Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ:Gag Las Vegas รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการติดต่อจากสำนักข่าวไทยอีนิวส์ให้เขียนลงในวาระครบรอบ 5 ปี เพราะไทยอีนิวส์เป็นเว็บไซต์ที่ผมติดตามอ่านอยู่เสมอเพื่อตรวจสอบตรวจทานข่าวสารที่ได้รับจากสื่อกระแสหลัก ในทัศนะของผม ไทยอีนิวส์เป็น “เว็บเสื้อแดง” คือไม่ได้ “เป็นกลาง” แต่ “เลือกข้าง” แล้ว กระนั้นก็เป็นการเลือกข้างอย่างมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และมีความสามารถในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน จนมีผลงานชิ้นโบแดงมาหลายครั้ง เท่าที่จำได้ประทับใจก็เช่น ไทยอีนิวส์เป็นสำนักข่าวเดียวที่ตรวจจับการกระทำความผิดโฆษณาขายหุ้น NBC ในเครือเนชั่นเกินจริง ซึ่งน่าเสียดายว่าถ้าเนชั่นไม่ใช่สื่อทรงอิทธิพล หรือถ้าไทยอีนิวส์เป็นสื่อกระแสหลักด้วยกัน ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ กลต.ก็คงดำเนินคดีถึงที่สุดไปแล้ว หรืออย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ “เอิน” กัลยกร วิจารณ์ยิ่งลักษณ์ ไทยอีนิวส์ก็ขุดคุ้ยมาแฉว่าที่แท้เธอคือลูก ผอ.ASTV “ลูกอำมาตย์รักชาติ” ข่าวสารทำนองนี้แหละที่ทำให้ผมต้องเปิดไทยอีนิวส์อ่านเพื่อตรวจทานอยู่เสมอๆ ถ้าถามว่าไทยอีนิวส์ลำเอียงหรือไม่ คำตอบของผมคือไทยอีนิวส์เป็น “กระบอกเสียงอิสระของมวลชนเสื้อแดง” คำที่มีนัยสำคัญคือ “อิสระ” และ “มวลชน” เพราะแม้ไทยอีนิวส์ตอบโต้แก้ต่างให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ หรือแกนนำเสื้อแดงอยู่บ่อยๆ (รวมทั้งแสดงความเกลียดชังเป็นศัตรูกับอำมาตย์ สลิ่ม และพรรคแมลงสาบอย่างโจ่งแจ้ง) แต่เท่าที่ตามอ่านมาหลายปี ก็มีหลายครั้งที่ไทยอีนิวส์วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. แม้การวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายเดียวกันจะไม่มากนัก เข้าใจว่าไทยอีนิวส์ต้องการรักษาขบวนไว้เป็นสำคัญ แต่ก็เป็นด้านที่สะท้อนให้เห็นว่าไทยอีนิวส์มีความเป็น “อิสระ” เป็นผู้สนับสนุน-แต่ไม่ได้ขึ้นต่อแกนนำ นปช.ไม่ได้ขึ้นต่อพรรคเพื่อไทย หรือรับท่อน้ำเลี้ยงจากทักษิณ ฉะนั้น ทัศนคติของไทยอีนิวส์ถ้าจะเอียงข้าง ก็สะท้อนทัศนคติของมวลชนเสื้อแดงอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ทัศนคติที่เอียงไปตามผลประโยชน์นักการเมือง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือผมเห็นว่าไทยอีนิวส์ชื่นชมนักคิดนักต่อสู้อย่างจักรภพ เพ็ญแข, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มากกว่าทักษิณ,จตุพร, ณัฐวุฒิ นั่นสะท้อนถึงจุดยืนของไทยอีนิวส์ ที่มุ่งมั่นจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ปลอดการแทรกแซงของอำนาจพิเศษนอกระบบ ไทยอีนิวส์ยืนอยู่ข้างมวลชนที่ต้องการต่อสู้ถึงที่สุด ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งต่างกับนักการเมืองที่ต้องการเพียงได้อำนาจ ไทยอีนิวส์ให้ความรู้กับผู้อ่านตั้งแต่การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 ยกย่องเชิดชู อ.ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร มาจนถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา2516 ถึง 6 ตุลา 2519 และสนับสนุนข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการลบล้างผลพวงรัฐประหารของนิติราษฎร์ (ซึ่งไม่ใช่ว่าฝ่ายการเมืองจะยอมเอาด้วยใน 2 ประเด็นนี้) นี่คือสิ่งที่ผมชื่นชมไทยอีนิวส์ในฐานะ “สื่อเสื้อแดง” ที่ไม่ต้องเสแสร้งเป็นกลาง แต่มีความแตกต่างและมีจุดยืนของตัวเอง นอกจากนี้ หลายๆ ครั้ง ไทยอีนิวส์ยังกล้าพูดความจริงทั้งที่ปล่อยไปก็จะส่งผลทางการเมืองมากกว่า เช่น ตอนที่สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับ มีการอ้างว่าเพราะอ่านบทกวีที่สมัคร สุนทรเวช เขียนไว้ก่อนตาย แต่ไทยอีนิวส์แย้งทันทีว่าไม่ใช่ อย่าเข้าใจผิด เป็นบทกวีของจักรภพ เพ็ญแข ต่างหาก บทบาทของไทยอีนิวส์ด้านสำคัญ ได้แก่การตรวจสอบสื่อกระแสหลัก ทั้งตอบโต้ แฉเบื้องหลัง และเปิดโปงพฤติกรรมสื่อ ซึ่งบางครั้งอาจถูกมองว่าไทยอีนิวส์อคติ ปลุกความเกลียดชัง แต่ผมว่าไม่เป็นไร เพราะสื่อกระแสหลักที่มีอคติและปลุกความเกลียดชังก็ควรจะโดนเสียบ้าง เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ผมมาจากสื่อกระแสหลัก แม้เคยทำแต่หนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ แต่ก็มีเพื่อนมีน้องอยู่ค่ายใหญ่หลายค่าย จึงเห็นว่าความเข้าใจของมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าสื่อกระแสหลักเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตยเพราะได้ผลประโยชน์นั้นไม่จริง ถ้าจริงก็แค่ตัวเจ้าของสื่อ แต่ที่เห็นและเป็นอยู่มันคือทัศนคติของสื่อ ตั้งแต่บรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว รีไรเตอร์ ลงมาจนถึงนักข่าวพื้นที่ ทำไมสื่อกระแสหลักจึงเป็นไปอย่างนั้น ในทัศนะผม สื่อเป็น “ฐานันดรที่สี่” เป็นอภิสิทธิ์ชนผู้ทรงอิทธิพล และเป็น “อำนาจพิเศษ” อย่างหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งต้องการคงอำนาจที่จะแทรกแซงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ตลอดไป ไม่ต่างจากอำมาตย์ สื่อไทยมีบทบาทต่อต้านเผด็จการและต่อสู้เพื่อประชาธิปไคยอย่างเข้มแข็งมาตั้งแต่อดีต ในยุคของบรรพชนอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์, อารีย์ ลีวีระ, อิศรา อมันตกุล, อุทธรณ์ พลกุล ฯลฯ ซึ่งสร้างเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนหนังสือพิมพ์ไว้เป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลัง 14 ตุลา สื่อก็มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มเผด็จการ แม้หลัง 6 ตุลา 2519 รัฐบาลหอยโดยสมัคร สุนทรเวช ใช้ ปร.42 ปิดหูปิดตาปิดปากสื่อ แต่ก็ปิดกั้นพัฒนาการสังคมไม่ได้ เมื่อรัฐบาลหอยถูกรัฐประหาร เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ธุรกิจหนังสือพิมพ์ก็เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม สื่อมีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์จนกระแสสังคมปฏิเสธ พล.อ.เปรมไม่ให้เป็นนายกฯอีก แต่ก็สื่ออีกนั่นแหละที่ตั้งฉายารัฐบาลชาติชายว่า บุฟเฟต์คาบิเนต จนถูก รสช.แล้วสื่อก็มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสุจินดา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” พฤษภา 35 ได้ยกฐานะของฐานันดรที่สี่ขึ้นมาเป็นอำนาจชี้นำสังคม เป็นตัวแทนของพลังคนกรุงคนชั้นกลาง หรือ “ม็อบมือถือ” ตั้งแต่การแบ่งแยก “พรรคเทพ” “พรรคมาร” เย้ยหยันสมบุญ ระหงษ์ แต่งชุดขาวรอเก้อ ไปจนสุทธิชัย หยุ่น ตั้งรัฐบาลทางโทรทัศน์ ในคืนที่รู้ผลการเลือกตั้ง โดยใช้บทบาทสื่อผูกมัด “พรรคเทพ” ให้ร่วมกันสนับสนุนชวน หลีกภัย จาก 2535 ถึง 2544 สื่อเป็นตัวแทนคนกรุงคนชั้นกลาง ทำหน้าที่ล้มรัฐบาลที่คนชนบทเลือกมา ตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ตั้งแต่รัฐบาลชวน กับกรณี สปก.4-01 รัฐบาลบรรหาร กรณีกลุ่ม 16 แบงก์บีบีซี และสัญชาติเตี่ย รัฐบาลชวลิต กับกรณีลดค่าเงินบาทและชูธงเขียวรับร่างรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐบาลชวน 2 ซึ่งตอนแรกได้รับการโห่ร้องต้อนรับ แต่จบลงด้วยฉายา “ช่างทาสี” และ “ปลัดประเทศ” ในภาพรวม ถือว่าสื่อได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจตามบทบาทที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย จากต่อสู้เผด็จการมาถึงตรวจสอบนักการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2549 หรือแม้แต่ไล่ทักษิณ ในฐานะผู้นำที่เหลิงอำนาจและสอบตกทางจริยธรรม ก็เป็นการทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย แต่สื่อเปลี่ยนไป เมื่อเห็นว่าทักษิณได้คะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้ง จนยากที่จะล้มรัฐบาลตามระบอบ สื่อหันไปร่วมมือกับขบวนการให้ร้ายป้ายสี ม็อบสนธิสวนลุม ทั้งที่ตอนแรก เถ้าแก่เปลวของผมด่าสนธิเองว่า “แปลงสถาบันเป็นอาวุธ” สื่อร่วมมือกับพันธมิตร สร้างกระแส ม.7 ขอนายกพระราชทาน แล้วก็เตลิดเปิดเปิงกระทั่งสนับสนุนรัฐประหาร (อย่างเต็มอกเต็มใจไม่ต้องเอาปืนจี้) โดย 3 นายกสมาคมสื่อ พร้อมใจเข้าไปเป็น สนช. หลังจากนั้นไม่ต้องพูดถึง สื่อกระแสหลักเลือกข้างเต็มตัว ช่วยสร้างกระแสความชอบธรรมให้พันธมิตร ยึดทำเนียบยึดสนามบินเป็นการใช้สิทธิประชาธิปไตยของประชาชน แม้เกินเลยไปบ้างต้องให้อภัย แต่ยึดราชประสงค์เอาไว้ไม่ได้ 7 ลาเป็นการปราบปรามประชาชน 19 พฤษภาเป็นการรักษาความสงบของประเทศ ถามว่าทำไมสื่อจึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จากกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในสังคมประชาธิปไตย ไปเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ผมคิดว่าสื่อยึดติดในบทบาทและอำนาจของตัวเอง พูดง่ายๆ ว่าสื่อเคยชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ สังคมก็คล้อยตาม สื่อล้มรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย แต่ล้มทักษิณไม่ลง ทั้งที่สื่อรวมหัวกันชี้ว่ามันชั่วมันเลว คราวนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนชนบทกลับไม่ฟัง สื่อไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาการของประชาธิปไตย ที่นโยบายพรรคไทยรักไทยทำให้มวลชนตระหนักว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้ ไม่ใช่มวลชนไม่เข้าใจว่านักการเมืองทั้งหลายล้วนแสวงหาผลประโยชน์ แต่จะให้เขาเลือกใครระหว่างพรรคที่มีนโยบายสนองปากท้อง เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ กับพรรคที่ดีแต่พูด แต่สื่อกลับมองว่าชาวบ้านโง่ ถูกซื้อ ทักษิณจะผูกขาดอำนาจไปอีก 20 ปี ประเทศชาติจะหายนะ สื่อไม่อดทนรอการพัฒนาไปตามลำดับของมวลชน คิดแต่ว่าสังคมจะต้องเดินตามที่พวกตนชี้ พูดอีกอย่างก็พูดได้ว่าสื่อ “เหลิงอำนาจ” เคยตัวกับบทบาทชี้นำสังคม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้เป็นไปตามตำรานิเทศศาสตร์ สื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา แยกข่าวจากความคิดเห็นเหมือนสื่อฝรั่ง แต่สื่อไทยสอดแทรกการชี้นำเข้าไปในข่าว ใช้พาดหัวข่าวเป็นที่ประกาศวาทะกรรม แสดงการสนับสนุน ต่อต้าน รัก ชอบ เกลียด ชัง หรือถ้าเป็นสื่อทีวี ก็เรียกว่า “สื่อมีหาง(เสียง)” แต่ที่ผ่านมามันเป็นการต่อสู้เผด็จการ หรือขับไล่นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นในช่วงที่ประชาธิปไตยยังอ่อนแอ สังคมไทยจึงยอมรับบทบาท (และอิทธิพล) ของสื่อ (รวมทั้งอภิสิทธิ์ของสื่อ) กระนั้นเมื่อประชาธิปไตยเติบโตขึ้น เป็นสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ก็ไม่ยอมรับการชี้นำของสื่ออีกต่อไป สื่อไทยเลย “วีนแตก” หน้ามืดตามัวเพื่อเอาชนะ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เป็นผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง ขาวสะอาด มีเกียรติมีศักดิ์ศรี สมควรที่จะยกไว้ในที่สูงเพื่อชี้นิ้วด่ากราดนักการเมือง ถ้าให้เห็นภาพชัด “เนชั่นโมเดล” น่าจะเป็นตัวแทนสื่อกระแสหลักชัดเจนที่สุด สุทธิชัย หยุ่น ก่อตั้งเดอะเนชั่นเมื่อปี 2515 แล้วมาเปิดกรุงเทพธุรกิจในปี 2530 แล้วขยับขยายไปจัดรายการทีวี หลัง 2535 ก็ร่วมก่อตั้งไอทีวี ซึ่งแม้ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล แห่งแปซิฟิค จะเป็นผู้บุกเบิกข่าวทีวีสมัยใหม่รายแรก แต่ต้องถือว่าหยุ่นเป็น “ตัวพ่อ” ที่มีอิทธิพลต่อนักข่าว พิธีกร รุ่นต่อมามากกว่า คนหนุ่มสาวที่เข้าไปเป็นนักข่าวพิธีกรค่ายเนชั่นในทศวรรษ 2530 คือตัวแทนคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุค 2520 ซึ่งกรุงเทพฯเริ่มก่อเกิดชุมชนบ้านจัดสรร กั้นรั้วแยกจากคนชั้นล่างและคนชนบท คนชั้นกลางที่เติบโตในยุคนี้ ถูกตัดขาดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสมัยคณะราษฎรหรือขบวนการนักศึกษายุค 14-6 ตุลา พวกเขาเห็นแต่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งสอนให้เชื่อความมีคุณธรรมจริยธรรมของ “ผู้หลักผู้ใหญ่” คนชั้นกลางรุ่นนี้เติบโตมาโดยมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จส่วนตัว และโดยเชื่อว่าสังคมไทยที่ดำรงอยู่เป็นสังคมที่ดีงามเป็นธรรมแล้ว ถ้าจะเลวร้ายอยู่อย่างเดียว ก็คือนักการเมือง สื่อแบบ “เนชั่นโมเดล” จึงเป็นตัวแทนคนชั้นกลางที่เรียนจบมหาวิทยาลัย คล่องแคล่ว ฉาดฉาน ได้งานดี เงินดี ไม่เคยยากลำบากเหมือนสื่อในอดีต และไม่เหมือนค่ายหัวสีที่ต้องจับเนื้อกินเอง (เงินเดือนนักข่าวเพิ่มพรวดพราดแบบก้าวกระโดดในช่วงต้นทศวรรษ 2530 อานิสงส์จากสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งอัตราเงินเดือนให้นักข่าวผู้จัดการ) นอกจากนี้ยังได้รับการให้เกียรติจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แค่ไม่ต้องกลัวตำรวจแจกใบสั่ง แต่เป็นนักข่าว 2-3 ปี คุณก็ได้นั่งกินข้าวกับรัฐมนตรี ประธานบริษัท ได้บินตามนายกฯ ไปเมืองนอก หรือได้ขึ้น ฮ.ไปกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรียกพี่เรียกน้องกับนายพล ไม่มีอาชีพไหนให้คุณอย่างนี้นะครับ ยกหูโทรศัพท์กริ๊ง อธิบดีรองอธิบดีต้องมารับ สื่อจึงมีฐานันดรพิเศษ ที่ทำให้ทรนงและหลงตน ว่าข้านี่แหละคือตัวแทนคนชั้นกลางผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง สามารถชี้นิ้วผลักดันสังคมไปตามต้องการ นักการเมืองชั่วหรือ ถล่มมันซะ ข้าราชการมีแผล ก็บดขยี้ให้ไม่เหลือซาก คนเหล่านี้จึงต้องเกรงอกเกรงใจสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อ ที่ผมยก “เนชั่นโมเดล” อันที่จริงก็คล้ายกันทุกค่าย เพียงแต่หัวสีก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ฉบับเล็กก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ขณะที่ค่ายมติชน (รวมทั้งผู้จัดการ) ยังมีคนรุ่นเก่าสืบทอดมาจาก 14 ตุลา 6 ตุลา ไม่ใช่ภาพของคนชั้นกลางที่ตัดขาดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสียทีเดียว เนชั่นชัดเจนกว่ากับภาพลักษณ์นักข่าวพิธีกรขวัญใจคนชั้นกลาง ตั้งแต่หยุ่น หย่อง มาถึงสรยุทธ์ กนก สู่ขวัญ จอมขวัญ ฯลฯ (และเนชั่นก็เป็นแม่แบบให้ TPBS ปั๊มคนออกมาคล้ายๆ กัน) ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าสื่อไม่มีผลประโยชน์ ทั้งตัวค่ายและตัวบุคคล มี-แต่ไม่ใช่นักข่าวส่วนใหญ่ สาเหตุหลักที่สื่อกระแสหลักกลายเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย ก็คือความเหลิงอำนาจของสื่อ คือความเชื่อว่าตัวเองรู้มากกว่า เก่งกว่า ดีกว่า สมควรจะเป็นผู้ชี้นำประชาชนที่โง่เขลา ไม่ยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิจะคิดต่างเห็นต่าง เมื่อชี้นำไม่ได้ เอาชนะไม่ได้ และกลายเป็นฝ่ายแพ้ โค่น “คนชั่วคนเลว” ในสายตาตัวเองไม่ลง แพ้ทักษิณ แพ้พรรคพลังประชาชน แพ้พรรคเพื่อไทย สื่อจึงหน้ามืดมุ่งเอาชนะคะคานโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่ว่าเชียร์รัฐประหารหรือโยนหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิเสรีภาพ ที่เป็นหัวใจของสื่อทิ้งไป เห็นได้ง่ายๆ จากวิกฤติน้ำท่วมคราวนี้ ที่สื่อแปลงมาเป็นอาวุธโค่นรัฐบาล จนเห็นชัดเจนว่าเป็นการจ้องจับผิด มากกว่าวิจารณ์ตามเนื้อผ้า แม้ข้อวิจารณ์หลายส่วนเป็นจริง (รัฐบาลทำงานห่วยจริงๆ) แต่ก็ขยายปมจนเห็นเจตนา สงครามสื่อต้องดำเนินต่อไป เพราะความต้องการคงอิทธิพล “อำนาจพิเศษ” ของสื่อกระแสหลัก กลายเป็นอุปสรรคประชาธิปไตย พลังประชาธิปไตยจะเติบโตได้ต้องทำลายอิทธิพลของสื่อกระแสหลักลง ถ่วงดุล คานอำนาจ ด้วยการสร้างสื่อที่หลากหลาย ทั้งเว็บไซต์ วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม หรือสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นตัวแทนความคิดของประชาชนที่แตกต่าง ดิสเครดิตสื่อกระแสหลักด้วยการเปิดโปงพฤติกรรมอย่างที่ไทยอีนิวส์ทำ การเปิดโปงสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์ (ซึ่งใช้ได้กับนักข่าวร้อยล้าน แต่ใช้ไม่ได้กับคนดีๆ อย่างเถ้าแก่เปลวของผม) ประเด็นสำคัญอยู่ที่อคติและความไร้หลักการของสื่อ ทั้งในการเสนอข่าวจริงบ้างเท็จบ้าง ให้น้ำหนักข่าว พาดหัวข่าวอย่างไม่เที่ยงธรรม วิพากษ์วิจารณ์มักง่าย (เอาคำทำนายหมอดูมาใช้ก็มี) ตวัดลิ้นกลับไปกลับมา สองมาตรฐานหน้าไม่อาย วันก่อน เดือนก่อน ปีก่อน พูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง (ยกตัวอย่างถ้าใครไปขุดข้อเขียนชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ สมัยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนถูกทหารตีหัว มาเทียบกับ “ท่านขุนน้อย” แล้วจะเซอร์ไพรส์ว่าคนเราเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ) ผมเชื่อมั่นว่าไทยอีนิวส์จะสานต่อภารกิจอย่างเข้มแข็งในปีที่ 6 แต่ขณะเดียวกัน ภารกิจของสื่อฝ่ายประชาธิปไตยภายหลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยก็มีความยากลำบากและซับซ้อนขึ้น เพราะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน นั่นคือด้านหนึ่งต้องปกป้องรัฐบาลจากการโจมตีให้ร้ายของพวกสลิ่มและฝ่ายแค้นที่มุ่งหวังฟื้นอำนาจนอกระบบ หวังโค่นล้มแทรกแซงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่อีกด้านก็ต้องไม่ละเว้นการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ให้สมกับที่ได้ชัยชนะมาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง ซึ่งก็เป็นการปกป้องประชาธิปไตยในอีกมุมหนึ่งเช่นกัน ใบตองแห้ง 5 พ.ย.54 หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี เว็บไซต์ไทยอีนิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net