ความหวาดกลัวที่ไม่มีจุดจบ: ชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เที่ยงวันหนึ่งขณะที่หลายคนกำลังกลับจากถอนกล้าและดำนาในช่วงเช้า บางส่วนแวะซื้้อหากับข้าวสำหรับมื้อเที่ยง เสียงปืนราว 10-12 นัดดังรัวขึ้นจากใกล้ๆ พวกเราในร้านกับข้าวต่างตกตะลึง เด็กหนุ่มวัยรุ่นสองคนในบ้านใกล้กับที่เกิดเหตุกระโดดและวิ่งข้ามถนนด้วยความตกใจมาที่ร้าน พร้อมกับบอกพวกเราว่า “บือเดๆ ดี อบต.” (มีการยิงเกิดขึ้นที่ อบต.) เหตุการณ์นี้เป็นการรัวปืนอาก้าประกบยิง มีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชาวไทยพุทธ 2 คนเสียชีวิตทันทีคารถยนต์กะบะ ก่อนหน้านี้เพียงหกวันก็มีพ่อค้าชาวจีนถูกยิงตายกลางตลาดนัดที่นี่ต่อหน้าผู้คนที่กำลังจับจ่ายซื้อของ นี่เป็นเพียงสองเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแทบทุกเดือนตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ฉันได้เข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลภาคสนามในหมู่บ้านของชาวมลายูมุสลิมแห่งนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่รวมหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการเข้ามาของฉัน ที่ผ่านมาผู้เสียชีวิตที่นี่มีทั้งหญิงและชาย ทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิม มีการสันนิษฐานถึงสาเหตุของแต่ละกรณีกันไปต่างๆ นาๆ อาทิ ความเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาเสพติด การเป็นสายข่าวให้กับเจ้าหน้าที่ของเหยื่อผู้เสียชีวิต ความขัดแย้งส่วนตัว และการสร้างสถานการณ์ เป็นต้น แม้จำนวนยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ชายแดนจะเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ แต่เหตุการณ์ในลักษณะนี้ในปัจจุบันมักปรากฏเป็นเพียงข่าวสั้นๆ ที่แทบจะไม่มีความสำคัญนักในสื่อต่างๆ แต่สำหรับผู้คนที่นั่น หลายปีมาแล้วที่ชีวิตของพวกเขาต้องอยู่กับความหวาดกลัวและความประหวั่นพรั่นพรึงอย่างมากต่อภยันตรายจากสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับตนได้ทุกขณะ อย่างไรก็ดี ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำมาหากิน ชีวิตทางสังคม และชีวิตทางศาสนา ผู้คนในหมู่บ้านที่ฉันศึกษาเลือกใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตของตน อาทิ การปรับเวลากรีดยางจากเช้ามืดให้สายขึ้น การออกเดินทางไปกรีดยางหรือไปทำนากันเป็นกลุ่ม การหลบเลี่ยงที่จะต้องพบเจอ เผชิญหน้า และตอบคำถามทั้งของเจ้าหน้าที่และของ “ขบวนการ” ฯลฯ ขณะที่หากอันตรายและความสูญเสียมาเยือน คำสอนทางศาสนาก็จะเป็นที่พึ่งในการบรรเทาความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจนั้น ชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ไม่เพียงแต่ถูกละเลยจากสื่อเท่านั้น แต่ยังถูกบดบังด้วยการครอบงำของความรู้และความเข้าใจกระแสหลักที่อยู่ในกรอบความมั่นคงของรัฐ เหตุการณ์ความไม่สงบถูกเหมารวมว่าเกิดจากน้ำมือของผู้เป็นภัยต่อรัฐและจำเป็นจะต้องขจัดด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีกองทัพเป็นหัวหอก ขณะที่ข้อเสนอในทางศาสนาและวัฒนธรรมและแนวทางในการดำเนินชีวิตของชาวมลายูมุสลิม อาทิ การเสนอให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในพื้นที่ การให้มีระบบศาลที่ยึดโยงกับศาสนาอิสลาม ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นเอกรัฐและจำเป็นจะต้องยับยั้ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาปกป้องและมีผลประโยชน์ร่วมกันกับประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในเชิงศาสนาหรือชาติพันธุ์ ทำให้ผู้ที่แตกต่างต้องกลายเป็น “คนอื่น” ที่ยากจะเข้าใจ น่าสงสัย และจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์กลางอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันก็ไม่แน่นักว่าคำอธิบายและข้อเสนอที่ฟังดูคุ้นหูจากอีกฝากหนึ่งโดยนักวิชาการและกลุ่มประชาสังคมในเรื่องนี้ จะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาชายแดนใต้ได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากคำอธิบายของฝ่ายนี้ที่มักเน้นไปที่การครอบงำกลืนกลายของรัฐไทยและการกดทับอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม จนนำมาสู่การสร้างความรุนแรงเพื่อตอบโต้โดย “ขบวนการ” นั้น ก็ดูเหมือนว่าจะได้ไปลดทอนความสลับซับซ้อนของชีวิตชาวมลายูมุสลิมให้เหลือแต่เพียงภาพของผู้คนที่ถูกกระทำและถูกกดทับในทางศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง อันแตกต่างไปจากภาพชีวิตจริงที่รุ่มรวยและมีสีสันยิ่งของพวกเขา ท่ามกลางความหวาดหวั่นและสะพรึงกลัว ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ศึกษาของฉันก็มีชีวิตแบบคนธรรมดาที่ไม่ต่างไปจากเราๆ ท่านๆ พวกเขาและเธอทำมาหากิน กรีดยาง ทำนา หาปลา เลี้ยงวัวควาย ค้าขาย รับจ้าง โดยหวังจะมีเงินทองจับจ่ายใช้สอย มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีชีวิตที่มีความสุข นอกจากนั้นในขณะที่มีวัตรปฏิบัติในทางศาสนาที่เคร่งครัด ทั้งการละหมาดตามเวลา การทำบุญ การถือศีลอด การเข้ากลุ่มและชั้นเรียนทางศาสนาเป็นกิจวัตร พวกเขาและเธอก็ดูทีวี ชมกีฬา ติดละคร หากเป็นผู้หญิงก็ชื่นชอบดารา สนใจความสวยความงาม แฟชั่น ผ้าคลุมศีรษะ เครื่องสำอาง เครื่องประดับ ฯลฯ ในขณะที่ข้อเสนอกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้เปิดการเจรจา การยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษ ดูจะเป็นความหวังต่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยในหมู่บ้านที่ฉันศึกษา ประเด็นเหล่านี้ดูจะห่างไกลจากชีวิตประจำวันและการคิดคำนึงของพวกเขา ข้อเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษดูจะมีความสำคัญน้อยกว่าการขึ้นลงของราคายางพาราประจำวัน เช่นเดียวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง สส. ครั้งที่ผ่านมา ที่นอกจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้สมัครแล้ว ความวิตกกังวลว่านโยบายการประกันรายได้จะถูกยกเลิกหรือไม่ ดูจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจลงคะแนนมากกว่านโยบายว่าด้วยจังหวัดชายแดนภาคใต้ของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งนี้ มิใช่เป็นเพราะว่าพวกเขาหูหนวกตาบอด หรือให้ความสำคัญเฉพาะแต่กับผลประโยชน์เฉพาะหน้า หากแต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวนั้น ส่วนใหญ่ดูมืดดำ ลึกลับ และมีเงื่อนงำต่างๆ นาๆ อยู่เบื้องหลัง ยากที่จะรู้ชัดว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกันแน่ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนบอกกับฉันอย่างสิ้นหวังว่า “สถานการณ์ภาคใต้ไม่มีทางจบ ไม่มีทางแก้ได้ เราก็ต้องทนอยู่กันไปอย่างนี้ ขออันตรายอย่าเกิดกับเราและครอบครัวก็พอ” ฉันมีความหวังว่าเพื่อนๆ และผู้คนในพื้นที่ศึกษาของฉันจะสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติสุข ไม่ต้องอยู่กับหวาดกลัว มีฐานทรัพยากรและการประกอบอาชีพที่มั่นคง รวมทั้งสามารถดำรงชีวิตได้ตามแนวทางที่พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจทั้งในทางโลกและทางศาสนา อย่างไรก็ดี ความหวังเหล่านี้ดูยากที่จะเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราบเท่าที่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวปัญหาชายแดนภาคใต้ยังอยู่ภายใต้ในกรอบของความมั่นคงของรัฐ ตราบเท่าที่ปัญหาชายแดนภาคใต้ยังไม่ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจของกองทัพและสถาบันหลัก ปัญหาความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและในกระบวนการยุติธรรม ที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย ตลอดจนตราบเท่าที่ชุดการอธิบายและข้อเสนอทางออกของนักวิชาการและภาคประชาสังคมยังมิได้หมายรวมถึงเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิด และความมุ่งหวังในชีวิตของชาวมลายูมุสลิมที่รุ่มรวย หลากหลาย และซับซ้อน อันพ้นไปจากภาพชาวมลายูมุสลิมที่ถูกลดทอนความซับซ้อนให้เป็นเพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น [บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2554]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท