Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศัพท์บางประเภทมีอาถรรพ์ คำบางวงศ์วานมีอาคม ช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ความนิยมใช้คำว่า “เจ้า” พวยพุ่งรุ่งโรจน์อย่างเป็นปรากฏการณ์ สวนทางกับความนิยมในสามานยนามและวิสามานยนามเกี่ยวกับเจ้าที่ตกต่ำลง ข้าพเจ้าลองนั่งนึกสลับกับสืบค้นแบบลวกง่ายไม่ทรมานสังขารอันไม่เที่ยง ก็พบว่าคำว่า “เจ้า” มีความหมายและการใช้ตามสมัยนิยมที่รุ่มรวย หลากหลาย เหลื่อมซ้อน ย้อนแย้ง อินุงตุงนัง อาทิเช่น (1) ผู้มีอำนาจในปริมณฑลหรือกิจการต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่, เจ้าพนักงาน, เจ้าเมือง, เจ้าสำนัก, เจ้าอาวาส, เจ้าพ่อ (2) เหล่าพระราชวงศ์และราชนิกูลในสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป (หมายเหตุ: ตามกฎนี้ ผู้มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าหม่อมเจ้า จึงไม่ใช่ “เจ้า” อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ใช่เจ้ามาแต่กำเนิดก็สามารถถูกแต่งตั้งให้เป็น “เจ้า” ได้ หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์ สามัญชนก็ตั้งตนเป็นเจ้าได้ เช่น รัชกาลที่หนึ่งผู้สถาปนาราชวงศ์จักรี) (3) ผี เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจ้าที่, ศาลเจ้า, ไหว้เจ้า, ทรงเจ้า (4) God - พระเจ้า, พระผู้เป็นเจ้า (5) ความเป็นเจ้าของ หรือผู้เป็นใหญ่เหนือสิ่งของ เช่น เจ้าหนี้, เจ้าทรัพย์, เจ้าบ้าน (6) ผู้มีความเชี่ยวชาญช่ำชองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เจ้าเล่ห์, เจ้าชู้, เจ้าคารม, เจ้ากี้เจ้าการ (7) สรรพนามบุรุษและสตรีที่สองและสาม ใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วยและพูดถึง โดยมีนัยยะถึงคนที่มีสถานะต่ำกว่าหรือเท่ากัน เช่น “ชายชาติอาชาไนยอย่างข้า ไม่เอาเจ้าด้วยกำลังหรือเล่ห์เพทุบายดอก” “วันหลังคุณอย่าพาเจ้าหนูมาที่นี่อีกนะ ดิฉันรำคาญเด็ก” “เจ้าหล่อนนึกยังไงหนอ ถึงยอมไปไหนมาไหนกับเจ้าราฟาเอล” นอกจากนี้ยังเกิดความนิยมใช้ “เจ้า” นำหน้าสิ่งไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน นัยว่าเพื่อแสดงตนเป็นคนสุภาพน่ารัก จิตใจดี มีความเอ็นดูอันเหลือเฟือให้กับสรรพสิ่ง เช่น “อพยพออกจากบ้านเป็นเดือนแล้ว ทำไมเจ้ามวลน้ำไม่เห็นมาเสียที” “อนิจจา, พวกใจบาปจะมากำจัดน้ำเน่ากันแล้ว เรามาร่วมสวดมนต์ให้เจ้าแบคทีเรียกันเถอะ” (8) ผู้ประกอบการ เช่น “ลูกชิ้นปิ้งเจ้านี้อร่อยที่สุด ใส่บอแรกซ์ไม่อั้น” “เจ้านี้ก็ห่วย เจ้าโน้นก็ห่วย เจ้าที่คนมะรุมมะตุ้มแย่งกันยิ่งห่วย แถวนี้ห่วยทุกเจ้า” (9) คำอุทาน คำสบถ คำร้องเรียกความสนใจ หรือคำลงท้ายขานรับ เช่น “อุแม่เจ้า!” “แม่เจ้าโว้ย!” “เจ้าข้าเอ๊ย!” “สั่งสอนพวกไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงเสร็จเรียบร้อยแล้วเจ้าค่ะ!” “จะให้บ่าวเชือดไก่ให้ลิงดูอีกตัวไหมเจ้าคะ?” น่าประหลาดที่คำว่า “เจ้า” ตามอักขรวิธีและการสะกดในปัจจุบันมีนัยความหมายและการใช้มากมายและวุ่นวายขนาดนี้ ในบางกรณี ความหมายแบบหนึ่งทำลายความหมายอีกแบบหนึ่งจนย่อยยับอย่างไม่น่าให้อภัยโทษและอยู่ร่วมราชอาณาจักรกันได้ ศัพท์กำราบ สาปด้วยศัพท์ นับตั้งแต่กระแสเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ การปฏิรูปและการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ทวีความเข้มข้นพร้อมส่งสัญญาณไม่ยอมจำนน บรรดาสาวกและอัศวินแห่งลัทธิเทวราชากลายพันธุ์ (รวมทั้งพวกโหนเจ้าทั้งที่อาจไม่ได้นิยมเจ้าด้วยใจจริง) ต่างกระวีกระวาดสาดถ้อยคำเข้าใส่ปีศาจแห่งความเป็นสมัยใหม่อย่างเมามัน “กำเริบเสิบสาน” “เหิมเกริม” “เห่อเหิม” “ลบหลู่” “จาบจ้วง” “ล่วงละเมิด” “ล่วงเกิน” “ก้าวล่วง” “อาจเอื้อม” “บังอาจ” “ตีตนเสมอ” “มักใหญ่ใฝ่สูง” “หมิ่นเบื้องสูง” “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” “หลู่พระเกียรติ” “ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” “มิบังควร” “ดึงฟ้าต่ำ” “อกตัญญู” “เนรคุณ” “ทรยศ” “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” “ล้มเจ้า” “ล้มล้างราชบังลังก์” “ไม่จงรักภักดี” “ไม่สำนึกบุญคุณ” “ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง” “ไม่เจียมกะลาหัว” “เหาจะกินหัว” “ขี้กลากจะขึ้นหัว” “นรกจะกินกบาล” ศัพท์แสงสำนวนโวหารหรูหราเหล่านี้ล้วนร้อยรัดอยู่กับแก่นแกนอุดมการณ์โบราณเดียวกัน (“โบราณ” แต่ก็เป็นการผสมผสานอย่างไม่สถิตของ “มรดก-ซากเดน-เพิ่งสร้าง-ประดิษฐ์ใหม่-กลายพันธุ์”) อุดมการณ์ศักดินาที่ทรงฤทธิ์นี้อ้างอิงปนบิดผันอุดมการณ์พุทธปนพราหมณ์ว่าด้วยการแบ่งแยกลำดับชั้นตามชาติกำเนิด สิทธิธรรมและบุญญาบารมี ด้วยลักษณะสังคมแบบ “ยศช้างขุนนางพระ” และ “นายว่าขี้ข้าพลอย” ภาษาไทยจึงมีคำ “ด่า-แดกดัน” เกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ลำดับชั้นมากมายหลายเฉดให้เลือกใช้ตามแต่อกุศลจิต ภาษา “คุณไสย” จำพวกนี้มีหน้าที่ตำหนิติเตียน ผรุสวาท เหยียดหยาม เยาะหยัน ข่มขู่ และสาปแช่งการ “ละเมิด” หลักการและคุณค่าว่าด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสถานภาพบุคคลที่ฝ่ายต่ำศักดิ์กว่า (คนสามัญ ไพร่ ฆราวาส) กระทำต่อฝ่ายสูงศักดิ์กว่า (คนชั้นสูง เจ้านาย พระสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ภายใต้ระเบียบสังคมแนวดิ่ง เมื่อใดที่คนสถานะต่ำไม่ประพฤติตนทั้งกาย วาจา ใจตามกติกาที่บังคับให้นอบน้อมสวามิภักดิ์ต่อคนสถานะสูง สังคมไทยถือว่าเป็นการแหกจารีตแบบแผนที่อัปมงคลและชั่วช้าสามานย์อย่างยิ่ง จำต้องประณาม ประจาน ประชด และกดปราบพฤติกรรมที่สั่นคลอนโครงสร้างอำนาจและอุดมการณ์ “คนต้องไม่เท่ากัน” แบบไทยให้สิ้นพิษสง ในโลกทัศน์และขอบฟ้าจินตนาการของคนรุ่นเก่าหัวโบราณ คนรุ่นใหม่ที่คร่ำครึกว่าคนหัวก้าวหน้าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หรือกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ของคนทั่วไปที่นิยมเจ้า “เจ้า” แม้จะเชื่อได้ยากแล้วว่าเป็นอวตารของเทพแขก แต่ก็ยังเชื่อได้ง่ายว่าเป็นผู้สั่งสมบุญญาบารมีมามากและไม่มีทางจะเป็นคนธรรมดาได้ดังความเชื่อที่แพร่หลายว่า “พระมหากษัตริย์ อย่างไรก็อยู่สูงกว่าคนทั่วไป” นอกจากข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดหลักแห่ง hierarchy แล้ว การปิดปากการวิจารณ์และสกัดกั้นการปฏิบัติต่อเจ้าในฐานะบุคคลแบบเดียวกับสามัญชนอีกแบบที่ร้ายกาจยิ่งกว่าคือการอ้างว่าเป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจเหล่าผู้รักและศรัทธา ซึ่งเป็นวิธีให้เหตุผลชนิดเดียวกันของเหล่าศาสนิกชนหัวรุนแรงที่ไม่อาจทนให้ศาสนาและศาสดาของตนถูกแตะต้องได้ ยิ่งใช้ข้ออ้างนี้เป็นรากฐานมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ “Head of State” กลายเป็น “God, Prophet, Spiritual Leader” มากขึ้นเท่านั้น ขันติธรรมซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญในสังคมประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในสังคมที่ปราศจากขันติต่อการแตะต้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ขัดกับคุณค่า “มนุษยนิยม” ของนานาอารยะชน, ลักษณะกึ่ง “เทวสถานะ” ดังที่เป็นอยู่จริงเห็นประจักษ์ชัดแจ้งได้จากความเชื่อเกี่ยวกับคุณงามความดีอันบริสุทธิ์ไร้ข้อด่างพร้อย (ซึ่งลดหลั่นกันไปไม่เท่ากัน และซึ่งสะท้อนว่าไม่ใช่ “เทวนิยม” แบบโบราณที่สามารถใช้พระเดชโดยไม่จำเป็นต้องใช้พระคุณ) พิธีกรรมทั้งแบบรัฐพิธีและลัทธิพิธี แบบแผนอากัปกิริยา กฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมู่ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กิจกรรมเทิดไท้ ประเพณียอพระเกียรติ และธรรมเนียมคำราชาศัพท์ ราชาศัพท์: ศัพท์ศักดินาแห่งลัทธิเทวราชา “ความสำคัญของราชาศัพท์ 1. ราชาศัพท์เป็นระเบียบการใช้คำพูดของไทยให้สุภาพตามชั้นของบุคคล 2. ราชาศัพท์บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมอันดีของชาติไทย 3. การเรียนรู้ราชาศัพท์ถึงขั้นสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ บ่งบอกถึงระดับการศึกษาของผู้ใช้ 4. การพูดราชาศัพท์ได้ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากแสดงถึงการรักชาติแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอีกด้วย” คติความเชื่อทั่วไปเกี่ยวกับราชาศัพท์ “การใช้ “ราชาศัพท์” นี้ ไม่ใช่ใช้เมื่อกราบบังคมทูลหรือกราบทูลเฉพาะพระองค์ท่านเท่านั้น แม้จะเป็นการกล่าวถึงหรือกล่าวลับหลังก็ต้องใช้ราชาศัพท์ อย่าคิดว่าเป็นการพูดกันเองหรือประสงค์จะพูดเร็ว จึงใช้คำธรรมดาแทนใช้ราชาศัพท์ ซึ่งจะเป็นการไม่ถวายความเคารพไป” จำนงค์ ทองประเสริฐ, 2528 “ความจริงราชาศัพท์เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ก็เป็นของที่ยังตัดไม่ขาดในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์...ในที่นี้ก็จะต้องขอวางหลักไว้ว่า ราชาศัพท์นั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นเอง” คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2495 วันเวลาสมัยประถมเป็นอดีตอันแสนสุขที่ข้าพเจ้าหวนหาอาลัยอยู่เสมอ นอกจากต้องเรียนคัดลายมือด้วยดินสอบ้างปากกาหมึกซึมบ้างเพื่อเอาดีในวิชาชีพเสมียน, ฝึกทักษะเย็บปักถักร้อยเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และหัดคลานเข่าไปหาคุณครูตามประเพณีศักดินาในโรงเรียนแล้ว ข้าพเจ้ายังได้สนุกสนานเพลิดเพลินกับการท่องจำคำราชาศัพท์เพื่อการสอบเลื่อนชั้นแต่ไม่เลื่อนสถานะอีกด้วย ในบรรดาหมวดหมู่วิชาภาษาไทยทั้งหมด ข้าพเจ้าชอบหมวดคำราชาศัพท์ที่สุด เพราะเต็มไปด้วยภาษาแปลกใหม่ที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบไม่เคยเห็นและไม่เคยใช้ในชีวิตมาก่อน อย่างไรก็ดีคำศัพท์เกี่ยวกับอากัปกิริยาพื้นๆ อย่างเสด็จ เสวย ตรัส ทูล จำพวกนั้นไม่มีอะไรดึงดูดใจนัก อาณาจักรที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดกลับคือหมวดอวัยวะ ศัพท์แสงอันวิจิตรพิสดารและยากแก่การจดจำทำให้สมัยนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เป็น “เจ้า” จะต้องมีอวัยวะชนิดวิเศษผิดแผกแตกต่างจากคนธรรมดาเป็นแน่แท้ หู ตา คอ จมูก ตับ ไต ไส้ ปอด ไหปลาร้า รักแร้ ไม่มีทางจะเป็นอวัยวะชนิดเดียวกันกับพระกรรณ พระเนตร พระศอ พระนาสิก พระยกนะ พระวักกะ พระอันตะ พระปัปผาสะ พระรากขวัญ พระกัจฉะเป็นอันขาด ตับก็คือตับ, just ตับ, แต่พระยกนะคือตับศักดิ์สิทธิ์ เมื่อชันสูตรในเชิงเทวชีววิทยา “ตับ” จึงเป็นอวัยวะชนิดเดียวกันกับ “liver” แต่คนละชนิดกับ “พระยกนะ” เหมือนบทสวดมนต์ที่เราถูกสอนให้ท่องจำอย่างไม่ประสีประสา เป็นเวลานานกว่าที่ข้าพเจ้าจะเข้าใจสำนวนที่ได้ยินบ่อยในโทรทัศน์จนไม่เคยเฉลียวใจว่ามันจะใช้การอุปมาอุปไมยที่น่าตื่นตะลึงอย่างเหลือเชื่อ ตัวอย่างเช่นวลี “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” นั้นเมื่อถอดรหัสก็จะได้ความว่า “ขอให้อำนาจบารมีละอองฝุ่นใต้ฝ่าเท้า (ของผู้ที่พูดด้วย) ปกป้องคุ้มครองหัวและกระหม่อม (ของผู้พูด)” ด้วยสมรรถภาพอันจำกัดของมนุษย์ ถึงจะเข้าใจโครงสร้างประโยคแล้วแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนึกภาพตามได้ง่ายๆ เลย ข้าพเจ้าคิดว่าการใช้เทคนิคทางด้าน graphic หรือ animation น่าจะช่วยได้เยอะทีเดียว ต่อเรื่องการพูดกับอวัยวะ ไม่ใช่การพูดระหว่างคนกับคนด้วยกัน คึกฤทธิ์, รอยัลลิสต์คนสำคัญในอดีตผู้ทำให้รอยัลลิสต์รุ่นใหม่ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญสมัยนี้ดูจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่เชาว์ปัญญาและไหวพริบปฏิภาณถูกทำลายจนเสียหายไปมาก, เปรียบเปรยได้กระจ่างแจ้งแก่กระหม่อมดียิ่งว่า “ธรรมดาคนเราเมื่ออยู่ใกล้อะไรก็ต้องติดต่อกับสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ฉะนั้นเมื่อเราอยู่ใต้เท้าของท่าน เราจะไปพูดกับอวัยวะส่วนอื่นของท่านที่อยู่สูงขึ้นไปกว่าฝ่าเท้าได้หรือ? เราก็ได้แต่พูดกับ “ใต้เท้า” ของท่านที่กดตัวเราไว้นั่นเอง” แต่เนื่องจากการไขข้อข้องใจนี้เป็นการตอบผู้อ่านที่ถามเรื่องคำสรรพนาม “ใต้เท้า” มิใช่ “ฝ่าบาท” หรือ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” คึกฤทธิ์จึงเหน็บ (ใครก็ไม่รู้) ต่อไปราวกับไม่ได้ฉุกใจไปถึงราชาศัพท์ว่า “แต่บังเอิญหนังเท้าของคนนั้น ธรรมชาติมิได้สร้างมาให้มีโสตประสาท คือมิได้สร้างมาให้ใช้ฟังเสียง เราจะพูดกับ “ใต้เท้า” ของท่านสักเท่าไรท่านจึงไม่ค่อยได้ยิน เพราะเท้ากับหูมันไกลกันนัก...” จะส่งสารไปถึงใครก็ช่างคุณชาย แต่คนชั้นผู้น้อยอย่างเราก็เก็บเกร็ดความรู้มาประดับตัวว่า เมื่อต้องวิสาสะกับคนชั้นสูงหรือคนมีอำนาจบารมี คนสามัญชั้นต่ำต้องพูดกับฝ่าเท้าบ้าง ฝุ่นใต้ฝ่าเท้าบ้าง ไม่สามารถจะอาจเอื้อมเผยอตัวไปพูดกับตัว หัว หรือใบหน้าของคนที่มีสถานภาพสูงกว่าแบบเสมอกันหรือแม้แต่ใกล้กันได้ แน่นอนว่าหลักเกณฑ์ในการใช้ราชาศัพท์ยังมีความสลับซับซ้อนต่อไปอีกมากเฉกเช่นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ทำหน้าที่เสกสรรปั้นแต่งความมหัศจรรย์มลังเมลืองแก่เทพยดา ตามอรรถาธิบายอย่างเป็นทางการ ราชาศัพท์หมายถึง “ระเบียบการใช้คำพูดของไทยให้สุภาพตามชั้นของบุคคล” โดยหลักเกณฑ์ในการใช้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่พูดด้วยเป็นสำคัญ อันสรุปได้ว่า ราชาศัพท์ใช้กับบุคคลที่มีฐานันดร-อิสริยยศสูงกว่าผู้พูด คำราชาศัพท์มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะศัพท์ที่ใช้กับราชาเท่านั้น แต่หมายถึงแบบแผนการใช้ภาษาสุภาพระดับต่างๆ ตามระดับชั้นของบุคคล แต่ถึงกระนั้น เมื่อพูดถึงราชาศัพท์ ก็เป็นที่เข้าใจทั่วกันว่าหมายเฉพาะถึงศัพท์ที่ใช้กับเจ้า ราชาศัพท์ปรากฏดกดื่นที่สุดในบทกวีเทิดพระเกียรติ, ข่าวในราชสำนัก, การบรรยายพระราชพิธี, ภาษาราชการ,​ ข้อเขียนทั่วไป-วิชาการ, ถ้อยคำแสดงความจงรักภักดีผ่านมัลติมีเดีย ฯลฯ ตำราทั่วไปอธิบายที่มาของคำราชาศัพท์ว่ามีขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติบุคคลในสถาบันกษัตริย์ให้สูงกว่าคนทั่วไป ตำรามักอ้างอย่างสบายอกสบายใจว่าภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นภาษาในคัมภีร์ศาสนา จึงเป็นภาษาสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองที่จะหยิบยืมมาใช้เป็นราชาศัพท์ แต่ตำรามักอึดอัดคับข้องในการอธิบายว่าทำไมราชาศัพท์ไทยจึงใช้ภาษาเขมร และหลบหลีกเฉไฉให้คำอธิบายที่ไม่ได้อธิบายอะไรเลยทำนองว่า “เป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวไทยในฐานะทรงเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน” มรดกทางศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะในราชสำนักเต็มไปด้วยร่องรอยที่มาจากวัฒนธรรมเขมร (ซึ่งรับวัฒนธรรมอินเดียอย่างพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายาน คติเทวราช-สมมติเทพ) ไม่ว่าจะตัวอักษร ตัวเลข คำศัพท์ ระบบความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม เครื่องนุ่งห่ม ดนตรี นาฏศิลป์ แต่วัฒธรรมไทยในยุคหลังและร่วมสมัยก็ส่งอิทธิพลต่อประเทศกัมพูชาหลายด้านด้วยเช่นกัน การรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมกันไปมาตามเงื่อนไขทางสังคมการเมืองของแต่ละยุคสมัยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เรื่องที่โคตรแปลกกลับคือการรับแล้วไม่ยอมรับว่ารับ แถมกลับยักยอกเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองคนเดียว นอกจากคำบาลี-สันสกฤตแล้ว ศัพท์จำนวนมากที่ประกอบกันขึ้นเป็น “ราชาศัพท์” คือ คำเขมรหรือขอม ผู้สันทัดกรณีให้ทัศนะว่า กษัตริย์และชนชั้นสูงในราชสำนักในรัฐทวาราวดี-ละโว้-อโยธยาก่อนสมัยอยุธยาใช้ภาษาขอมหรือเขมรเป็นภาษาราชสำนัก ในขณะที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหลากหลายเผ่าพันธุ์อาจพูดไทย ลาว มอญ เขมร ชวา มลายู ฯลฯ ภาษาเขมรจึงถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักและในวรรณคดีพิธีกรรมนับแต่บัดนั้น ครั้นเมื่อกลุ่มชนชั้นนำใหม่ซึ่งพูดภาษาไทยในสมัยอยุธยาเข้ามามีอำนาจและอิทธิพลแทนที่ชนชั้นนำเก่าที่พูดเขมร ภาษาไทยก็กลายเป็นภาษากลางในการสื่อสารทั่วไปทั้งในและนอกราชสำนัก โดยที่ภาษาเขมรที่เคยใช้ในราชสำนักก็มิได้ถูกยกเลิกไป แต่กลับถูกยกเทิดเป็น “ราชาศัพท์” หรือภาษาพิเศษสำหรับใช้กับพระราชาและเหล่าเจ้านายชั้นสูง ต่อมาบรรดาปราชญ์ราชสำนักสมัยหลังก็พัฒนาศัพท์แสงและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับราชาศัพท์ให้ทวีความซับซ้อนขึ้น เป็นกลอุบายสร้างภาษา “เทพ” เพื่อเนรมิตความขรึมขลังมหัศจรรย์น่ายำเกรงให้ท่วมท้นล้นพ้น และเพื่อที่พวกไพร่ทาสจะได้ประหวั่นพรั่นพรึงไปตลอดกาล (ข้อโต้แย้งเรื่องเขมร กับขอม อาจยังไม่ยุติ แต่ในชั้นนี้คือการยืนยันข้อเท็จจริงพื้นฐานเพียงว่า “คำราชาศัพท์ไม่ใช่ภาษาไทย” - คำไทยซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาคำโดดคือ “กู-มึง” ไม่ใช่ “กระหม่อม-ฝ่าบาท” เมื่อรับคติวัฒนธรรมศาสนาจากภายนอกเพื่อเทิดทูนสถานะชนชั้นปกครองให้ทะลุถึงยอดเขาพระสุเมรุ-สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คำพื้นเมืองแต่เดิมจึงกลายเป็นคำไม่สุภาพไป) ภาษาเขมรซึ่งเป็นภาษาพูดของกษัตริย์และชนชั้นสูงในราชสำนักก่อนสมัยอยุธยา กลายมาเป็นภาษาที่กษัตริย์และชนชั้นสูงในราชสำนักสมัยต่อมาไม่ได้พูดในชีวิตประจำวัน แต่กลับเป็นภาษาที่คนธรรมดาต้องฝึกฝนศึกษาวิธีใช้เมื่อจะพูด/เขียนถึงเจ้า พูดอย่างไพร่ๆ แล้ว เนื่องจากเจ้ากับไพร่ไม่ใช่คนเหมือนกัน เจ้าจะพูดกับไพร่ด้วยภาษาปกติธรรมดา (“สบายดีไหม?”) แต่ไพร่ต้องพูดกับเจ้าโดยเฉพาะกษัตริย์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ด้วยภาษาพิเศษอันวิจิตรพิสดาร (“ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้ามีความสุขสบายดีพระพุทธเจ้าข้าขอรับ”) ส่วนการเรียนรู้วิธีที่จะ “เพ็ดทูล” แบบชาววังที่คนนอกวังไม่มีทางสำเหนียก ก็ย่อมจำกัดอยู่ในแวดวงราชสำนักอยู่นั่นเอง นอกจากนี้เจ้าอาจใช้ราชาศัพท์ไม่คล่อง หรือรู้อย่างจำกัด เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ และดังนั้นจึงอาจฟังไม่เข้าใจ หากพวก “เกินกว่าเจ้า” ระริกระรี้ใช้ราชาศัพท์อย่างวิจิตรพิสดารด้วย จะว่าไป, กฎพื้นฐานที่ใครก็อาจสังเกตได้ก็คือ ภาษาศักดิ์สิทธิ์มักต้องเป็นภาษาต่างด้าว ไม่ใช่ภาษาพื้นเมืองที่คนพื้นเมืองผู้อยู่ใต้การปกครองใช้กันทั่วไป เพื่อจำกัดผู้รู้ จำกัดผู้ใช้ จำกัดการเข้าถึง เพื่อเสกสร้างความวิเศษสูงส่งอันผิดแผกจากธรรมดา ความศักดิ์สิทธิ์ต้องลี้ลับและแยกขาดออกจากความสาธารณ์ อาจเรียบเรียงเรื่องราวให้รวบรัดอีกลีลาได้ว่า ในอดีต ภาษาเขมรที่ต่อมาเรียกว่า “ราชาศัพท์” เคยเป็นภาษาพูดปกติของเจ้า แต่ในปัจจุบัน “ราชาศัพท์” กลายเป็นภาษาที่เจ้าไม่ได้พูด แต่พวกไม่ใช่เจ้าต้องใช้พูดกับเจ้า อนึ่ง เจ้าต่ำศักดิ์กว่าต้องใช้ราชาศัพท์กับเจ้าสูงศักดิ์กว่าด้วยศัพท์แสงตามระดับของฐานันดรที่บัญญัติไว้เช่นกัน--แต่เราจะละไว้ ไม่กล่าวถึงกรณีเจ้าต่างชั้นหรือเจ้าเสมอกันเหล่านี้อีก น่าคิดน่าขันพอประมาณที่ในอดีต “คำเขมร” เคยเป็นภาษาพูดแบบ native speaking ของกษัตริย์และชนชั้นนำในราชสำนัก แต่นับจากสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ กระทั่งทุกวันนี้ “คำเขมร-บาลี-สันสกฤต” กลายเป็น “ศัพท์เฉพาะ” ที่พวก “อเจ้า” ต้องใช้กับ “เจ้า” โดยที่ “อ” เป็นสัญญะแบบ paradox ที่หมายถึง “ไม่ใช่” และ “เอา” ในเวลาเดียวกัน “อเจ้า” (ไม่ใช่เจ้า + เอาเจ้า) หมายถึงบุคคลผู้ไม่ใช่เจ้าแต่ทว่ามีอัตลักษณ์ยึดโยงกับระบอบเจ้าอย่างแรงกล้า หากถูกสั่นคลอนหรือถูกพรากจากการโอบรัดนี้ก็จะรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยและอาจกระทั่งความเป็นคน “อเจ้า” คือผู้ที่ไม่สามารถมีความเป็น “ปัจเจกชน” ได้โดยปราศจากสถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจอันยิ่งใหญ่ ความเป็นตัวตนของ “อเจ้า” จึงเกาะเกี่ยวอย่างแน่นแฟ้นอยู่กับ “เจ้า” ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามหรือสิ่งที่เขามิได้เป็น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การดำรงอยู่ของ “เจ้า” เป็นสิ่งนิยามตัวตนของ “อเจ้า” และการที่ความเป็น “เจ้า” ดำรงอยู่ได้ก็เพราะการดำรงอยู่ของพวก “อเจ้า” นั่นเอง ในครรลองคล้ายกับความเป็น “fundamentalism” ที่บูชาลัทธิศาสนาและศาสดาด้วยท่าทียึดมั่นต่อคุณลักษณะอันล่วงละเมิดมิได้และต่อต้านความเป็นสมัยใหม่อย่างสุดขั้ว (สโลแกนล่าสุด: “คนที่ไม่จงรักภักดี ต้องตายก่อนเวลาที่กำหนดไว้” “ล้าหลัง คลั่งเจ้า ดีกว่า ก้าวหน้า เนรคุณ”/ คติธรรมประจำยุคสมัย: ฆ่าคนที่ไม่จงรักภักดีไม่บาป ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่อาชญากรรม) ราชาศัพท์คือพิธีกรรมแห่งถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์แห่งลัทธินิยมเจ้า ด้วยจุดมุ่งหมายอันชัดแจ้งจนแทบไม่ต้องขยายความ ชนชั้นปกครองและบริวารบังคับใช้ราชาศัพท์เพื่อ “ถ่าง-ตรึง” ลำดับชั้น และ “แยก-ยก” หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ออกจากชนชั้นใต้ปกครอง ดังที่ชาวพุทธทราบกันดีว่า “พระพุทธเจ้าเสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่เมื่อพระองค์ไม่ทรงพบทางพ้นทุกข์ จึงทรงหันมาบำรุงพระวรกายตามปกติ และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตรัสรู้ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา” ขนบราชาศัพท์นี้ลุกลามไปถึงวงการพุทธศาสนาด้วย พระพุทธเจ้าออกผนวช ละทางโลกย์ ขบถต่อระบบวรรณะฮินดู ทิ้งฐานันดรศักดิ์ของ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ในระบอบกษัตริย์แล้ว แต่พุทธแบบไทยกระแสหลักยังพอกหนาด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานและความพะรุงพะรังของพัดยศ-สมณศักดิ์-ฐานานุกรม-ราชทินนาม จนดูจะถวิลหาความเป็น “เจ้าชาย” มากกว่าความเป็น “นักบวช” ของ Buddha เสียอีก ยิ่งตรึกตรองก็ยิ่งตลก ทั้งพุทธเจ้าขุนมูลนายและพุทธพาณิชย์ต่างพากันเข้าหาพุทธศาสนาด้วยสำนึกเสน่หาอย่างลึกซึ้งในคุณสมบัติของความเป็น “เจ้า” ในระบอบกษัตริย์ ตั้งแต่ฐานันดร ทรัพย์สฤงคาร พิธีกรรม ไปจนถึงเดชานุภาพ จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก แต่เป็นเครื่องขวางการบรรลุธรรมอันเนื่องมาจากภาษาที่เต็มไปด้วยการยึดติดในมายาและมิจฉาทิฐิแห่งลัทธิเทวราช คิดแบบเซนแล้ว คงต้องปัดกวาดผงฝุ่นราชาศัพท์ออกจากกระจกเงาแห่งภาษาธรรมและภาษาพรรณนาตถาคตให้หมดสิ้น หนทางแห่งการบรรลุ “พุทธะ” จึงจะปรากฏ ตราบใดที่เหล่าพระเถระซึ่งไม่เพียงเสพติดลาภยศสรรเสริญและอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์หนักกว่าฆราวาส ซ้ำร้ายยังหล่อเลี้ยงตัวตนด้วยญาณวิทยาและจิตใจอันคับแคบ พวกเขาก็จะตกเป็นทาสวัฒนธรรมศักดินา-ชาตินิยมไทยภายใต้ผ้าเหลืองแห่งความหลอกลวงตลอดไป “ถ้าคนไม่นิยมจะรับคำยกยอนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง” ในช่วงปี 2484 กรมดำรงฯ ณ “บ้านซินนามอน ปีนัง” และเจ้าฟ้านริศฯ ณ “ตำหนักปลายเนิน คลองเตย” เขียนจดหมายโต้ตอบกันเรื่อง “ราชาศัพท์” ตามความที่คัดมาดังนี้ “เห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์วันที่ 19 กันยายน ลือว่าจะเลิกใช้ราชาศัพท์ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงวินิจฉัยมูลของราชาศัพท์ ซึ่งได้เคยคิดมาแต่ก่อน จึงเอามาทูลบรรเลงในจดหมายฉบับนี้ ที่เรียกว่า “ราชาศัพท์” หมายความว่า “คำพูดของเจ้า” หรือ “คำพูดแก่เจ้า” มิใช่แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่ประหลาดอยู่ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ - ก. เจ้าพูดก็ไม่ใช่ราชาศัพท์สำหรับพระองค์เอง เช่นจะว่า “ฉันเสวย” “ฉันบรรทม” หรือ “พระขนงของฉัน” หรือ “พระเขนยของฉัน” หามีไม่ ย่อมใช้ศัพท์ภาษาไทยที่พูดกันเป็นสามัญว่า “ฉันกิน ฉันนอน คิ้วของฉัน และหมอนของฉัน” แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสเช่นนั้น ข. คำราชาศัพท์ที่เป็นภาษาเขมรเช่น “ขนง เขนย” พวกเขมรแม้มาพูดในเมืองไทยเขาก็ใช้สำหรับคนสามัญ ไม่ได้เรียกว่า ขนง เขนย คิ้ว และหมอนของเจ้า เค้ามูลดูเป็น 2 ภาษาต่างกัน คือ ภาษาไทยภาษา 1 ภาษาราชาศัพท์อันเป็นคำเอามาจากภาษาเขมรกับภาษามคธและสันสกฤตโดยมากภาษา 1 ลักษณะที่ไทยใช้ราชาศัพท์ก็เป็นคำผู้ที่มิใช่ใช้เรียกกิริยาหรือวัตถุอันเป็นของเจ้า หรือว่าโดยย่อ ราชาศัพท์ดูเป็นคำผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ หรือถ้าว่าอีกอย่าง 1 ดูเป็นเอาภาษาของคนจำพวกอื่นที่ใช้สำหรับไทยที่มาเป็นเจ้านายผู้ปกครองของตน มีเค้าจะสังเกตในคำจารึกและหนังสือเก่า เห็นได้ว่าคำราชาศัพท์ใช้ในกรุงศรีอยุธยาดกกว่าที่อื่น ยิ่งเหนือขึ้นไปยิ่งใช้น้อยลงเป็นลำดับ... ...เมื่อแรกตั้งราชาศัพท์ ภาษาที่ใช้กันในพระนครศรีอยุธยายังสำส่อน เลือกเอาศัพท์ที่เข้าใจกันมากมาใช้ และราชาศัพท์ในครั้งแรกจะไม่มีมากมายนัก ต่อมาภายหลังจึงคิดเพิ่มเติมขึ้น ด้วยเกิดคิดเห็นว่าของเจ้าควรจะผิดกับของไพร่ให้หมด ใช่แต่เท่านั้นยังคิดใช้ราชาศัพท์ผิดกันในเจ้าต่างชั้น เช่น คำว่าตาย ใช้ศัพท์ต่างกันตามยศเป็นหลายอย่าง และคิดคำอย่างราชาศัพท์สำหรับผู้มียศแต่มิใช่เจ้าขึ้นอีก...ถ้ารวมความก็ประสงค์จะแสดงว่าสูงศักดิ์ผิดกับผู้อื่นเท่านั้น... ...ราชาศัพท์นั้น ว่าที่จริงก็มีในภาษามนุษย์ทุกประเทศ เช่นคำว่า His Majesty, His Excellency ก็ราชาศัพท์นั่นเอง แต่ของไทยเราเลอะมาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้คิดตำราขึ้น และพูดเพื่อจะยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป จึงเลยเลอะ แต่หม่อมฉันเห็นเป็นใหญ่อยู่ที่ความนิยม ถ้าคนไม่นิยมจะรับคำยกยอนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง เพราะใช้ราชาศัพท์นั้นผู้พูดต้องท่องจำและเลือกคำพูดลำบากมิใช่น้อย” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, วันที่ 29 กันยายน และ 20 ตุลาคม 2484 “...จะเห็นได้ที่คำ “ข้าพระพุทธเจ้า” แต่ก่อนนี้ไม่มีใครเขาใช้แก่เราเลย ทำให้คิดเห็นได้ว่าคำทั้งปวงนั้นค่อยมีค่อยมาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น แล้วจึงเก็บทำขึ้นเป็นตำราราชาศัพท์ แต่ก็เก็บไม่หมด ทั้งคำที่เกิดขึ้นทีหลังก็ไม่ได้อยู่ในตำราราชาศัพท์ และตำราราชาศัพท์ก็ไม่ได้ประสงค์จะทำคำของเจ้าใช้อย่างที่เราเข้าใจกันอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นประสงค์เพียงแต่จะพูดกับเจ้าให้เพราะพริ้งเท่านั้น ...แม้หาคำในตำราราชาศัพท์ไม่ได้ก็ผูกขึ้น เช่น “หลอดพระวาตะ” ฝ่าพระบาทเข้าพระทัยหรือไม่ว่าเป็นอะไร หมายความว่าท่อหายใจ แปลเทียบมาจากคำที่เรียกกันตามสามัญว่า “หลอดลม” แต่เชือนไปเป็นลำไส้ เพราะ “วาตะ” คำเจ้าว่า “ ตด” สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, วันที่ 14 ตุลาคม 2484 พินิจแบบไม่สนเจ้าสนไพร่แล้ว ในยุคก่อนการโหมโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์ “เจ้า” อย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นั้น (ในห้วงขณะที่ฝ่ายเจ้าถูกลิดรอนอำนาจและควบคุมกิจกรรมหลังการปฏิวัติ 2475) ดูจะมีความเป็น “รอยัลลิสต์” น้อยกว่าบรรดาพวก “อเจ้า” ที่ “เป็นเจ้ายิ่งกว่าเจ้า” ในยุคนี้อย่างไม่ติดผงธุลี ในความเห็นของ “เจ้า” อย่างกรมดำรงฯ ราชาศัพท์ที่ “เป็นคำผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่” เพื่อ “ยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป” นั้น เป็นความ “เลอะมาก” (ของพวกสอพลอเจ้า) การดำรงอยู่ของราชาศัพท์ขึ้นอยู่กับความ “นิยม” หากใช้มากก็สร้างความ “ลำบาก” ให้ผู้พูด หากไม่นิยมใช้ ราชาศัพท์ก็ “ละลายลบหมดไปเอง” เจ้าฟ้านริศฯ ช่วยยกตัวอย่างยั่วล้อให้รู้เช่นเห็นชาติพวก “ประจบเจ้า” ว่า “แม้หาคำในตำราราชาศัพท์ไม่ได้ก็ผูกขึ้น เช่น “หลอดพระวาตะ” ฝ่าพระบาทเข้าพระทัยหรือไม่ว่าเป็นอะไร หมายความว่าท่อหายใจ”! ส่วนคึกฤทธิ์ผู้เป็นราชนิกุลเสนอแนวทางก่อนปี 2500 ไว้ว่า “ราชาศัพท์นั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นเอง” ในขณะที่พวก “อเจ้า” อย่างเหล่าราชบัณฑิตกลับออกมาสั่งสอนประชาชนถึงขนาดว่า “การกล่าวถึงหรือกล่าวลับหลังก็ต้องใช้ราชาศัพท์” ด้วยอุดมการณ์เดียวกัน คตินิยมเจ้าร่วมสมัยก็ประดิษฐ์ระบบคุณค่าขึ้นว่าการใช้ราชาศัพท์ “บ่งบอกถึงระดับการศึกษาของผู้ใช้” และแสดงถึง “เอกลักษณ์-วัฒนธรรม” “ความรักชาติ” และ “ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไทย” คงไม่ผิดหากจะชมเชยว่า อาการ “ultra-royalism” ของสังคมไทยเป็นผลงานอันงามหน้าน่าชื่นใจของพวก “อเจ้า” หรือที่กรมดำรงฯ เรียกว่า “บริวารชน” นั่นเอง สำหรับข่าว “ลือว่าจะเลิกใช้ราชาศัพท์” ที่กรมดำรงฯ กล่าวถึงในจดหมายนั้น อ้างถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งเดือนก่อนหน้าฉบับนี้ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ใช้คำว่า “วันเกิด” สำหรับบุคคลทุกคน ด้วยบัดนี้ คำว่า “วันเกิด” ใช้กันอยู่หลายอย่าง คือ ใช้ “วันเกิด” บ้าง “วันชาตะ” บ้าง “วันประสูติ” หรือ “วันพระราชสมภพ” บ้าง ความจริงคำว่า “เกิด” ในที่นี้เป็นแต่เพียงใช้ประกอบกับคำ “วัน” ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องแปรผันตามราชาศัพท์ อนึ่งในภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า Birthday สำหรับคนทุกชั้น แม้สำหรับพระมหากษัตริย์ก็ใช้ว่า King’s Birthday ฉะนั้น แต่นี้ไปให้ใช้คำว่า “วันเกิด” สำหรับบุคคลทุกคนตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เฉพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ให้ใช้ว่า “วันเกิดในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “วันเกิดในสมเด็จพระราชินี” สำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ให้ใช้ว่า “วันเกิดใน...” เช่นเดียวกัน ประกาศมา ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2484 (ลงนาม) พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในชั้นบรรยากาศแบบอาเศียรวาทสดุดีหรือในวัฒนธรรมประจบเจ้าร่วมสมัย คำสั่งของจอมพล ป. ว่า “...ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องแปรผันตามราชาศัพท์...ภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า Birthday สำหรับคนทุกชั้น แม้สำหรับพระมหากษัตริย์ก็ใช้ว่า King’s Birthday...แต่เฉพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...ให้ใช้ว่า “วันเกิดในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”...” ดูแข็งกร้าวและเหี้ยมเกรียมจนอาจทำให้พสกนิกรที่ขวัญอ่อนบังเกิดอาการโรคาพยาธิกำเริบเฉียบพลันจนต้องบริกรรมคาถา “เหิมเกริมหนอ ลบหลู่หนอ จาบจ้วงหนอ” แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในสภาพจิตปกติ การลิดรอนอิทธิฤทธิ์ฝ่ายเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ (และอื่นๆ) โดยข้อใหญ่ใจความแล้วเป็นนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมเสมอภาคแบบสากลธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีอะไรโหดร้ายทารุณแม้แต่ละอองเกสรเมื่อเทียบกับประเพณีการปกครองแบบ “อาญาไม่พ้นเกล้า” ในอดีตกาล สองทศวรรษหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายกษัตริย์นิยม มีทั้งการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลสำคัญของฝ่ายคณะราษฎรและการลิดรอนอิทธิฤทธิ์และอิทธิพลของฝ่ายกษัตริย์นิยม ด้วยการดึงอำนาจทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมมาสู่ความเป็นผู้นำเผด็จอำนาจฟาสซิสม์ของตนเอง แม้นโยบายรัฐนิยม-ชาตินิยมที่มุ่งเปลี่ยนวัฒนธรรม จรรยามารยาท และวิถีชีวิตคนไทยให้ทันสมัยเป็น “ไทยอารยะ” จะทิ้งคราบเขม่าลัทธิชาตินิยมและตำนานความอลหม่าน พิลึกพิลั่น ประดักประเดิก อันเปราะบางต่อการถูกชำแหละและหัวเราะขัน ทั้งโดนข้อหา “ตามก้นฝรั่ง” และ “คลั่งเชื้อชาติไทย” ในเวลาเดียวกัน (เช่น “มาลานำไทย”, ห้ามกินหมาก, ให้เลิกนุ่งโจงกระเบน เลิกเปลือยกายท่อนบน, ให้กล่าว “สวัสดี”, จงแต่งกายตามแบบสากล, ยืนตรงเคารพธงชาติ, เปลี่ยนอักขรวิธีภาษาไทยให้ง่ายขึ้น, เปลี่ยนชื่อเพลงไทยเดิม ฯลฯ) แต่จอมพล ป. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพยายาม “ลดทอน” วัฒนธรรมเจ้าและสัญลักษณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ฝังรากลึกให้เสื่อมคลายลง และชักจูงให้คนไทยรู้จักคุณค่า “สากล” ตามมาตรฐานนานาอารยประเทศ การลดความสำคัญและความซับซ้อนของราชาศัพท์ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ส่งเสริมความเสมอภาค (แต่ต้อง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นะจ๊ะ) เช่นเดียวกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้สรรพนามจากเดิมที่ยึดโยงอย่างเข้มงวดกับสถานภาพบุคคลมาเป็น “ฉัน, ท่าน, เรา” แบบฝรั่ง การพยายาม “พลิก” แบบแผนความสัมพันธ์ที่ผูกมัดอย่างแน่นหนาอยู่กับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงนี้ถือเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในระดับมูลฐานเลยก็ว่าได้ ในขณะเดียวกันประเพณีพิธีกรรมในราชสำนักบางอย่างก็ถูกเพิกเฉยหรือยกเลิกจากรัฐบาลในระบอบใหม่ และความเป็นรัฐชาติก็ได้รับการขับเน้นให้โดดเด่นเหนืออุดมการณ์และบารมีของสถาบันกษัตริย์ แต่หลังจากจอมพล ป. ถูกรัฐประหารโค่นอำนาจจากกลุ่มรอยัลลิสต์ นโยบายสร้างชาติหลายอย่างก็ถูกยกเลิกไป พร้อมๆ กับการฟื้นคืนชีพเพื่อโลดแล่นและวิวัฒน์ในบรรยากาศใหม่ของวัฒนธรรมกษัตริย์นิยมที่ถูกขันชะเนาะจนซบเซาไปชั่วคราว ในวิถีโคจรเดียวกันกับการหมอบคลาน วัฒนธรรมราชาศัพท์ที่ฟื้นตัวจนแข็งแกร่งและอาจจะมีอาถรรพ์ยิ่งกว่าเดิมคือแบบจำลองของสังคมไทยที่จวบจนวันที่แม่ค้ารถเข็นริมถนนนั่งเขี่ยแท็บเล็ต-อัพสเตตัสเฟซบุ๊กเล่นยามว่างก็ยังคงละม้ายคล้ายจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยเทคโนโลยีเคลือบฉาบอันวาววับ มันคือภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบดิจิตอลที่ตอกย้ำคติเดิมๆ ว่าด้วยการจำแนกช่วงชั้นของคนในสังคมตามจักรวาลวิทยาแบบพุทธ-ศักดินา อันประกอบไปด้วยเทวดาที่เหินหาวลอยล่องอยู่บนสรวงสวรรค์ เหล่าชนชั้นปกครองอันได้แก่ กษัตริย์ เครือญาติกษัตริย์ และขุนนางวางท่างามสง่าอยู่ถัดลงมาในเขตพระราชวังภายในกำแพงเมือง ส่วนราษฎรที่วุ่นวายอลเวงอยู่กับกิจกรรมอันหาความสง่างามมิได้อยู่ด้านล่างสุดไม่ห่างไกลจากเหล่าสิงสาราสัตว์ มนต์สะกดแห่งวรรณศิลป์: hegemony without resistance? หากไม่นับ “ทรง” และ “องค์” ซึ่งปรากฏเพียงครั้งสองครั้ง “ประกาศคณะราษฎร” มีการใช้ราชาศัพท์เพียงคำเดียวเท่านั้นคือ “พระเชษฐา” สปิริตแบบ 2475 และที่ควรจะไปไกลกว่านั้นมิใช่แค่เพียง “สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค รัฐธรรมนูญ” แต่รวมถึงการพยายามใช้ภาษาสามัญและลดทอนภาษาวิสามัญด้วย โครงการ “2475” และช่วงเวลาไม่ถึงสองทศวรรษหลังจากนั้น อาจถือเป็นความ “radical” อย่างเกินอภัยจากจุดยืนแบบ “เจ้าเป็นใหญ่” แต่ก็เป็นการ “compromise” อย่างน่าเสียดายยิ่งจากจุดยืนแบบ “ประชาชนเป็นใหญ่” ดุจดั่งพระอาทิตย์ย่อมขึ้นทางทิศตะวันออก ฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมซึ่งเถลิงอำนาจครอบงำวัฒนธรรมไทยฉบับราชการในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาย่อมไม่พลาดโอกาสในการสรรเสริญเยินยอราชาศัพท์ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้แบบแผนของอารยธรรมชั้นสูงที่ถึงพร้อมด้วยสุนทรียศาสตร์และเอกลักษณ์ของภาษาไทยอันควรแก่การธำรงรักษาให้อยู่คู่ชาติไทยตลอดชั่วกาลปาวสาน หาใช่เครื่องมือทางอุดมการณ์การเมือง การแบ่งชนชั้นเพื่อจุดหมายในการปกครอง และการกดขี่ให้สยบยอมไม่ นอกจากขึ้นหิ้งเป็นภาษาราชการทั่วไปแล้วก็ได้เกิดความชินและความเชื่อในหมู่นักอักษรศาสตร์หรือนักวิชาการเชื้อสาย “เจ้า” และ “อเจ้า” ว่า การรู้จักใช้คำราชาศัพท์อย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นแบบอย่างทางวรรณศิลป์อันล้ำเลิศเพริศแพร้วของการเขียนภาษาไทยร้อยแก้วและร้อยกรอง แม้แต่การแปลภาษาต่างประเทศเป็นไทยก็ต้องใช้ขนบภาษาเทวนิยมด้วยมาตรฐานเดียวกัน (แต่เวลาต่างประเทศเขียนถึงราชวงศ์ไทย เขาก็ใช้วัฒนธรรมภาษาที่ไร้เทวสถานะของเขาด้วยเช่นกัน สร้างความชอกช้ำแก่นักอักษรศาสตร์ไทยมิใช่น้อย) “William greets fans ahead of wedding.” สำนักข่าว BBC “เจ้าชายวิลเลียมทรงมีพระปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มารอเข้าเฝ้าก่อนจะถึงพิธีอภิเษกสมรส” สำนักข่าวไทยในภาวะไข้สูง “วิลเลียมทักทายเหล่าแฟนคลับก่อนพิธีแต่งงาน” สำนักข่าวไทยหลังหายไข้ ในทำนองเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม หากศาลพิพากษาไปตามอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่กำกับความคิดจิตใจ อุดมการณ์เดียวกันนี้ก็กำกับกิจกรรมการแปลด้วยเช่นกัน กระนั้นก็ตาม การทะลวงกรงขังแห่งภาษายากแค้นลำเค็ญกว่าวงการกฎหมาย-ตุลาการมากนัก กระทั่งเราเองก็ “คุ้นชิน” มาช้านานจนอดจะซาบซึ้งอย่างหักห้ามใจมิได้ว่า คำราชาศัพท์เมื่อถูกประพรมด้วยทักษะอันเจนจัดในที่อันเหมาะอันควรนั้น เพิ่มสง่าราศี ความขรึมขลัง และความไพเราะสละสลวยให้กับข้อเขียน อีกทั้งเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นผู้มีวัฒนธรรมการศึกษาอันเอกอุของผู้ประพันธ์ด้วย ในทางตรงกันข้าม การงดเว้นราชาศัพท์ในที่ที่พึงใช้ตามระบอบสุนทรียะทางภาษาที่ลงหลักปักฐานในจิตใต้สำนึกย่อมส่งผลร้ายที่คาดเดาได้ ภาษาธรรมดาที่เข้ามาแทนที่มีแนวโน้มจะถูกวิจารณ์และพิพากษาในทันทีทันใด ไล่ตามระดับการระวางโทษจากเบาไปหนักได้ตั้งแต่ไม่สละสลวย ไม่สวยงาม ไม่ไพเราะ ไม่รื่นหู กระโดกกระเดก เฉิ่ม งุ่มง่าม ชาวบ้าน ไม่เป็นผู้ดี ไม่มีการศึกษา ไม่มีวัฒนธรรม ผิดไวยากรณ์ ผิดธรรมเนียมแบบแผนอันดี ก้าวร้าว เหิมเกริม บังอาจ เนรคุณ หมิ่นเบื้องสูง ไปจนถึงล้มเจ้า (ยกเว้นชื่อเฉพาะหรือคอนเซ็ปท์ที่ยังไม่มี-หรือไม่สามารถมี-คำธรรมดาหรือคำบัญญัติใหม่จะแทนที่ได้ การปฏิรูปภาษาจึงยังต้องคงคำสวยงามทั้งหลายไว้เป็นมรดกไปพลางๆ อาทิเช่น “พระราชอำนาจ” “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” “พยุหยาตราชลมารค” เป็นต้น หากอยู่ในสังคมที่ยึดมั่นคุณค่าเสรีประชาธิปไตย ชื่อเฉพาะและภาษาคอนเซ็ปท์ในระบอบกษัตริย์ที่มีอยู่มากมายเหล่านี้ก็ย่อมดำรงอยู่ได้เป็นปกติธรรมดาไม่มีปัญหาแต่ประการใด ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับภาษาอาเศียรวาทสดุดีที่ไม่จำเป็นในสังคมสมัยใหม่อย่าง “พระเนตร” “ฉลองพระองค์” “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” “ประสูติ” “ตรัส” ฯลฯ) หลุมพรางที่ล่อลวงได้อย่างร้ายกาจ เย้ายวน และยืนยาวที่สุดคือหลุมพรางที่สามารถ “มอบ” และ “ริบ” เกียรติภูมิของเราได้อย่างเบ็ดเสร็จประหนึ่งไม่เหลือทางเลือกอื่น ภาษาล้อมครอบความรู้สึกนึกคิดและตอกตรึงแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม อำนาจในการควบคุมชี้นำที่แยบคายของภาษาทำให้ผู้ใช้ภาษายินยอมและยินดีที่จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมชี้นำนั้น วัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในระดับจิตใต้สำนึกจะอยู่ดีมีพลังต่อไปได้ก็ด้วยรหัสทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ว่าด้วย “อารยธรรมไทย” “ความงามในภาษาไทย” “เอกลักษณ์ของภาษาไทย” ฯลฯ สภาวะนี้จะคืออันใดหากมิใช่ “the enchantment of feudal (language) splendor” - มนต์สะกดในความโอ่อ่าตระการตาของ (ภาษา) ศักดินา ในบรรดาคำราชาศัพท์ทั้งมวล “ทรง” กับ “พระ” (รวมทั้ง “ทรงพระ”) เป็นคำที่น่าสนใจเป็นพิเศษ “ทรง/พระ” ในฐานะ “magical prefix” ที่ “เปลี่ยน” (transform) คำธรรมดาหรือคำราษฎร์ให้กลายเป็นคำราชาศัพท์หรือคำหลวง เป็นคำที่ปราศจากความหมายในตัวเอง หน้าที่เพียงประการเดียวของ “ทรง/พระ” (เปลี่ยน “profane” (สาธารณ์) เป็น “sacred” (ศักดิ์สิทธิ์) เช่น “ขี่ม้า/ทรงม้า”, “เก้าอี้/พระเก้าอี้”) คือ “เทิดพระเกียรติ” ไม่ว่าจะตั้งใจ จำใจ หรือแม้แต่ไม่ได้คิดอะไร การใช้คำว่า “ทรง/พระ” จึงคือการร่วมสืบทอดและยืนยันสิทธิธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ทางภาษา ภายในกรอบของการถูกครอบงำโดยสมยอม หรือ “domination by consent” น่าคิดพินิจนึกด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว โทษทัณฑ์ของการตกหล่นคำว่า “ทรง/พระ” อาจแค่ถูกองครักษ์พิทักษ์ภาษาไทยขมวดคิ้วติเตียนหรือจีบปากกระแนะกระแหน แต่มิใช่ภยันตรายที่ร้ายแรงไปกว่านั้น การที่ราชาศัพท์ถูกยกยอให้เป็นขนบอันวิจิตรทางอักษรศาสตร์ราวกับมิได้สำเหนียกหรือสมรู้ร่วมคิดกับอุดมการณ์ศิโรราบต่อระบอบเก่า และมีสถานะเป็น “hegemonic language” หรือภาษาที่ยึดครองความเป็นเจ้าเสียจนทำให้การไม่รู้จักหรือไม่ยอมใช้ในโอกาสอันควรกลายเป็นความบกพร่องในเชิงสุนทรียะและในเชิงทักษะการใช้ภาษาทางการ-วิชาการ กระทั่งการมีท่าทีวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ เราก็ยังต้องปฏิบัติผ่านความช่ำชองในการใช้ราชาศัพท์เพื่อสร้างเกราะกันภัย ไม่ว่าจะรู้ตัวและเต็มใจหรือไม่ ภายใต้ภาวะกระอักกระอ่วน ผะอืดผะอม กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเป็น irony ในตัวเอง การวิพากษ์มรดกคติเทวราชาของสถาบันกษัตริย์จึงยังคงต้องกระทำ “ด้วย” และ/หรือ “โดยมิอาจเลี่ยง” มรดกภาษาของคตินั้น อย่างไรก็ตาม การเลี่ยงที่จะไม่ใช้ย่อมทำไม่ได้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากคำราชาศัพท์จำนวนไม่น้อยได้แทรกซึมเข้าไปในหลายปริมณฑลจนกลายเป็น “ขนบ” ที่บรรจุนัยยะทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งความนิยมใช้ตามความเคยชิน โดยไม่จำเป็นว่าการใช้นั้นต้องอยู่ในบริบทของการยอพระเกียรติเสมอไป หากอยู่ในวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มีรากฐานแข็งแกร่ง คำราชาศัพท์ที่เป็นศัพท์เฉพาะในแวดวงต่างๆ ย่อมถูกใช้ในฐานะ “มโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม” หรือแม้แต่เป็นสำนวนลีลาภาษาเพื่อการสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน มิได้ใช้เพื่อจรรโลงวัฒนธรรมเทิดไท้อย่างคำศัพท์ในหมวดคำนาม หมวดคำกิริยา หมวดร่างกาย แน่ล่ะว่า จากอีกมุมมองหนึ่ง มันตลกไร้สาระเกินไปที่จะใส่อัญประกาศกำกับทุกถ้อยกระทงความ การใช้ราชาศัพท์แบบ “ขืนขนบ” และ “บ่อนเซาะ” จึงอาจเหลือรูปแบบเดียวคือใช้ด้วยเจตนาท่าทีที่อยู่ในจักรวาลทัศน์แห่ง irony (วิหารแห่ง humor, satire, sarcasm) ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่จริงแท้ หาใช่เป็นแต่เพียงในนาม ในบทบัญญัติทางกฎหมาย หรือโดยปล่อยให้ความเป็นไทยมาปู้ยี่ปู้ยำแล้วสักแต่แก้ตัวอย่างไม่มียางอายว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ จำต้องแตกหัก, แม้ไม่ต้องโดยเด็ดขาดแต่ก็ต้องโดยมีนัยสำคัญ, กับวัฒนธรรมราชาศัพท์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันเกรียงไกรของความไม่เสมอภาคที่มิใช่เพียงระหว่าง “คน” กับ “คน” ที่ “ไม่เท่ากัน” เท่านั้น โดยจิตวิญญาณแล้ว “ราชาศัพท์” คือโองการว่าด้วยการดำรงอยู่คนละภพภูมิระหว่าง “คน” กับ “เทวดา” ทุกสังคมไม่ว่าจะเสรีหรือไม่เสรีล้วนมี “VIP” หรือ “Very Important Person” แต่พร้อมไปกับและเป็นองค์ประกอบของการสร้าง “cult of personality” ให้กับบุคคลในชนชั้นจารีต ราชาศัพท์คือการสร้าง “VSP” หรือ “Very Sacred Person” ที่ไม่สมเหตุสมผล ประเทศไทยอาจผยองลำพองใจว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องภาษาของเจ้าอาณานิคม “แบบ” ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมทางตรงเป็นเวลานาน ในบ้านเมืองเหล่านั้นคนพื้นเมืองถูกบังคับให้เรียนภาษาเจ้าอาณานิคมในฐานะภาษาที่มีอารยธรรมสูงส่งกว่าเพื่อการซึมซับรับความรู้และค่านิยมของเจ้าอาณานิคม ซึ่งในบางกรณีอาจดำเนินไปพร้อมกับการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาพื้นเมืองของตนเอง ทว่าในหลายแห่งหลังการต่อสู้ปลดแอกจนได้รับเอกราช มรดกภาษาของเจ้าอาณานิคมที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการรุกรานกดขี่ก็ถูกพลิกกลับปรับกลืนให้เป็นภาษาราชการแห่งการศึกษา-สื่อสารในโลกสากล (ยกตัวอย่างเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และบางประเทศในแอฟริกา) ถึงที่สุดแล้วประเทศอดีตอาณานิคมอาจไม่ได้จำเป็นต้องต่อต้านและกำจัดภาษาเจ้าอาณานิคมให้สิ้นซากด้วยปมแอกทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมคับแคบ แต่สามารถใช้ประโยชน์ด้วยท่าทีที่ระแวดระวังกับอันตรายของการลบเลือนประวัติศาสตร์ความทรงจำก่อนสมัยอาณานิคมผ่านภาษาเจ้าอาณานิคมที่เข้าครองความคิดจิตใจและถ่ายทอดปลูกฝังคุณค่าและความรู้แบบตะวันตก ความยากลำบากและกระอักกระอ่วนในการเผชิญหน้า สลัดหลุด หรือสร้างสรรค์ใหม่ในสังคมหลังอาณานิคมย่อมมีความหลากหลายแตกต่างกันไป การพยายาม “จัดการ” กับมรดกเจ้าอาณานิคมและสร้างอัตลักษณ์ใหม่อาจกระทำผ่านการรื้อฟื้นศักดิ์ศรีของภาษาพื้นเมือง พร้อมไปกับการจงใจ “ปรับ-ดัดแปลง-เล่น” ภาษาของเจ้าอาณานิคมซึ่งกลายเป็นภาษาราชการและภาษาของคนพื้นเมืองที่มีการศึกษาไปแล้วให้มีกลิ่นอาย ลีลาและวิธีใช้แบบท้องถิ่นที่ผิดแผกไปจากภาษานั้นตาม “มาตรฐาน” ของประเทศแม่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่องสะท้อน ขัดขืน เอาชนะและก้าวข้ามประสบการณ์และบาดแผลของการตกเป็นอาณานิคม น่าสนใจว่าประสบการณ์ของไทย ประเทศกึ่งศักดินาที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการ อาจเทียบเคียงได้กับประสบการณ์แบบ post-colonial ในแง่มุมที่กลับหัวกลับหาง ในระบบการศึกษาไทยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แม้จะไม่ใช่ภาษาที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันปกติ แต่คนพื้นเมืองที่มีการศึกษาก็ต้องรู้จักเรียนรู้และยอมรับ โดยเฉพาะในความหมายของการ “internalize” หรือรับภาษาศักดิ์สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของเจ้าศักดินาให้เข้ามาอยู่ในตัวจนเป็นธรรมชาติ เพื่อว่าเมื่อถึงคราวจำเป็นก็สามารถแสดงถึงทักษะในการใช้ภาษานั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม หลังการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลังการหมดอำนาจของกลุ่มการเมืองฝ่ายคณะราษฎร การที่ราชาศัพท์ถูกสักการะเป็นภาษาชั้นสูงสุด รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีการศึกษาและวัฒนธรรมนั้น (ในทางกลับกัน การไม่กระดิกราชาศัพท์เป็นสัญลักษณ์ของคนด้อยการศึกษาหรือมีการศึกษาแต่ไม่มีวัฒนธรรม) มิใช่ด้วยการตระหนักว่ามรดกที่เคยเป็น “แอก” มีคุณค่าทางสากลล้นเหลือพอที่จะใช้ประโยชน์ต่อไปเพื่อความก้าวหน้าของพลเมือง แต่กลับด้วยความปีติในการเสกสรรปั้นแต่งมรดกแห่งการกดขี่ให้กลายเป็นมรดกแห่งความภูมิใจในความเป็นไทยชั้นสูง โดยที่ความจริงแล้วคือการสืบสานมรดกของระบอบเก่าต่อไปภายใต้การนิยามความหมายใหม่ที่ฝังกลบความจริงดังกล่าว ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึงว่า “แอก” นั้นหาได้มีคุณประโยชน์แต่ประการใดต่อพัฒนาการของคนพื้นเมือง แม้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ปกคลุมทุกภาคส่วน มันก็ออกจะน่าประหลาดใจมิใช่หรือที่ภาษาแห่งเจ้าศักดินากลับได้รับการยอมรับและภักดีโดยผู้มีการศึกษาอย่างแทบจะปราศจากการขัดขืน หรือเป็นเรื่องของความสุภาพ นอกจากวรรณศิลป์? เหล่าสุภาพชนไม่นิยมภาษาหยาบกระด้างและรังเกียจภาษาหยาบคายแบบชนชั้นล่างและชนชั้นกลางไร้วัฒนธรรม? การอธิบายเรื่องราชาศัพท์ที่แพร่หลายนิยมยกข้อความจากปาฐกถา “กถาเรื่องภาษา” ของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ว่า “...นอกจากคำพูดและวิธีพูดทั่วไปแล้ว ยังมีคำพูดและวิธีพูดสำหรับชนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่าอีกด้วย เช่น ราชาศัพท์ของเรา เป็นต้น ฝรั่งไม่มีราชาศัพท์เป็นคำตายตัว แต่มีวิธีพูดยกย่องชั้นพระมหากษัตริย์หรือชั้นผู้ดีเหมือนกัน แต่วิธีพูดเช่นนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว โดยมากมักจะเป็นวิธีพูดอย่างสุภาพเท่านั้นเอง” ข้อความในปาฐกถานี้เอื้อต่อการอ้างอิงในการนิยามราชาศัพท์ว่าเป็นคำสุภาพสำหรับพูดกับและพูดถึงชนชั้นบนสุดของสังคม แต่ความจริงแล้วคำอธิบายของวรรณไวทยากรเองกลับเป็นสิ่งยืนยันว่า “ราชาศัพท์” ไม่อาจเทียบได้กับ “วิธีพูดอย่างสุภาพ” แบบ “ฝรั่ง” ซึ่ง “ไม่มีราชาศัพท์เป็นคำตายตัว...ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว” นั่นคือจริงๆ แล้วราชาศัพท์ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะเป็น “code of conduct” ใน “polite society” หรือวงสังคมชั้นสูง แต่ราชาศัพท์คือ “วิธีพูดสำหรับชนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า” ซึ่ง “วิธีพูดยกย่องชั้นพระมหากษัตริย์หรือชั้นผู้ดี” (หรือ “ยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป”) นั้นมิใช่การปฏิบัติเพื่อธำรงไว้ซึ่งจรรยามารยาทสังคม แต่เป็นปฏิบัติการเพื่อการค้ำจุนสิทธิธรรมของเหล่าอภิชนในระบอบกษัตริย์ต่างหาก ถ้า “ธรรม” ที่กดปราบมนุษย์บนฐานของฐานันดรย่อมไม่ใช่ธรรมที่แท้ ราชาศัพท์ก็ไม่ใช่ “พิธีกรรม” ในอุดมการณ์ธรรมราชา (“ธรรมราชา” ไม่ใช่อุดมการณ์ที่เรียกร้องภาษาเทพเทวดา) แต่เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับในอุดมการณ์เทวราชา ด้วยวัตถุประสงค์และเหตุผลของการดำรงอยู่ดังกล่าว ราชาศัพท์หาใช่ประเภทของคำสุภาพอย่างที่ตำราภาษาไทยนิยมนิยามไว้ แต่คือคำการเมืองที่ยก-แยก-ย้ำสถานะที่แตกต่างห่างลิบลับระหว่างมนุษย์กับเทพตามจักรวาลวิทยาแบบโบราณ นอกจากความกลัวแล้ว ความเคยชินและการถูกล่อลวงใจในมนตราพลานุภาพแห่งเกียรติยศและสุนทรียะคือสิ่งจรรโลงอุดมการณ์เทวราชาที่หยั่งรากลึกถึงศัพท์ ไวยากรณ์ และกระบวนการเปล่งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ด้วยเจตนารมณ์แห่งการใช้แบบขืนขนบและบ่อนเซาะ บางที “ถ้าคนไม่นิยมจะสมยอมอยู่ในระบอบเกียรติยศนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง” การขัดขืนต่ออำนาจนำที่ทรงพลังจนซึมซ่านเข้าไปในถ้อยคำสำนวนของเรา คือการยอมที่จะไม่งามตามขนบเก่าเพื่อถากถางทางไปสู่ขนบความงามแบบใหม่ เมื่อทุกแห่งหนฟุ้งตลบอบอวลไปด้วยสุ้มเสียงและอักษรแห่งการสอพลอศิโรราบ เท่าที่จะทำได้และเป็นไปได้, การฝืนใจไม่ยินดีและไม่ยินยอมจะเป็นอักขระตัวแรกที่หยัดยืนบนเทือกบรรทัดที่มุ่งไปสู่ภูภาษาแห่งการปลดปล่อย อ้างอิง คึกฤทธิ์ ปราโมช, เก็บเล็กผสมน้อย ชุดที่สอง. สำนักพิมพ์คลังวิทยา. 2502. หน้า 53. คึกฤทธิ์ ปราโมช, ปัญหาประจำวัน ชุดที่เจ็ด. โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์. 2502. หน้า 162. จำนงค์ ทองประเสริฐ, “ราชาศัพท์ที่มักใช้กันไม่ถูกต้อง” ใน ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. 2528. หน้า 226 http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1155 สาส์นสมเด็จ. เล่ม 23, คุรุสภา, 2505. สุจิตต์ วงษ์เทศ, http://www.sujitwongthes.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net