Skip to main content
sharethis

 

อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต. ไอซีที แถลงเปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” ยกระดับเทคโนโลยีการปราบปรามเว็บหมิ่น เผย ตั้งแต่รัฐบาลใหม่มาทำงานได้สั่งปิดยูอาร์แอลไม่เหมาะสมไปแล้วกว่า 7 หมื่นแห่งในเวลา 3 เดือน ซึ่งมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน

วันนี้ (1 ธ.ค) เวลา 11 นาฬิกา นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมตัวแทนจากกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ สภาความมั่นคง สนง.ข่าวกรองแห่งชาติ สนง.ตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” (Cyber Security Operation Center: CSOC) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร 9 บมจ. ทีโอที ถ. แจ้งวัฒนะ เพื่อดำเนินภารกิจในการปราบปรามภัยทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชนโดยเฉพาะเว็บหมิ่นเบื้องสูง พร้อมอธิบายถึงขั้นตอนในการทำงานของศูนย์ดังกล่าว

อนุดิษฐ์ อธิบายว่าศูนย์ดังกล่าวเป็นการยกระดับจาก “ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต” (Internet Security Operation Center: ISOC) ที่ก่อตั้งในปี 2553 โดยจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และระงับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับการใช้สื่อและการส่งถ่ายข้อมูลที่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งส่งผลให้การส่งต่อข้อมูลที่อันตรายระหว่างบุคคลเป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น

“การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงฯ ที่จะต้องสนองนโยบายดังกล่าว และดำเนินการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์กบนโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความทันสมัยมาใช้ในการควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” อนุดิษฐ์กล่าว

เผย ปิดกั้นยูอาร์แอลใน 3 เดือนมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน

นาวาอากาศเอกได้อธิบายขั้นตอนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ โดยเฉพาะกระบวนการในการระงับข้อมูลที่จาบจ้วงพระมหากษัตริย์ว่า ในระยะสามเดือนที่ผ่านมาที่ตนได้เข้ามาทำงาน มีการปิดกั้นยูอาร์แอลไปแล้วกว่า 70,000 ยูอาร์แอล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลนี้ในการถวายความจงรักภักดีแก่พระเจ้าอยู่หัว โดยหากเทียบกับเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างพ.ศ. 2551-2554 มีการปิดกั้นยูอาร์แอลที่ไม่เหมาะสมเพียงกว่า 60,000 แห่งเท่านั้น

เขาชี้แจงว่าสาเหตุที่มีการปิดกั้นยูอาร์แอลที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะลักษณะของการรับส่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีลักษณะที่ง่ายดายและขยายปริมาณลิงก์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทมาก ต่างจากแต่ก่อนที่เว็บหมิ่นเบื้องสูงจะจำกัดอยู่ในเว็บบอร์ดเท่านั้น

นอกจากนี้ อนุดิษฐ์กล่าวว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในแง่การปราบปราบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมในแง่ของปริมาณแล้ว กระทรวงไอซีทียังสามารถระงับเนื้อหาที่หมิ่นเบื้องสูงได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยเขาอฺธิบายว่า ก่อนหน้านี้ การปิดกั้นเว็บไซต์สามารถทำโดยการขออำนาจศาล ซึ่งจะออกคำสั่งขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้ช่วยปิดเว็บไซต์นั้น อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวสามารถป้องกันการเข้าถึงได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนที่อยู่ต่างประเทศยังคงสามารถเข้าถึงได้อยู่ ทำให้ข้อมูลที่อันตรายยังคงอยู่ในอินเทอร์เน็ต

กระทรวงไอซีที จึงได้พัฒนาวิธีการใหม่ โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่างประเทศด้วยตนเอง โดยมีกระบวนการคือ รับแจ้งเบาะแส จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการรวบรวมข้อมูล และส่งข้อมูลดังกล่าวพร้อมคำอธิบายที่เป็นภาษาอังกฤษพร้อมเทียบเคียงฐานความผิดของต่างประเทศส่งไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการปิดเว็บไซต์นั้นๆ ต่อไป ทั้งนี้ อนุดิษฐ์ชี้ว่าวิธีดังกล่าวมีข้อดีคือช่วยให้ “ต่างประเทศได้เข้าใจถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการยับยั้งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมจากต้นเหตุ”

รมต. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอีกราว 20 คน และมีแผนที่จะแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ เขามิได้เปิดเผยงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net