Skip to main content
sharethis

“เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร” ชี้วิธีการแปะป้ายให้คนกลุ่มหนึ่งเป็น “สลิ่ม” คือวาทกรรมที่ผลักคนและกีดกันคนส่วนหนึ่งออกจากขบวน พร้อมเสนอในขบวนการต้องมีประชาธิปไตย พร้อมเสนอบทเรียนจาก Occupy Wall Street ใช้ยุทธศาสตร์ “เราคือ 99%” ตัดข้ามชนชั้น ทำให้คนที่เข้าไปร่วมในขบวนการมีความรู้สึกร่วม บรรยากาศงานเสวนาน้ำตาสลิ่ม: ชนชั้นกลางเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจริงหรือ? เมื่อ 2 ธ.ค. 54 ที่ร้าน 9 บรรทัด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ร้าน 9 บรรทัด จ.เชียงใหม่ มีการจัดเสวนา: น้ำตาสลิ่ม: ชนชั้นกลางเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจริงหรือ? วิทยากรประกอบด้วย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ จากกลุ่มประกายไฟ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากกลุ่มทุนนิยาม และวิทยากร บุญเรือง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยหมูหลุม (Mooloom Intelligence Unit - MIU) ดำเนินรายการโดย น.ส.ยุภาวดี ทีฆะ กลุ่มนักศึกษาไร้สังกัด สลิ่มในฐานะโครงการทางการเมือง ภายหลังการนำเสนอของวิทยากร บุญเรือง [1] และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ [2] เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากกลุ่มทุนนิยาม กล่าวว่าจากบทความของตนเรื่อง “สลิ่ม” กับการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมและการเมืองภายในชนชั้น (กลาง) ได้เสนอว่าการนิยามสลิ่ม จริงๆ แล้วเป็นโครงการทางการเมือง (political project) โดยชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างระยะห่างของตัวเองจากชนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชนชั้นกลางกลุ่มที่ถูกเรียกว่าสลิ่ม โดยปกติแล้วเราจะติดป้ายให้เขาแล้ว ว่าเขาเป็นคนเสื้อเหลือง หรือเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ในความหมายว่าเป็นพวกรักเจ้าจนไม่ลืมหูลืมตา จนลืมอุดมการณ์ประชาธิปไตยบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม ความเสมอภาค หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างชีวิตคน ในคำอธิบายสลิ่มของใบตองแห้ง ก็บอกว่าสลิ่มไม่ได้เป็นแต่เพียงพวกนิยมเจ้า แต่เป็นรักเจ้าอย่างไม่สร้างสรรค์ คือมักใช้เหตุผลเรื่องสถาบันมาทำลายล้างคนอื่นที่คิดเห็นไม่ตรงกับตัวเอง ซึ่งอาจจะถกเถียงได้กับนิยามนี้ ผมคิดว่าไอ้นิยามที่มันเคร่งครัดขึ้นที่เราใส่ให้กับคำว่าสลิ่ม มันช่วยให้เราเห็นอย่างหนึ่งว่าพวกที่เป็นสลิ่มในความเข้าใจของคนหลายๆ คน ไม่ได้รักษาไม่หาย พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่เป็นพวกที่แก้ไขไม่ได้ แต่คนพวกนี้ต้องการการศึกษาทางการเมือง แต่ว่าการนิยามสลิ่มโดยชนชั้นกลุ่มหนึ่งนี้เอง ได้ปฏิเสธสิทธิของคนที่ถูกหาว่าเป็นสลิ่มที่จะได้รับการศึกษาทางการเมืองไปแล้วหรือเปล่า อันนี้เป็นคำถาม หมายความว่าการที่เราไปแปะป้ายให้เขาเป็นสลิ่ม เป็นการปฏิเสธสิทธิในการที่เขาจะได้รับการศึกษาทางการเมืองหรือเปล่า เพราะว่าเราเติบโตมาในสังคมที่วัฒนธรรมเป็นแบบปิด ถกเถียงอะไรไม่ได้เลย ในบทความสั้นๆ ของผม ก็ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าเนื่องจากเราสามารถเพิ่มรายละเอียดให้กับคำว่าสลิ่มเข้าไปในรายการได้ไม่รู้จบ การแตกแยกย่อยเฉดสีของความเป็นสลิ่มจึงสามารถเกิดขึ้นได้ไม่รู้จบเช่นกัน ประเด็นก็คือว่าความเป็นสลิ่มมันไม่มีอะไรชัดเจนแน่นอน ผมเองปฏิเสธการนิยามสลิ่มตั้งแต่ต้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่สลิ่มคืออะไร แต่อยู่ที่สลิ่มสัมพันธ์กับเราอย่างไรในพื้นที่ทางการเมือง สลิ่มเป็นใครไม่สำคัญหรอก เพราะคุณสามารถเติมนิยามของแต่ละคนไปได้เรื่อยๆ แต่ว่าไอ้การกำหนดป้ายให้เขา มันมากำหนดวิธีคิดของเราต่อความสัมพันธ์กับคนที่เป็นสลิ่มไปแล้ว ในบทความนี้ ผมยังบอกว่าเรื่องสลิ่มยังเป็นเรื่องรสนิยมทางการเมือง ที่เราไปบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นสลิ่ม หมายความว่าคนพูดรู้สึกว่าพวกนี้ไร้รสนิยมทางการเมืองมาก ซึ่งเรื่องรสนิยมเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของคนที่ใช้คำว่าสลิ่มเป็นชนชั้นกลาง ไปให้ไกลกว่าการสร้างสลิ่ม เกรียงศักดิ์เสนอต่อถึงปัญหาของการสร้างสลิ่ม และการวางความสัมพันธ์ของกับคนที่เป็นสลิ่ม จากการที่มีคนพยายามโต้แย้งเยอะว่าคนอย่างคุณคำ ผกา ที่พูดเรื่องสลิ่มเยอะ ก็ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมการเมือง ให้กับเสื้อแดง ทำไมเราต้องไปปฏิเสธคุณคำ ผกา ทำไมต้องวิพากษ์วิจารณ์เขา ทั้งที่ความคิดหรือทัศนคติแบบสลิ่ม มันเป็นสิ่งที่ครอบงำสังคมอยู่ เพราะฉะนั้นเราควรเปิดโอกาสให้มีคนอย่างคุณคำ ผกาเยอะๆ เพื่อที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ความคิดกระแสหลัก อันนี้คือข้อโต้แย้งที่เรามักจะได้ยิน แต่คำตอบของผมก็คือว่าจริงๆ แล้วถ้าคนอย่างคุณคำ ผกา หรือนักเขียนนักวิจารณ์ของเสื้อแดงคนอื่นๆ อยากที่จะส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตยแบบเสื้อแดงจริงๆ ก็จะต้องไปให้ไกลกว่านั้น ไปให้ไกลกว่าการติดป้ายสลิ่ม สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือว่าจะต้องไม่ใช่บอกแค่ว่าสลิ่มคือใคร แต่หลังจากนี้จะต้องแสดงตัวตนของตัวเอง แสดงจุดยืนและอภิสิทธิ์ของตัวเอง ที่มีในสังคมไทย ท่ามกลางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะว่าเราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมขึ้นจากการสร้างความเป็นอื่น หรือการพยายามกีดกันหรือผลักคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปได้ อันนี้มันมีเหตุผลอยู่สองสามข้อที่อธิบายว่าทำไมเขาต้องไปไกลกว่านั้น ข้อแรกก็คือว่าชนชั้นกลางจำนวนมากที่เป็นเจ้าของวาทกรรมสลิ่ม เป็นกลุ่มที่เราน่าจะเรียกว่า “Elite” ก็คือคนที่เป็นคนชั้นสูงในสังคมระดับหนึ่ง คือมีสถานะทางสังคม สามารถเข้าถึงทุนทางสังคมระดับหนึ่ง ในแบบที่คนเสื้อแดงบางคนยังเข้าถึงไม่ได้ แต่ว่าคนกลุ่มนี้ คือไม่สามารถที่จะตอบคำถามทุกอย่าง รู้ทุกอย่าง พูดแทนคนทุกอย่างในสังคมได้ เพราะคนกลุ่มนี้ก็เติบโตมาในสังคมแบบหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือถ้าคนแบบนี้ไม่สามารถที่จะแสดงตัวตน หรือสะท้อนความเป็นอภิสิทธิ์ของตัวเองท่ามกลางสังคมที่เหลื่อมล้ำได้ ก็จะเกิดปัญหาได้ว่าเขาก็จะพูดแทนคนจำนวนมาก และเขาอาจจะพูดผิดด้วย ประการที่สอง คนกลุ่มนี้ต้องไม่ลืมว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำมาตั้งนานแล้ว แล้วตัวเองก็เป็นเครื่องจักร หรือส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่ผลิตซ้ำความคิดที่ครอบงำคนอื่นในสังคมอยู่ อันนี้คือเหตุผลข้อสองว่าเขาต้องออกมาแสดงถึงอภิสิทธิ์ของตนเองนะครับ อาจารย์ นักเขียน คอลัมน์นิสต์ต่างๆ ก็ไม่ต่างจากหมอ วิศวกร หรือสถาปนิก ที่ถูกติดป้ายว่าสลิ่ม อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็เขียนในบทความว่ากลุ่มหมอ กลุ่มอะไรพวกนี้มีปัญหาในเชิงวัฒนธรรม แต่จริงๆ แล้วกลุ่มที่เป็นนักเขียน เป็นคอลัมน์นิสต์นี้ ก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน ไม่นานมานี้ ผมก็ได้ยินจากคนรู้จักว่ามีนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียง ก็เปิดเผยความในใจว่ารู้สึกไม่มั่นคงทางด้านจิตใจแล้วล่ะ เพราะว่าสถานะของตนเองเริ่มบั่นทอน ในเมื่อมีคนอย่างจิตรา คชเดช ได้รับความนิยมกับคนเสื้อแดงมากขึ้น ไม่ต้องไปเรียนหนังสือที่เมืองนอก หรือว่าพูดอะไรแล้วคนฟัง ฉะนั้นนักวิชาการที่ไปเรียนเมืองนอก เกิดในชนชั้นกลาง ที่เคยมีพื้นที่ที่ปลอดภัยเริ่มรู้สึกว่าสูญเสียสถานะบางอย่าง เพราะฉะนั้นนักวิชาการกลุ่มนี้ ที่เป็นปัญญาชนอยากจะอยู่ข้างคนเสื้อแดงจริงๆ ก็ต้องพูดออกมาอย่างเต็มที่ อย่างจริงใจด้วยว่าตัวเองนี้ มีส่วนร่วมอยู่ในสังคมที่มันสร้างความเหลื่อมล้ำมาอย่างไร แล้วก็จะช่วยให้คนเสื้อแดงได้พูดแบบที่คนเสื้อแดงอยากขยายเสียงตัวเองอย่างไร โดยที่ไม่พูดแล้วเสียงตัวเองดังขึ้น แต่ยิ่งพูดแล้วเสียงคนอื่นต้องยิ่งดังขึ้น ประการสุดท้ายก็คือว่าในการต่อต้านอำนาจ ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ฉะนั้นเราต้องไม่ลืมว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าโอกาสที่เท่าเทียมกันในการต่อต้าน มันมี Equal right หรือ Equal opportunity to resistance เหมือนกัน คือในขบวนการต้องมีประชาธิปไตยด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นคนฉลาดในขบวนการ คุณเป็นหัวนำได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่เป็นปัญญาชนเสื้อแดงจำนวนมาก ถึงยังได้พูดอะไรอยู่ได้โดยที่มันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเท่าไรนัก วาทกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ผลักคน ประเด็นสำคัญคือผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมสลิ่มเป็นวาทกรรมที่ผลักคน และกีดกันคนส่วนหนึ่งออกไปนะครับ ถ้าเราอยากจะพูดถึงตัวอย่างที่สามารถดึงคนได้ ผมอยากจะพูดถึงขบวนการที่ชื่อว่า Occupy Wall Street ที่ผมมีโอกาสได้ไปร่วมมาเมื่อเดือนก่อน Occupy Wall Street คือขบวนการที่ต่อต้านทุนนิยมในอเมริกาตอนนี้ แล้วก็พยายามที่จะสร้างวาทกรรมใหม่ เพื่อที่จะบอกว่ามันมีคนจำนวนหนึ่ง 1% ในประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ แล้วก็เข้าสู่อำนาจทางการเมือง แล้วคนกลุ่มนี้ก็ทำให้สังคมมันเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นข้อความหรือวาทกรรมที่กลุ่ม Occupy ใช้ เขาเริ่มต้นด้วยการเสนอว่า “we are 99%” พวกเราคือคน 99 เปอร์เซ็นต์ วาทกรรมนี้มีคุณูปการมาก เพราะมันตัดข้ามชนชั้น ตัดข้ามอัตลักษณ์ แล้วมันทำให้คนที่เข้าไปร่วมในขบวนการหรือรู้สึกร่วม มันมีตั้งแต่คนอายุ 18 ไปจนถึงคนอายุ 65 มีตั้งแต่คนที่เป็นภารโรงไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย มีตั้งแต่คนที่เป็นคนงานไปจนถึงคนที่เป็นผู้จัดการธนาคารมาก่อน กรอบที่เราสร้างวาทกรรมแบบนี้ มันสามารถรวมคนจำนวนมากได้เพื่อที่จะขับเคลื่อน มันไม่ดีกว่าหรือ หรือว่าเราต้องการที่จะด่าสลิ่มไปอย่างเดียว เพื่อที่จะขับคนกลุ่มหนึ่ง และบอกว่าจุดยืนของฉันคือฉันเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดงมากกว่าคนกลุ่มนั้นนะ แล้วก็จบลงตรงนั้น การอธิบายชนชั้นกับการสร้างความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูด ซึ่งอาจารย์เก่งกิจพูดเรื่องชนชั้นไปเยอะ แต่ไม่ได้เน้นก็คือว่าชนชั้นมันเป็นประเด็นทางการเมือง ตอนที่คาร์ล มาร์กซ์เสนอว่าชนชั้นมีสองชนชั้น สังคมทุนนิยมจะสร้างกรรมาชีพหรือคนชั้นล่าง กับกระฎุมพีหรือชนชั้นกลาง แล้วก็ต่อสู้กัน แล้วสุดท้ายผลักดันไปสู่การเกิดสังคมนิยมเนี่ย มาร์กซ์ไม่ได้พูดอย่างนั้นเพราะว่าสังคมตอนนั้นมีสองชนชั้น แต่มาร์กซ์พูดเพื่อที่จะสร้างเงื่อนไขของความเป็นไปได้ หมายความว่าเวลาเราบอกว่าชนชั้นจะเกิดสองชนชั้นในอนาคต มันกำหนดวิธีคิดของเราในอนาคต ว่าเราจะร่วมกับใคร เพื่อที่จะสร้างเป็นชนชั้นไหน ฉะนั้นประเด็นเรื่องชนชั้นหรือการศึกษาชนชั้นในทางวิชาการ มันมีความหมายในการกำหนดวาระด้านการเมืองด้วย ทุกวันนี้เวลาอาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มต้นศึกษาชนชั้น ก็จะต้องพบกับทางเลือกสองทาง ก็คือแนวคิดชนชั้นแบบมาร์กซ์ ก็คือสองขั้ว ชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่าง หรือแนวคิดแบบเสรีนิยม ก็คือเป็นเรื่องอัตลักษณ์ ผิวดำหรือผิวขาว มีเพศสภาพอย่างไร แล้วก็จะมีชนชั้นจำนวนมากซ้อนทับกันอยู่ สิ่งที่นักวิชาการมาร์กซิสต์รุ่นหลังๆ อาจารย์เก่งกิจพูดถึง Hardt กับ Negri สองคนนี้ก็อธิบายว่าการแบ่งชนชั้นสองลักษณะนี้ มันถูกทั้งคู่ มีความเป็นจริงอยู่ในนั้นทั้งสองแบบ การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจึงผิด เพราะว่าเราต้องเข้าใจว่าสังคมมันมีลักษณะอย่างไร ฉะนั้นการเลือกอธิบายชนชั้นจริงๆ แล้ว ควรจะเลือกอธิบายชนชั้นในลักษณะที่สร้างเงื่อนไขในอนาคตให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการ ฉะนั้นการเลือกอธิบายชนชั้นแบบสลิ่ม ผมพูดตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นโครงการทางการเมือง (political project) คือคนที่อธิบายสลิ่มแบบนั้น เขากำหนดแนวทางทางการเมืองของเขาไปแล้ว ว่าเขาจะสร้างชนชั้นอย่างไร แล้วเขาจะยืนอยู่ตรงไหนกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง เขาก็ยืนอยู่ในที่ของเขาที่ปลอดภัยนั่นแหละ และเขาจะยืนต่อไป เพราะมันเป็นที่ๆ เขาก็สามารถที่จะได้รับประโยชน์จากอภิสิทธิ์ จากการเขียนหนังสือ จากการที่พูดแล้วมีคนฟัง ผมอยากจะจบด้วยข้อความที่แปลมาจากหนังสือของ Hardt กับ Negri จากหนังสือชื่อ Multitude นะครับ มันอธิบายการขับเคลื่อนของชนชั้นในอเมริกาตอนนี้ได้ดีมากนะครับ ผมแปลเป็นไทยเพราะมันช่วยให้อธิบายเรื่องชนชั้นกับการต่อสู้ได้ดี “ชนชั้นถูกกำหนดโดยการต่อสู้ทางชนชั้น แน่นอนเรามีวิธีแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มได้ไม่สิ้นสุด สีผม กรุ๊ปเลือด และอื่นๆ แต่ชนชั้นที่สำคัญคือบรรดาชนชั้นที่ถูกกำหนดจากแนวทางการต่อสู้ร่วมกัน ในแง่นี้ เชื้อชาติก็มีลักษณะแนวคิดทางด้านการเมือง ไม่ต่างกับชนชั้นทางเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ลักษณะของชนกลุ่มที่เหมือนหรือต่างกัน หรือสีผิวที่เป็นตัวกำหนดการแบ่งเชื้อชาติ แต่ว่าเชื้อชาติถูกกำหนดจากการต่อสู้ร่วมกันของชนชั้นในทางการเมือง “บางคนยืนยันว่าเชื้อชาติถูกกำหนดจากการกดขี่ทางเชื้อชาติ อย่างเช่น ฌอง ปอล ซาร์ตร์ บอกว่าลัทธิการต่อต้านยิวสร้างคนยิว ตรรกะนี้ควรจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เชื้อชาติเกิดขึ้นจากการต่อต้านการกดขี่ทางเชื้อชาติร่วมกัน ชนชั้นทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นจากลักษณะของการกระทำรวมหมู่ เพื่อต่อสู้กับการต่อต้าน “ดังนั้นการทำความเข้าใจกับชนชั้นทางเศรษฐกิจ ก็เช่นเดียวกับการศึกษาเชื้อชาติ ไม่ควรจะเริ่มจากการทำบันทึกความแตกต่างที่เห็นในเชิงประจักษ์เท่านั้น แต่ควรจะสอดคล้องกับแนวทางเรื่องการต่อต้านกับอำนาจแบบรวมหมู่ พูดสั้นๆ คือชนชั้นเป็นแนวคิดทางการเมือง ในแง่ที่ว่าชนชั้นสามารถเป็นการกระทำรวมหมู่ที่ต่อสู้ร่วมกันได้ ในความหมายนี้ก็คือว่าเราอธิบายชนชั้นอย่างไร เราก็กำลังบอกว่าเงื่อนไขที่เป็นไปได้ในการที่จะสร้างการต่อสู้ร่วมกันในอนาคตจะเป็นอย่างไร”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net