Skip to main content
sharethis

ภาพชายชราวัย 73 กำลังนั่งตายัตในเวลาละหมาดดุฮ์รี เพื่อศิโรราบต่ออัลเลาะฮ์พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสลาม อยู่หน้าลิฟต์โดยสารของโรงแรมเอเชี่ยนหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 วันที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยังฝังอยู่ในความทรงจำของผู้พบเห็นหลายคน “ผมมาที่นี่ เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของชาวบ้านจังหวัดสตูลให้สภาพัฒน์รับฟัง จาการที่มีโครงการของรัฐ 5–6 โครงการคือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 คลังน้ำมันและท่อขนถ่ายน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรมหนึ่งแสนห้าหมื่นไร่ อุโมงค์สตูล–เปอร์ลิศ และเขื่อนทุ่งนุ้ย” นายดาดี ปากบารา ชาวบ้านตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล กล่าวอย่างคับแค้นใจหลังละหมาดเสร็จ “การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไหนจะต้องนำทรายจากบ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านปากละงูและบ้านหัวหิน อำเภอละงู และระเบิดภูเขาอีก 11 ลูกมาถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึก เราชาวบ้านอยู่สุขสบายดีอยู่แล้ว ทรัพยากรในทะเลอุดมสมบูรณ์ อย่าเอาแผนพัฒนามารังแกชาวบ้านเลย” นายดาดี พูดเชิงอ้อนวอน ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี พรรคเพื่อไทยจัดงานประกาศนโยบายต่างๆ ของพรรค “พรรคเพื่อไทยมีนโยบายจะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เพราะฉะนั้นท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะต้องเกิด โดยจะนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ที่ บริษัทดูไบเวิลด์ เคยศึกษาไว้ด้วยทุน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ มาช่วยในการดำเนินโครงการ โดยตั้งเป้าให้เป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันและปิโตรเลียมจากฟากตะวันออกกลาง ไปยังทวีปยุโรป แทนการใช้ท่าเรือของสิงคโปร์ เพราะจะทำให้ย่นระยะเวลาเดินทางของเรือได้ถึง 1–3 วัน” เป็นเสียงประกาศผ่านวิดีโอลิงก์ลั่นมาจากดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “เป็นการประหยัดต้นทุนลง สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้นคาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่จะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศได้ถึง 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เชื่อว่าบริษัทน้ำมันทั่วโลก ที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์จะย้ายมาตั้งฐาน ที่ท่าเรือปากบาราแทน” เป็นคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย วันก่อน ชาวบ้านบนชายหาดที่โกรกด้วยลมแดด ลมทะเลร้อนอบอ้าวทั้งริมชายฝั่งทะเลอันดามัน และริมฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย ผสมกับความเดือดร้อนจากความพยามยามผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของพรรคภูมิใจไทย ผ่านกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันนี้ ดูเหมือนว่าความร้อนนั้นยิ่งทวีคูณ อันเป็นเหตุให้ชาวบ้านจากจังหวัดสตูล โดยเฉพาะอำเภอละงู และชาวบ้านจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอำเภอจะนะ แห่เข้าเวทีสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้กว่า 100 คน เป็นการมาร่วมทั้งที่ไม่ได้รับเชิญ ก่อนหน้านี้ วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด จัดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนา พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสภาพัฒน์ ที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในเวทีดังกล่าว มีนักวิชาการนำเสนอว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูลหากสร้างไปก็ไม่คุ้มทุน แม้จะได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ก็ตาม ถ้าจะก็ต้องมีโครงสร้างในการบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ด่านศุลกากร การขนถ่ายสินค้าขึ้นลงลำเรือที่ฉับไว นักวิชาการคนดังวกล่าว ระบุว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล เป็นแค่การขนถ่ายสินค้า เก็บเงินจากค่าระวางในการใช้ท่าและจากค่าขนส่ง ซึ่งรับประโยชน์น้อยมาก ถ้าต้องการให้คุมทุน ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมตามมาด้วย สอดคล้องกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เคยบอกว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะไม่คุ้มทุนถ้าไม่มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับ นายกานต์ รัตนปราการ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบริษัทเจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เปิดเผยว่า การเดินเรือที่มีระยะทาง 100 กิโลเมตร ถ้าเดินเรือจากปลายแหลมญวนผ่านเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ใช้ระยะเวลา 25–30 ชั่วโมงเอง แต่หากถ้าใช้บริการแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ต้องใช้เวลาฝั่งละ 48 ชั่วโมง รวมกันต้องใช้เวลาถึง 96 ชั่วโมง เท่ากับ 4 วันเต็มๆ “จากประสบการณ์ที่ผมเคยเดินเรือ นำมาวิเคราะห์ดูแล้วไม่เห็นด้วยกับการถลุงนำเงินแสนล้านบาทสร้างโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา–สตูล ซึ่งดูแล้วสวยหรู แต่หาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้เลย ผมอยากเสนอให้พัฒนาท่าเรือที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ ไม่ใช่สร้างท่าเรือมั่วไปหมด” นายกานต์ กล่าว ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนาหัวข้อ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เศรษฐกิจไทย ได้หรือเสีย” ณ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบ้านปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในโครงการแลนด์บริดจ์ที่ กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่าผลักดัน ในเวทีดังกล่าวนายสุวัฒน์ อัศวทองกุล นายกสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ กล่าวว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง เนื่องจากทางภาคใต้สินค้าส่งออกมีปริมาณจำกัด ส่วนใหญ่เป็นยางพารา และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง โดยจะมีสินค้าส่งออกประมาณแสนห้าหมื่นทีอียู (20ตู้คอนเทนเนอร์) ออกที่สงขลาประมาณ 6–7 หมื่นตู้ และออกที่ปีนัง 6–7 หมื่นตู้ เช่นกัน นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ท่าเรือน้ำลึกสงขลาเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ร่องน้ำตื้น ใช้เรือใหญ่เข้าไปขนสินค้าไม่ได้ ต้องใช้เรือเล็ก ที่บรรจุได้เพียงร้อยกว่าตู้ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าแพง ที่เหลือจึงไปออกที่ปีนังเพราะสามารถทำราคาได้ถูกกว่า ส่วนสินค้าที่ภาคใต้ตอนบนจะมาส่งออกที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยใช้เส้นทางรถไฟ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการขนส่งโดยใช้เรือเล็ก มาที่แหลมฉบัง เพราะที่สุราษฎ์ธานี ก็มีปัญหาร่องน้ำตื้นจึงต้องใช้เรือเล็ก ทำให้ต้นทุนแพง ไม่ได้ถูกกว่ารถไฟ หรือรถยนต์ “ผมไม่ได้มองที่ยุทธศาสตร์ แต่มองแบบคุ้มทุน ภายใน 4–5 ปี ทั้งนี้ ผมมองว่าการสร้างท่าเรือใหม่ไม่คุ้มค่า และควรให้ความสำคัญกับท่าเรือที่มีอยู่แล้วโดยปรับปรุงให้ดีขึ้น” นายสุวัฒน์ กล่าว นายสุวัฒน์ เสนอว่า ควรเร่งก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 ก่อน เพราะลักษณะมีร่องน้ำลึก จะทำให้สินค้าไทยที่ไปออกทางปีนังกลับมา โดยมองว่า ผู้ส่งออกไทยก็ไม่ได้อยากไปใช้เรือที่มาเลเซีย เพราะไม่สะดวกในการขนส่ง นายสุวัฒน์ กล่าวว่า เราคาดหวังกับท่าเรือน้ำลึกปากบารามากเกินไป สินค้าไทยในภาคใต้มีประมาณสามแสนตู้ต่อปี สินค้าหลักคือ ยางพาราผู้ซื้อรายใหญ่คือ จีนกับญี่ปุ่น ส่งออกที่ท่าเรือสงขลา จึงต้องออกทางฝั่งตะวันออก ยางพาราควรออกที่สงขลาเพราะจะได้ค่าระวางถูกกว่า เพราะฉะนั้นสินค้าภาคใต้เอง ที่จะมาออกทางปากบาราจึงเหลือน้อย “แลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เนื้อหาฟังดูดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง เพราะว่า เป็นการขนส่งเป็นแบบซ้ำซ้อน เส้นทางรถไฟมีความยาวร้อยกว่ากิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อตู้สูง แพงเกินไปในแง่ของผู้ประกอบการคงไม่ใช้ ฉะนั้นค่าถ่ายลำที่มาเลเซียจะถูกกว่า ถ้ามองในแง่ระยะเวลาอาจจะลดลงจริง แต่ถ้ามองในแง่ธุรกิจไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนัก” เป็นความเห็นของนายสุวัฒน์ ที่แปลกแยกจากความเห็นคนอื่นๆในเวทีครั้งนั้น ต่อมา วันที่ 23 สิงหาคม 2554 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์อย่างแน่นอน แม้ว่าก่อนหน้านั้นวันที่ 21–22 สิงหาคม 2554 เครือข่ายประชาชนจังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงมาประมาณ 1 พันคน รวมตัวกันที่วนอุทยานเขาพาง (วัดภูพางพัฒนาราม) ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เข้าร่วมแผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 คนใต้กำหนดอนาคตตัวเอง เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็ไม่มีท่าทีตอบรับจากรัฐบาล มิหนำซ้ำ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศอย่างชัดเจนที่จะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ด่านแรกก็คือท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และจะดึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้ามาร่วมโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค หลังจากนั้น นายทะกะอะกิ ซาวะดะ เลขานุการเอกสถานทูตญี่ปุ่น พร้อมคณะเข้าพบนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล ขอทราบข้อมูลและความเคลื่อนไหวโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราถึง 3 ครั้ง ตลอดช่วงเดือนตุลาคม 2554 ขณะที่ชาวบ้านเองก็กระเสือกกระสนทุกวิถีทางในการปกป้องมาตุภูมิ ทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหว ประท้วง ยื่นหนังสือกับหน่วยงานใด จะมีนายดาดี ปากปารา อยู่ในขบวนเสมอไม่เคยพลาด “ผมจะต่อสู้จนถึงที่สุด ผลออกมาจะเป็นอย่างไร อินชาอัลเลาะฮ์ อัลเลาะห์เป็นผู้กำหนดชะตา อย่างน้อยผมหวังว่าการละหมาด และดุอาฮ์ขอพรต่อเอกองค์อัลเลาะฮ์เจ้าของผม จะส่งผลให้สตูลจะรอดพ้นเงื้อมมือแลนด์บริดจ์” ดาดี ปากบารา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net