Skip to main content
sharethis

ตามไปดูเทศกาลภาพยนตร์ “ศิลปะแห่งเสรีภาพ” ในย่างกุ้ง ที่นับเป็นเทศกาลภาพยนตร์ทดสอบอุณหภูมิทางการเมืองของประเทศ ด้วยการปฏิเสธการส่งหนังให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ได้ตรวจสอบก่อนออกฉาย และมอบรางวัลหนังยอดเยี่ยมแก่หนังสั้นว่าด้วยการปฏิวัติจีวร โดยมีผู้นำฝ่ายค้าน ‘ออง ซาน ซูจี’ เป็นประธานของเทศกาล

สิ้นสุดไปแล้วกับงานเทศกาลภาพยนตร์ “ศิลปะของเสรีภาพ” (The Art of Freedom Film Festival) ที่จัดขึ้นในย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของพม่าเมื่อวันที่ 1-4 มกราคมที่ผ่านมา การจัดเทศกาลหนังว่าด้วยเสรีภาพ อาจดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติหากจัดขึ้นในประเทศอื่น หากแต่ในพม่า การฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับการ “ปฏิวัติจีวร” หรือการลุกฮือที่นำโดยพระสงฆ์ในพม่าเมื่อปี 2550 ต่อสาธารณชนหลายพันคนโดยไม่ถูกแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญทางการเมืองที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเลยก็ว่าได้

การจัดเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความริเริ่มของนักแสดงตลกชาวพม่าที่ชื่อ “ซากานาร์” ศิลปินและนักเคลื่อนไหวผู้ถูกจำคุกมาแล้วสี่ครั้ง ทั้งจากการช่วยเหลือประชาชนในภัยพิบัตินาร์กิส การแสดงตลกล้อเลียนผู้นำรัฐบาล และการร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารในปี 1988 เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากคุกที่เมืองมิตจินา รัฐคะฉิ่น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเต็งเส่งเริ่มประกาศให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

“หลังจากที่ผมออกจากคุก ผมอยากรู้และเข้าใจความหมายของคำว่าเสรีภาพ จึงต้องการจัดเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นมา และได้ไปพบกับออง ซาน ซู จี ซึ่งเธอก็ประสงค์ที่จะสนับสนุนงานนี้อย่างเต็มที่” เขากล่าว โดยหนังสั้นที่ได้รับเลือกให้มาฉายในงานนี้ มีทั้งหมด 54 เรื่อง ซึ่งมาจากการส่งเข้าร่วมจากผู้กำกับหนังที่สนใจทั้งในพม่าและต่างประเทศ 188 เรื่อง

หนังสั้นที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด ถูกฉายขึ้นที่โรงภาพยนตร์ในห้าง “Taw Win Center” ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในย่างกุ้ง ซึ่งแบ่งออกเป็นสองโรง ฉายระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม โดยมีออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเดินทางมาร่วมเปิดงานในวันที่ 31 ธันวาคม และมอบรางวัลภาพยนตร์ดีเด่นแก่ผู้กำกับในพิธีปิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม

เทศกาลภาพยนตร์ “ศิลปะของเสรีภาพ” เริ่มต้นวันแรกด้วยการท้าทายอำนาจรัฐบาลอย่างไม่กลัวเกรง โดยการฉายหนังสั้น “Ban That Scene” หนังสั้นความยาว 35 นาที ฝีมือกำกับโดย Waing ซึ่งเสียดสีการทำงานของคณะกรรมการการเซ็นเซอร์แห่งชาติได้อย่างเฉียบคมด้วย อารมณ์ขัน พร้อมๆกับสะท้อนมุมมองอนุรักษ์นิยมและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ล้าหลังของพม่าได้อย่างแนบเนียน

อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้จัดและผู้ชมภาพยนตร์ต่างตกใจไปตามๆ กัน เมื่อพบว่าประธานของกองเซ็นเซอร์แห่งชาติของพม่า ได้ประกาศกลางโรงหนังว่าจะฟ้องหมิ่นประมาทผู้จัดงาน หลังการฉายเรื่อง “Ban That Scene” สิ้นสุดลงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่า หนังสั้นดังกล่าวดูหมิ่นและไม่ให้เกียรติเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในกองเซ็นเซอร์แห่งชาติ

“หากพวกเขาอยากจะมาฟ้องผม พวกเขาก็เชิญทำได้เลย” ซาร์กานาร์กล่าวกับประชาไท พร้อมทั้งชี้ว่า ภาพยนตร์ทั้งหมดที่นำมาฉายในเทศกาลนี้ มิได้ผ่านการตรวจสอบของกองเซ็นเซอร์ของประเทศแต่อย่างใด ซึ่งโดยปรกติแล้ว ตามกฎหมายของพม่า สื่อทุกชนิดไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ก่อนที่ได้รับอนุญาตให้ออกฉาย

“ผมได้เจรเจากับทางกองเซ็นเซอร์แล้ว และเขาก็อนุญาตให้เราจัด เราพร้อมจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส” เขากล่าวต่อ พร้อมทั้งเสริมว่า เขาไม่ได้คาดหวังเลยว่าเทศกาลดังกล่าวจะได้รับความสนใจมากเท่านี้ เพียงในวันแรก ก็มีประชาชนหลั่งไหลเข้ามาจับจองตั๋วภาพยนตร์กันอย่างคึกคัก จนทำให้ภายหลังผู้จัดต้องเปิดโรงภาพยนตร์เพิ่มอีกแห่ง พร้อมกับยกเลิกระบบการให้ตั๋วเนื่องจากลดความวุ่นวายในการจัดการ

ทั้งนี้ การจัดเทศกาลภาพยนตร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มิใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในพม่า โดยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก็มีเทศกาลภาพยนตร์ ’วาธาน’ ที่จัดขึ้นโดยผู้กำกับหนังท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐเช็ค อย่างไรก็ตาม เทศกาลที่จัดโดยซาร์กานาร์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ที่ออกฉายทั้งหมดไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์แห่งชาติ และมีผู้นำฝ่ายค้านอย่างออง ซาน ซูจี เป็นประธานของเทศกาล

บรรยากาศการฉายภาพยนตร์เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่จำนวนผู้เข้าชมที่ต้องต่อแถวเหยียดยาวเพื่อจับจองที่นั่งในโรงหนัง ไปจนถึงการพูดคุยถาม-ตอบระหว่างผู้กำกับและผู้ชม โดยหนังสั้นทั้งหมด ต่างตีความคำว่า “เสรีภาพ” ไปในทางต่างๆ กัน บ้างก็เชื่อมโยงกับแนวคิดทางพุทธศาสนา ชีวิตประจำวัน การเมือง หรือประชาธิปไตย

ไซ กอง คาม หนึ่งในผู้ส่งภาพยนตร์เข้าร่วมประกวด และผู้ชนะรางวัลสารคดียอดเยี่ยมในเทศกาลหนังวาธาน กล่าวว่า เขาดีใจที่เทศกาลหนังครั้งนี้จัดขึ้นมาได้สำเร็จ และตนหวังว่าจะสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์อย่างจริงจังได้ในอนาคต พร้อมทั้งชี้ว่า ในพม่าเอง ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับภาพยนตร์อยู่หลายด้าน ทั้งการเซ็นเซอร์ การขาดสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ และอุปกรณ์ด้านเทคนิคที่จำเป็น

ไฮไลท์ของเทศกาลหนังในครั้งนี้ นอกจากจะมีภาพยนตร์เรื่อง “Ban That Scene” ที่สามารถเรียกเสียงฮาจากผู้ชมและคว้ารางวัล “Audience’s Choice” ได้แล้ว ยังมีสารคดีเรื่อง “Click in Fear” โดยผู้กำกับที่ชื่อจายจ่อเข่ง (Sai Kyaw Khaing) ที่บอกเล่าชีวิตของช่างภาพชาวกะเหรี่ยง-พม่าที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศหลัง จากบันทึกภาพเหตุการณ์การปฏิวัติชายจีวรในปี 2550 ซึ่งได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมไปครอง

“มันเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์และมีความสำคัญของประเทศของเราอย่างยิ่ง” ออง มิน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ โพสต์กล่าว “การฉายหนังเกี่ยวกับการปฏิวัติจีวรในที่สาธารณะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมันเป็นไปไม่ได้เลยเพียงสามเดือนก่อนหน้านี้”

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า บรรยากาศทางการเมืองของพม่าภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยเต็งเส่ง มีความผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากขึ้นสู่อำนาจในเดือนมีนาคมปี 2554 ด้วยการดำเนินนโยบายปฏิรูปต่างๆ เช่น การลดความเข้มงวดในการเซ็นเซอร์ การเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังจับตาต่อไปว่า การปฏิรูปนี้จะเป็นเพียงแค่การตบตาเพื่อแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติ หรือสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด

เคโกะ เซอิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ-วัฒนธรรมศึกษาและการเมืองพม่า ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าคล้ายกับช่วงเปตรอยสกา-กลาสนอสต์ในรัสเซียใน ทศวรรษ 1980 ที่บรรยากาศทางวัฒนธรรมเริ่มเปิดมากขึ้น เกิดวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การเมืองที่เสรีขึ้นตามมา

“ด้วยอัตราความเร็วขนาดนี้ พม่าอาจจะเปลี่ยนไปในทางทีดีเร็วกว่าประเทศไทยก็เป็นได้” เซอิกล่าว

คลิกเพื่อชมภาพอื่นๆ จากเทศกาลภาพยนตร์ The Art of Freedom Film Festival ที่นี่

CLICK IN FEAR (In English) from Sai Kyaw Khaing on Vimeo.

 

คลิกเพื่อชมภาพยนตร์เรื่อง “Click in Fear”

คลิกเพื่อชมภาพยนตร์เรื่อง “Ban That Scene”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net