Skip to main content
sharethis

17 ต.ค.54  ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจัดงานแสดงศิลปะกลางแจ้ง “แท่งอัปลักษณ์” แสดงสถิติคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2548-2553 โดยจัดทำเป็นแท่งสูงทำด้วยกล่องกระดาษบริเวณลานอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยหันหน้าไปทางด้านสนามหลวง มีการกล่าวปราศรัย อ่านแถลงการณ์ แสดงดนตรี และเปิดให้ประชาชนร่วมเขียนแสดงความเห็น พ่นข้อความรณรงค์ต่างๆ บนกล่องเปล่ารูป 112 และอากง โดยมีประชาชนผู้สนใจทยอยเข้าร่วมงานตลอดค่ำที่ผ่านมา

งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยกลุ่มเราคืออากง สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มอาสากู้ภัยน้ำตื้น กลุ่ม article 112 โดยนำข้อมูลสถิติกระทงในคดีหมิ่นฯ จากสำนักงานศาลยุติธรรม มาจัดแสดงเปรียบเทียบผ่านการตั้งกล่องกระดาษเป็นแนวตั้ง โดยในปี 2548 มี 33 กระทง, ปี 2549 มี 30  กระทง, ปี 2550 มี 126 กระทง, ปี 2551 มี 77 กระทง, ปี 2552 มี 164 กระทง, ปี 2553 มี 478 กระทง  และในโปสเตอร์จัดงานนิยามงานนี้ไว้ว่า “ถ้าศิลปะคือความงาม นี่ไม่ใช่ศิลปะ ถ้าศิลปะคือความซาบซึ้ง นี่ไม่ใช่ศิลปะ ถ้าศิลปะเปลือยให้เห็นความอัปลักษณ์ นี่ (อาจจะ) เป็นศิลปะ”

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า หลังจากมีการพูดกันมากเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ก็อยากหาช่องทางในการนำเสนอให้ประชาชนเห็นความรุนแรงของสถานการณ์จากการสถิติที่มีออกมาแสดงให้เป็นรูปธรรม

ขวัญระวี วังอุดม จากลุ่ม article 112 กล่าวว่า หลังจากนี้กลุ่มกิจกรรมที่ทำเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 จะร่วมกันตั้งคณะทำงานเพื่อรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 โดยจะใช้ร่างกฎหมายที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยนำเสนอไว้เป็นตัวตั้ง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น เรื่องโทษที่จะไม่มีโทษขั้นต่ำ และปรับลดโทษขั้นสูง, การฟ้องร้องจะให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องร้องโดยตรงแทนการร้องทุกข์กล่าวโทษแทนใครก็ได้ เป็นต้น

ขวัญระวีกล่าวอีกว่า การเสนอรูปธรรมโดยการแก้ไขกฎหมายยังมีความมุ่งหมายอีกประการว่า หากมีการผลักดันเข้าสู่รัฐสภา ประเด็นนี้ก็จะเป็นที่ถกเถียงในทางสาธารณะ ถือเป็นการให้การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและเปิดการถกเถียงสาธารณะอย่างเป็นทางการ

กลุ่มผู้จัดกิจกรรมยังได้ออกแถลงการณ์ด้วย ดังนี้

 

แถลงการณ์งานประติมากรรมกลางแจ้ง “แท่งอัปลักษณ์”

17 ธันวาคม 2554 โดยกลุ่ม “เราคืออากง”

เราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นประเด็นหนึ่งที่ ถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุด มีการกล่าวหาฝ่ายต่าง ๆ ว่ามีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งนำมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการทำรัฐประหารขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549

ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้นเกิดทั้งจากตัวกฎหมายเอง รวมถึงอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว อาทิ

1. ตัวบทกฎหมายที่มีนิยามคลุมเครือ โดยเฉพาะการดูหมิ่น ทำให้การใช้และตีความกฎหมายเป็นไปในลักษณะที่กว้างขวาง

2. อัตราโทษที่กำหนดสูงเกินไป และไม่มีความได้สัดส่วนกับหลักประชาธิปไตย

3. การตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เกี่ยวกับความมั่นคง ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีมักเป็นไปโดยลับ ทำให้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการ (due process) ได้ นอกจากนั้นผู้ต้องหามักไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่

4. การบังคับใช้กฎหมายซึ่งสามารถให้ใครฟ้องร้องใครก็ได้ ส่งผลให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

5. อุดมการณ์ราชาราชนิยมซึ่งรายล้อมกฎหมายได้ครอบงำทัศนคติของบุคคล ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้การพิสูจน์ว่าคำพูดหรือข้อความนั้นเป็นจริงหรือเท็จดังปรากฏในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปไม่ถูกนำมาปฏิบัติ ดังเห็นได้จากคำพิพากษาในหลายกรณีที่ตัดสินจากความจงรักภักดีซึ่งเป็นมโนสำนึกภายในที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

นอกจากนี้ ด้วยเหตุว่าสภาพทางสังคมการเมืองที่ผ่านมาหลังรัฐประหารจนปัจจุบัน ล้วนขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ยิ่งสร้างหรือเสริมให้เกิดรอยร้าวลึกระหว่างผู้คนในสังคมและบดบังปัญหาที่แท้จริงอันรายล้อมรอบตัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเอง

…จึงไม่แปลกที่รายงานงบประมาณแผ่นดิน ปีล่าสุด (ซึ่งบังคับใช้เดือนตุลาคม 2553) มีการทุ่มเงินงบประมาณจำนวนถึง 242,998,800 บาท หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดให้แก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างค่านิยมในการ “ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

…จึงไม่แปลกที่จะเห็นการโหมกระหน่ำผลิตซ้ำวาทกรรม “ไม่รักเจ้า ไม่ใช่คนไทย” ที่ผลักไสให้คนที่คิดต่างไปอยู่ขั้วตรงข้าม ตลอดจนการเกิดขึ้นของกลุ่ม “ล่าแม่มด” ตามโลกออนไลน์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

…และไม่แปลกที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและมาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันพากันทำแต้มแสดงความจงรักภักดีผ่านการใช้กฎหมายหมิ่นฯ จับกุมลงโทษอย่างเมามัน

ข้อมูลสถิติจากสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยให้เห็นความรุนแรงจากกฎหมายหมิ่นฯที่เข้าสู่ชั้นศาลมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยก่อนรัฐประหารมีคดีหมิ่นฯที่เข้า สู่ศาลชั้นต้นปีละไม่ถึง 5 คดี แต่ก่อนเกิดรัฐประหารในปี 2549 ไม่นาน จำนวนคดีหมิ่นฯ นับตามจำนวนกระทงความผิดค่อย ๆ ไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นจาก 33 กระทงในปี 2548 มาสู่ 478 กระทงในปี 2553 ยังไม่นับรวมผู้ที่ถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยทางสังคมก่อนถูกศาลพิพากษา

สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นสิทธิ เสรีภาพโดยชอบของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะแสดงความเห็นในเรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ บทบาท และสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย 
ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ความอัปลักษณ์จากการใช้กฎหมายหมิ่นฯไม่ควรที่จะเก็บไว้ได้พรมแห่งความจงรักภักดีอีกต่อไป แต่ควรออกนำมาแสดงอย่างเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตรงประเด็นต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net