เสวนา: เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 เมื่อเวลา 17.00 น. ห้อง 207 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน จัดเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ รักชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และ ศรันย์ ฉุยฉาย สมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (ซีซีพี) โดยมีนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมวงเสวนากว่า 150 คน ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกคณะนิติราษฎร์ อธิบายภาพรวมของอำนาจสถาบันพระมหากษัตริยในสังคมไทย โดยชี้ว่า สถานะของสถาบันฯ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีอำนาจมากเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตามที่หลายๆ คนอาจได้รับรู้ เนื่องจากในความเป็นจริง สถาบันกษัตริย์ถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบันตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นเพียง 40-50 ปีของการช่วงชิงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้ง และฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินไปของสนามที่ต่อสู้เชิงความคิดที่ยังไม่สิ้นสุดในสังคมไทย เพื่อที่จะสร้างและรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ ปิยบุตรชี้ว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึง การไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และการสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น ด้านรักชาติ วงศ์อธิชาติ นศ. ปีที่ 3 จากคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพของนิสิตนักศึกษาที่ถูกจำกัดลงจากอดีต โดยชี้ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อความเท่าเทียมและเสรีภาพในการหาความรู้ อย่างไรก็ตาม หลังจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่รับเอาอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมาใช้ ผ่านพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงมหาวิทยาลัย การให้นักศึกษาเข้ารับฟังการทรงแสดงดนตรี ในขณะเดียวกันก็ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องบูชากราบไหว้ ซึ่งรักชาติมองว่า แทนที่สถาบันการศึกษาจะทำให้คนตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ กลับเป็นเบ้าหลอมให้คนต้องอยู่ในกรอบที่คิดและเชื่อเหมือนๆ กัน นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังกล่าวถึงระเบียบต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่สะท้อนถึงระบบอำนาจนิยม เช่น ระบบโซตัส หรือการบังคับให้แต่งกายถูกระเบียบตามแบบอย่างชุดนิสิต “ในพระปรมาภิไธย” โดยสภาพดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว สังคมไทยล้วนอยู่ในพระปรมาภิไธย ซึ่งประชาชนไม่สามารถคิดและเห็นต่างได้ มิหนำซ้ำ นอกจากจะ “ห้าม” พูดและคิดแล้ว ยัง “ถูกบังคับให้พูด” เนื่องจากมีกลไกทางสังคมและทางกฎหมายดำรงอยู่ที่พร้อมจะคว่ำบาตรต่อผู้ที่เห็นต่างทันที ซึ่งพิริยะดิศ มานิตย์ อาจารย์จากภาควิชาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้เข้าฟังการเสวนาดังกล่าวชี้ว่า การถูกบังคับให้พูดในสิ่งที่ไม่อยากพูด ก็เปรียบเสมือนกับการข่มขืนดีๆ นี่เอง “สังคมที่คนถูกบังคับให้คิดให้เชื่อเหมือนๆกัน ก็เปรียบเสมือนสังคมนกเพนกวินที่ไม่ได้ใช้ความคิด อย่างนั้นมันไม่ใช่มนุษย์แล้ว เพราะมนุษย์ต้องสามารถคิดและเห็นต่างได้” พิริยะดิศกล่าว รักชาติ กล่าวถึงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยว่า เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่เพียงแต่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยรวม ซึ่งกรณีการตัดสินจำคุก 20 ปีของนายอำพล หรือ “อากง” ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากฎหมายดังกล่าวมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การรณรงค์เพื่อตระหนักรู้ความไม่เป็นธรรมของกฎหมายนี้ ไม่ควรมาจากความน่าสงสารหรือน่าเห็นอกเห็นใจต่อคดีอากงเท่านั้น เนื่องจากยังมีนักโทษการเมืองหลายคนยังถูกจำคุกด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข “สุรชัย แซ่ด่าน” และ”ดา ตอร์ปิโด” ซึ่งควรได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ทางผู้จัดงานเปิดเผยว่า การจัดงานเสวนาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีอุปสรรค เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัยในการขอใช้ห้องทำกิจกรรมที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อภายหลังได้ทำเรื่องย้ายห้องจัดงานเสวนามาที่คณะรัฐศาสตร์ จึงสามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ ดิน บัวแดง หนึ่งในกลุ่มผู้จัดงานให้ความเห็นว่า เป็นที่ชัดเจนว่าในรั้วมหาวิทยาลัยไม่มีเสรีภาพให้พูดคุยและถกเถียงในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อนาคตของสังคมไทย ทั้งๆ ที่นักวิชาการและนิสิตนักศึกษา ควรจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในคณะที่เกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หากแต่เขารู้สึกว่า ในมหาวิทยาลัย กลับเป็นที่ที่เต็มไปด้วย “ความกลัว” และนอกจากจะไม่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการแล้ว กลับห้ามมิให้นิสิตนักศึกษาใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์อีกด้วย ดิน บัวแดง นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และหนึ่งในผู้จัดงานเปิดเผยว่า สาเหตุที่จัดงานเสวนาดังกล่าวขึ้นมา เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ หากเราไม่มีเสรีภาพในการตำหนิ ก็จะไม่มีการประจบประแจงเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท