Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ใช่ตรรกะของความรักหรอกที่สังคมของเรากำลังมีปัญหา แต่เป็นคนที่ใช้และได้ใส่ความหมายให้มันต่างหากที่เป็นผู้สร้างความเกลียดชัง

เมื่อความรักในสังคมของเราถูกใช้เพื่อกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมเพื่อใช้ในการจำแนก คนดี และ คนเลว ความรักจึงทำให้สังคมไทย ไม่มีที่เหลือสำหรับใครก็ตามในการพูดออกมาว่า “ผมไม่รักพ่อ”  “ผมไม่รักแม่” เพียงเพราะในสังคมนี้ไม่อนุญาตให้ลูกคนใดพูดออกมาแบบนั้น ยกตัวอย่างในกรณีที่เกิดมาเป็นเด็กกำพร้าเพราะพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่เกิดจากเหตุผลของพ่อแม่ในปัญหาทางการเงิน เด็กคนนี้จึงเติบโตผ่านสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและเรียนรู้วิถีชีวิตด้วยตัวเองหรือเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ แล้ววันหนึ่งเมื่อบังเอิญได้มาพบพ่อแม่อีกครั้ง ลูกคนนี้ยังจำเป็นจะต้องบอกรักพ่อแม่ของเขาผู้ที่ทิ้งตัวเองไปตั้งแต่เกิดหรือไม่ ? แน่นอน การบอกรักพ่อแม่ ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนหรือทุกกรณี แต่การใช้ความรักตัดสินว่าลูกทุกคนต้องรักพ่อแม่นี่สิที่เป็นปัญหาแก้ไม่ตกของสังคมที่บูชาความรัก (ที่จริงมันทำให้ผมนึกถึงความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในศาสนาคริสต์ด้วยเพราะกรณีมันคล้ายกันมาก)

สังคมที่สร้างความเกลียดชังผ่านการบูชาความรักอาจไม่กล้ายอมรับความจริงในประเด็นที่เล็กขนาดนั้น แต่ในกรณีที่ความรักถูกใช้และอ้างถึงในระดับประเทศ ความรักมันก็เริ่มแผลงฤทธิ์อย่างชัดเจน

ความรักประเภทที่ว่านี้ถูกใช้ในบริบทของการเมืองไทยติดต่อกันมานานมากกว่าครึ่งศตวรรษและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามมาตลอด ความรักชนิดนี้คือ “ความรักในหลวงของคนไทย”

ความรักประเภทนี้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆมากมายภายในประเทศตั้งแต่ ทีวี, หนังสือ, วันประเพณีต่างๆ, แบบการเรียนการสอนของโรงเรียน-มหาลัย ฯลฯ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า “คนไทยทุกคนต้องรักในหลวง” และเกิดวาทกรรมวิบัติอีกชนิดหนึ่งคือ “ใครไม่รักในหลวงไม่ใช่คนไทย”      

ที่ผมบอกว่าความรักชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพราะว่าความรักประเภทนี้ถูกใช้ในการลงโทษคนคิดต่างมากที่สุดในการเมืองไทยมาโดยตลอดผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริ์ย พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ด้วยมาตราโทษนี้เอง ที่นำไปสู่การปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นต่างมากมายทั้งใน facebook, งานวิชาการ จนรวมไปถึงการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ล้วนห้ามพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย (แม้กระทั่ง sms ส่วนตัวที่ถูกส่งโดยมือถือของลุงแก่คนหนึ่ง ก็ยังถูกศาลตัดสินถึง20ปี)

มาตราฐานของกระบวนการทางกฎหมายที่ก้าวไม่พ้นการเลิกตัดสินคนผ่านความคิดอันล้าหลังที่เปรียบได้กับความยุติธรรมในยุโรปยุคกลาง กลับยิ่งสร้างความเกลียดชังในสังคมไทย จนยากที่จะหาจุดร่วมกันบนฐานของข้อเท็จจริงได้ เพราะ ความรักที่มีกฎหมายคุ้มครองชนิดนี้ไม่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงออกในความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากจารีตของสังคม

ความรักในสังคมไทยจึงอยู่บนฐานของการไม่ยอมรับในความแตกต่างและการรับไม่ได้ในความหลากหลายของความคิด ภาพรวมใหญ่ๆของสังคมไทยทั้งหมดจึงเปรียบเสมือนกับข้อสอบปรณัยที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้สอบตอบคำถามได้มากเกินกว่าตัวเลือกที่ข้อสอบกำหนดเอาไว้ ดังนั้น ทางเลือกในการเป็น ทางเลือกในการคิดจึงมีขอบจำกัดที่ผู้คุมสอบหรือรัฐไทยเป็นผู้วางให้ไว้ทั้งหมด

ความเกลียดชังกับความรักจึงแทบจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน เมื่อเกิดความรักย่อมต้องเกิดความเกลียดชัง ทั้งๆที่ความรักในตัวมันเองไม่ใช่สิ่งเสื่อมเสีย แต่เป็นเพียงความรู้สึกที่อ่อนแอเพราะขาดปัจจัยอย่างอื่นที่สมควรจะมีเช่นการยอมรับในความแตกต่าง

ผมจึงมองว่าความเกลียดชังที่สังคมได้สร้างขึ้นนั้น มาจากการบูชาความรักที่ขาดแคลนการยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง ความเกลียดชังนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม

ถ้าความรักสามารถทำให้มนุษย์เกลียดชังมนุษย์ด้วยกันมากพอที่จะส่งคนที่ไม่เห็นด้วยไปเข้าคุกแล้ว ผมก็เริ่มสงสัยหนักขึ้นทุกๆวันว่าความรักในสังคมนี้อาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้ เพียงแค่เราสามารถยอมรับมนุษย์คนอื่นๆบนจุดยืนและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ก็คงไม่ต้องอาศัยการรักใครสักคนอีกต่อไป อาศัยเพียงการยอมรับเท่านั้นก็พอเพียงแล้ว ... 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net