Skip to main content
sharethis

สุเทพอัดรัฐบาลตั้งโรงครัวช้ากว่า ปชป. 12 วัน ชี้น้ำท่วม กทม. จำเป็นต้องตั้งโรงครัว และต้องควบคุมคุณภาพอาหารเพราะคนกทม.ไม่ใช่ขอทานที่จะกินอะไรก็ได้ อย่าไปแจกของบูด ของเสียให้กับประชาชน ยันค่าเสียหายน้ำท่วมหลังละ 5 พันไม่มีความหมายกับคนกรุงเทพ ต้องอย่างน้อย 4-5 หมื่น วันนี้ (11 พ.ย.) ในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญทั่วไป) วาระพิจารณาขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ตามมาตรา 179 กรณีปัญหาน้ำท่วม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎรธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อภิปรายเป็นคนแรกว่า ยังไม่เห็นภาพการร่วมกันทำงานของกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาวางคนไม่ถูกกับงาน เช่น ไม่ใช้นายยงยุทธ ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นปลัดเทศบาลมาก่อน แต่กลับใช้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรม ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ไม่มีประสบการณ์มาดูแลทำให้เกิดภาพของการทะเลาะกัน เพราะไม่รู้เรื่อง นายสุเทพได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับคนกรุงเทพฯ ให้กับรัฐบาล คือ 1. ต้องเร่งตั้งโรงครัว เพื่อดูแลเรื่องอาหารให้กับประชาชน เพราะขณะนี้ถึงแม้มีเงินก็ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารได้ ที่รัฐบาลทำเรื่องดังกล่าวช้าไปมาก อีกทั้ง ขาดการวางแผน เช่น การเปิดตัวโครงการโรงครัวรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ระบุจุดทำให้รถบางคันต้องวิ่งหาที่จอดจนเย็น รัฐบาลควรประสานไปยัง ส.ก., ส.ข. หรือ ผู้อำนวยการเขต หาจุดและซอยที่น้ำท่วมและประชาชนเดือดร้อน “เรื่องโรงครัวรัฐบาล เปิดช้าไปกว่าพวกผม 12 วัน แต่เมื่อทำแล้ว ต้องอดทน ต้องเปิด ตี 4 ถึง 2 ทุ่ม เพื่อดูแลประชาชนนอกจากนั้นแล้วควบคุมคุณภาพอาหาร เพราะคนกทม. เขาใส่ใจเรื่องนี้ คนกทม.ไม่ใช่ขอทานที่จะกินอะไรก็ได้ อย่าไปแจกของบูด ของเสียให้กับประชาชน” นายสุเทพ อภิปราย นายสุเทพ อภิปรายต่อว่า อยากให้เร่งแจกถุงยังชีพให้กับประชาชน เพราะบางพื้นที่ชุมชนอยู่ในซอยลึก ระดับน้ำท่วมสูง คนอดอยาก รัฐบาลต้องจัดถุงยังชีพที่มีอาหารที่สามารถประทังชีวิตได้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ เพื่อพอดิ้นรนช่วยตนเองได้ ขอเรียกร้องให้ช่วยทุกครัวเรือน อย่าแบ่งแยก หรือต้องขอดูบัตรประจำตัวพิเศษก่อน นอกจากนั้นแล้วต้องวางแผนเรื่องการคมนาคมขนส่งในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือวางแผนให้ชัด พร้อมกำหนดเวลาเดินทางให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน หรือไปทำงานได้ทันเวลา และที่สำคัญ คือ การดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งร่างกายและสุขภาพจิต ส่วนเงินช่วยเหลือประชาชนที่บ้านประสบปัญหาน้ำท่วมหลังคาละ 5,000 บาทนั้น ตนมองว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่มีความหมายกับคนกรุงเทพฯ เพราะทรัพย์สินหรือธุรกิจเสียหายมากกว่านั้น หากรัฐบาลจะเยียวยา ต้องพูดถึงจำนวนเงินอย่างน้อย 40,000-50,000 บาท ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net