Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. สภาพทั่วไป สาธารณรัฐประชาชนจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มีชนกลุ่มน้อย 55 กลุ่มรวมกันประมาณ 130 ล้านคน ขนาดมากน้อยลดหลั่นกันไป ชนกลุ่มน้อยมักมีความขัดแย้งกับชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะในมณฑลซินเจียงอดีตในปี 2493 ประชากรในซินเจียงประกอบด้วยชนเผ่าพื้นเมืองชาวอุยกูร์มากที่สุดถึง 3.2 ล้านคน ส่วนชาวจีนฮั่นมีเพียง 1.4 แสนคน แม้ชนกลุ่มน้อยได้รับสิทธิในฐานะพลเมือง แต่กลับยากจนกว่า และได้รับการศึกษาน้อยกว่าชาวฮั่น ชนกลุ่มน้อยไม่มีโอกาสได้ทำงานในพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเข้าเป็นข้าราชการระดับสูง เพราะโอกาสส่วนใหญ่ถูกผูกขาดในหมู่ชาวฮั่นตลอดมา ส่งผลทำให้ชนกล่มน้อยไร้พลังต่อรองทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะชาวอุยกูร์มุสลิมในซินเจียง มณฑลซินเจียง มีพื้นที่ทั้งหมด 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน ห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ 4,000 กิโลเมตร เมืองหลวงคือกรุงอุรุมชี เป็นเมืองขนาดใหญ่มากอาจจะพอๆกับกรุงเทพมหานครของเราก็ว่าได้ ซินเจียง มีพรมแดนติดกับ 8 ประเทศ ได้แก่ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน (อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ตลอดจนมองโกเลีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย จึงไม่มีทางออกทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่ในอดีตทุรกันดารเพราะตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปาร์มีและทะเลทรายโกบี ( ทากลามากัน) หากมองจากสภาพภูมิศาสตร์ อาจคิดกันว่าซินเจียงเป็นดินแดนที่ปราศจากความเจริญทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ไร้ผู้คนและด้อยความสำคัญไปทุกๆด้าน แต่ที่จริงแล้วซินเจียงมีความสำคัญต่อจีนอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของจีน รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังลมที่สำคัญที่สุด บ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในซินเจียงมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 74,000 ตารางกิโลเมตร มีทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียม 20,800 ล้านตัน และทรัพยากรก๊าซธรรมชาติมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 30% ของทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของจีน ปัจจุบันนี้รัฐบาลจีนได้ส่งก๊าซธรรมชาติจากเขตซินเจียงผ่านท่อส่งก๊าซไปยังนครเซี่ยงไฮ้และเขตปกครองอื่นๆ ในภาคตะวันออกของจีน ส่วนปริมาณทรัพยากรถ่านหินในซินเจียงมีประมาณ 2 ล้านล้านตัน คิดเป็น 40% ของถ่านหินทั้งหมดของจีน[1] บริเวณชานกรุงอุรุมชี จะเห็นปล่องไฟขนาดใหญ่จำนวนมากซึ่งก็คือโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโรงงานดังกล่าวปล่อยควันพิษเงาดำทะมึนเหนือท้องฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยน้ำเสียมาตามสายน้ำจำนวนมาก[2] ซึ่งยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจีนจะแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับชาวซินเจียงอย่างไร อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากจะมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินแล้ว ซินเจียงยังมีโรงงานผลิตพลังไฟฟ้าด้วยกำลังลมตั้งอยู่ในเมืองต๋าป๋าเฉิน[3] เป็นโรงงานผลิตพลังไฟฟ้าด้วยกำลังลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ปัจจุบันโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยกำลังลมได้ผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าไปยังหลายเมืองในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และได้เข้าไปทดแทนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินไปมากแล้วเช่นกัน และนี่คืออาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นกับชาวซินเจียง 2.สภาพปัญหาความขัดแย้ง ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนและชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าหยั่งลึกมาจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ซินเจียงเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน การที่ซินเจียงเป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ทำให้ซินเจียงมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในยุคการค้าเจริญรุ่งเรืองบนเส้นทางสายไหม ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาผ่านพ่อค้ามุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ครั้นถึงศตวรรษที่ 10 ชาวอุยกูร์ทั้งหลายก็กลายเป็นมุสลิมทั้งสิ้นซิน เจียง กลายเป็นเมืองที่มีความเจริญสูงยิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจและการเป็นศูนย์กลางของอารยะธรรมอิสลาม จนถึงช่วงศตวรรษที่ 14 บรรดาสุลต่านแห่งนครทั้งหลายในแถบนี้ ก็เรียกดินแดนแถบนี้อย่างรวมๆ ว่า “เตอร์กิสถานตะวันออก” ความเป็นเตอร์กิสถานตะวันออกเป็นการรวมมุสลิมเชื้อสายเตอร์กที่มีอัตตลักษณ์เดียวกัน ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และสังคม ในจีนเข้าไว้ด้วยกันกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกร้อยรัดทางความรู้สึกไว้อย่างเหนียวแน่น รัฐบาลจีนได้เข้าครอบงำทั้งทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เพื่อดูดกลืนวัฒนธรรมชาวอุยกูร์ให้เลือนหายเพื่อผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งสังคมจีนโดยมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นย้ายถิ่นฐานเข้าไปอาศัยและทำการค้าในซินเจียงจำนวนมาก ส่งเสริมปัจจัยการผลิตทุกๆด้าน แม้กระทั่งสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นกรณีพิเศษ[4] ส่งผลให้เศรษฐกิจซินเจียง เริ่มมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้กำลังแรงงานในการผลิตจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ของกำลังแรงงานกลายเป็นชาวฮั่น รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมให้ชาวอุยกูร์ได้ทำงานในถิ่นของตน ชาวอุยกูร์จำนวนมากต้องเดินทางไปทำงานแดนไกลในมณฑลอื่นๆ[5] ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนมีเป้าหมายแยกคนในสังคมอุยกูร์ออกจากกันทั้งนี้เพื่อให้เกิดความอ่อนแอสะดวกต่อการครอบงำ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผลประโยชน์ส่วนใหญ่กับชาวฮั่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวอุยกูร์เท่าที่ควร ทั้งๆที่ทั้งวัตถุดิบและทรัพยากรล้วนแต่เป็นของชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชาวท้องถิ่นดั้งเดิม สถานที่ตั้งของซินเจียงถือว่าเป็นบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านอีก 8 ประเทศ การที่อยู่ใกล้ชิดกับประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวมุสลิม ประกอบกับประเทศเหล่านั้นได้แยกตัวเป็นอิสระแล้วทั้งสิ้น ยิ่งเป็นแรงบันดารใจกระตุ้นให้ประชากรพื้นเมืองของซินเจียงเชื้อสายเตอร์ก (อุยกูร์) ซึ่งเป็นมุสลิมที่มีวัฒนธรรม ประเพณี เป็นของตนเอง จึงต้องการแบ่งแยกดินแดนซินเจียงออกไปเป็นอิสระเพื่อปกครองตนเองแบบรัฐมุสลิมในชื่อว่า “เตอร์กิสถานตะวันออก” ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนมาอย่างยาวนาน 3.เงื่อนไขนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง จากสภาพปัญหาความขัดแย้งในมณฑลซินเจียงที่รุนแรง ต่อเนื่องและยาวนาน มีสาเหตุมาจากการตั้งข้อสมมุติฐานสำคัญอันเนื่องมาจากเงื่อนไข 3 ประการ ที่ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนชาวอุยกูร์ กล่าวคือ เงื่อนไขเชิงอัตตวิสัย (Subjective Condition )เงื่อนไขเชิงภาวะวิสัย (Objective Condition )และเงื่อนไขเสริม ( Facilitating Condition) เงื่อนไขเชิงอัตตวิสัย (Subjective Condition ) ซึ่งหมายถึงความเชื่อแนวคิดหรืออุดมการณ์สร้างชาติของชนชั้นที่ถูกปกครอง ที่ตระหนักถึงความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคทางสังคม และกฎหมาย จึงต้องหาวิธีแก้ไขสภาวการณ์ดังกล่าวให้ลุล่วงโดยสร้างอุดมการณ์ขึ้นมาต่อสู้กับอุดมการณ์หลักของรัฐ ด้วยการปลุกเร้าให้เกิดความตื่นตัวในความเป็นมนุษย์และสังคม เพื่อความเป็นอิสระของบุคคลภายในสังคมซึ่งถูกครอบงำโดยรัฐให้ปลอดจากการครอบงำซึ่งกระทำโดยการเคลื่อนไหวเรียกร้อง นับแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาดินแดนซินเจียงแถบนี้ตกเป็นของรัฐจีนซึ่งในเวลานั้นทั้งประชาชนชาวจีนและชาวมุสลิมอุยกูร์อยู่ร่วมกันอย่างปกติและสันติสุข เพราะจักรพรรดิจีนมีนโยบายที่จะปกครองชาวมุสลิมอย่างผ่อนปรน ให้ชาวมุสลิมปกครองกันเอง และให้เสรีภาพเต็มที่ในการนับถือศาสนา แต่ในศตวรรษที่ 18 รัสเซียแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียกลาง จีนจึงมีนโยบายเพิ่มความเข้มข้นในการปกครองซินเจียง เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ในศตวรรษที่ 19 ประเทศในแถบยุโรปโดยเฉพาะประเทศอังกฤษเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียใต้และเอเชียกลางด้วย ส่งผลให้จีนต้องแสดงความเป็นเจ้าของซินเจียงอย่างจริงจัง เพื่อทัดทานกับการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้นเส้นเขตแดนระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆจึงถูกเขียนและกำหนดขึ้นและล้อมรอบอาณาจักรจีนเอาไว้ การแบ่งพื้นที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยภูมิศาสตร์ไม่ได้คำนึงถึงถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าที่ปรากฏตามธรรมชาติ ส่งผลให้ซินเจียงถูกตัดขาดจากประเทศมุสลิมทั้งหลายในเอเชียกลางอื่นๆ ซึ่งเป็นการตัดขาดชาวมุสลิมในซินเจียงกับมุสลิมในเอเชียกลางออกจากกันโดยมีอำนาจรัฐเป็นตัวกีดกั้น หลังจากนั้นอำนาจปกครองซินเจียงจึงถูกรวบไปรวมศูนย์อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซินเจียงจึงมีลักษณะแปลกแยกจากวัฒนธรรมของประชาชนจีนกลุ่มอื่นๆ เหลือสถานะเพียงดินแดนชายขอบของอาณาจักรจีน อารยะธรรมที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยก ซินเจียงจึงค่อยๆหมดความสำคัญทางการค้าลง เศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อยๆ กลายเป็นดินแดนที่ยากจน ต่อมาจีนได้ส่งขุนนางไปปกครองซินเจียงแทนการให้ชาวมุสลิมปกครองกันเองแต่ขุนนางที่ส่งไปส่วนใหญ่เป็นขุนนางที่ถูกลงโทษเพื่อให้ไปอยู่ห่างไกลพบกับความยากลำบาก การอยู่ไกลจากเมืองหลวง ได้เปิดช่องให้ผู้ปกครองเหล่านั้น ฉกฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหง ขูดรีดประชาชน การทุจริต และที่สำคัญคือการไม่เคารพต่อประเพณีและวัฒนธรรมมุสลิมที่สั่งสมกันมา การปกครองของขุนนางได้สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่ชาวมุสลิมตลอดมา ซึ่งกลายเป็นมูลเหตุที่ทำให้ชาวมุสลิมเกลียดชังและเคียดแค้นรัฐบาลจีน นำไปสู่การก่อเหตุสู้รบต่อต้านรัฐนับครั้งไม่ถ้วน บางยุคสมัยใช้นโยบายการปราบปรามอย่างเฉียบขาด ทำให้ชาวมุสลิมล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ความเคียดแค้นเกลียดชังเพิ่มทบทวีมากขึ้น ยิ่งกระพือปัญหาให้ลุกลาม จนรัฐจีนไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ลุล่วงลงได้ ในปี 1949 (พ.ศ.2492)[6] เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมให้กับสังคมและสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการเฉลี่ยกระจายแบบสังคมนิยม ตามหลักการพื้นฐานที่ว่า “ทุกคนทำตามความสามารถ ต่างแบ่งปันไปตามการใช้แรงงาน” ภายใต้เงื่อนไขผลประโยชน์ของส่วนตัว ผลประโยชน์ของรวมหมู่ และผลประโยชน์ของประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยพื้นฐาน เพื่อเข้าไปแทนที่คำว่า “ทุกคนทำตามความสามารถ ต่างแบ่งปันไปตามความต้องการ”(ของผู้มีอำนาจ) หลายๆคนคิดกันว่าแนวทางของเหมาเจ๋อตงผู้นำการปฏิวัติในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ที่พยายามสรรหาวาทกรรมปลุกเร้าความรู้สึกมวลชนด้วยวลีที่ว่า “ ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” เพื่อสร้างสังคมให้มีความเสมอภาคลดเหลื่อมล้ำในทุกๆด้านนั้น สัจธรรมข้อนี้กระตุ้นให้ประชาชนลุกฮือทั่วแผ่นดิน จนพรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐและ สถาปนารัฐคอมมิวนิสต์ขึ้นมาด้วยความหวังว่าจะเกิดความเสมอภาคในสังคม แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ช่วยลดการกดขี่ชาวมุสลิมลงแต่ประการใด รัฐคอมมิวนิสต์ยิ่งสร้างปัญหาให้กับชาวอุยกูร์มากขึ้นทับทวี ปัจเจกทั้งหลายไม่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอีกต่อไป ผลิตผลทั้งหลายก็ตกเป็นของรัฐนโยบายทุกนโยบายถูกกำหนดจากส่วนกลางคือพรรคคอมมิวนิสต์ ความทุกข์อยากเดือดร้อนของชาวอุยกูร์มิได้ถูกปลดเปลื้องให้หมดไปความเหลื่อมล้ำในทุกๆ ด้านยังดำรงอยู่ การต่อต้านจากกลุ่มชาวมุสลิมก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง วลีที่ว่า “ ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” จึงยังคงนำมาใช้ได้ จนถึงปัจจุบัน ช่วงแรกรัฐบาลคอมมิวนิสต์แก้ปัญหาโดยใช้นโยบายควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด พิธีกรรมทางศาสนาถือเป็นสิ่งงมงายและกลายเป็นสิ่งต้องห้าม มัสยิดถูกทำลายหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้ามสอนพระคัมภีร์อัลกูรอาน และที่เลวร้ายที่สุดคือการสั่งปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามรวมทั้งสั่งห้ามคนอายุน้อยกว่า 50 ปีไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มัสยิด นอกจากนั้นยังปิดกั้นไม่ให้ชาวมุสลิมสืบทอดประเพณีดั้งเดิมของตน จนไม่สามารถใช้ภาษาตัวเอง[7] นโยบายการควบคุมชาวมุสลิมดังกล่าวนี้เองได้ส่งผลให้ชาวอุยกูร์ถูกกีดกันจากนโยบายของบาลรัฐจีนหลายๆด้าน ทั้ง การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดมากลายเป็นคนชายขอบของสังคม ความขัดแย้งในช่วงดังกล่าวมีการสังหารชาวมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลหลายแสนคน แต่นโยบายการปราบปรามก็ไม่ก่อให้เกิดความเกรงกลัวหรือยำเกรงสงบราบคาบลงตามที่รัฐคอมมิวนิสต์คาดหวัง เพราะนโยบายต่อต้านศาสนาของรัฐกลับยิ่งทำให้ชาวอุยกูร์สมัครสมานสามัคคีมากยิ่งขึ้น เกิดขบวนการก่อการร้ายมุสลิมกลุ่มใหม่ๆ มากมายและต่อเนื่อง จนนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่ม “องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkistan Liberation Organization : ETLO) และกลุ่ม “ขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkistan Islamic Movement : ETIM[8] เงื่อนไขเชิงภาวะวิสัย (Objective Condition )จะเกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนอันเนื่องมาจากโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เมื่อเกิดการต่อต้านจากชาวอุยกูร์มากขึ้นและต่อเนื่องรัฐบาลจีนต้องหาทางลดแรงกดดันด้วยการประกาศให้ซินเจียงเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง โดยตั้งนครอูรุมชี เป็นเมืองหลวงในปี 1955 แต่การตั้งเขตปกครองตนเองเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเพื่อความสวยหรูในด้านจิตวิทยาเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติรัฐบาลจีนก็ยังคงใช้ความเด็ดขาดในการปกครองและควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวดเช่นเดิม[9] ปัญหาความขัดแย้งในซินเจียงจึงไม่หมดไป ความขัดแย้งในซินเจียงจึงเป็นปัญหาความมั่นคงที่จีนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง การก่อการร้ายในซินเจียงเกิดขึ้นหลายๆรูปแบบ ตั้งแต่การวางระเบิดสถานที่ราชการและสถานีรถโดยสาร การลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐทั้งด้วยปืนและมีด การบุกโจมตีที่ทำการเทศบาลและสถานีตำรวจ การเผาโรงงานที่เป็นทุนนิยมโดยรัฐ และของชาวจีนฮั่น นอกจากนั้นยังมีการฝึกปฏิบัติการใช้อาวุธและก่อวินาศกรรมหลายสิบแห่ง วาทกรรมทางการเมืองในการตั้งเขตปกครองตนเองจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง รัฐบาลจีนก็หันไปเลือกใช้นโยบายให้เสรีภาพในนับถือศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มขึ้น โดยในปี 1983 รัฐบาลได้ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ปี 1949 ที่มีลักษณะกีดกันชาวมุสลิมอุยกูร์ แล้วหันไปทำนุบำรุงมัสยิดที่ถูกปิดร้าง ส่งเสริมสนับสนุนการตั้งสมาคมชาวมุสลิม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสน[10] แต่กระนั้นชาวมุสลิมในซินเจียงก็ยังมองรัฐบาลจีนไม่สู้ดีนัก เพราะเห็นว่าผู้นำศาสนาที่รัฐบาลจีนส่งเสริมนั้น ล้วนมีแต่บุคคลที่ฝักใฝ่ทางการเมืองกับต้องการตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ผู้คนที่ประชาชนมุสลิมเคารพนับถืออย่างแท้จริง นอกจากนั้นรัฐยังมีพฤติกรรมการกีดกันมุสลิมคนอื่นๆที่เป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่ชาวอุยกูร์ให้การยอมรับและนับถือไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว ความไม่เป็นธรรมยิ่งสั่งสมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ วาทกรรมการตั้งเขตปกครองตนเองจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาในทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลจีนเชื่อมั่นว่าปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเจียง เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ จากการที่ชาวมุสลิมยากจนและล้าหลัง ดังนั้นรัฐบาลจึงใช้นโยบายพัฒนาซินเจียงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ซินเจียงมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความยากจนและล้าหลัง ด้วยการบรรจุแผนการพัฒนาซินเจียงไว้ในแผนพัฒนาประเทศปี 199[11] เพื่อแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิม นับแต่นั้นมาจีนได้พัฒนาซินเจียงในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย เพื่อนำความเจริญจากโลกภายนอกไปสู่ซินเจียง การส่งเสริมการลงทุนและอุตสาหกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่แผนพัฒนาดังกล่าวได้แอบแฝงไปด้วยการพยายามครอบงำซินเจียงโดยใช้นโยบายสร้างความเป็นจีนกับซินเจียง ด้วยการส่งเสริมให้คนจีนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือทำงานในซินเจียงเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า รัฐบาลได้ส่งเสริมทางการเงินเป็นกรณีพิเศษพิเศษแก่ชาวฮั่นที่ไปลงทุนและตั้งรกรากในซินเจียง นอกจากนี้ยังได้พยายามใช้นโยบายสร้างความเป็นจีน โดยสั่งห้ามสอนภาษาเตอร์กให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามจัดตั้งโรงเรียนสอนศาสนา แม้จะมีการตั้งมหาวิทยาลัยในซินเจียงถึง 14 แห่งเพื่อให้การศึกษาแก่คนรุ่นใหม่ แต่ก็เป็นไปตามแนวทางที่ทางรัฐบาลจีนเป็นผู้กำหนดเพื่อดูดกลืนวัฒนธรรมอุยกูร์และสอดแทรกวัฒนธรรมจีน[12] ซึ่งไม่ได้เป็นการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ แต่ประการใด แผนพัฒนาดังกล่าว ส่งผลให้ซินเจียงเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจมิได้เปลี่ยนแปลง เพราะการกระจายโอกาสให้กับประชาชนเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึงและไม่เสมอภาค ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ความมั่งคั่งจึงตกอยู่ในมือผู้นำ ผู้มีอิทธิพล และชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นผู้เข้ามาอยู่ใหม่เท่านั้น แม้บางส่วนที่น้อยนิดอาจตกถึงมือชาวมุสลิมบ้างก็เป็นมุสลิมที่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ได้ดีกว่า ซึ่งโดยรวมรัฐบาลจีนยังละเลยต่อสภาพปัญหาทั้งโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาวอุยกูร์ นอกจากนั้นตำแหน่งงานส่วนใหญ่ตกเป็นของบัณฑิตจบใหม่ชาวจีนฮั่นเพราะได้รับการการสนับสนุนจากรัฐให้ได้รับการศึกษา ในขณะที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษา ไม่มีโอกาสในตำแหน่งงานดีๆ ยังคงว่างงานและยากจนทุกข์ยากต่อไป แม้จะมีการพัฒนาทางเศณษฐกิจนำไปสู่การจ้างงานจำนวนมากแต่ชาวอุยกูร์ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานเพราะถูกกีดกันทางการศึกษามาตั้งแต่ต้น หากจะทำงานต้องเป็นแรงงานรับจ้างที่ต้องไปทำงานแดนไก[13] ความด้อยโอกาสทางการศึกษาเพราะถูกกีดกันส่งผลให้การพัฒนากลายเป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคมเป็นการเปิดขยายช่องว่างทางสังคมและเพิ่มความแตกต่างของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เองเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนในชนบทหันไปร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมที่ต้องการสร้างรัฐของตน และก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปี 2000 ซึ่งกระแสอุดมการณ์อิสลามนิยมและลัทธิก่อการร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลก ในปี 2001 จีนสามารถเจรจาให้สหรัฐฯที่ต้องการปราบการก่อการร้ายทั่วโลก ขึ้นบัญชี องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก (ETIM) เป็นขบวนการก่อการร้ายสากล แต่ก็ไม่ส่งผลในการแก้ปัญหามากนัก เพราะหลังจากนั้นในปี 2002 ก็เกิดเหตุการณ์ที่นักการทูตระดับสูงของจีนถูกสังหารอย่างอุกอาจกลางถนนในกรุงบิชเกค ของประเทศคีร์กิซสถานพร้อมกับนักธุรกิจสัญชาติจีน เงื่อนไขเสริม ( Facilitating Condition) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้เกิดการรวมกลุ่มเรียกร้องเข้าสู่ขบวนการทางสังคม เช่น การเกิดผู้นำที่ได้รับศรัทธาและมีความสามารถในการรวบรวมมวลชน หลังจากเหตุการณ์จลาจลนองเลือดที่กรุงอุรุมชี ในปี 2552 ทำให้ทั้งโลกได้รู้จักสตรีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยชาวอุยกูร์ นามเรบิยา คาเดียร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมอุยกูร์ ผู้นำพลัดถิ่นอุยกูร์ที่ลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นประธานสภาโลกชาวอุยกูร์ และเคยเป็นนักธุรกิจจีนระดับมหาเศรษฐีพันล้าน ขณะนี้รัฐบาลจีนกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจลาจลนองเลือด แต่เรบิยา คาเดียร์ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว[14] อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนชาวอุยกูร์ เรบิยา คาเดียร์ คือบุคคลที่เป็นพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน และเป็นลูกสาวที่ดีที่สุดของชาวอุยกูร์[15] แต่ในสายตารัฐบาลจีน เรบิยา คาเดียร์ อาจจะเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งก็ตาม ก่อนหน้านี้เรบิยา คาเดียร์ เคยถูกทางการจีนจับตัวและขังคุกเกือบ 6 ปีด้วยข้อหาเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ต่อมาได้รับการปล่อยตัวและเธอต้องขอลี้ภัยไปสหรัฐ ไม่นานมานี้เรบิยา คาเดียร์ ได้รับเชิญจากรัฐบาลของญี่ปุ่นและออสเตรเลียในฐานะแขกของรัฐบาลและเรบิยา คาเดียร์ ได้เดินทางไปตามคำเชิญของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนอย่างมาก เรบิยา คาเดียร์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “หากรัฐบาลจีนยังประสงค์ที่จะเป็นผู้นำยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รัฐบาลจีนควรเรียนรู้ในการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชนบ้าง” อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะเกิดผู้นำอย่างเรบิยา คาเดียร์ ชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงก็มีการก่อตั้งกลุ่ม “องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkistan Liberation Organization : ETLO) และกลุ่ม “ขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkistan Islamic Movement : ETIM) เพื่อต้องการปลดปล่อยชาวอุยกูร์ออกจากพันธนาการของรัฐจีน และกลุ่มดังกล่าวนี้ก็ยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายลงแต่ประการใด 4.แนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนยุคปัจจุบันได้หันกลับไปพิจารณานโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา แล้วพบว่าไม่มีวิธีใดที่แก้ปัญหาความขัดแย้งให้ยุติลงได้ ทุกๆนโยบายต่างมีจุดอ่อนและสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้มีการกล่าวกันว่า เพราะที่ผ่านมาจีนมองข้ามสาเหตุที่สำคัญที่สุด 2 ประการ คือ ปัญหาพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตกดขี่ข่มเหง และปัญหาการปิดกั้นอัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตนและสำนึกทางวัฒนธรรมของชาวมุสลิม การพยายามทำให้ทุกคนอยู่ใต้วัฒนธรรมจีนเป็นเรื่องที่ฝืนต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ ยิ่งส่งผลให้ผู้คนดิ้นรนและโหยหาความเป็นตัวตนของชาติพันธุ์ รัฐบาลจีนจึงดำเนินนโยบายแก้ปัญหาที่รากเหง้า โดยเริ่มตรวจสอบ สอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในซินเกียง ที่ทุจริตหรือมีพฤติกรรมที่กดขี่ข่มเหง ในขณะ เดียวกันก็เล็งเห็นว่า อัตลักษณ์และสำนึกทางประเพณีและวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์มีพลังและศักยภาพ ที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาซินเจียง และเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลกับประเทศจีนได้ ดังนั้นในปี 2002 จีน และรัสเซีย และประเทศคาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิซสถาน และอุสเบกิสถาน ซึ่งล้วนเป็นประเทศมุสลิม ร่วมกันก่อตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO)[16] ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง ที่จีนหวังจะใช้นโยบายยกระดับความสำคัญของซินเจียงและวัฒนธรรมมุสลิม ด้วยการส่งเสริมบทบาทให้ชาวมุสลิมในซินเจียงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของจีน ในการร่วมมือและติดต่อกับประเทศสมาชิกดังกล่าว จีนอาศัยลักษณะพิเศษของชาวซินเจียงที่มีเชื้อสาย ภาษา และศาสนา เหมือนกับคนในประเทศเอเชียกลางให้เป็นประโยชน์ในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยฟื้นฟูเส้นทางการค้าชายแดน ส่งเสริมให้ซินเจียงเป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตอาหารฮาลาล เพื่อส่งออกไปยังเอเชียกลาง รวมทั้งส่งเสริมให้ซินเจียงมีบทบาทในการติดต่อด้านการค้าและการลงทุนกับอิหร่าน และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางด้วย และด้วยความหวังว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ชาวมุสลิมมีส่วนร่วมในการสร้างระบบเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตและแบ่งปันความมั่งคั่ง เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตชาวซินเจียงดีขึ้น หลังจากนั้นในระยะเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในซินเจียงลดลง การทำลายทรัพย์สินของรัฐยังมีปรากฏอยู่บ้าง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งในซินเจียงยุติลง เพราะเมื่อต้นเดือน กรกฎาคม 2552 นครอุรุมช[17] เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองซินเจียงกลายเป็นสมรภูมิสงครามอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุจลาจลและปะทะนองเลือดระหว่าง ชาวอุยกูร์ กับ ชาวจีนฮั่น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 ศพ บาดเจ็บมากกว่า 1,600 คน[18] และถูกจับกุมกว่า 1,500 คน และหลายคนถูกประหารชีวิต ซึ่งถือเป็นความรุนแรงทางชาติพันธุ์ที่เลวร้ายในรอบหลายทศวรรษของจีน การลุกฮือขึ้นต่อสู้และแก้แค้นกันเองระหว่างชาวมุสลิมอุยกูร์และชาวจีนฮั่นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งความไม่ไว้วางใจต่อกันของประชาชนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธ์ และที่สำคัญคือความไม่ไว้วางใจต่อประสิทธิภาพของรัฐ จากประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ ที่ถูกครอบงำทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จากรัฐบาลจีนตลอดมา สถานการณ์ในซินเจียงปัจจุบัน มีความขุ่นเคืองเคียดแค้นต่อกันและมีความความรุนแรงที่เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมยิ่งส่งผลให้คนต่างประเพณี และต่างวัฒนธรรมหวาดระแวงต่อกัน มีการแยกเขาแยกเรา ผลักให้อีกฝ่ายเป็นศัตรูและแยกห่างจากกันมากขึ้น ความขัดแย้งในซินเจียง ส่งผลให้ประธานาธิบดีหูจินเทา ขณะเตรียมการประชุม G-8 ที่ประเทศอิตาลี ต้องรีบกลับไปนครอุรุมชีเพื่อคลี่คลายเหตุการณ์จลาจลทางชาติพันธุ์[19] ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธ์ก็มิได้สงบลงแต่ประการใดยังรอวันที่จะคุกรุ่นขึ้นมาในทันทีหากสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆเอื้ออำนวย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2553เกิดเหตุวางระเบิดโจมตีในพื้นที่ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นบนรถสามล้อที่สะพานในเมืองอักซู ซึ่งห่างจากอุรุมชี ราว 650 กิโลเมตร และอยู่ใกล้พรมแดนที่ติดกับประเทศคีร์กีซสถานมีผู้เสียชีวิต 7 ศพ บาดเจ็บ 14 ราย[20] เหตุการณ์รุนแรงในซินเจียงอาจขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองหรือสงครามล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งอาจมีความละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในยูโกสลาเวียในอดีต ที่ทำให้ประธานาธิบดีสโลโบดานมิโลเชวิค กลายเป็นอาชญากรสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สรุป หากยังจำกันได้ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ประธานเหมาเจ๋อตง ได้ปลุกเร้ามวลชนด้วยวลี ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ สัจธรรมข้อนี้ทำประชาชนชาวจีนลุกฮือทั่วแผ่นดินจีน จนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะยึดอำนาจรัฐ สถาปนารัฐคอมมิวนิสต์ขึ้นมาจวบจนถึงวันนี้กว่า 60 ปีแล้ว แต่การกดขี่ข่มเหง การเอารัดเอาเปรียบ ยังคงดำรงอยู่ ความไม่เป็นธรรมวันนี้อาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น กองกำลังที่ปราบปรามประชาชนที่เพรียกหาเสรีภาพ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบนั้น[21] เป็นความโหดร้ายคนจำนวนไม่น้อยเริ่มสงสัยว่าทำไมนโยบายของรัฐบาลจีนจึงสวนทางกับอุดมการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยประธานเหมาอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ใส่ใจต่อวลี ที่ว่า “ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” ดังนั้นการที่รัฐบาลจีนหันกลับไปแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยคำนึงถึงรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง เริ่มตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของจ้าหน้าที่รัฐ สอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิด กระทั่งผู้ปกครองที่มีพฤติกรรมกดขี่ข่มเหง และเริ่มให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และสำนึกทางประเพณีวัฒนธรรมของชาวมมุสลิมอุยกูร์ และที่สำคัญคือเริ่มสร้างความเสมอภาค มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ถึงมือประชาชนในทุกๆ กลุ่ม มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในซินเจียงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นในระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในซินเจียงเริ่มลดลงตามลำดับแม้จะไม่หมดสิ้นไป * ในระหว่างวันที่ 4- 10 เดือนสิงหาคม 2553 ผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 2 เดินทางไปศึกษาดูงานความขัดแย้งในมณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นหัวหน้าคณะ โอกาสในการหาข้อเท็จจริงยากยิ่งเพราะกลไกที่เป็นองคาพยพของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เอื้ออำนวยในการให้ข้อเท็จจริง อ้างอิง [1] ThaiBiz in China Thailand Business Information Center in China [2]ในระหว่างวันที่ 4- 10 เดือนสิงหาคม 2553 ผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า เดินทางไปศึกษาดูงานความขัดแย้งในมณฑลซินเจียง ได้สังเกตเห็นบริเวณรอบรอบกรุงอุริมชี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑล มีโรงงานปล่อยควันพิษจำนวนมาก และสังเกตเห็นแม่น้ำลำคลองหลายสายมีการปล่อยนำเสียลงลำน้ำ. [3]ขณะนั่งรถผ่านทะเลทรายโกบีจะเห็นกังหันลมสำหรับเปลี่ยนพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าเต็มไปหมด แต่เดิมรัฐบาลจีนนำเทคโนโลยีมาจากเยอรมัน แต่ต่อมารัฐบาลจีนได้ปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพราะที่นี่ลมแรงมากและมีตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องกังวลว่าบางฤดูจะไม่มีลม ระหว่างการเดินทางเราจะเห็นว่ามีรถพ่วงบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมากทำการลำเลียงปีกใบพัดกังหันลมขนาดใหญ่รวมทั้งอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง [4] ไกด์ท้องถิ่น ที่รับผิดชอบและบริการในการศึกษาดูงานในระหว่างวันที่ 4- 10 เดือนสิงหาคม 2553.สัมภาษณ์, 5 สิงหาคม 2553 [5] พ่อค้าผลไม้สดในตลาดถนนคนเดิน. พูดคุยเชิงสัมภาษณ์, 5 สิงหาคม 2553 [6] นฤมิตร สอดสุข, ประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงยุคสี่ทันสมัย:ผลกระทบต่อ พคท.,โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 27: 2538 [7] โต๊ะอิหม่ามและผู้นำศาสนาที่มัสยิดเอ๋อหมิ่นเมืองทู่หลู่ฟาน. .พูดคุยเชิงสัมภาษณ์, 7 สิงหาคม 2553 [8] ไกด์ท้องถิ่น ที่รับผิดชอบและบริการในการศึกษาดูงานในระหว่างวันที่ 4- 10 เดือนสิงหาคม 2553.สัมภาษณ์, 6 สิงหาคม 2553 [9] โต๊ะอิหม่ามและผู้นำศาสนาที่มัสยิดเอ๋อหมิ่นเมืองทู่หลู่ฟาน. พูดคุยเชิงสัมภาษณ์, 7 สิงหาคม 2553 [10] คนเฝ้ามัสยิดเถิงเก๋อหลีซื่อ. พูดคุยเชิงสัมภาษณ์, 9 สิงหาคม 2553 ที่นี่มัสยิดต้องเปิดปิดตามเวลาเฉพาะที่ละหมาดเท่านั้นเป็นไปตามที่รัฐบาลสั่งการและควบคุมมีทหารและตำรวจคอยเฝ้าตลอดเวลา จะมีตัวแทนของรัฐคอยสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ไปมาหาสู่มัสยิดตลอดเวลา คณะจึงได้แต่เยี่ยมชมเพียงภายนอกเท่านั้น เพราะต้องคอยระวังตัวทั้งฝ่ายเราและผู้นำศาสนา [11]เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งใน ปี 1977ได้ผลักดันให้ประกาศใช้นโยบายสี่ทันสมัยเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่ทันสมัยใน4ด้านคือเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ หลังจากที่ดำเนินการไปได้เพียง 2 ปีก็มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เป็นเพราะความเร่งรีบขาดการเตรียมการ ขาดการปรับปรุงการจัดองค์การ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ขาดระบบการเงินการธนาคารที่ทันสมัยเพื่อรองรับการลงทุนที่ขยายตัว ดังนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1980 จึงมีการประกาศใช้ \แผนปรับปรุงทางเศรษฐกิจระยะ 3 ปี ค.ศ. 1981-1983\" เพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆ และตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมาผู้นำจีนต่างก็มิได้เอ่ยถึงคำว่า \"สี่ทันสมัย\" อีกต่อไป เพราะหลังจากนั้นเป็นช่วงแห่งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการพัฒนาซินเจียงจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่มิใช่มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาซินเจียงเป็นการโดยเฉพาะ [12] พนักงานขายของที่ระลึกที่พิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง.พูดคุยเชิงสัมภาษณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net