ส่งจดหมายถึงยูเอ็น วอนนานาชาติช่วยแรงงานข้ามชาติในวิกฤตน้ำท่วม

วันนี้ (16 พ.ย.54) ในโอกาสที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐบาล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คี มุน ผ่านผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติสนับสนุนรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติซึ่งประสบภัยน้ำท่วมทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว 0000 16 พฤศจิกายน 2554 เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงวิกฤตน้ำท่วมในประเทศไทย เรียน เลขาธิการสหประชาชาติ ประเทศไทยต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งครอบคลุมภาคเหนือและกลางของประเทศ ซึ่งรวมถึงอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ แรงงานทั้งไทยและต่างชาติในเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติเกือบ 1 ล้านคนและญาติพี่น้องของพวกเขาซึ่งทำงานและอาศัยในบริเวณดังกล่าว ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและเพียงพอ เพื่อจะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในการอยู่รอด รัฐบาลไทยได้พยายามที่จะช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ แต่ด้วยขนาดพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้าไม่ถึงทั้งความช่วยเหลือจากรัฐบาลและการคุ้มครองทางกฎหมายที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงาน นายจ้างบางรายปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างงวดล่าสุดรวมถึงค่าชดเชยให้พวกเขา แรงงานข้ามชาติจำนวนมากออกจากพื้นที่น้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในสภาวะว่างงานและไม่มีรายได้ พวกเขาจำนวนมากถูกบังคับให้เดินทางออกนอกพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ พวกเขาอาจต้องกลับประเทศต้นทาง หรือถูกบังคับให้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและประชาคมนานาชาติ ในการริเริ่มแผนการฟื้นฟูระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงความช่วยเหลือการจัดการด้านภัยพิบัติทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติ ดังนี้ 1) ให้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการดำเนินนโยบายเพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการช่วยเหลือโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางสัญชาติ เชื้อชาติ หรือสถานะทางกฎหมาย และควรมีการผลักดันให้รัฐบาลพัฒนานโยบายที่สอดคล้องกันและปฏิบัติได้จริง ซึ่งรวมถึงมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติและสิทธิในการได้รับค่าชดเชยของแรงงานข้ามชาติ 2) ให้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการออกแผนบรรเทาทุกข์แรงงานข้ามชาติในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาศัยความร่วมมือของรัฐบาล เอ็นจีโอ นายจ้าง องค์กรแรงงาน และแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงความช่วยเหลือในรูปแบบการแบ่งปันข้อมูล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรท้องถิ่น และการเข้าถึงสถานพักพิงของแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลยังควรทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อการสนับสนุนจากองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้โดยง่าย 3) ให้สนับสนุนรัฐบาลไทยในการพัฒนาระบบในการตรวจสอบความโปร่งใสและการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของทุกคนได้รับผลกระทบน้ำท่วม รวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยระบบดังกล่าวควรคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติในระหว่างการอพยพย้ายถิ่นและไม่ควรขับไล่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลับไปประเทศของตนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลควรได้รับการสนับสนุนให้ใช้โอกาสนี้ในการแปลงนโยบายแรงงานข้ามชาติสู่ระบบที่จะขยายความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายไทย 4) ส่งเสริมให้สหประชาชาติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศในการทำงานร่วมกับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ เพื่อวางแผนการบรรเทาทุกข์สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตัดสินใจที่จะกลับบ้านเกิดในช่วงน้ำท่วม ขอแสดงความนับถือ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มูลนิธิรักษ์ไทย หน่วยพัฒนาและบรรเทาทุกข์ (ADRA) เครือข่าย​ผู้หญิงพลิก​โฉมประ​เทศ​ไทย ศูนย์การจัดการความรู้เรื่องภัยพิบัติ ประเทศไทย ศูนย์ศึกษาการย้ายถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท