Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ ชี้นักเศรษฐศาสตร์ 62.5% ประเมินผลงานด้านพลังงานของรัฐบาลพบอยู่ในระดับ “แย่ถึงแย่มาก” 80.6% เชื่อมีโอกาสมากที่การปรับราคาพลังงานรอบนี้จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่ วันนี้ (25 ม.ค.55) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ32 แห่ง จำนวน 72 คน เรื่อง “5 เดือนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กับนโยบายพลังงาน” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17 – 24 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 66.7 เห็นว่าตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปัจจุบันยังคงเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยคิดเป็นร้อยละ 22.2 เชื่อว่าเป็นตลาดผูกขาด (monopoly) ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้บัญญัติไว้ เมื่อสอบถามถึงความเป็นธรรมในระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบันที่มีต่อผู้บริโภค นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.4 เห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจนในการปรับขึ้นราคาน้ำมันแต่ละครั้ง อีกทั้งยังสังเกตเห็นว่าช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นก็จะขึ้นเร็วแต่หากปรับราคาลงก็จะปรับช้า หรือปรับขึ้นครั้งละ 60 สตางค์ต่อลิตรแต่ปรับลงแค่ 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการบิดเบือนราคายังคงมีอยู่ ขณะที่ร้อยละ 23.6 เชื่อว่าระบบการปรับราคาดังกล่าวมีความเป็นธรรม เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGVเพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริง นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.7 ระบุว่า “เห็นด้วย” ในจำนวนนี้ร้อยละ 50.0 ยัง เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 54 ที่ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV เดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. ถึง ธ.ค. 55 ขณะที่ร้อยละ 23.6 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.7 เชื่อว่านโยบายการปรับราคาก๊าซ NGV ของกระทรวงพลังงานดังกล่าวมุ่งสนองเป้าหมายเพื่อภาคธุรกิจเป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 33.3 เชื่อว่ามุ่งให้เกิดความเป็นธรรมทั้งภาคธุรกิจกับผู้บริโภค นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้มีการประเมินผลการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.5 เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับแย่ถึงแย่มาก มีเพียงร้อยละ 13.9 เท่านั้นที่เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับดี ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 80.6 เชื่อว่ามีโอกาสมากที่การปรับราคาพลังงาน (น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ NGV และ LPG) จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่ รายละเอียดของผลสำรวจมีดังต่อไปนี้ 1. ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปัจจุบันเป็นตลาดประเภทใด (จัดตามลักษณะการแข่งขัน) ร้อยละ 0.0 ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (perfect competitive market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก ร้อยละ 22.2 ตลาดผูกขาด (monopoly) ตลาดที่มีผู้ขายอยู่เพียงคนเดียว ทำให้ผู้ขายมีอิทธิพลเหนือราคาและปริมาณสินค้า อย่างสมบูรณ์ในการที่จะเพิ่มหรือลดราคาและควบคุมจำนวนขายทั้งหมด (total supply) ได้ตามต้องการ ร้อยละ 66.7 ตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขายเพียงไม่กี่ราย และผู้ขายแต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด ถ้าหากว่าผู้ขายรายใดเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายแล้วก็จะกระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่น ๆ ร้อยละ 4.2 ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition) ตลาดประเภทนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีอิสระเต็มที่ในการที่จะวางนโยบายการขายและการซื้อของตนโดยไม่กระทบกระเทือนคนอื่น ร้อยละ 6.9 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ 2. ระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบันเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ ร้อยละ 23.6 เป็นธรรมเพราะ ราคามีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริงก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริโภคน้ำมัน ร้อยละ 44.4 ไม่เป็นธรรม เพราะ 1. ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจนในการปรับขึ้นราคาน้ำมันแต่ละครั้ง อีกทั้งยังสังเกตเห็นว่าช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นก็จะขึ้นเร็วแต่หากปรับราคาลงก็จะปรับช้า หรือปรับขึ้นครั้งละ 60 สตางค์ต่อลิตร แต่ปรับลงแค่ 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการบิดเบือนราคายังคงมีอยู่ แม้จะอ้างว่าปรับตามราคาน้ำมันตลาดโลก 2. ปัจจุบันราคาน้ำมันไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเสรีอย่างแท้จริง เพราะ ภาครัฐยังอุดหนุนดีเซล มีการเก็บภาษีหลายประเภท เป็นต้น 3. ราคาน้ำมันปัจจุบันไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การอิงราคาน้ำมันตามตลาดสิงคโปร์ก็ไม่มีตัวบ่งชี้ว่าถูกต้องหรือเป็นธรรมหรือไม่ ทำให้ผลประโยชน์ตกแก่คนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ประกอบการน้ำมัน ร้อยละ 32.0 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ 3. การเห็นด้วยเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGVเพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริง (ตามที่ ปตท.และรัฐบาลกล่าวอ้าง) ร้อยละ 66.7 เห็นด้วย (ถ้าเห็นด้วย) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 54 ที่ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV เดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค ถึง ธ.ค. 55 ร้อยละ 50.0 เห็นด้วย ร้อยละ 6.9 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 9.8 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ ร้อยละ 23.6 ไม่เห็นด้วยเนื่องจาก 1. รัฐบาลเคยสนับให้ธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ NGV แต่กลับมีการปรับเปลี่ยนนโยบายส่งผลต่อการลงทุน 2. รัฐบาลไม่สามารถอธิบายต้นทุนที่แท้จริงได้ประกอบกับไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมากต้นทุนจึงไม่น่าจะสูง เป็นเหตุทำให้มีความสงสัยและคำถามเกิดขึ้น 3. รัฐบาลสนองประโยชน์ให้ปตท. เป็นเหตุให้ประชาชนต้องเดือนร้อน ข้าวของแพง ร้อยละ 9.7 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ 4. นโยบายการปรับราคาก๊าซ NGVของกระทรวงพลังงาน มุ่งสนองเป้าหมายใดเป็นหลัก ร้อยละ 33.3 มุ่งให้เกิดความเป็นธรรมทั้งภาคธุรกิจ(ปตท.) กับผู้บริโภค ร้อยละ 1.4 มุ่งสนองความต้องการของผู้บริโภค(ประชาชน) เป็นหลัก ร้อยละ 41.7 มุ่งสนองภาคธุรกิจ (ปตท.) เป็นหลัก ร้อยละ 23.6 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ 5. การดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีผลงานอยู่ในระดับใด ร้อยละ 0.0 ดีมาก ร้อยละ 13.9 ดี ร้อยละ 41.7 แย่ ร้อยละ 20.8 แย่มาก ร้อยละ 23.6 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ 6. มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่การปรับราคาพลังงาน (น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ NGV และ LPG) จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่ ร้อยละ 80.6 มีโอกาสมาก ร้อยละ 13.9 มีโอกาสน้อย ร้อยละ 0.0 ไม่มีโอกาสเลย ร้อยละ 5.5 ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ หมายเหตุศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) : รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net