Road to deep-South Resolution เมื่อนโยบายความมั่นคงเปิดทางเจรจา

รายงานเวทีเสวนายุทธศาสตร์รัฐดับไฟใต้ปี 2554 – 57 สมช.ร่างนโยบายความมั่นคงฉบับใหม่ หนุนกระจายอำนาจปรับโครงสร้างการปกครอง พร้อมเปิดทางเจรจาเพื่อสันติภาพ เผย 6 ยุทธศาตร์ศอ.บต. เน้นสร้างคนพื้นที่จัดการปัญหาของตัวเอง คงมีไม่กี่เวทีสาธารณะที่เปิดเผยแนวทางหรือทิศทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเสมือนลายแทงดับไฟใต้ ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ หนึ่งในนั้นคือเวทีสัมมนา เรื่อง ยุทธศาสตร์ของภาครัฐปี 2554-2557 เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Road to deep-South Resolution : Government Concerns and Policy Responses 2011 - 2014) เป็นเวทีที่จัดขึ้น เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 มกราคม 2555 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ British Embassy Bangkok European Union (European Regional Development fund) Konrad Adenauer Stiftung จัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศกว่า 100 คน เป็นเวทีที่ ผู้มีส่วนชี้อนาคตชายแดนใต้ได้มานั่งร่วมกัน เริ่มจากนายดนัย มู่สา จาก สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน จากพรรคเพื่อไทย และพล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เนื้อหาเป็นอย่างไร อ่านได้ดังนี้ ................................................. ดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กำลังร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค.ศ.2012 - 2014 ซึ่งพรุ่งนี้จะนำร่างนโยบายฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา ผมนำมาพูดก่อน เพราะยังมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขได้อีก ทุกท่านมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและสถาปนาสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงนำร่างนโยบายนี้มาแลกเปลี่ยน ทั้งประสบการณ์ ข้อมูล องค์ความรู้ ความคิดเห็น ที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ร่างนโยบายนี้ เป็นเรื่องอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า แต่การมองอนาคตนั้นจำเป็นต้องย้อยอดีต การจัดทำนโยบายนี้ อยู่ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดทำนโยบาย 3 ปี ต่างจากที่ผ่านมา ที่เป็นนโยบาย 5 ปี เหตุที่กำหนด 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมากและมีบริบทที่ซับซ้อนขึ้น ใน 3 ปีนี้ หากประเมินว่า นโยบายที่กำหนดไว้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ก็สามารถทำนโยบายใหม่ก่อนถึง 3 ปีได้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี ส่วนเนื้อหาของนโยบายฉบับนี้ กำหนดให้ครอบคลุมทั้งนโยบายด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง โดยครอบคลุมยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 6 ด้านของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.4.สน.) และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อมีการออกนโยบายฉบับนี้ไปแล้ว จะเห็นได้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง นโยบายความมั่นคงทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ประเด็นต่อมา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องกระบวนการทำนโยบายสาธารณะ ที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนรวม โดยพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สภาที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีสมาชิกมาจากทุกภาคส่วนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 49 คน เป็นผู้ให้ความเห็น มาจัดทำหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับนโยบายฉบับนี้ ซึ่งในความเป็นจริงก็อยู่ในทิศทางเดียวกันแล้ว ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ต้องนำนโยบายนี้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าสถานะของนโยบายนี้ จะเป็นตัวเชื่อมทั้งหมด หากเป็นตัวเชื่อมก็จำเป็นต้องมองในภาพรวมให้ได้ ต้องมองปัญหาให้ชัด ที่มาของการจัดทำนโยบายจึงต้องทำหลายเรื่อง เพื่อสะท้อนการมีส่วนร่วม เช่น ต้องประเมินผลการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐในอดีต และผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา ต้องประเมินว่า นโยบายที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ นโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 206/2549 เป็นอย่างไรบ้าง ควบคู่กับการทำวิจัย เพื่อให้มีงานวิชาการรองรับ การร่างนโยบายฉบับใหม่ มีการจัดประชุมกลุ่มเฉพาะ (Focus Group) กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ ที่สำคัญนำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา รวมทั้งข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มาศึกษาด้วย มีการประชุมกับหน่วยข่าวกรอง ที่ประเมินว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น มีการประชุมเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ เราไปแม้กระทั่งที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ประชุมกลุ่มย่อยกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และในอีกหลายพื้นที่ เราประชุมเฉพาะกลุ่มกับนักวิชาการส่วนกลาง สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการรับฟังความเห็นของพี่น้องมุสลิมที่อยู่ต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะคนไทยมุสลิมที่อยู่ในประเทศ ซาอุดีอาระเบียและมาเลเซีย มีการใช้กระบวนการวิจัยภาคประชาชนเป็นการเฉพาะ จัดเวทีรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งสตรีและเยาวชน หลังจากนั้น เข้าสู่กระบวนการจัดทำนโยบาย โดยนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำร่างนโยบาย ร่างเสร็จแล้ว จึงเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากนั้นจึงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ทำไมต้องจัดเวที 2 ครั้ง เพราะต้องนำร่างนโยบายที่ได้ให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณา สุดท้ายคัดเลือกคนที่ผ่านกระบวนการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้งหมด มาพิจารณาร่างนโยบายที่ได้ว่า เป็นอย่างไร เป็นเวทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาพิจารณาร่างนโยบาย มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554 หลังจากนั้นนำร่างนโยบายที่ได้ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในวันที่ 12 มกราคม 2555 เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว สภาความมั่นแห่งชาติก็จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 กำหนดให้นำนโยบายนี้ไปรายงานให้ประชุมรัฐสภาทราบ ก่อนที่จะให้หน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการตามกรอบนโยบายที่กำหนดไว้ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นนโยบายเฉพาะและเป็นนโยบายความมั่นคงฉบับแรกที่ต้องรายงานให้รัฐสภาทราบ นโยบายความมั่นคงหนุนกระจายอำนาจ การกำหนดโครงสร้างนโยบาย พิจารณาจากสถานการณ์ในภาพรวม มุมมองต่อสถานการณ์ เงื่อนไขความรุนแรงและกรอบแนวคิด รวมทั้งวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาในอีก 3 ปี การร่างนโยบายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 9 ข้อ และมีนโยบาย 3 - 4 ข้อ ตามด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จ การร่างนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีองค์ความรู้ ความคิดเห็นเยอะมาก อันไหนคือปัญหาที่แท้จริง เราต้องมาพูดกัน เรามองว่า สถานการณ์มีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายรัฐ หมายความว่า เมื่อการดำเนินนโยบายมาถูกทางและมีประสิทธิภาพ สามารถลดความรุนแรงลงได้ แต่หากไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น เชื่อมโยงกับปัจจัยแทรกซ้อนทั้งจากในและนอกพื้นที่ รากเหง้าของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากเงื่อนไข 3 ชั้น ซึ่งเอื้อและพัฒนาไปด้วยกัน ชั้นที่ 1 เงื่อนไขระดับบุคคล มาจาก 4 ส่วนสำคัญ คือ ขบวนการก่อความไม่สงบ กลุ่มอิทธิพลอำนาจมืด ภัยแทรกซ้อน อารมณ์ความแค้น ความเกลียดชังส่วนตัว และเจ้าหน้าของรัฐบางส่วนที่สร้างเงื่อนไขความรุนแรง ชั้นที่ 2 เงื่อนไขระดับโครงสร้าง มีความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกจากการปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจจากส่วนกลาง ชั้นที่ 3 ซึ่งลึกที่สุด คือ เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม มีความรู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ว่าในเชิงศาสนา ประวัติศาสตร์และชาติพันธ์ เป็นรากเหง้าที่ผสมหรือซ้อนทับกันอยู่ หากแก้เงื่อนไขในระดับบุคคลได้ แต่เงื่อนไขระดับวัฒนธรรมยังมีอยู่ ปัญหาก็ไม่จบ และหากระดับโครงสร้างยังไม่รองรับ ปัญหาก็ไม่จบด้วยเช่นกัน เมื่อนโยบายมองอย่างนี้ แนวคิดการแก้ปัญหาในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนอย่างแท้จริง ภายใต้ยุทธศาสตร์ปรัชญา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อร่วมกันแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ ที่ผ่านมาเราต่อสู้เพื่อเอาชนะตัวบุคคล ด้วยความคิดความเชื่อ เราจึงต้องการแปรเปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี สร้างสมดุลทางโครงสร้างอำนาจการปกครองระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ ภายใต้ความหลากหลายของสังคมและภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญของไทย การเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ให้เกียรติอัตลักษณ์ และระมัดระวังผลกระทบระดับสากล มีการรับรู้ร่วมกันว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมกันแก้ไข การดำเนินนโยบายที่ประสานสอดคล้องและส่งเสริมในทุกมิติอย่างสมดุล นี่เป็นกรอบวิธีคิดในการกำหนดนโยบาย ปรับโครงสร้างการปกครองชายแดนใต้ สำหรับวิสัยทัศน์ในอีก 3 ปีข้างหน้า มุ่งให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของความรุนแรง มีสภาพแวดล้อมที่พร้อมและต่อการเอื้อต่อการหาทางออกของความขัดแย้ง ทุกภาคส่วนมีความเข้าไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมพูดได้อย่างตรงไปตรงมา ว่านโยบายนี้จะพูดเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งต่างจากนโยบายที่ผ่านมา ส่วนวัตถุประสงค์ของนโยบายฉบับนี้ ประกอบด้วย การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อหาทางออกของความขัดแย้ง และเป็นหลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ อันนี้มุ่งไปที่การขจัดเงื่อนไขความรุนแรงระดับบุคคล ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหาร ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทุกฝ่ายจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามาสู่การยึดมันในกระบวนการสันติวิธี เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติข่าวเชิงรุก พัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยชุมชน เร่งขจัดปราบปรามกลุ่มอำนาจอิทธิพลเถื่อน เพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงที่แทรกซ้อน พูดคุยเพื่อสันติภาพ เปิดทางเจรจา สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Peace dialogue) ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องหลักการและรูปแบบการกระจายอำนาจ ที่เหมาะสมบนพื้นฐานพหุวัฒนธรรมสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่มีการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขในการแบ่งแยกดินแดน ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ กับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้เป็นกรอบทิศทางกับสัญญาณต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการฐานทรัพยากรให้สมดุล ส่วนนโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างความเข้าใจและฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ทำให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุน และมีบทบาทเพื่อเกื้อกูลในการแก้ปัญหา บริหารจัดการแก้ไขนโยบายตามหลักธรรมาภิบาล มีเอกภาพและมีการบูรณาการ ขจัดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง การขจัดเงื่อนไขระดับโครงสร้าง อันแรกคือ พัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารฐานทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุล ระหว่างการใช้กับการรักษาอย่างยังยืน ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เร่งรัดขับเคลื่อนพัฒนาระบบกระบวนการศึกษาในทุกระดับ ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณีของพื้นที่อย่างแท้จริง ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ให้สามารถรองรับบุคคลกรในพื้นที่ ซึ่ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำไปเยอะแล้ว ขจัดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงความรุนแรง โดยส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความรู้ ความเข้าใจศาสนา อัตลักษณ์ วิถีชีวิตอย่างแท้จริง เร่งรัดกระบวนการค้นหาความจริงในทุกเหตุการณ์ที่กังขาของประชาชนและต่างประเทศให้ปรากฏ ฟื้นความไว้วางใจ สร้างความเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใส ความเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ปรับปรุงระบบกระบวนการเยียวยา ส่วนเรื่องต่างประเทศ เพิ่มระดับการปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหากับต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้สนับสนุนการแก้ปัญหา ส่งเสริมการสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงกับการติดต่อกับประชาชนในพื้นที่กับสังคมมุสลิมภายนอกประเทศ บริหารจัดการให้การดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐและข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง สร้างจิตสำนึกต่อข้าราชการทุกฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ส่งเสริมภาคีเครือข่ายสนับสนุนนโยบาย จัดกลไกและระบบจัดการนโยบายที่สอดคล้องและส่งเสริมทุกมิติอย่างประสิทธิภาพและครบวงจร ส่งเสริมการเรียนรู้ท่ามกลางความหลากหลาย สุดท้ายที่เป็นเงื่อนไขระดับวัฒนธรรม มี 2 เรื่อง คือ ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความตระหนักในคุณค่าการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม เสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ตระหนักถึงความรักผิดชอบร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ ตระหนักให้ดำเนินวิถีชีวิตตามหลักศาสนาทุกศาสนาโดยไม่มีอุปสรรค สร้างเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแล ปกป้อง ทุกวิถีชีวิต ทุกทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มบุคคลที่แตกต่างให้เกิดการยอมรับ ในการอยู่ร่วม ทั้งกลางความแตกต่างและหลากหลาย ส่งเสริมการเรียนรู้ ภาษามลายู ภาษาไทย ทุกระดับการศึกษา และ ภาษาอื่นๆ ส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เด็ก สตรี เยาวชน ส่งเสริมคุณค่าและการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในพื้นที่ สำหรับสังคมไทย เสริมสร้างความเข้าใจแก่สังคมไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจของสถานการณ์ที่เป็นจริงต่อสาธารณชน โดยใช้งานข่าวสารและงานมวลชนสัมพันธ์ ผ่านสื่อรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ตลอดจนเวทีสาธารณะ แล้วเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปิดท้ายด้วยปัจจัยของความสำเร็จ คือ นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความมุ่งมั่นในการจัดการกลไกและระบบที่มีประสิทธิภาพ มีเครือข่ายสนับสนุนตามนโยบาย มีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลอย่างจริงจังชัดเจนอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มีการเปิดพื้นที่และช่องทางในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในปรัชญาความคิดและสาระสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของนโยบาย มีงานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา ที่พูดมาทั้งหมดเป็นกรอบทิศทางของนโยบายที่นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีอีก 6 – 8 คน เป็นกรรมการ ให้ กอ.รมน. ประเมิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ผมเข้าใจว่า จะมีการต่ออายุอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 26 ท้ายสุดของมติคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด บอกว่า การต่อพระราชกำหนดฯครั้งต่อไป ต้องประเมินผลอย่างเข้มข้น โดยใช้ข้อมูลของภาคประชาชนและภาคประชาชนสังคมมาร่วมด้วย โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ผมมองจากกรอบนโยบายว่า เวลาที่เราเจอปัญหาความรุนแรงที่ใหญ่ ต่อเนื่องและซับซ้อนมากขนาดนี้ เราต้องการพลังร่วมกัน ลำพังภาครัฐอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ถ้าปราศจากการให้ร่วมมือของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่สำคัญคือ เราประเมินพบข้อดีในความรุนแรงว่า 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาว่า บางเรื่องหากพูดก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่อันตราย เช่น Peace Dialogue, Peace Process และเขตปกครองพิเศษ ในขณะที่ปัจจุบันมีการพูดคุยอย่างกว้างขวาง ในนโยบายก็เขียนอย่างชัดเจนว่า จะต้องเปิดพื้นที่พูดคุยอย่างปลอดภัยในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนในทางปฏิบัติก็ต้องไปดำเนินการต่อไป เรื่องที่ 2 บทบาทของภาคประชาสังคมมีน้ำหนักสูงมากต่อการนำไปสู่การสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมมักถูกจับตา แต่ปัจจุบันไม่ใช่ แต่สามารถขับเคลื่อนไปทางที่ดีขึ้น สภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้มียุทธศาสตร์หรือไม่ว่าจะแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ เพราะภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะทำงานร่วมกัน แต่ไม่ใช่มาเป็นเครื่องมือให้รัฐ ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดังนี้ ประการที่ 1 ทำอย่างไรที่จะทำให้หล่อหลอมความคิด ความเข้าใจของข้าราชการ ซึ่งขณะนี้มี 17,000 คน อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงข้าราชการที่มาจากส่วนกลาง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีภารกิจในการดูแล หล่อหลอมข้าราชการฝ่ายพลเรือนให้เข้าใจ และยอมรับนำนโยบายของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่างๆส่งคนดี คนที่มีความสามารถมา และจะปรับเปลี่ยนทักนคติมุมมองได้อย่างไร ประการที่ 2 ด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2553 เปิดช่องไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านพลเรือนหรือการพัฒนา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดำริในการจัดให้มีเขตพิเศษด้านการศึกษา เพราะตระหนักว่า วันหนึ่งความขัดแย้งต้องยุติลงแน่นอน แต่อนาคตข้างหน้า ต้องฝากไว้กับเด็กเยาวชน ที่จะมาสืบทอดการดูแลบ้านเมืองต่อไป สิ่งสำคัญที่สุด คือการจัดการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับพี่น้องในท้องถิ่น แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้ คือต้องมีคุณภาพ ทั้งสามัญศึกษา อิสลามศึกษา หรือด้านภาษา เช่น ภาษามลายูกลาง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เพื่อเตรียมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ประการที่ 3 เราจะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อการสร้างงาน กระจายรายได้ แก้ปัญหาความยากจน ในส่วนนี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หารือกับแม่ทัพภาคที่ 4 เห็นตรงกันว่า พื้นที่สีเขียวทางกองทัพก็จะส่งมองให้ฝ่ายพลเรือน เข้าไปเร่งระดมพัฒนา อาจนำทหารช่างมาช่วยเหลือ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับหมู่บ้านให้ได้ ประการที่ 4 การอำนวยการความเป็นธรรม การช่วยเหลือเยียวยา ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประการที่ 5 เราตระหนักดีว่า จากการสำรวจทางวิชาการ พบว่า ใน 26 กลุ่มอาชีพ ผลการสำรวจชี้ชัดว่า กลุ่มที่ประชาชนเชื่อและศรัทธาสูงสุด คือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คือผู้นำทางจิตวิญญาณ ดังนั้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้องค์กรเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น การพัฒนาศักยภาพของโต๊ะอิหม่ามในเรื่องความรู้ บทบาทหน้าที่ การปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสับบุรุษในท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้ผู้นำศาสนา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ทำหน้าที่ เช่น การจัดอบรมก่อนแต่งงาน โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยเรื่องการเพิ่มความรู้ทางสาธารณสุขแก่ผู้เข้าอบรม เนื่องจากเราพบอัตราการตายของแม่และเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 80 ต่อหนึ่งแสนคน สูงที่สุดในประเทศไทย ขณะที่อัตราเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 18 ต่อหนึ่งแสนคน เราพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะตระหนักดีว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่ดึงศักยภาพของผู้ศาสนามาช่วยในเรื่องนี้ เพื่อที่จะทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งตั้งแต่เริ่มต้นจับคู่แต่งงานของหนุ่มสาวในพื้นที่ ร่วมทั้งเข้าพัฒนาโรงเรียนตาดีกา สถาบันการศึกษาปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนตาดีกาถูกกล่าวหามาตลอดว่า เป็นแหล่งบ่มเพาะอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ ยืนยันว่ามีจริง แต่มันใจว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ทำอย่างไรที่เราจะไปดูแลให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะโรงเรียนตาดีกา เป็นสถานที่วางรากฐานแก่เด็กที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ประการที่ 6 เราจะส่งเสริมกิจการฮัจญ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะร่วมมือกับกระทรวง ทบวน กรม ปรับปรุงพัฒนาเรื่องกิจการฮัจญ์ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ให้ได้ไปประกอบพิธีอย่างมีเกียรติและได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ร่วมทั้งการสร้างสัมพันธ์กับโลกมุสลิม วิธีหนึ่งที่เรียกว่า Thailand over sea คือโครงการสอนภาษาไทยและวิชาสามัญแก่คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในประเทศตะวันออกกลาง เผื่อวันหนึ่งบุคคลเหล่านั้นจะกลับมาตูภูมิอย่างมีเกียรติและมีคุณภาพ และจะเป็นกำลังหลักของประเทศต่อไป เป็นความพยายามที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามั่นใจว่า สุดท้ายแล้ว ประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นผู้เข้ามาแบกรับภารกิจเหล่านี้ และแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง หน่วยงานต่างๆ คงไม่มีความสามารถที่จะดูแลพื้นที่ได้ตลอดไป ทำอย่างไรที่เราจะถ่ายโอนภารกิจเหล่านี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ แนวคิดเรื่องการปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่ง หัวหอกในการเดินหน้าจะต้องเป็นภาคประชาชน ภาควิชาการ ซึ่งต้องมีการศึกษา ตรวจสอบอย่างมีคุณภาพ ก็จะเป็นหลักประกันที่ดีงามของประชาชนในอนาคตต่อไป ส่วนการกระจายอำนาจ เป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นและมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง จริงๆการกระจายอำนาจมีอยู่แล้ว คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) แต่ขณะนี้โจทย์ใหญ่ คือ ท้องถิ่นจะสนองความต้องการในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร ตามความเข้าใจของผมคือ เป็นโจทย์ที่นำไปสู่การเรียกร้องขอดูแลหรือปกครองตนเองอย่างเต็มพื้นที่ ร่วมทั้งข้อเสนอที่เราควรพิจารณา คือข้อเสนอ 7 ของหะยีสุหลง ซึ่งยืนยันได้ว่า ขณะนี้ยังเป็นความต้องการของคนในพื้นทื่อยู่ เพียงแต่เราจะเปิดใจเข้าหากัน แล้วพิจารณาข้อเสนอในแต่ละข้ออย่างถี่ถ้วนและเป็นธรรม ก็เข้าใจว่ามันน่าจะคลี่คลายไปได้ เพราะข้อเสนอเหล่านี้นั้น หัวใจที่สำคัญ ก็คือ จะให้มีการปกครองดูแลตัวเอง เพื่อที่จะให้ตอบสนองต่อปัญหาพื้นฐานของประชาชนที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือ ให้คนมุสลิมในพื้นที่ได้ดูแลตัวเอง อย่างเหมาะสมได้อย่างไร แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมไทยในส่วนร่วมของประเทศด้วย พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยกำลังพูดคุยเรื่องการปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะให้มีรูปแบบเหมือนกรุงเทพมหานคร มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง และสภาเหมือสภากรุงเทพมหานคร สาระสำคัญ คือ ลดอำนาจของผู้ราชการจังหวัดลง และเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น ให้ท้องถิ่นสามารถมีรายได้จากภาษีอากรมากขึ้น ทรัพยากรที่ท้องถิ่นมีอาจต้องแบ่งระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น รูปแบบการปกครองชายแดนใต้ ขณะนี้มี 2 แนวคิด คือ ให้รวมจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานีเป็นนครปัตตานี และแนวคิดที่จะให้แยกแต่ละจังหวัดตามเดิม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องมีคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เหตุไม่สงบตั้งแต่ วันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล แต่ละรัฐบาลได้แต่งตั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน เข้ามาแก้ไขปัญหา ตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราคิดว่าเหตุการณ์ไม่สงบน่าจะลดลง หลังจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้สถาปนาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาด้านพลเรือนหรือด้านการพัฒนา ส่วนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบด้านการทหาร แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ลดลง ทุกรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อจะให้เหตุการณ์สงบลง เริ่มจากรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และมีเสนอมาแล้ว ท่านเคยพูดว่า ปัญหาที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่แคว้นไอแลนด์เหนือประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศเหล่านั้นมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เราพยายามศึกษา ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาว่า พื้นที่ตรงนี้ให้มีการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น การปกครองตนเองในมุมมองของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น คือ น่าจะปรับให้การปกครองท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการปกครองตนเอง ในด้านงบประมาณให้สามารถเก็บภาษีอากรได้บางส่วน รายได้จากทรัพยากรในพื้นที่ ให้พื้นที่ได้เข้ามาใช้ การรักษาความสงบเรียบร้อยในเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ ก็พยายามให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ รับผิดชอบว่าจะทำอย่างไรที่จะให้พื้นที่ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับคนที่นับถือศาสนาอื่นอย่างมีความสุข ข้อสรุปต่อมา ผมและสภาผู้แทนราษฎร มีแนวความคิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดการปรองดอง ทำอย่างไรที่จะให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน แก้ปัญหาด้วยความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ศึกษาปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยข้อมูลต่างจาก คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการชุดนี้ ยังได้พิจารณาปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมายาวนาน มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก มอบภาระให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ นำปัญหาของภาคใต้มาผนวกด้วย โดยตั้งคณะอนุกรรมาธิการเข้าไปศึกษาปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะว่า จะทำอย่างไรที่แก้ปัญหาได้โดยสันติวิธี พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ผมขอพูดแทนพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ว่า ต่อไปนี้การควบคุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หากปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือมีการดูหมิ่นเหยียดหยาม เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องกลายมาเป็นจำเลยเสียเอง ด้วยประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวกับที่ใช้ลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ต้องการให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการเหยียดหยามในความแตกต่างกัน สำหรับการต่อหรือไม่ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะต้องให้มีการพิจารณากันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่กับประชาชน พื้นที่ใดที่ยังคงต้องมีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนกฎอัยการศึกยังคงใช้ต่อไป พล.ท.อุดมชัย สนับสนุนผู้เรียกร้องหรือต้องการปกครองตนเองด้วยสันติวิธี ยินดีเปิดเวทีเพื่อให้เกิดการพูดคุยกัน แต่ไม่ยินดีหากจะใช้วิธีการรุนแรงทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าไร้ความสามารถในการดูแลความสงบสุขของพี่น้องประชาชน เรายืนยันจะหน้าที่รักษาความสงบต่อไปภายใต้กรอบของกฎหมายต่อไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท