Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นับเป็นเวลาสองสัปดาห์มาแล้ว ที่คนไทยหลายคนต้องผงะกับความเห็นบนเฟซบุ๊คของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร คงไม่ต้องเท้าความอะไรกันมาก เพราะคงได้เห็นกันหมดแล้ว แต่เผื่อว่าใครไปจำศีลอยู่ในถ้ำและเพิ่งออกมา ก็ลองอ่านดูว่าต้องผงะเพราะอะไร (screen capture เฟชบุ๊คของนายเอกยุทธ วันที่ 2 พ.ย.)

แน่นอนว่า ใครมีเซลล์สมองที่ยังทำงานอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจได้ตรงกันว่า “สาวเหนือ” ที่นายเอกยุทธพูดถึงในโพสต์ นั้นเป็นใคร ส่วนนายเอกยุทธ ถ้าใครยังไม่รู้จัก ก็ไปดูประวัติกันเอาเองในวิกิพีเดีย เพราะบทความนี้ไม่ได้สนใจนายเอกยุทธ แต่สนใจปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของเขา ซึ่งเป็นผลพวงที่น่าเอามาขบคิดยิ่งกว่า

คำพูดของนายเอกยุทธ มีคนแชร์กันไปมากกว่าพันครั้งบนหน้าเฟชบุ๊คของเขาเอง (ซึ่งวันนี้ลองไปเปิดดูอีกที แต่ดูเหมือนว่าโพสต์นี้จะไม่อยู่แล้ว อาจจะลบไปแล้ว) ถ้าลบไปจริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะแม้จะมีแฟนคลับชูนิ้วให้ 31 คน แต่ส่วนใหญ่ทิ่มหัวนิ้วโป้งให้กับโพสต์นั้นกันเป็นพรวน มีเสียงด่าจากรอบทิศ แถมถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทต่อผู้หญิงเหนือด้วยหลายราย ทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

คิดว่านายเอกยุทธก็คงคาดไม่ถึงว่าปฏิกิริยาจะรุนแรง และขยายวงกว้าง เพราะอาจหลงคิดไปว่าคนอื่นคงคิดเหมือนตน พอเห็นว่าแม้แต่แฟนคลับยังรับไม่ได้ ก็ออกมาขยายความ แต่ยิ่งแถๆ ไถๆ ไปแบบน้ำขุ่นๆ ว่า “พูดความจริง” และ “ไม่ได้ดูถูก” ผู้หญิงอาชีพขายบริการ คนฟังก็ยิ่งเบือนหน้าหนี คนเหนือในเน็ตถึงกับหมายหัวว่า “อย่ามาเหยียบภาคเหนือเชียวนะ!” มีคนไปเปิดเฟซบุ๊ค เอาไว้ด่านายเอกยุทธโดยเฉพาะ ชื่ออย่างยาวว่า “มั่นใจคนเหนือไม่พอใจAkeyuth Anchanbutr กับการดูถูกชาวเหนือเป็นหญิงขายบริการ” ซึ่งตอนนี้ยังมีคนทะยอยเข้าไปด่าอยู่เรื่อยๆ

ในฐานะที่ดิฉันเป็นคนเหนือ ยอมรับว่า เมื่อเห็นคำพูดของนายเอกยุทธครั้งแรกทางทวิตเตอร์ก็ “ของขึ้น”เช่นกันค่ะ และได้ประณาม ไปอย่างตรงๆ เป็นหนึ่งในชาวเน็ตจำนวนมากทั้งเหนือและไม่เหนือ หญิงและชาย ที่ออกมาร่วมประณาม ภาคประชาชนในเชียงใหม่ ก็ออกมาแสดงพลังต่อต้านที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในวันต่อมา ตัวแทนกลุ่มพลังผญ๋าแม่ญิงล้านนา มหาวิทยาลัยล้านนา มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กลุ่มพัฒนาสตรีเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงเสื้อแดง ราว 200 คน พร้อมใจกันประณามคำพูดนายเอกยุทธว่าเป็นการดูถูกและหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของ“หญิงบริการ”และผู้หญิงเหนือ

ปลื้มใจค่ะ ที่ภาคประชาชน ตื่นตัวออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของแม่ญิงเหนือ สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือ คนเหนือปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำอาชีพขายบริการอย่างแข็งขัน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่รังเกียจคนอาชีพนี้ และไม่ยอมรับคำดูถูกดูหมิ่นที่นายเอกยุทธเอามายัดเยียดให้ ถ้าผู้ที่ถูกปรามาสด้วยคำนี้ ไม่รับว่าเป็นคำดูถูกอย่างที่คนตั้งใจด่า มันก็ไม่ใช่คำด่าที่ได้ผล นอกจากนั้น กลุ่มพลังผญ๋าแม่ญิงล้านนา และเครือข่ายแม่ญิงพะเยายังไปแจ้งความกับตำรวจ ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายเอกยุทธในข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย

แต่พอปลื้มไปได้พักหนึ่ง ก็เริ่มเอะใจว่า ทำไมรายชื่อองค์กรภาคประชาชนที่ออกมาแสดงพลังไม่มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมด้วย มช.มีแผนกสตรีศึกษาซึ่งปกติก็มีเฟมินิสต์ประจำบ้านที่ออกมามีบทบาท ให้ความเห็นต่างในสังคมอยู่ แต่ทำไมงานนี้ไม่เห็นมีใครออกมา ในวันแรก มีคนที่เรียกได้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า “เฟมินิสต์” ที่เป็นที่รู้จักออกมาให้ความเห็นแค่สองคน คนหนึ่ง คือ “คำ ผกา” ลักขณา ปันวิชัย เธอตอบได้อย่างสั้นๆ จะๆ ถึงใจ ว่า “ขายหีมีศักดิ์ศรี[กว่า]ฆ่าคนนะเอกยุทธ์”  ทวีตอันนี้มีคนรีทวีตไป 42 คน อีกคนหนึ่ง คือ อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รายนี้ตอบมาเป็นซีรีย์  9 ทวีต เลือกมาให้ดูบางส่วน

"เข้าใจได้ที่จะมีคนมากมายไม่ชอบและด่าทอนายกยิ่งลักษณ์ด้วยเหตุต่างๆ กัน วิธีที่เธอถูกด่าบอกอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมไทย (1)” –มีคนรีทวีต 17 คน (ลิงก์)

"การด่านายกหญิงโดยพูดถึงความเป็นหญิงเหนือของเธอทำให้คนที่ไม่ถูกใจเธอสะใจ ได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงสังคมไทยก้าวไม่พ้นมายาคติของเพศสภาพ(4)” –มีคนรีทวีต 44 คน (ลิ้งก์)

“นายกปูไม่ได้ดีไปหมด ปกป้องเธอโดยไม่เลือกประเด็นแบบไม่ให้ใครแตะก็ไม่สร้างสรรค์ ด่าเธอแบบไม่ลืมหูลืมตาหยาบคายไร้ประเด็นก็ไม่สร้างสรรค์ (8)” –มีคนรีทวีต 66 คน (ลิงก์)

“วิพากษ์+ตั้งคำถามกับนายกยิ่งลักษณ์ในประเด็นนโยบาย การทำงาน การใช้อำนาจ ดีกว่า จะได้มีอะไรคิดต่อประเทืองปัญญาได้บ้าง (9)” –มีคนรีทวีต 38 คน (ลิ้งก์)

ให้ข้อคิดดีค่ะ ดิฉันอ่านทั้งชุด รวมที่ทวีตต่อๆ มาในอีกหลายวันแล้วก็เห็นด้วยในหลายประการ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังรู้สึกเหมือนเกาไม่ถูกที่คัน คงเป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้ตีประเด็นจังๆ เหมือนคำ ผกา ซึ่งตอบโต้ และตีประเด็นให้แตกออกมาอย่างชัดเจนเห็นแจ้งใน สัมภาษณ์ทางว้อยซ์ทีวี ดังนี้

1. คำพูดนายเอกยุทธ เป็นการเหยียดทั้งเพศ เหยียดภาค และเหยียดชาติพันธุ์ ซึ่งรังแต่จะยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น

2.  ผู้หญิงขายบริการก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (เหมือนคนอื่น)

3.  คำพูดนายเอกยุทธถือว่าเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเกี่ยวกับการเหยียดเพศ เหยียดภาคที่ยังมีอยู่ในสังคมนี้

เปรียบเทียบความคิดเห็นเฟมินิสต์ชื่อดังสองคนแล้วต้องบอกว่า ของ คำ ผกา โดนใจแบบห่างหลายขุม (แน่นอนค่ะ คนอื่นอาจไม่เห็นด้วย) ซึ่งดิฉันคิดว่าไม่ใช่เพราะ คำ ผกา เก่งหรือฉลาดกว่า แต่คิดว่าเป็นเพราะตาที่มอง สมองที่คิด เป็นคนละชุดกัน ประสบการณ์และมุมมองอาจต่างกัน  แต่ดิฉันอดแปลกใจไม่ได้ ว่าทำไมอาจารย์ชลิดาภรณ์ ซึ่งความสามารถทางวิชาการไม่เป็นรองเฟมินิสต์คนใด ทำไมไม่พูดถึงการเหยียดผู้หญิงทั้งภาคเหนือ หรือเป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้เป็นคนเหนือ ดิฉันเชื่อแน่ว่าระดับอาจารย์ต้องเห็นทันทีว่า วาทะนั้นมันมีการเหยียดหยามหลายมิติ ไม่ใช่แค่มิติกดขี่เพศหญิงเท่านั้น แม้คนด่าจะตั้งใจด่านายกฯหญิง แต่เอาผู้หญิงอาชีพหนึ่ง เอาผู้หญิงทั้งภาคมาด่า เพื่อจะให้กระทบคนๆ เดียว  เพราะฉะนั้น ยังมีมิติภาค มิติชาติพันธุ์ และ มิติชนชั้น อีกด้วย

แปลกใจว่าทำไมกลุ่มผู้หญิงซึ่งหลายคนอาจจะเรียกว่าระดับ “บ้านๆ” ในเชียงใหม่ พะเยา หรือแม้แต่ชนชาวเน็ตธรรมดา ทั้งหลาย ทั้งชายหญิง ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่เคยได้เรียนสตรีศึกษามาก่อน ถึงเห็นได้ทันทีว่า นายเอกยุทธเหมาดูถูกผู้หญิงทั้งภาค ทั้งอาชีพ หรือว่า ผู้หญิงระดับบ้านๆ และคนเหล่านี้ มี  Feminist Mind โดยธรรมชาติ หรือเพราะพวกเขามีความรู้สึกร่วมต่อมนุษย์ร่วมสังคม ร่วมโลก (Empathy) ซึ่งดูเหมือนเฟมินิสต์ระดับแนวหน้าในเมืองไทยทั้งหลาย เอาไปลืมไว้ที่ไหนที่ใดที่หนึ่ง ในกรณีนี้

ลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์ ผู้หญิงเหนือที่มีบทบาทในสังคมอีกคนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นประธานชมรมเสียงสตรี บอกว่า คำพูดของเอกยุทธ เป็นการ “ตบหน้าผู้หญิงไทยทั้งประเทศ” (ดูวีดีโอ ; ข่าว)  เรียกร้องให้ต่อต้านนายเอกยุทธอย่างกว้างขวาง เพราะเห็นว่าควรทำให้เป็นเยี่ยงอย่าง ว่าจะมาสบประมาทผู้หญิงเล่นๆ แบบนี้อีกไม่ได้ คำถามที่ตามมาคือ เฟมินิสต์ที่ไม่ใช่คนเหนือรู้สึกถูก “ตบหน้า” ร่วมด้วยหรือไม่  หรืออย่างน้อยรู้สึกการสั่นสะเทือนของแรงตบจากนายเอกยุทธหรือไม่

ครบหนึ่งสัปดาห์  มีนักการเมืองหญิงจากทั้งสองฝ่ายออกมาแสดงความเห็น  ฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เขียนบทความลงในมติชน “ขอความเป็นธรรม” ให้กับนายกฯ และหญิงไทย บอกว่านายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ วิจารณ์ได้ แต่ขอให้วิจารณ์อย่างมีวุฒิภาวะ ใช้ตรรกะและเหตุผล ไม่ใช้มุสาวาจา

“แฝงทรรศนะความคิดเห็นที่หมิ่น ดูแคลน เหยียดหยามผู้หญิงไทยอย่างรุนแรง มามุ่งทำลาย สร้างความเกลียดชัง เพราะหวังผลทางการเมืองแบบไร้สติ สร้างความขัดแย้งทางสังคมที่กว้างขวางขึ้น” การตอบโต้นี้ แสดงว่า รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับคำพูดของนายเอกยุทธ ซึ่งดิฉันเห็นว่าถูกต้องแล้วที่โฆษกสำนักนายกฯ ออกมาตอบโต้อย่างชัดเจน จุดที่น่าสนใจคือ ฐิติมา ไม่ได้ใช้คำว่า “ผู้หญิงเหนือ” แต่ใช้คำว่า “ผู้หญิงไทย”

นักการเมืองหญิงฝ่ายค้านสองคนก็ออกมาในวันเดียวกัน ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และ มัลลิกา บุญมีตระกูล สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคนภาคเหนือทั้งสอง ไม่ได้พูดถึงนายเอกยุทธ แต่กลับมุ่งเป้าไปที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์โดยตรง ทั้งสองให้สัมภาษณ์ไปในทางเดียวกัน ว่านายกฯ เอง เป็นต้นเหตุทำให้ผู้หญิงถูกตรวจสอบ เพราะทำตัว ขี้แย อ่อนแอ ใช้มารยาหญิง จนทำให้คนดูถูก ทำให้ผู้หญิงไทยเสียหาย

ศิริวรรณ รองหัวหน้าพรรคปชป.  ดูแลภาคเหนือ วิจารณ์ว่า ตัวนายกฯ ทำให้ “เป็นที่ถกเถียงกันกว้างขวางว่าผู้หญิงเหนือมีความสามารถแค่นี้หรือ…  ใช้มารยาหญิงผิดที่ผิดทางหรือไม่… พรรคประชาธิปัตย์ต้องนำมาขบคิด … เพราะเราไม่อยากให้ภาพลักษณ์ของหญิงเสียหายไปมากกว่านี้”  ส่วน มัลลิกา รองโฆษก ปชป. วิเคราะห์น้ำตานายกฯ ได้อย่างน่าทึ่ง “การร้องไห้ครั้งที่ 1 น่าสงสาร ร้องไห้ครั้งที่  2 น่าเห็นใจ ร้องไห้ครั้งที่  3 มันเริ่มน่าสงสัย แต่พอครั้งที่  4 อันนี้ผู้หญิงคนนี้เริ่มเยอะไป จริตเยอะจนคนดูถูกผู้หญิงในภาพรวม” แถมท้ายด้วยว่า นายกฯ “ใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือนทำลายภาพลักษณ์ผู้หญิงที่เราพยายามปกป้องกันตลอดชีวิต”

สรุป คือ คนที่ผิดเป็นนายกฯ เอง! อนุมานได้ว่า นายเอกยุทธ และคนอื่นๆ ที่ดูถูก เหยียดหยาม นายกฯ และผู้หญิงเหนือ มีเหตุผลอันควร?!!  ยอมรับว่า คำพูดของ ส.ส.หญิงทั้งสอง ทำให้ดิฉันผงะหงายมากกว่าคำพูดนายเอกยุทธเสียอีก กล่าวคือ ถ้าคำพูดนายเอกยุทธ เป็น “แรงตบ” คำพูดของส.ส.หญิง ปชป ทั้งสอง คือ “แรงกระทืบซ้ำ” น่าสงสัยว่า ถ้าส.ส.หญิงสองคนนี้ เห็นผู้หญิงถูกชายกักขฬะฉุดไปข่มขืน จะชี้ไปที่ผู้หญิงคนนั้นว่าผิดเอง เพราะทำตัวล่อไอ้เข้ หรือไม่

วันต่อมา ราวกับว่า กลัวชนชาวไทยจะไม่ซาบซึ้งที่ สส.หญิง ในพรรคพูดไว้ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ออกมาย้ำอีก เรื่องการร้องไห้ “ในการเมืองไม่มีผู้หญิงหรือผู้ชาย เมื่ออาสามาแล้วต้องทำงานให้ได้ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น ดังนั้นอย่าร้องไห้ เพราะนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรแล้ว ยังทำให้ภาพพจน์ของผู้หญิงเสียหาย”

ดิฉันเชื่ออย่างจริงใจค่ะคุณหญิง เพราะเชื่อว่าคุณหญิงพูดจากประสบการณ์ ว่า “ในการเมืองไม่มีผู้หญิงหรือผู้ชาย” เพราะอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ในเกมการเมืองบ้านเราที่ไม่ยึดถือหลักการ แต่ยึดการเอาชนะคะคาน ชิงไพ่ ไม่เอากฏเกณฑ์ถ้ามันไม่ให้ประโยชน์ต่อตน ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล เหตุผล มนุษยธรรม ความเป็นธรรม หรือเพศของนักการเมือง ไม่ได้เป็นหลักชี้นำความประพฤติของนักการเมือง ไม่ว่าในพรรคใด ไม่ว่าหญิงหรือชาย  ดูตามความคิดของคุณหญิงและลูกพรรคปชป.ข้างต้นแล้ว  ดิฉันคิดว่าดิฉัน คงไม่กล้าถามว่ามี  Feminist Mind อยู่หรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่ามี Humanist Mind หรือเปล่า เห็นแต่ Genderless Politician’s Mind ที่มีวิญญานไฮยีน่า จ้องหาเหยื่อถูกทำร้ายมาบริโภค

วันที่ 8-9 พ.ย. ดิฉันรู้สึกหดหู่ กับคำพูดของสส.หญิง ปชป. มาก ดิฉันอาจจะอ่อนหัด เพราะนึกไม่ถึงว่าจะทำกับเพศเดียวกันได้ขนาดนี้ ที่พูดมาไม่ใช่เพราะดิฉันรักนายกฯ หญิงเป็นพิเศษ ส่วนตัวแล้วไม่ได้รู้สึกว่ารักหรือเกลียด แต่ดิฉันให้เกียรตินายกฯ ในฐานะผู้นำของประเทศที่ประชาชนเลือกมาแล้วอย่างถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย นายกฯ ทำงานมาสามเดือน ดิฉันก็เห็นว่ามีหลายประการที่ควรปรับปรุง แต่ก็ไม่ได้เห็นว่าแตกต่างมากจากนายกฯ ชายหลายคนในอดีต ไม่มีใครที่เข้ามาแล้วทำอะไรเก่งไปหมดทุกอย่าง แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด เท่าที่เห็นก็คิดว่าพยายามเต็มที่ แม้จะไม่ได้อย่างใจทุกเรื่อง แต่ดิฉันยิ่งเห็นนายกฯ ถูกโจมตีอย่างไม่ลดละ ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอย่างหลัง ดิฉันก็อดเห็นใจไม่ได้ แต่ต้องบอกว่าตอนนี้ชื่นชมในคุณสมบัติของนายกฯ อยู่อย่างหนึ่ง คือความอดทนและอดกลั้น ไม่โต้ตอบเมื่อถูกโจมตี แต่ตั้งใจทำงาน (ดีไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง) คุณสมบัตินี้หายากในนักการเมือง ถ้านายกฯ เต้นตามแรงโจมตี ก็คงไม่ต้องทำอะไรกัน

แต่พออีกวัน ก็มีกำลังใจขึ้นมาหน่อย เมื่อบทความของ สนิทสุดา เอกชัยออกมาในบางกอกโพสต์ จริงๆ ก็รอบทความจากคนนี้อยู่  เขียนได้อย่างไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะเห็นเหมือนกันว่า บทบาทของเฟมินิสต์ระดับชาติหายไป คุณสนิทสุดาเขียนว่า “คิดว่าวาทะแห่งความเกลียดชังของนายเอกยุทธ จะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผู้หญิงหลากสีหลายฝ่าย ออกมารวมตัวกันประณาม แต่คาดผิดไปจริงๆ…  ความเงียบกริบของนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอื่นๆ [นอกจากกลุ่มผู้หญิงเหนือ] ดังเสียจนกลบโสตประสาท… ไม่ว่าจะเพราะอะไร ความเงียบเป็นการก้าวผิด  เพราะการสร้างความตื่นตัวเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม” สนิทสุดาย้ำในประเด็นที่ภาคประชาชนชาวเหนือ คำ ผกา และผู้นำหญิงชาวเหนือคนอื่นๆ ได้ออกมาพูดแล้วว่า คำพูดของนายเอกยุทธเป็นการแสดงความเกลียดชังต่อเพศหญิง เป็นการดูถูกดูหมิ่นชาติพันธุ์ และไม่ควรปล่อยให้เป็นที่ยอมรับในสังคม 

สนิทสุดาถามว่า “ทำไม” เฟมินิสต์ระดับชาติทั้งหลายไม่ออกมารวมพลังต่อต้าน  ดิฉันก็สงสัยเหมือนกัน ว่าทำไม  สนิทสุดา บอกต่อว่า “คุณไม่จำเป็นต้องชอบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่จะรู้สึกเจ็บร้อน ขอให้คุณเชื่อแค่ว่า การเหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ผิด”  เพราะฉะนั้น คำถามของดิฉันคือ นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแนวหน้าที่หายไป นักต่อสู้ที่เคยออกมาให้ความเห็นว่า นายกฯ หญิงคนแรกของไทย “ไม่มี Feminist Mind” “เป็นชายในร่างหญิง” ใช้สรรพนามไม่ถูกต้อง ต่างๆ นานา ตอนนี้ ควรออกมาทำหน้าที่เป็นเฟมินิสต์ที่สมควรหรือไม่

อ.ชลิดาภรณ์ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจในทวีตหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่า

“มีนายกฯหญิงทำให้ผู้หญิงถูกด่า ทำงานไม่ถูกใจก็ด่า ด่ากันเองก็โดนด่า ไม่ด่านายกฯก็โดนด่า ไม่ปกป้องนายกฯก็โดนด่า เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบากนะ” –มีคนรีทวีต 24  คน (ลิงก์)

อ่านแบบขำๆ ก็เป็นจริงอย่างที่อาจารย์ว่า แต่คงต้องถามต่อว่า “แล้วไง?” บทบาทของผู้หญิง โดยเฉพาะเฟมินิสต์ควรเป็นอย่างไรในเรื่องนี้ เฟมินิสต์ชั้นแนวหน้าในประเทศไทยทั้งหลายเห็นว่า การที่นายกฯ และผู้หญิงเหนือถูกรุกรานแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหรือไม่ อยากถามผู้นำเฟมินิสต์ ที่เชื่อในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศทุกคนว่า คุณคิดว่า คุณควรมีบทบาทอย่างไร คุณรู้สึกเจ็บร้อนร่วมบ้างหรือไม่ที่ผู้หญิงไทยภาคหนึ่งถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างไม่ไว้หน้า

ที่อ.ชลิดาภรณ์แย้มมาว่า “ไม่ด่านายกฯก็โดนด่า ไม่ปกป้องนายกฯ ก็โดนด่า” นั้น ลองเอามาตรึกตรองดูอีกที เท่าที่มีคนออกมาพูดเรื่องนายเอกยุทธ มีเพียงคุณฐิติมาคนเดียวที่ออกมาปกป้องนายกฯ โดยตรง คนอื่นออกมาปกป้องผู้หญิงโดยรวมค่ะ หรือจะเป็นไปได้ว่า ความเงียบจากเฟมินิสต์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมีเหตุมาจากคิดว่าคำเหยียดหยามจากนายเอกยุทธเกี่ยวข้องเฉพาะนายกฯ เท่านั้น ถึงไม่ได้ให้ความสนใจ?

เป็นไปได้อย่างไร ทั้งที่คนถูกเหยียดหยามมีให้เห็นชัดๆ อีกสองกลุ่มคือ หญิงในอาชีพขายบริการ และหญิงเหนือ หลายคนยังเห็นว่าเหยียดหยามหญิงไทยทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ สมมตินะคะว่าเฟมินิสต์ที่หายไปทุกคนไม่ชอบนายกฯ ยิ่งลักษณ์จริงๆ เพราะคิดว่า “โง่” “ไร้ความสามารถ”  “เหาะมา” หรือ อะไรก็แล้วแต่ สมมุติว่านายกฯ  เป็นอย่างที่คุณคิดจริงๆ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นมนุษย์ ของนายกฯ ลดน้อยลงไปหรือ ในมุมกลับ หญิงขายบริการ หญิงชาวเหนือ ถูกเหยียดหยาม เพราะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายนายกฯ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นมนุษย์ ของผู้หญิงสองกลุ่มนี้ ลดน้อย ถอยลงหรือ ควรค่าแก่การปกป้องน้อยลง เพราะถูกนำมาเกี่ยวโยงกับ นายกฯ ที่คุณไม่ชอบหรือ ถ้าคุณเห็นว่าเป็น “เรื่องการเมือง” ไม่เกี่ยวกับสิทธิสตรี ในฐานะเฟมินิสต์ คุณเข้าใจประโยคที่ว่า The personal is political. หรือเปล่า

อ.ชลิดาภรณ์ เคยเขียนไว้ว่า “Feminist mind ไม่ใช่ Female chauvinism ไม่คลั่งหญิง [แต่] ตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมในระบบนิยมชาย และพร้อมจะต่อสู้กับการกดขี่รังแกทุกรูปแบบ”

ขอถามอีกทีเป็นคำถามสุดท้ายค่ะ ในฐานะเฟมินิสต์ คุณพร้อมที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม กับการกดขี่รังแกทุกรูปแบบหรือเปล่า หรือคุณจะเลือกต่อสู้เฉพาะเพื่อผู้หญิงกับกลุ่มคนที่คุณชอบ Feminist Mind ของคุณยังอยู่ครบถ้วนหรือเปล่า หรือเอาไปลืมไว้ที่ไหน

 

16 พ.ย. 2554


 

 

“แก้วมาลา” เป็นนักเขียน นักวิจัย บล็อก: thaiwomantalks.com ทวิตเตอร์: @thai_talk  บทความนี้ดัดแปลงเพิ่มเติมจาก “Bangkok feminists, where are you?” โดย แก้วมาลา พิมพ์โดย Siam Voices, Asian Correspondent:http://asiancorrespondent.com/69443/bangkok-feminists-where-are-you/

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net