ประวิตร โรจนพฤกษ์: พลานุภาพการเปรียบกษัตริย์เป็น “พ่อ” ของประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“วันนี้ลูกทุกคนอยากบอกพ่อว่า ‘ลูกรักและขอเดินตามรอยพ่อตลอดไป’ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” นิตยสารแพรว ฉบับที่ 775 ประจำวันที่ 25 พ.ย. 2554 หน้า 202 

“ถ้าเกลียดพ่อ ไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ” พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, นักแสดง, 16 พฤษภาคม 2553 ในงานประกาศผลและมอบรางวัลนาฏราช ณ หอประชุมกองทัพเรือ
 
“พระมหากษัตริย์เป็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ มหาพรหมของเรา เราก็รัก เราก็ทนุถนอม” หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จาก นิตยสารน่านฟ้า (The Tiger Temple Magazine) ฉบับที่ 32 เดือนธันวาคม 2552 หน้า 9  
 
“It gradually became apparent that this was a religion. To North Koreans, Kim Il-sung was more than just a leader. He showered his people with fatherly love.” 
                 คำแปล: “มันชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่านี่คือศาสนา สำหรับชาวเกาหลีเหนือ คิม อิล ซุง เป็นมากกว่าผู้นำ เขามอบความรักดั่งบิดาให้แก่ประชาชนของเขา” จากหนังสือ Under the Loving Care of the Fatherly Leader โดย Bradley K. Martin, 2006 หน้า 1   
 
หากมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ต้องกลายเป็นอาชญากรรมแล้ว การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชนย่อมทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การวิพากษ์กษัตริย์เป็นสิ่งเลวร้าย และผิดจารีตความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก 
 
ประชาชนผู้เชื่อว่า กษัตริย์คือพ่อหลวงของพวกเขา มองความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ผ่านแว่นตาของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก เกิดความผูกพันพึ่งพิงทางความคิดและจิตใจ และเสริมสร้างความรู้สึกในหมู่ประชาชน (ลูกๆ) ว่าการคิดเท่าทัน วิจารณ์ หรือไม่รักกษัตริย์ (พ่อ) นั้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เป็นการกระทำที่เลว อกตัญญู เช่นนี้แล้ว มาตรา 112 จึงกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง “พ่อ-แม่” ไปโดยปริยาย
 
การใช้กลไกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เอาเข้าจริงอาจมีอานุภาพมากกว่าการใช้กฎหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตยและป่า เถื่อนอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียอีก เพราะการตอกย้ำเปรียบเทียบแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกซาบซึ้งถึงระดับ อารมณ์และจิตใจ และโกรธหากใครจะมาวิจารณ์หรือตั้งคำถามกับพ่อของพวกเขา แถมมันยังช่วยตอกย้ำ (reinforce) ว่า มาตรา 112 นั้นชอบธรรมแล้ว และทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า มี “ลูก” จำนวนหนึ่งที่ต้องการวิจารณ์พ่อ (กษัตริย์) 
 
กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความรู้สึกแบบพ่อลูกนั้น หยั่งรากลึกถึงก้นบึ้งของจิตใจ และเมื่อประชาชนเชื่อว่าเป็นจริงแล้ว มันเปลี่ยนแปลงแทบไม่ได้ ดั่งความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของพ่อ-ลูกที่แท้จริงทางสายเลือด
 
สื่อกระแสหลักและกระแสรองส่วนใหญ่ บริษัทห้างร้านต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอ็นจีโอ มักมีบทบาทสำคัญในการตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ต่อสังคมจนเห็นเป็นเรื่อง “ปกติ” “เป็นจริง” อย่างมิควรต้องสงสัยใดๆ หากคุณเชื่อว่ากษัตริย์คือพ่อ คุณจะไม่รู้สึกอยากตั้งคำถามกับพ่อ แถมหน้าที่ของลูกที่ดีก็คือ การเชื่อฟังพ่อ (พระราชา) และแม่ (พระราชินี) และหากลูกคนใดไม่เชื่อฟัง ก็ดูผิดธรรมชาติ พวกเขาควรถูกประณาม ลงโทษ จองจำ หรือตัดออกจากการนับญาติอย่างถาวร โดยอาจถูกกล่าวหาว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทย และเป็นคนที่ต้องการทำลายหรือล้มล้างพ่อแม่ (ดูกรณี 6 ตุลา 2519 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 เป็นตัวอย่าง) เพราะคนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้อกตัญญู หรือทรพี เพราะไม่ว่าพ่อจะดีหรือไม่ ลูกก็ควรเชื่อฟังและเคารพรัก และในด้านตรงกันข้าม การทำอะไรเพื่อกษัตริย์ (พ่อหลวง) จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นและสนิทใจขึ้น เหมือนกับการบูชาคุณของบิดาแท้ๆ 
 
นอกจากนี้ การเปรียบกษัตริย์เป็นพ่อของประชาชน ยังทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง ซึ่งมีมิติของความไม่เท่าเทียมและมีความตึงเครียดทางชนชั้น ถูกกลบเกลื่อน ลบเลือนให้มองเห็นได้ยากยิ่งขึ้น และพร่ามัว และเปลี่ยนกลายมาเป็นความสัมพันธ์เชิงครอบครัวแบบสมมติ ซึ่งเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความห่วงใยระหว่างพ่อ-ลูกแทน โดยที่ไม่จำเป็นต้องสงสัยในเรื่องชนชั้น หรือความไม่เท่าเทียม แล้วยังไม่จำเป็นต้องคิดเท่าทันหรือเรียกร้องความโปร่งใสเพื่อการตรวจสอบใดๆ เพราะแว่นตาของการมองแบบพ่อ-ลูก ไม่เอื้อให้ประชาชนรู้สึกหรือคิดเป็นอื่น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ประชาชนอีกมากยากจน แต่กษัตริย์ (พ่อหลวง) ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน หรือผู้คนมักไม่สงสัยว่า ในความสัมพันธ์แบบนี้ ทำไมสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงยังคงเก็บค่าเช่าที่จากประชาชนอยู่
 
นี่ยังไม่รวมถึงการพึ่งพาทางสติปัญญาของประชาชน (ลูกๆ) ต่อ กษัตริย์ (พ่อ) โดยเห็นได้จากการนำคำพูดของพ่อ (พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส) มาเป็นเผยแพร่ซ้ำๆ และเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือของผู้คนจำนวนมากในสังคม ความเห็นของกษัตริย์จึงกลายเป็นคำสอนของพ่อไปโดยปริยาย ลูกๆ ไม่ต้องคิดอะไรเองมากมาย เพราะยึดถือคำสั่งสอนของพ่อที่พวกตนยกย่องว่า เป็นอัจฉริยะในสารพัดด้านก็เพียงพอ 
 
หากพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า การถ่ายโอน (transplant) ลักษณะความสัมพันธ์พ่อ-ลูก สู่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกตอกย้ำเป็นพิเศษในทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของปี ซึ่งวันเกิดของกษัตริย์กลายเป็น “วันพ่อ” เพื่อตอกย้ำความเป็นพ่อของกษัตริย์ คนไทยไม่น้อยถือว่า 5 ธันวา เป็นวันที่พวกเขาจะใช้เวลากับพ่อบังเกิดเกล้าของพวกเขา รวมถึงอาจให้ของขวัญกับพ่อหรือกินอาหารมื้อพิเศษเพื่อทดแทนบุญคุณและเฉลิม ฉลอง “วันพ่อ” จนมีผลให้ แม้กระทั่งบางคนที่คิดว่าตนคิดเท่าทันสถาบันฯก็ยังถือว่า วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันพ่อไปโดยไม่รู้ตัวและโดยปริยาย ถึงแม้พวกเขาจะยืนยันว่า “พ่อ” ของเขามีเพียงคนเดียว ซึ่งได้แก่บิดาโดยสายเลือด ที่พวกเขาจะไปกราบใน “วันพ่อ” วันที่ 5 ธันวาคมอยู่ดี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท