Skip to main content
sharethis

(15 พ.ย.54) เวลาประมาณ 14.00น. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทวีตผ่าน @DrNatee39G ชี้แจงกรณี กสทช.มีมติระงับการต่อสัญญาสถานีวิทยุ 1 ปณ. ซึ่งมีคลื่นวิทยุกรีนเวฟรวมอยู่ด้วยและนำมาซึ่งความไม่พอใจของผู้จัดและผู้ฟังบางส่วน จนเกิดการโต้ตอบและกดดันกันผ่านทางโซเซียลมีเดีย (ดู  #welovegreenwave)  

มีเนื้อหาดังนี้

-----

สวัสดีครับทุกท่าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดตามกรณีสถานีวิทยุ 1 ปณ. คลื่นกรีนเวฟ #welovegreenwave ทุกคน cc @supinya @djpchod กระแสข่าวในห้วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาในกรณีของสถานีวิทยุ 1 ปณ.อาจทำให้เกิดความสับสนจากการสื่อสารที่เข้มข้นและกระแสของผู้ที่รักกรีนเวฟทุกคน

การทำงานขององค์กรกำกับดูแลคือ กสทช.จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความเปิดเผยตรงไปตรงมาตรวจสอบได้โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับ กสทช.เอง กรณีสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงาน กสทช. ตกทอดมาตั้งแต่กรมไปรษณีย์โทรเลขจนกระทั่งเป็น กสทช. จึงมีความสำคัญยิ่ง

ในข้อเท็จจริงแล้วการปฏิรูปสื่อและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ที่มีความเป็นธรรมกับทุกคนทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญเป็นหัวใจของความพยายามมีกสทช.

กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีกรรมการชุดเล็ก 2 ชุด คือ กทค. รับผิดชอบด้านกิจการโทรคมนาคม และ กสท. รับผิดชอบในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 40 เวลา 14 ปี กสท.ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์จึงได้มีโอกาสมีตัวตนอย่างแท้จริง ในห้วง14 ปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่เคยเกิดขึ้นเนื่องจากเรายังไม่เคยสามารถจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลได้

ผมคิดว่าการสามารถจัดตั้ง กสทช.ได้สำเร็จนับว่าเป็นความสำเร็จในเบื้องต้นของทุกคนที่เกี่ยวข้องในกิจการนี้หลังจากการรอคอยมาเป็นระยะเวลายาวนาน กฎหมายกำหนดว่า หลังจากจัดตั้ง กสทช. แล้ว จะต้องสร้างกระบวนการที่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์

สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกก็คือจะต้องให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในคลื่นความถี่มาแจ้งความจำเป็นการใช้คลื่นฯที่มีอย่างจำกัดในกิจการตนเอง ผู้ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงจากอดีตจนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ องค์กรของรัฐ รวมถึงสำนักงาน กสทช.ด้วย

เมื่อมาแจ้งรายละเอียด ภารกิจ และความจำเป็น ในการใช้คลื่นความถี่เพื่อบริการสาธารณะตามภารกิจและความเหมาะสมของตนเองแล้ว กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ให้ตามความเหมาะสม และความจำเป็นในการบริการสาธารณะของหน่วยงานเหล่านั้น

ส่วนใหญ่ก็จะเป็นใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะซึ่งจะต้องเน้นการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนในภารกิจของหน่วยงานโดยไม่มุ่งแสวงหากำไรในทุกธุรกิจ กระบวนการไปสู่การออกใบอนุญาตดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นตามขั้นตอนที่เหมาะสมด้วยความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน ไม่กระทบต่อบริการสาธารณะ

คณะกรรมการ กสท. ได้มีเจตนารมณ์ว่ากระบวนการดังกล่าวนั้น ควรมีกรอบระยะเวลาเร่งรัดที่ชัดเจน ต้องเร่งดำเนินการและควรมีรูปธรรมในระยะเวลา 1 ปี เมื่อ กสทช. ได้สร้างกระบวนการที่ชัดเจนต่อทุกหน่วยงานแล้ว หน่วยงานแรกที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ คือ สำนักงาน กสทช.

สนง. กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานทางธุรการของ กสทช. และมีคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงอยู่จำนวน 9 สถานีทั่ว ปท.เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ 1 ปณ. ในกระบวนการดังกล่าว 1 ปณ. ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น

นอกจากนี้เนื่องจาก สนง. กสทช. เป็นหน่วยงานธุรการของ กสทช. เอง จึงจำเป็นต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและเข้าสู่กระบวนการก่อนหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้น กสท. จึงได้เสนอต่อ กสทช. ในการดำเนินการต่อกรณีของ 1 ปณ.ควรมีกระบวนการเช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ แต่ควรจะต้องมีรูปธรรมใน 6 เดือน

ผมต้องขอขอบคุณ @Djpchod และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ข้อมูลต่างๆ กับผม และ @supinya เพื่อให้เราสร้างกระบวนการที่มีธรรมาภิบาลต่อทุกคน การเปลี่ยนผ่านเป็นเจตนารมณ์ที่เราทุกคนมุ่งไปสู่เป้าหมายแต่ก็คงต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรมโดยคำนึงถึงความจำเป็นของทุกภาคส่วนด้วย กสท. จะไม่ผลักหรือสร้างปัญหาให้กับใครคนใดคนหนึ่ง และไม่สร้างกระบวนการที่เป็นการเลือกปฏิบัติครับ

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net