Skip to main content
sharethis

เปิดรับเรื่องร้องเรียน-แก้ปัญหาต่อเนื่อง หลังปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เผยปัญหาของแรงงานยังไม่จบ ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมเสนอภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน สภาพน้ำท่วมที่ย่านอ้อมน้อย เมื่อวันที่ 11 พ.ย.54 แฟ้มภาพ: ประชาไท วันที่ 15 ธ.ค.54 ที่สี่แยกอ้อมน้อย มีการปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ซึ่งสนับสนุนโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) หลังระดับน้ำเริ่มลดลงจนแห้งเกือบหมดราวหนึ่งสัปดาห์แล้ว โดยในช่วงเย็น มีการจัดกิจกรรมทั้งการแสดงดนตรีจากวงภราดร และสรุปบทเรียนการทำงานของศูนย์ฯ โดยมีแรงงานในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวพม่า เข้าร่วมกว่า 200 คน ชี้ปิดศูนย์ช่วยเหลือ แต่ปัญหาของแรงงานยังไม่จบ สงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ กล่าวว่า การตั้งศูนย์ฯ ที่ผ่านมาถือเป็นการช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ จ.นครปฐม-สมุทรสาคร ในฐานะศูนย์กลางในการให้คำแนะนำปรึกษา ประสานงาน เพื่อรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเรื่องถุงยังชีพ เนื่องจากแรงงานมักมีปัญหาไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วยข้ออ้างว่าไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ ส่วนการปิดศูนย์ฯ ในครั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ปัญหาหลายอย่างของแรงงานก็ยังคงมีอยู่ สงวน กล่าวถึงสภาพปัญหาของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ว่า จากการที่น้ำท่วมค่อยๆ ขยายอาณาเขต ทำให้โรงงานแต่ละแห่งปิดงานไม่เท่ากัน ส่งผลเกิดปัญหา อาทิ ขณะที่โรงงานบางแห่งยังเปิดทำการแต่แรงงานกลับไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากที่พักถูกน้ำท่วม การเดินทางยากลำบากและมีค่าใช่จ่ายสูง ทำให้ต้องขาดงาน และในขณะนี้ที่โรงงานหลายแห่งเปิดทำการแล้ว แต่แรงงานส่วนหนึ่งยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน เนื่องจากห้องที่เคยพักอาศัยยังไม่สามารถเข้าอยู่ได้ ทำให้ต้องถูกให้ออกจากงานเพราะขาดงาน ไม่สามารถเข้าทำงานตามระยะเวลาที่โรงงานกำหนดไว้ได้ โดยหากแรงงานต้องการกลับไปทำงานจะต้องเข้าสู่กระบวนการจ้างงานใหม่ ส่วนโรงงานบางแห่งที่ยังปิดทำการก็ไม่รู้ว่าจะได้เปิดเมื่อใด สงวน กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการดูแล เยียวยาแรงงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยากให้มาอยู่ร่วมรับรู้ปัญหาและรับเรื่องไปดำเนินการเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย “ลูกจ้างก็เดือดร้อนอยู่ ทุกคนก็อยากทำงาน จริงๆ ลูกจ้างก็ทำงานให้นายจ้าง อยากให้นายจ้างเห็นใจคนงานด้วย อยากให้ช่วยเหลือกัน” สงวน กล่าว ขณะที่ชนญาดา จันทรแก้ว อาสาสมัครนักกฎหมาย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เล่าว่า จากการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของคนงาน ทำให้เห็นปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ อาทิ คนงานไม่ทราบรายละเอียดที่อยู่ของบริษัทที่ตนเองทำงาน บางรายไม่รู้สิทธิของตัวเองว่าจะได้รับสิทธิชดเชยอย่างไรบ้าง รวมถึงพบว่าบางบริษัทไม่กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงาน ซึ่งก็ได้โอกาสส่งเรื่องให้กับสวัสดิการแรงงานจังหวัดเพื่อตรวจสอบ ชนญาดา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-15 ธ.ค.53 มีคนงานมาร้องเรียนปัญหาจากน้ำท่วม 77 ราย จาก 50 กว่าบริษัท โดยเธอจะประสานงานไปยังสวัสดิการแรงงานจังหวัด รวมถึงช่วยทำเอกสารประกอบข้อเท็จจริง (คร.7) ให้ลูกจ้างใช้ในการยื่นเรื่องกับสวัสดิการแรงงานจังหวัด ทั้งนี้ แม้ว่าศูนย์ให้ความช่วยเหลือจะปิดตัวลงแล้ว แต่เธอในฐานะอาสาสมัครจะยังประจำการอยู่ที่สหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ เพื่อติดตามเรื่องที่ประสานไปและหามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ต่อไป อาสาฯ แรงงานข้ามชาติแฉ ค่านายหน้ากลับเข้าทำงานสูงถึง 8,000 เจามินไน หนึ่งในอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเดินทางจากเมืองทวาย ประเทศพม่า มาทำงานในเมืองไทยกว่า 10 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองก็เป็นหนึ่งในแรงงานที่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่ากลับเข้าไปทำงานไม่ทันเช่นกัน ช่วงที่ตกงานจึงมาทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนแรงงานในพื้นที่ ทั้งด้านการสื่อสารและการเดินทาง หลังจากปิดศูนย์ฯ แล้ว พรุ่งนี้เขาก็จะเริ่มหางานใหม่ สำหรับปัญหาหลังน้ำลดนั้น เขาเล่าว่า เพื่อนชาวพม่าที่ก่อนหน้านี้เดินทางกลับประเทศได้ทยอยกลับเข้ามาในไทย โดยมีบางรายเสียเงินค่านายหน้าในการกลับเข้ามา 1,000 บาท บ้างต้องเสียเงินสูงถึง 8,000 บาทก็มี นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่คนงานกลับเข้าทำงานช้ากว่าวันเปิดงาน ทำให้ถูกเลิกจ้าง และมีสถานประกอบการ 2-3 แห่งที่ให้สมัครงานเข้าไปใหม่ โดยต้องผ่านนายหน้า ซึ่งเสียเงินคนละ 2,000 บาทด้วย เจ้าของห้องเช่าย้ำสิทธิของความเป็นคน ทุกคนควรได้รับการช่วยเหลือ ทิพวรรณ บุญยืน เจ้าของห้องเช่าคนงานย่านอ้อมน้อยที่คอยให้ความช่วยเหลือคนงานในฐานะคนร่วมบ้านเดียวกันกล่าวถึงหลักคิดของเธอว่า สิทธิของความเป็นคน คนทุกคนน่าจะได้อะไรที่ไม่แตกต่างกัน ในตอนเกิดเหตุการณ์ทุกคนก็โดนเหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงควรต้องช่วยเหลือกันไม่ใช่หวังกอบโกยผลประโยชน์จากคนที่ทุกข์ยาก ยิ่งเมื่อเธอเป็นคนทำมาค้าขาย ร้านค้าที่มีก็เพื่อขายของให้กับคนงาน ห้องเช่าก็เปิดให้กับคนงาน ดังนั้นการที่มีคนงานมาเช่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว “ห้องเช่าอยู่ได้เพราะมีคนงานเช่า เราแคร์คนงาน รายได้เรามาจากเขา ไม่มีเขาเราก็อยู่ไม่ได้หรอก” ทิพวรรณกล่าว ทิพวรรณ เล่าว่า ในช่วงที่น้ำท่วมห้องเช่าที่มีอยู่ 3 อาคารของเธอและพี่สาว มีคนติดอยู่ราว 70 คน ด้วยความที่อยู่ในซอยลึกความช่วยเหลือจึงเข้ามาไม่ทั่วถึง สามีของเธอและคนงานต้องเดินลุยน้ำสูงระดับอกออกไปรับสิ่งของบริจาคที่จุดแจกของระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตรแม้จะได้แค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารไม่กี่ห่อ แต่สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกแย่คือคำพูดที่ว่าของบริจาคควรให้เฉพาะคนที่มีเลขที่บ้าน ทำให้ต้องตั้งคำถามกลับว่าคนที่อยู่บ้านเช่าไม่ต้องกินข้าวหรืออย่างไร ทิพวรรณ กล่าวด้วยว่า เธอไม่ใช่คนร่ำรวย แต่เธอเคยเป็นลูกจ้างมาก่อนแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่มีนายจ้างเป็นชาวต่างชาติแต่ก็เป็นเพียงลูกจ้าง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันตรงนี้ถือว่าเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อีกทั้งรายได้คนงาน 15 วัน ได้เพียงแค่ราว 3,000 บาท ถือว่าพวกเขาลำบากมาก คสรท.เตรียมประมวลปัญหาของแรงงานนำเสนอต่อภาครัฐ วาสนา ลำดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เล่าภาพรวมความช่วยเหลือจาก คสรท. ว่า แม้เหตุการณ์น้ำท่วมจะกระทบกับแรงงานตั้งแต่ภาคเหนือ แต่ คสรท.ไม่มีเครือข่ายในภาคเหนือ แต่เมื่อน้ำเข้าในอยุธยา มีนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งได้รับผลกระทบ ผู้นำสหภาพแรงงานได้ปรึกษากับ คสรท.เพื่อตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแรงงาน โดยได้ตั้งศูนย์ระดมทุน เงิน ข้าวของ จากนั้นมีการตั้งศูนย์ที่รังสิต นวนคร ซึ่งนอกจากความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ยังได้ทำแบบสอบถามประมวลปัญหาต่างๆ ของคนงาน จากนั้นเมื่อน้ำท่วมที่นครปฐม-สมุทรสาคร ก็ได้ตั้งศูนย์ขึ้น ซึ่งจะปิดศูนย์ดังกล่าวในวันนี้ วาสนา เล่าว่า ในพื้นที่ย่านอ้อมน้อย มีปัญหาต่างจากที่อื่น เพราะอยู่ในพื้นที่คนงานค่าแรงต่ำ แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก โดยที่อื่นให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ที่นี่ รับแล้วต้องพาไปร้องทุกข์ด้วย โดยพบปัญหาที่แรงมาก ทั้งไม่ได้ค่าจ้าง ไม่มีอาหารกิน ไม่มีบัตรประจำตัว ถูกนายจ้างยึดบัตร เลิกจ้างหรือไม่ไม่ชัดเจน โดยคนงานไทยส่วนใหญ่โรงงานไม่ได้ปิด ทำให้คนงานไปทำงานลำบาก ถูกคัดชื่อออก ขณะที่อยุธยา ปิดโรงงานไปเลยเนื่องจากโรงงานน้ำท่วม ทั้งนี้ที่อ้อมน้อย แรงงานข้ามชาติจะถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก ส่วนที่อยุธยา คนงานที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกคือ คนงานเหมาค่าแรง วาสนา กล่าวว่า หลังจากนี้ คสรท.จะนำปัญหาของแรงงานที่ประมวลแล้วมาเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะมาตรการช่วยเหลือของรัฐขณะนี้เป็นการช่วยเหลือผ่านสถานประกอบการซึ่งยังไม่มีระบบการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 75 ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงไหม การทำบันทึกความเข้าใจ ให้นายจ้างไม่เลิกจ้าง 3 เดือน ว่าที่ทำไปหลังจาก 3 เดือนมีคนงานถูกเลิกจ้างไหม หรือเคยเลิกจ้างคนงานเหมาค่าแรงหรือไม่ การพัฒนาฝีมือแรงงานจะให้เขาทำอะไร อยู่รอดได้จริงไหม มีเงินทุนให้ไหม หรือเพียงแค่ให้ได้เบี้ยยังชีพ 120 บาทเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net