โฆษกศาลไทยแจง "คดีอากง"-เพจFB สถานทูตสหรัฐถูกถล่มโพสต์ ฐานวิจารณ์ระบบยุติธรรมไทย

โฆษกศาลยุติธรรม ตอบ 5 ประเด็น "คดีอากง" ศาลไทยเตรียมทำหนังสือถึงกท.ต่างประเทศอเมริกา-สื่อไทย-เทศ แจงข้อเท็จจริง หลังกระแสพิพากษาคดีหมิ่นฯ

เพจเฟซบุ๊กของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย วันนี้ (14 ธ.ค.) ถูกผู้ใช้ชาวไทยจำนวนหนึ่งเข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่สหรัฐอเมริกา วิจารณ์การใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยบางส่วนชี้ถึงความแตกต่างของระบอบการปกครองของไทยและสหรัฐฯ และไม่พอใจที่สหรัฐฯ เข้ามาก้าวก่ายเรื่องในประเทศ 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ (6 ธ.ค. 54) โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียตะวันออก เดอรราจ์ พาราดิโซ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า สหรัฐรู้สึก “หนักใจ” กับการตัดสินของศาลในคดีของนายอำพล หรือ ‘อากง’ ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พร้อมระบุด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐมีความเคารพยำเกรงต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างที่สุด อย่างไรก็ตามเธอกล่าวว่า สหรัฐอเมริการู้สึก “หนักใจ” (troubled) กับการตัดสินคดีของศาลไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในคดีของนายอำพล ซึ่งไม่สอดคล้อง (inconsistent) กับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะที่ คริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์  (9 ธ.ค.) ว่า สหรัฐอเมริกากังวลใจต่อการตัดสินคดีของ 'โจ กอร์ดอน' ชายไทย-อเมริกันที่ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดีหมิ่นฯ โดยทางการสหรัฐให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ของไทยอย่างสูงสุด แต่รู้สึกเป็นกังวลต่อการตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในด้านเสรีภาพ ในการแสดงออก


ตัวอย่างความเห็นในแฟนเพจสถานทูตสหรัฐฯ



โฆษกศาลยุติธรรม ตอบ 5 ประเด็น "คดีอากง"

วันนี้ (14 ธ.ค.54) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง "'อากงปลงไม่ตก'เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดีโดยโฆษกศาล" แสดง ความเห็นกรณีนายอำพล (สงวนนามสกุล)  หรือที่รู้จักกันว่า "อากง" อายุ 61 ปี จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(2)(3)

"ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่เคยขัดขวางการแสดงความคิดเห็นของบุคคลใดๆ ขอเพียงการแสดงออกตั้งอยู่บนฐานคติที่ปราศจากอคติ ภายใต้หลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักนิติธรรม หลักเหตุผล หรือหลักความเชื่อส่วนตนที่สุจริตมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนหลายคนที่วิจารณ์ผลคดีข้างต้นในทางลบยังมิได้รู้เห็นพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงในสำนวนความอย่างถ่องแท้ ซึ่งการนิ่งเฉยของศาลและกระบวนยุติธรรมมิได้มีค่าเป็นตำลึงทองเสียแล้ว" นายสิทธิศักดิ์ ระบุ พร้อมแสดงความเห็นโต้แย้งใน 5 ประเด็น ดังนี้

1. อากงไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุก
นายสิทธิศักดิ์ ระบุว่า คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากลและหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้ คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อากงหรือจำเลยมีความผิดเพราะศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเชื่อ ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องของอัยการโจทก์จริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นด้วยไม่พอใจในผลคำพิพากษา ก็ยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามกฎหมาย

ดังนั้นเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด การจะด่วนสรุปว่าอากงเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดโดย เสร็จเด็ดขาดนั้น ก็ยังมิใช่เป็นเรื่องที่แน่แท้เสมอไปดังที่บางคนมีความเชื่อและเข้าใจใน ทำนองนั้น แท้จริงแล้ว อากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

2. ศาลลงโทษจำคุก 20 ปี เป็นโทษที่หนักเกินไป
สำหรับคดีนี้ มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายแสดงความอาฆาตมาดร้าย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินีด้วยถ้อยคำภาษาที่ป่าเถื่อนและ ต่ำทรามอย่างยิ่ง เกินกว่าวิญญูชนคนทั่วไปจะพึงพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กระทำต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์พระประมุขของ ประเทศ อันเป็นที่เคารพยกย่องเทิดทูนของปวงชนชาวไทยและทั่วโลก และในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ก็บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมิใช่คู่กรณีที่มีความขัด แย้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่จำเลยแม้แต่น้อยนิด รวมทั้งพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจากมวลชนทุกหมู่เหล่า จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยหรือบางคนจะพยายามบิดเบือนว่า คดีนี้มาจากมูลฐานทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นธรรมและห่างไกลจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ ผู้กระทำไม่ได้กระทำความผิดแค่ครั้งเดียว แต่มีการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ด้วยถ้อยคำดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายถึง 4 ครั้ง มีถ้อยคำที่แตกต่างกันทุกครั้ง แสดงถึงเจตนาที่จงใจกระทำผิดกฎหมายอย่างท้าทายไม่ยำเกรงอาญาแผ่นดิน ไม่มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี

เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดจนถึงในชั้นศาลจึงไม่มีเหตุลดโทษ บรรเทาโทษตามกฎหมาย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กฎหมายระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละครั้งจำคุกกระทงละ 5 ปี ตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษบทหนักนั้น เป็นการลงโทษสูงกว่าโทษขั้นต่ำของกฎหมายเพียง 2 ปี ยังเหลืออัตราโทษอีก 10 ปี ที่ศาลมิได้นำมาใช้ เมื่อนำโทษทั้ง 4 กระทงมารวมกันเป็น 20 ปี คนทั่วไปที่ไม่รู้จึงเข้าใจผิดคิดว่าศาลลงโทษครั้งเดียว 20 ปี เห็นว่าโทษหนักไป แต่ถ้าเทียบกับพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดีแล้ว หลายคนที่รู้จริงเห็นตรงข้ามว่าโทษเบาไปหรือเหมาะสมแล้วก็มี

3. อากงอายุมากแล้วควรได้รับการลดโทษ ปล่อยตัวไป หรือได้รับการประกันตัว

แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใดสามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยี สมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด

สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสีย หายอย่างใหญ่หลวง

ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่กระทำความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิด อย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่าชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อหาความผิด ความเสียหายและพฤติการณ์การกระทำแต่ละคดีที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

ส่วนการจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นเรื่องๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ,มาตรา 108/1

4. ศาลไทยไม่มีมาตรฐานสากล ควรรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล
แม้การแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) แต่ในขณะเดียวกัน กติการะหว่างประเทศฯ ก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าการใช้สิทธิดังกล่าวต้องทำด้วยความสำนึกรับผิดชอบและ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิของบุคคล เนื่องจากบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิ ในการรักษาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของตนและต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แต่เสรีภาพดังกล่าวก็ยังถูกจำกัดได้โดยกฎหมายหากเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคง ของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิ หรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอัน ดีของประชาชน...”

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต และมาตรา 421 ก็บัญญัติว่า การใช้สิทธิ ซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีมาตรฐานเช่นเดียวกับหลักการสากลข้างต้น อันแสดงว่าประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน มีกฎหมาย ที่ความก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ เพียงแต่ภายใต้ระบอบการปกครองบ้านเมืองที่แตกต่างกัน ทุกประเทศจึงควรที่จะต้องให้เกียรติเคารพในความต่างที่เป็นจุดแข็งทาง วัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ

หากผู้วิจารณ์คนใดยังศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ หรือมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนเพียงพอ ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมประเทศใดแล้ว การแสดงความเห็นว่าศาลหรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นในทำนองห่วงใยว่า จะไม่มีมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และหมิ่นเหม่ต่อการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรม อาจทำให้คิดไปว่าผู้วิพากษ์เจือปนด้วยอคติที่ผิดหลงมีวาระซ่อนเร้น ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน และประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. ควรยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์
โฆษกศาลยุติธรรมระบุว่า กฎหมายทุกฉบับออกหรือตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นผู้แทนมาจากปวงชนชาว ไทย สามารถแก้ไขปรับปรุงและยกเลิกได้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าล้าสมัยไม่เหมาะสม ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ที่สภานิติบัญญัติตราขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การแก้ไขยกเลิกกฎหมายจะกระทำได้ก็ตาม แต่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของสังคมและผลกระทบข้างเคียงอื่นที่อาจตามมาด้วย อย่าให้อารมณ์หรือกระแสแห่งการปลุกปั่นยั่วยุชักจูงไปในทางที่เสียหายได้

คดีอากง เป็นแค่ปฐมบทในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย ตามครรลองแห่งเสรีภาพที่กฎหมายเปิดช่องไว้ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด การด่วนรวบรัดตัดความกล่าวโทษบุคคลหรือองค์กรที่ทำหน้าที่รักษากติกาสังคม อาจยังไม่เป็นธรรมนัก

อย่างไรก็ตาม คนทุกชาติ ทุกภาษา ต่างหวงแหนรักในแผ่นดินเกิดของตนเองเคารพและศรัทธาในศาสดาที่เป็นผู้นำทาง ศาสนาของตนเอง ความแตกต่างทางความคิดเชื้อชาติศาสนาการปกครองบ้านเมืองศิลปวัฒนธรรม ประเพณี มิใช่สิ่งผิดปกติในสังคมโลก แต่การกล่าวร้ายใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้ายศาสดาของศาสนาอื่น เป็นพฤติการณ์ที่ผู้เจริญมิสมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะน้ำผึ้งหยดเดียวอาจกลายเป็นความหายนะของชาติได้

ดังนั้น หากท่านผู้อ่านอยากรู้ปัจจุบันและอนาคตของชาติใด ขอจงศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น สำหรับชาติไทยดำรงคงเอกราชมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย เป็นที่ชื่นชมยกย่องของคนทุกชาติทุกภาษา เพราะผู้คนในสังคมไทยยังมีความรักสามัคคี มีน้ำใจ เอื้ออาทรผ่อนปรนเข้าหากัน ไม่ก้าวร้าวรุนแรงโดยขาดสติไร้เหตุผลรักหวงแหน เทิดทูนในชาติ ศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์จากรุ่นสู่รุ่น และปลูกฝังถ่ายทอดเป็นมรดกสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

หากคนไทยยังรักและภูมิใจในแผ่นดินเกิด ขอได้โปรดช่วยกันรักษาสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ การจะติชมวิพากษ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ ขอเพียงมีจิตเป็นกลาง ไม่มีอคติ และบนฐานคติที่สร้างสรรค์ พึงอย่าได้ใช้สิทธิส่วนตนเกินส่วนจนเกินขอบเขตก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

อย่าได้แสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ประหัตประหารด้วยอาวุธลมปากและความเท็จต่อผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุอื่นมาสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง อย่าให้ลูกหลานในอนาคตเหลือแค่ความทรงจำแห่งความภาคภูมิในอดีตบนซากปรักหัก พังของชาติไทย ที่ผองชนรุ่นปัจจุบันได้ทำลายล้างไปอย่างตั้งใจและมิได้ตั้งใจ

////////////////////////////////


ศาลไทยเตรียมทำหนังสือถึงกท.ต่างประเทศอเมริกา-สื่อไทย-เทศ แจงข้อเท็จจริง หลังกระแสพิพากษาคดีหมิ่นฯ

วานนี้ (13 ธ.ค. 54) กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม เผยแพร่จดหมายข่าวระบุ กรณีหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ซึ่งลงข่าวพาดหัวว่า "ศาลไทยไม่มีมาตรฐาน สหรัฐจี้ไทยเปิดเสรีภาพแสดงความเห็น" โดยรายละเอียดเนื้อข่าวเป็นคำสัมภาษณ์นางดารัค พาดิโซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการดำเนินคดีและการตัดสินคดีในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยว่า ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยระบุว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมและความเชื่อมั่นต่อกระบวน การยุติธรรมในภาพรวม

จากการนำเสนอข่าวดังกล่าว ศาลยุติธรรมเตรียมทำหนังสือชี้แจงหลักกฎหมายและการดำเนินคดีของศาลยุติธรรม ต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และทำหนังสือถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ และสำนักข่าวอื่นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งออกมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงข้อเท็จจริงต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท