ก.วัฒนธรรมสั่งทบทวนร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์

รมว.วัฒนธรรมสั่งทบทวนร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องประชุม-ประชาพิจารณ์ กรมศิลป์ฯ เดินหน้าจัดเรทติ้งสิ่งพิมพ์ ด้าน 2 สมาคมสื่อฯ จับมือค้าน หวั่นลิดรอนสิทธิ นักวิชาการรัฐศาสตร์ชี้ พ.ร.บ.ที่แก้ใหม่ แย่ไม่แพ้ฉบับเผด็จการ (7 ธ.ค.54) นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา เคยมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 และที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. มีมติถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากครม.และกฤษฎีกา โดยมอบให้ วธ. นำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น รวมถึงกฤษฎีกา ส่งความเห็นกลับมาว่าเนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เรื่องสิทธิเสรีภาพและแสดงความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตามต้องชี้แจงว่ากฎหมายฉบับดังกล่าว จัดร่างมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ดังนั้นมอบหมายให้กรมศิลปากรนำร่างดังกล่าวมาพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ถกเถียงและถูกวิจารณ์ โดยให้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมและทำประชาพิจารณ์ด้วย กรมศิลป์ฯ เดินหน้าจัดเรทติ้งสิ่งพิมพ์ ด้านนายการุณ สุทธิภูล รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากนี้จะทบทวนรายละเอียดของพ.ร.บ.ดังกล่าวและทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ อาทิ รายละเอียดร่างมาตราที่ 10 ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติมีอํานาจออกคําสั่ง ห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้า หรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยในเร็วๆ นี้จะหารือกับกฤษฎีกาว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรถึงจะเดินไปได้ด้วยดีกันทุกฝ่าย “ขณะเดียวกันกฎกระทรวง 3 ฉบับที่ต้องออกประกอบ พ.ร.บ.ดังกล่าว กรมศิลปากรก็จะดำเนินการต่อไป เพราะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและมาตราที่มีวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์ (เรทติ้ง) ยังคงยึดตามหลักการเดิมที่วางไว้เบื้องต้นว่าแบ่งประเภทของสิ่งพิมพ์เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.หนังสือการ์ตูน 2.นิตยสาร และ 3.บันเทิงคดี นิยาย โดยให้แต่ละประเภทแสดงข้อความเพื่อระบุประเภทของสิ่งพิมพ์” รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าว นายการุณ กล่าวต่อไปอีกว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดประเภทสิ่งพิมพ์ให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด ส่วนการพิจารณาคุณภาพเนื้อหาสื่อสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทนั้น จะดูเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ว่า เหมาะกับผู้อ่านประเภทใด พร้อมทั้งจะมีสัญลักษณ์ประเภทของสิ่งพิมพ์ ซึ่งสำนักพิมพ์ต้องแสดงไว้บนหนังสือให้ผู้อ่านได้เห็นชัดเจน เช่น สัญลักษณ์ ท หมายถึง หนังสือที่เหมาะสมกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย สัญลักษณ์ ว12+ แทนคำว่า วัยรุ่น12+ หมายถึง หนังสือที่เหมาะกับผู้อ่านเห็นได้อย่างชัดเจน หากอายุต่ำกว่า 12 ปี การอ่านควรมีผู้ปกครองให้คำแนะนำ เป็นต้น 2 สมาคมสื่อฯ จับมือค้าน หวั่นลิดรอนสิทธิ อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมยุตติการเสนอร่างร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ เนื่องจากเห็นว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ทั้งนี้ตัวแทนองค์กรสื่อทั้งสองและตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้หารือร่วมกันในประเด็นปัญหา การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน โดยตัวแทนของกระทรวงวัฒนธรรมรับว่าจะยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ และ จัดให้มีการสอบถามความเห็นสื่อมวลชนอีก นักวิชาการรัฐศาสตร์ชี้ พ.ร.บ.ที่แก้ใหม่ แย่ไม่แพ้ฉบับเผด็จการ ด้าน พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ \การเมืองเรื่องของ(สื่อ)สาธารณะ\" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เขียนบทความเรื่อง \"น้ำลดตอผุด: กรณีแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550\" โดยชี้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ไม่เพียงแต่แปลงอำนาจที่เคยอยู่ในมือของเจ้าพนักงานการงานพิมพ์ ของกรมศิลปากรให้มาอยู่ในมือของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น หากยังให้อำนาจ ผบ.ตร. ในการออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งถูกมองว่าเป็นการมอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและครอบจักรวาลกับ ผบ.ตร. ในการวินิจฉัยสื่อสิ่งพิมพ์ได้ตามแต่วิจารณญาณของท่าน \"ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์กันไปมาแล้ว หลายคนพบว่า พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ดูจะเลวร้ายไม่แพ้ พ.ร.บ.การพิมพ์สมัยอดีตเผด็จการตรงที่ระบุให้มีการต่อใบอนุญาตหรือต่อหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ทุก 5 ปี กอปรกับให้มีการจัดระบบเรทติ้งของสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเหมือนกับการนำพาอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้กลับไปสู่ภาวะถอยหลังเข้าคลอง โดยอ้างความไม่รู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน อ้างความมั่นคงและสงบเรียบร้อยของชาติ รวมถึงการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อลิดรอนสิทธิในการแสดงออกและการรับรู้ข่าวสารของผู้คนในสังคมไทย\" พิจิตราระบุพร้อมเสนอให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลย้อนหลังด้วย \"เพื่อมิให้ข้ออ้างของระบอบประชาธิปไตยสองวินาทีในคูหาเลือกตั้งของรัฐบาลชุดนี้ สามารถสร้างความชอบธรรมในการประกอบสร้างระบอบเผด็จการแบบชั่วกัลปาวสาน\" ที่มา: http://www.dailynews.co.th/education/2077 เว็บไซต์เดลินิวส์ และ บทความ \"น้ำลดตอผุด: กรณีแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550\" กรุงเทพธุรกิจ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท