื่อนของรถถังที่ดังทะลุจอโทรทัศน์ออกมาอยู่เป็นระยะ ตลอดเวลาหลายวันหลายคืนนั้น เป็นช่วงเวลาที่คนเป็นแม่ไม่เคยมีความปลอดโปร่งใจเลย 

“แม่ก็มีความกังวลใจว่าลูกไปอยู่ยังไง เวลาโทรไปก็ได้แต่บอกระวังตัวนะ เราก็ดูข่าวทั้งวัน ไปกิจกรรมอยู่ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน ก็มีคนบอกว่า พี่...บอกลูกชายด้วย บอกให้เขาออกมา บางคนก็ว่า เฮ้ย ไปเอาตัวลูกออกมา ไปอยู่จังซั่นฆ่าตัวตายอีหลี แม่ก็ว่า เขาอยากออกมาแต่ว่าออกไม่ได้ เราโทรไปหาลูกเราอยู่ เขาก็ว่ามาจังใดก็มาบ่ได้ เขาออกมาไม่ได้ จะออกมาคนเดียวได้จังใด เขาฮักเพื่อนฮักหยังเขา” 

ในวันที่ลูกชายเสียชีวิต นางสุนันทาเล่าว่า 

“วันเขาเสีย แม่โผล่หน้าต่างออกไปหาน้องชาย วันนี้เป็นอะไรเอ๋ย คิดถึงปูเนาะ ว่าแล้วแม่ก็เลยหยิบโทรศัพท์มาโทรหาเขา เขาก็รับทันทีเลยนะ แม่ก็ถามว่าอยู่ไหน ผมอยู่วัดครับ (วัดปทุมฯ) ตอนนั้นพอดีน้องชายแม่กลับมาจากทำงานเทศบาล เขาก็ว่า อ้าว ไอ้จานเหรอ น้าเขาชอบเรียกปูว่าไอ้จานเนาะ ระวังเนื้อระวังตัวดีๆ นะจาน ครับ ผมไม่ไปไหนหรอก ผมจะอยู่กับวัด พอจะวางโทรศัพท์ เขาบอก แม่...แค่นี้นะ ผมจะไปก่อน เหมือนสั่งแม่เนาะ ผมมีธุระ แม่ก็ถามเขาอยู่ว่าคนตายหลายบ่ เขาว่าตายตั้งเยอะแม่ อู๋ยแม่ ตายหลาย คั้นเฮาตายเฮาบ่ตายแบบนี้ดอก เฮาสิตายดังทั่วโลกเลย เขาชอบพูดเล่น...” 

“วันนั้นพากันโทรหาเขาตลอด สามสิบนาทีก็โทร บางทีถ้าแม่โทรหาเขาไม่ติดก็จะไปหาน้องสาวแม่ เวลาแม่โทรไปปูเขาไม่ค่อยอยากรับ กลัวแม่จะตกใจ เพราะเสียงอะไรเจี๊ยวจ๊าวๆ ในโทรศัพท์ แต่ถ้าน้าสาวโทรไปนี่เขารับอยู่ วันนั้นพี่ชายเขาที่เป็นตำรวจก็โทรหา พี่เขายังบอก เอ้อ ถ้าแกอยู่วัดก็ระวังตัวนะ ถ้าจะบวชแกบวชได้เลย ไอ้ปูก็ครับอย่างเดียว แต่ไม่ทำตาม...แต่เขาก็ว่าเขาหาทางจะกลับบ้าน คิดถึงแม่ คิดถึงแม่อย่างเดียวเลยวันนั้น แต่ออกมาไม่ได้ ออกมาตายลูกเดียว ขนาดเด็กๆ เขายังยิง คนท้องเขายังยิงตายเลย ต้องหลบอยู่ในวัด ที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ในวัดนั่นแหละ เขาบอก” 

หลังวางสายครั้งสุดท้ายไม่นาน ข่าวร้ายก็เดินทางไกลมาถึง 

“พอหกโมงเย็นพี่สาวเขาโทรมา ตอนนั้นไม่รู้เป็นไร แม่ยังจำเสียงลูกสาวตัวเองไม่ได้เลย อ้าว ใครนี่ ยังถามอยู่ ลูกสาวก็บอก แม่...ถือโทรศัพท์นะ น้าตุ๊อยู่มั้ย แม่ก็บอกว่าอยู่ เขาก็บอกให้แม่ถือโทรศัพทไปหาน้าตุ๊ แล้วแม่ก็นั่งฟังกับน้าตุ๊ด้วย น้าตุ๊คือน้องชายแม่ แม่ก็นั่งฟัง ต้องมีอะไรซักอย่าง พอฟังโทรศัพท์แล้วน้าตุ๊เขาก็เงียบไป แม่ก็รู้แล้ว ไอ้ปูเป็นอะไร พูดกับฉันด้วย (เสียงหนัก) บอกฉันมา ฉันรับได้ ไอ้ปูมันตายใช่มั้ย น้าเขาก็ไม่บอก ตั้งนานเป็นชั่วโมงเขาถึงได้บอกว่าปูตายแล้ว” 

น้าตุ๊ หรือนายถนอม สมอาสา ซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยตั้งแต่ต้น เล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ครั้งแรกที่รู้ข่าว เขาใช้เวลาอยู่นานเช่นกัน กว่าจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 

“ตอนที่เขาโทรมาบอกว่าปูถูกยิงแล้ว เสียแล้วล่ะ ศพยังอยู่ที่วัด แต่ช่วงนั้นยังชุลมุน เพื่อนเขาคนที่โทรมาบอกพี่สาวปูบอกว่ามันไม่ปลอดภัย บอกเราอย่าเพิ่งโทรเข้าไป เขาหลบอยู่ข้างๆ ศพนั่นแหละ ยืนเฝ้าข้างๆ ศพอยู่” น้าตุ๊เงียบไปอึดใจ “...ทีแรกไม่ให้ไป แกก็ไม่เชื่อ บอกว่าจะไปเรียกร้องประชาธิไตย วันที่สิบเจ็ดหรือสิบแปดแกยังอยู่ข้างนอกอยู่ อยู่ที่รามสองอยู่เลย พอวันที่สิบเก้าก็ยังบอกแกอยู่นะว่าตำรวจเขาบอกว่าจะจัดการขั้นเด็ดขาด เราได้ข่าวมา ก็โทรไปบอก แกก็ไม่เชื่อ บอกว่ามันไม่กล้ายิงไม่กล้าฆ่าหรอก” 

นั่นไม่เพียงเป็นอุดมคติของวัยหนุ่ม หรือความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสามองโลกในแง่ดีของคนอายุไม่ถึงสามสิบ หากคนอย่างน้าตุ๊หรือใครต่อใครที่นี่ ต่างคาดไม่ถึงว่า เหตุการณ์จะร้ายแรงถึงเพียงนี้
 

6

 

 

เช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 พี่ชายและพี่สาวของปูเดินทางเข้าไปรับศพน้องชายที่วัดปทุมวนาราม

“พี่ชายเขาแต่งเครื่องแบบตำรวจไปรับศพ แม่รออยู่บ้านพี่สาวเขาที่พุทธมณฑลสายห้า แล้วก็เอาศพกลับมาบ้าน วางตรงนี้แหละ (ชี้ไปยังพื้นปูนในห้องโถงชั้นล่าง ติดกับบริเวณที่เรานั่งอยู่) คนมาร่วมงานเยอะ มาจากพนมไพร มาจากร้อยเอ็ด มาจากเกษตรฯ พวกเสื้อแดงมาร่วมงานหลาย” 

หญิงชาวนาวัยห้าสิบสี่ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่จังหวัดร้อยเอ็ดมาตลอดชีวิต ได้รับรู้เหตุการณ์ในนาทีสุดท้ายของลูกชาย ก็เพียงจากปากคำของเพื่อนลูก นางค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวเหล่านั้นให้เราฟัง 

“วันที่เขาเสีย ตอนที่ยังไม่ถูกยิง เพื่อนเขาเล่าว่าวันนั้นไม่รู้นึกยังไง เขานั่งเล่นโทรศัพท์ อันนี้เบอร์พี่สาว อันนี้เบอร์พี่ชาย อันนี้เบอร์แม่ บอกให้เพื่อนฟัง” 

นางสุนันทาไม่รู้ชัดว่าเพื่อนเหล่านี้ คือเพื่อนที่เข้าไปชุมนุมด้วยกัน หรือเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันในที่ชุมนุม รู้เพียงว่า วันที่ลูกชายเสียชีวิต เพื่อนคนหนึ่งใช้โทรศัพท์ของลูกชายโทรมาหา “เพื่อนเขาในนั้นมีประมาณยี่สิบกว่าคนที่ชุมนุมอยู่ด้วยกัน ตอนจะเข้าไปรับศพพวกเขายังโทรหาแม่อยู่ว่า ถ้ามาเอาศพปู เอาพวกผมไปด้วยนะ ไม่อย่างนั้นพวกผมก็ต้องตายเหมือนกัน แม่ก็เลยบอกลูกชายที่เป็นตำรวจว่า ถ้ายังไงก็เอาเพื่อนน้องชายออกมาด้วยนะ เขาติดอยู่ในวัด เขาเอาโทรศัพท์ปูนี่แหละโทรมา” 

ในวันเผาศพ เพื่อนกลุ่มนี้ก็มาร่วมงานด้วย และเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟังว่า 

“ปูกำลังจะออกจากวัดไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนั้นมันมีเสียงประกาศในวัดว่า เดี๋ยวนี้ปลอดภัยแล้ว ให้ออกไปที่ตำรวจแห่งชาติเลย ปูได้ยินก็นึกว่าออกไปได้แล้ว เขาก็เลยเดินออกไป เดินคุยโทรศัพท์ไปด้วย ทีนี้เพื่อนเขาตะโกนเรียก เขาก็เลยหันหน้ามาหาเพื่อน จะเอาเพื่อนไปด้วยไง เพราะเขาคุยกันไว้ว่า เออ แกออกทางนั้น ฉันออกทางนี้ ไอ้ปูก็เลยออกหน้าวัด จะไปก่อน เขาพูดให้แม่ฟังอย่างงี้ ปู...มึงมารับกูด้วย กูยังไม่ได้ออกไป พอเขาหันหน้ามาก็โดนยิงเลย พวกนั้นมันหาเป้ายิงเลยไง ปูเป็นศพแรกในวัดเลย ตอนที่โดนยิงศพเขาลอยขึ้นตึ๊บเลย โดนยิงข้างหลัง ตัดขั้วหัวใจ ตายตรงนั้นเลย ไม่ได้ไปโรงบาล ไม่ได้ไปอะไรเลย ปูเขาไม่อยากตายหรอก เขาขยำกำมือเขาแน่นเลย” 

“แม่อยากให้เอาคนผิดมาให้ได้” นางสุนันทาเสียงเครียดขึ้นเป็นครั้งแรก “แม่อยากจะรู้คนที่ทำ คนที่สั่ง อยากให้เอามาลงโทษ ตายจะได้หลับตา ถึงแม่ตายวันไหนจะได้ตายหลับตาถ้าเอาพวกที่เขาทำมาลงโทษได้ ทุกวันนี้แม่ไม่อยากดูโทรทัศน์ เห็นมันพูดออกมาแม่รับไม่ได้เลย พวกรัฐบาลชุดเก่าน่ะ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย บอกว่าในกระเป๋าผู้ชุมนุมมีแต่อาวุธ แม่เลยบอกลูกสาว เออ น้องไปขอกระเป๋าที่ตำรวจแห่งชาติให้แม่ด้วย แม่อยากจะดู ไอ้คนที่มันพูด ทำไมมันพูดรุนแรง พอลูกสาวเอามาให้ ไม่เห็นมีอะไร มีกางเกงในสองตัว แล้วก็เสื้อยันต์ สีขาว สีแดง ตะกุดก็มี แล้วก็มีผ้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แค่นี้แหละ เห็นตำรวจเขาบอก โอ๊ย ปกติตายเป็นกี่ศพ ผมทำงานที่นี่ตั้งกี่ปีแล้ว มีศพแรกนี่แหละที่มาขอกระเป๋าเอาไปดู แม่นี่แหละ ไปขอดูเพราะพวกนั้นมันบอกว่าในกระเป๋ามีอาวุธ” 

“ปกติจับแกนนำได้แล้วก็น่าจะหยุดยิงได้แล้ว” น้าตุ๊พูดขึ้น “แต่นี่ยังยิงตลอด ทหารยิงเข้ามาเรื่อยๆ กระชับเข้ามาเรื่อยๆ” 

“โอ๊ย บ่อยากว่าเลย” นางสุนันทาเสียงดัง “ตอนตาย หน้าอกซ้าย หลังทะลุ กระสุนทำลายปอด มันเลือกยิง ตอนที่แม่ไปเฮ็ดบุญนำเพิ่นอยู่ในวัดปทุมฯ นั่น ตอนตายใหม่ๆ มีคนมาบอกแม่ว่า นี่แหละ แม่ของนายอัฐชัย มันยิงลงมาจากนี่ล่ะ มันก็ไม่ไกลนะ ใกล้ๆ มันเลือกยิง ไม่ได้ปะทะกัน คั้นเสื้อแดงมีอาวุธ มันต้องเป็นตายเท่ากัน หยังสิมาหาว่าเสื้อแดงฆ่า พูดไปได้ยังไงว่าเสื้อแดงฆ่า ชุดดำก็หยังบ่จับมา ต้องจับได้” 

“ถ้าเสื้อแดงยิงเขาต้องออกสื่อทุกห้านาทีแล้ว ถ้ามีภาพว่าเสื้อแดงยิง” น้าเขยของปูเสริม 

“คั้นชายชุดดำฆ่าทำไมไม่จับ” นางสุนันทาว่าต่อ “แล้วกระชับพื้นที่ไว้หมด เสื้อดำจะมาจากไหน แล้วทหารอยู่เต็มไปหมด ทำไมจับไม่ได้ เสื้อดำหายไปไหนหมด อยู่ในเสื้อแดงเปลี่ยนเสื้อแล้วมันวิ่งไปทางไหน เจ็บใจมากๆ เลยที่ว่าเราเป็นผู้ก่อการร้าย กระชับเขาไว้แล้วปล่อยให้เขาไปเผาได้ยังไง ทุกซอกทุกมุมคนอยู่ประจำหมด แล้วเขาไปเผาตอนไหน เขามีแต่หนีตาย ตอนเผาเงียบหมดแล้ว ทหารให้เขารักษาประเทศอยู่รอบนอกก็พอ ไม่ใช่ให้ไปฆ่าประชาชนอยู่ในเมือง” 

ก่อนหน้านี้ในหมู่ญาติพี่น้อง มีเพียงนางสุนันทาและสามีเท่านั้น ที่มีใจเอนเอียงเข้าข้างเสื้อแดง หากก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่เข้มข้น 

“ตะกี้แม่ก็ไม่ได้สนใจปานใด มีหน้าที่ทำนาก็ทำไป พอลูกมาเสียก็เลยพากันติดตามข่าว จั้งฮู้ว่าอันใดเป็นอันใด” นางสุนันทาว่า 

เมื่อถามว่า ในหมู่บ้านนี้มีคนเสื้อแดงมากน้อยเพียงใด น้าชายของปูว่า ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงเช่นเดียวกับชาวอีสานอีกหลายสิบหลายร้อยหมู่บ้าน ถามต่อว่า แล้วเสื้อเหลืองล่ะ มีบ้างไหม คราวนี้น้าสาวของปูเป็นคนตอบ “ก็มีบ้าง แต่น้อย ส่วนใหญ่ชอบเสื้อแดง” เมื่อถามต่อว่า แล้วส่วนน้อยที่เป็นเสื้อเหลืองนั้น เป็นคนกลุ่มไหน นางสุนันทาที่นั่งพลิกดูภาพถ่ายของลูกชายอยู่ รีบตอบทันทีว่า “พวกข้าราชการ!”

 

 

น้าชาย น้าสาว และน้าเขยของปู ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการ ยอมรับว่า แต่เริ่มต้นพวกเขาไม่ได้อยู่ฝั่งเสื้อแดง 

“เราเป็นครอบครัวครู” น้าสาวว่า “แต่ก่อนนู้นครูเขาไม่ค่อยพอใจนโยบายของทักษิณที่จะเอาครูไปสังกัด อบต. แต่พวกเราก็จะกลางๆ นโยบายที่เราประทับใจก็มี อย่างปราบยาเสพติด แต่ก่อนหายไปจริงๆ ในหมู่บ้านนี้ไม่มีเด็กวัยรุ่นอยู่ตามถนน ไม่มีเลย แต่เดี๋ยวนี้กลับมาอีกแล้ว เกลื่อนเลย”

“แต่พอเห็นหลานมาอยู่จุดนี้ ก็เริ่มฟังหลายๆ อย่าง” น้าเขยเสริม “แต่ก่อนก็ดูแต่ข่าวทีวีธรรมดา ไม่ได้เอียงทางไหน หลานไปก็ส่งเสริมไปตามหน้าที่ของตัวเอง แต่พอเกิดเรื่อง หลานเสียชีวิต เราก็เริ่มมาวิเคราะห์ข่าวช่องนั้นช่องนี้ ดูแล้วก็เอ้อ ไม่มั่นใจแล้ว ผมไม่มั่นใจสื่อแล้วทีนี้” 

“ช่วงสลายทำไมต้องปิดสื่อด้วย” น้าสาวว่า “ปิดไฟ ปิดสัญญาณ ทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น” 

“ตอนนี้คนในหมู่บ้านเขาตื่นตัวสนใจติดตามข่าวกันมาก” น้าเขยว่าอีก “พอเรื่องนี้เกิดขึ้นเขาก็ฟังข่าว ติดตามวิเคราะห์ข่าว ก็เริ่มไม่ไว้ใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ อย่างเขาว่าเสื้อแดงมีอาวุธ ถ้ามีจริงทำไมเขาไม่เอาออกมาสู้ เขาปิดบังมาตลอด เราดูข่าวแต่ละช่องก็ไม่เหมือนกัน” 

“ทุกวันนี้ชาวบ้านติดจานดาวเทียม” แม่ของปูแทรกขึ้น “โอ๊ย แม่เบิ่ง ไม่ดูละครเลย” 

ในภาวะที่ยังไม่สามารถทำให้ความจริงปรากฏกระจ่าง ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและเจ็บปวด ความไม่เข้าใจของคนรอบข้างมีมากระทบใจครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการปะทะกันถึงขั้นตัดบัวไม่เหลือใยก็มี 

“พอมีเหตุลูกเสียชีวิต เพื่อนแม่ก็เลิกคบกันไปก็มี เขาว่าเสื้อแดงไม่ดี เผาบ้านเผาเมือง ฆ่าให้มันตายให้หมด พวกป่วนบ้านป่วนเมือง นี่เพื่อนสนิทแม่เลยนะ เคยกินอยู่ด้วยกัน ญาติแม่ก็มีที่พูดแบบนี้ พอวันที่ปูเสียเขามาถามข่าว แม่ก็ถามเขาว่า สมใจแล้วหรือยังที่ลูกฉันตาย ที่เคยสาปแช่งไว้น่ะว่าฆ่าให้มันตายให้หมด สมใจแล้วหรือยัง...เขาฆ่าลูกเรา หัวอกเราแตกสลายไปข้างหนึ่ง เอาอะไรมาใช้ก็ไม่ได้หรอก”

  

7

หลังการสนทนาจบลงในเย็นวันนั้น ผู้ช่วยดำขับรถกระบะฝ่าสายฝนมาส่งเราที่ตัวอำเภอราษีไศล ระหว่างนี้จึงได้พูดคุยกัน 

เราย้อนถามถึงความรู้สึกเมื่อครั้งปูชักพาเขามาอยู่กินกับนางสุนันทา 

ผู้ช่วยดำหัวเราะ แล้วว่า “เพิ่นมานั่งเฝ้านอนเฝ้าคักๆ คั้นผมบ่เอ็นดูก็บ่ยอมไปโรงเรียนเลย ผมก็ว่า มันเป็นพ่อเป็นลูกกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้วล่ะมั้ง บักนี่มันเป็นลูกกูมาตั้งแต่ชาติที่แล้วบ๊อ ก็หลูโตน (สงสาร) เพิ่น เพิ่นบ่มีพ่อ อยากได้พ่อใหม่ คนอื่นก็ว่า มึงก็เอากับแม่มันเสีย ผมก็มาคึดว่า คั้นผมบ่เอาสิเป็นจังใดตอนนั้นน่ะ”

นานวันเข้าเริ่มมีความผูกพันกัน ไม่นานต่อมาเขาตัดสินใจอยู่กินกับแม่ของปู ทำนาอย่างเดียวไม่พอส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือสูงๆ เขาจึงทำขนมจีนขายส่งด้วย ตอนกลางวันทำนา ตกเย็นมาทำขนมจีน เช้ามืดวิ่งเอาขนมจีนไปส่ง ได้นอนเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อลูกสี่ต้องใช้ชีวิตอย่างเคร่งครัด ในที่สุดเขาและภรรยาก็สามารถส่งลูกทุกคนเรียนจบ เดินทางถึงฝั่ง มีการงานทำมั่นคง

 ...เว้นเพียงปู ที่มาด่วนจากไปเสียก่อน

“ตอนไปซุมนุม ผมก็บอกอยู่ว่าเดี๋ยวเขาฆ่าตาย มันยังว่า ตายก็บ่เป็นหยัง เฮาสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมก็ว่า อ๊าว พ่อเลี้ยงมาบ่เคยตีจักเทื่อ จะไปให้เขาฆ่าเฮ็ดหยัง มันก็ว่าแต่จะสู้...ก็เสียใจแหละครับ สิว่าอีหยัง มันก็มีแต่ความเสียใจ ปูก็คือลูก ผมก็ฮักเหมือนลูก บ่เคยคึดเป็นอย่างอื่นเลย”

  

8

นางอัญชลี สาริกานนท์ พี่สาววัย 35 ปี ของอัฐชัย ชุมจันทร์ คือคนแรกในครอบครัวที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของน้องชาย เมื่อมีคนโทรออกมาจากวัดปทุมวนารามในเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บอกว่า “ปูเสียชีวิตแล้ว” เธอยังไม่อยากเชื่อ ถามย้ำกลับไปว่า คนตายชื่อจริงนามสกุลจริงว่าอะไร คำตอบที่ได้คือ “อัฐชัย ชุมจันทร์!!”

 ...นั่นจึงทำให้ไม่อาจปฏิเสธความจริง

หลังตั้งสติได้ นางอัญชลีรีบโทรไปแจ้งข่าวให้ญาติๆ ทราบ ที่ยากที่สุดคือการจะบอกแม่ว่า น้องชายเสียชีวิตแล้ว

ปูเป็นความหวังของแม่ ทุกคนรอให้เขาเรียนจบ จะได้กลับไปอยู่บ้านที่โพนทราย ก่อนปูเสียชีวิตไม่นาน นางอัญชลีและน้องชายคนรองที่เป็นตำรวจ เพิ่งช่วยกันปลูกบ้านหลังใหม่ให้พ่อกับแม่ ปูเองก็อยากกลับไปอยู่ที่นั่น

แต่เมื่อวันนั้นไม่อาจมาถึง มันจึงหนักหนาสาหัสในการทำใจยอมรับ แต่ทุกคนในครอบครัวก็พยายามทำมันอย่างถึงที่สุด

เช้าวันรุ่งขึ้น พี่สาวและพี่ชายของปูเดินทางไปรับศพน้องชายที่วัดปทุมวนาราม นางอัญชลีว่าขณะนั้นสถานการณ์ยังไม่สงบเรียบร้อยดีนัก มีความวุ่นวายอยู่ประปรายในช่วงเช้ามืด แต่ญาติผู้เสียชีวิตก็สามารถเข้าไปรับศพได้

ร่างของปูถูกนำกลับไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดประทุมทองในตำบลโพนทราย และทำพิธีฌาปนกิจเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2553

“ถ้าถามจริงๆ เลยนะ ก็คือมันไม่ยุติธรรม สำหรับคนที่แค่ต้องการสังคมที่มีประชาธิปไตย มันมากมายอะไรเหรอ ทำไมคนจนมันถึงด้อยค่าขนาดนี้ ทำไมคนมีอำนาจมันถึงใหญ่โตจังเลย เขาแค่ต้องการความเสมอภาคในสังคม สิ่งที่เขาต้องการคือการเป็นประชาธิปไตย การยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ก็ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่มันโดนล้ม”

นางอัญชลีพอจะรู้เพียงคร่าวๆ ว่าสาเหตุที่ทำให้น้องชายของเธอเข้าไปร่วมหัวจมท้ายกับคนเสื้อแดง คือการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ หลังกลุ่มคนเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหวขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“ตอนที่อภิสิทธิ์ไม่ลงเลือกตั้ง คือจุดเริ่มต้นที่เขาก้าวออกมาอย่างที่เพื่อนพ้องน้องพี่เสื้อแดงทำกัน ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ขนาดจุดประกายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เขาเรียนกฎหมายด้วย เขาสนใจการเมือง ตอนเรียนเขาทำกิจกรรมอยู่พรรคศรัทธาธรรม เขาก็ต้องตั้งคำถามว่ามันใช่คนที่จบจากออกซ์ฟอร์ดเขาควรจะทำหรือ”

นางอัญชลียอมรับว่า แต่เริ่มต้น เธอและคนในครอบครัวแทบไม่ได้สนใจความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

“...ตอนแรกๆ เลย เราก็เฉยๆ เราจะห่วงความปลอดภัยของคนในครอบครัวมากกว่า เราไม่ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ นานาทั้งสิ้นเลย พอวันหนึ่งเราสูญเสียคนที่เรารักไป เราถึงเริ่มกลับมามองว่า เอ๊ะ มันใช่เหรอ เราก็เริ่มทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ถึงวันนี้เราก็ยอมรับและเคารพการตัดสินของน้อง และก็เชื่อมั่นว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็ยินดีไปกับเขา”

นอกจากความโศกเศร้าที่ยังเกาะกินหัวใจทุกคนในครอบครัว สิ่งที่ยังคงเป็นคำถามค้างคาใจคือ

“ทุกวันนี้อยากรู้ว่าใครเป็นฆาตกร ณ ตรงนั้นมันเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่น่าจะมีใครเข้าไปได้ ยกเว้นฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ตรงนั้น อยากให้จับฆาตกรได้ แม่แกจะได้นอนหลับซะที ทุกวันนี้แกก็ยังผวา ยังนอนสะดุ้งอยู่ นี่บอกตรงๆ เลยว่าวันดีคืนดีมองรูปน้องชายรับปริญญาก็ยังร้องไห้อยู่เลย ถามว่าลืมมั้ย นับวันมันยิ่งคิดถึงนะ ทุกวันนี้เราอยู่กันอย่างคนหน้าชื่นอกตรม” แน่นอนว่ามันเป็นคำถาม ที่เธอเองได้คำตอบกระจ่างแก่ใจมาระยะหนึ่งแล้ว

เราคุยกับนางอัญชลีทางโทรศัพท์ น้ำเสียงในตอนท้ายนั้นแหบพร่าและเต็มไปด้วยสะเทือนใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net