‘โอบามา’ แสดงความยินดี ’ยิ่งลักษณ์’ ต่อชัยชนะการเลือกตั้งที่เป็น ‘แรงบันดาลใจ’

ประธานาธิบดีสหรัฐ ‘บารัก โอบามา’ พบยิ่งลักษณ์วานนี้ในการประชุมทวิภาคี ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก โดยได้กล่าวยินดีในชัยชนะการเลือกตั้งที่เป็น ‘แรงบันดาลใจ’ และเน้นย้ำเรื่องการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยของไทยอย่างแท้จริง ก่อนจะบินกลับสหรัฐหลังเสร็จสิ้นภารกิจในเอเชียแปซิฟิก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. มีรายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา ได้พบปะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้งสองได้หารือในประเด็นการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมของประเทศไทย และโอบามาได้กล่าวแสดงความยินดีสำหรับชัยชนะการเลือกตั้งของยิ่งลักษณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจด้วย แสดงความยินดี: ประธาธิบดีสหรัฐพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ที่มา: เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra การประชุมดังกล่าวมีขึ้นในวันเสาร์ที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของประธานาธิบดีสหรัฐในภารกิจการมาเยือนเอเชีย แปซิฟิกเป็นเวลา 9 วัน โดยโอบามายังได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อยิ่งลักษณ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศ และระบุว่า จะเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูประเทศในฐานะที่เป็นพันธมิตรยิ่งใหญ่และเก่าแก่ สื่อต่างประเทศชี้ว่า ท่าทีการยืนเคียงข้างกันระหว่างยิ่งลักษณ์และโอบามา มีนัยสำคัญสำหรับการเมืองไทย และระบุว่า การเลือกใช้คำของโอบามาที่จัดว่าดีเกินกว่ามาตรฐานทางการทูตทั่วไป ส่งสัญญาณการสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นต่อจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ที่จัดขึ้นที่เกาะบาหลีระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. โดยมีผู้นำประเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน และในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่สหรัฐ และรัสเซีย เข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกใหม่ในปีแรก ที่มา: เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra สหรัฐเผย เตรียมขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ- ความมั่นคง ในการประชุมดังกล่าว นอกจากจะมีการหารือในประเด็นความมั่นคง เช่น สถานการณ์ในพม่า ข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ ยังมีการหารือเรื่องการขยายแผนการค้าเสรีรูปแบบใหม่ระหว่างสหรัฐและเอเชียแปซิฟิก หรือ แผนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership -TPP) ซึ่งในขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 9 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย โดยนักวิเคราะห์มองว่า แผนดังกล่าวเป็นไปเพื่อการคานอำนาจของอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งหันมามุ่งขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในเอเชีย และเริ่มถอนกำลังออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเพื่อเป็นการรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคไปพร้อมๆ กับการถ่วงดุลด้านความมั่นคงกับประเทศจีน ประธานาธิบดีโอบามา ได้กล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศ และจำเป็นจะต้องมีการลดงบประมาณรายจ่ายและหนี้ แต่โอบามาได้ย้ำว่า จะไม่มีการลดงบประมาณด้านทหารและความมั่นคงต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแต่อย่างใด ก่อนหน้าที่โอบามาจะเดินทางมาเยือนประเทศอินโดนีเซียในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและเอเชียตะวันออก เขาได้เดินทางไปเยือนออสเตรเลียระหว่างวันที่ 16- 17 พ.ย. เพื่อทำข้อตกลงขยายความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคง โดยมีแผนจะขยายจำนวนกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐในออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า สหรัฐกำลังวางแผนการขยายฐานทัพในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ด้วย เพื่อจุดประสงค์การรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเฉพาะภัยคุกคามจากการก่อการร้าย อาวุธนิวเคลีย์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ คลินตันเยือนพม่าธันวานี้ ทางการสหรัฐยังเปิดเผยว่า รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ยังมีแผนที่จะเดินทางไปเยือนพม่าเป็นเวลาสองวัน ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม เพื่อเข้าหารือกับรัฐบาลที่กรุงเนปิดอว์ต่อประเด็นการพัฒนาทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และจะนัดพบปะกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี พร้อมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ในพม่าด้วย การไปเยือนในครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ผู้นำสหรัฐเข้าพบรัฐบาลพม่า โดยสหรัฐหวังว่าจะสามารถใช้การหารือนี้แสดงความประสงค์จับตาและผลักดันสถานการณ์ในพม่าให้ดีขึ้น อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา ได้มีมติให้พม่าเป็นประธานจัดการประชุมในปี 2557 หลังจากที่ถูกข้ามไปในปี 2549 หลังจากปัญหาด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยที่ประชุมอาเซียนเห็นว่า การปฏิรูปทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยประธานาธิบดีเต็นเส่ง มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองบางส่วน ผ่อนคลายการปิดกั้นสื่อ แก้ไขกฎหมายที่อนุญาตให้พรรคฝ่ายค้านสามารถลงเลือกตั้งได้ การตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมิตซงที่สนับสนุนโดยจีน ซึ่งถูกมองว่าจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม พม่ายังคงถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การพยายามเข้าหารือกับรัฐบาลเนปิดอว์ในครั้งนี้ของสหรัฐ อาจเป็นไปเพื่อจุดประสงค์การคานอำนาจกับจีน เนื่องจากจีนเป็นผู้ที่ลงทุนทางเศรษฐกิจในพม่าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากประเทศไทย และสนับสนุนนโยบายโดดเดี่ยวตัวเองของพม่า อย่างไรก็ตาม ทางการสหรัฐกล่าวต่อประเด็นนี้ว่า สหรัฐมุ่งหวังที่จะเห็นพัฒนาทางการเมืองในพม่าที่ดีขึ้น และนโยบายการเข้าไปมีส่วนร่วมกับพม่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจีนแต่อย่างใด และชี้ว่า การมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นของพม่า กลับจะเป็นประโยชน์กับทุกฝายร่วมถึงจีนเองด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท