เสวนา: มองขบวนการเสื้อแดงผ่านมาร์กซิสต์

วันที่ 29 มกราคม กลุ่มประกายไฟ (Iska group) จัดการเสวนางานหัวข้อ“มองขบวนการเสื้อแดงผ่านมาร์กซิสต์” ร่วมเสวนาโดย รัชพงษ์ โอชาพงษ์ ตัวแทนจากกลุ่มประกายไฟ อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกิติภูมิ จุฑาสมิต กลุ่มปีกซ้ายพฤษภา ที่ห้องประชุม 14ตุลา อาคารมูลนิธิสำนักงาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน การนิยามกลุ่มคนเสื้อแดงว่า “ชนชั้นกลางใหม่” เป็นเพียงมุมมองในแบบปัจเจก รัชพงษ์ โอชาพงษ์ ตัวแทนจากกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่าที่ผ่านมามีงานวิจัยเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่มาก จึงตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นใคร มีพลวัตรไปทางไหน โดยรัชพงษ์ยกตัวอย่างความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกมองว่าเป็น “ขบวนการชนชั้นกลางใหม่” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคไทยรักไทยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจนโยบายเปิดเสรีเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทยทำให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มมากมากขึ้น ทั้งนโยบายกองทุนหมู่บ้าน และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็เป็นนโยบายที่รองรับผู้ประกอบการรายย่อย เพราะสำหรับคนทำงานทั่วไปก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้จากการมีประกันสังคมอยู่แล้ว รัชพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า หากเรานิยามกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นชนชั้นกลางใหม่ คือ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในโรงงาน ไม่ได้อยู่ในระบบอุตสาหกรรม ถ้าหากเป็นเช่นนี้ ก็อาจหมายความว่ากรรมกรและคนงานในระบบเป็นคนส่วนน้อยของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมหรือไม่ รัชพงษ์ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่าคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ในกรุงเทพนั้นอาจจะไม่ใช่ผู้ที่มาจากต่างจังหวัด ด้วยจำนวนผู้ชุมนุมที่มานั้นจะเพิ่มมากขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาเย็น หากเป็นเช่นนี้แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงผู้ที่มาชุมนุมในกรุงเทพนั้นเป็นใคร หากเป็นคนที่อยู่ในเมืองอยู่แล้ว แล้วคนที่อยู่ในเมืองนี้ถือเป็นชนชั้นกลางใหม่ด้วยใช่หรือไม่ แล้วผู้ประกอบการรายย่อยในชนบทนั้นจะนิยามว่าเป็นชนชั้นกลางใหม่ด้วยหรือไม่ รัชพงษ์กล่าวว่าเมื่อนิยามให้กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้เองจริงหรือเปล่า แล้วการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยนี้คือกลุ่มที่อยู่ช่วงไหนของ “การผลิต” ยกตัวอย่างเช่น คนทำอาชีพขายส้มตำก็ถูกสรุปง่ายๆว่าเป็นชนชั้นกลางโดยที่ไม่ดูว่ารายได้ของเขาเท่าไหร่ คนพวกนี้มีการหล่อเลี้ยงการผลิตของเขาได้แค่ไหน แล้วจะเรียกว่าเป็นชนชั้นกลางได้หรือไม่ กลุ่มคนเสื้อแดงประกอบด้วยคนหลากหลายชนชั้น และไม่สามารถศึกษาได้ในแบบมาร์กซิสต์ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าความหมายของคำว่า “ชนชั้นใหม่” ที่ถูกนำมานิยามให้แก่คนเสื้อแดง ซึ่งถูกอธิบายว่าหมายถึง พวกที่หลุดจากระบบการเกษตรแบบดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้มีความมั่นคง และยังคงต้องการการพึ่งพิงจากภาครัฐ อนุสรณ์อ้างอิงต่อถึงคำที่ประภาส ปิ่นตบแต่ง ใช้เรียกกลุ่มคนเสื้อแดงว่าอยู่ในระดับ “ยอดหญ้า” คือไม่ได้ติดดินแบบคนรากหญ้า แต่ก็ไม่ได้อยู่ขึ้นไปในระดับชนชั้นกลาง ในขณะที่อีกท่านอธิบายว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเสมือน “คลองปริ่มน้ำ” คือเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่มั่นคง คว้าอะไรได้ก็คว้า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เป็นคลองปริ่มน้ำเสียทีเดียว หากแต่ก็ต้องการไต่สู่ความสำเร็จ อนุสรณ์กล่าวว่าทุกนิยามที่กล่าวถึงคนเสื้อแดงนั้นเป็นการพยายามอธิบายว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรถึงทำให้คนเข้ามาร่วมกับคนเสื้อแดง และทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงขยายตัว อนุสรณ์กล่าวว่าการศึกษากลุ่มคนเสื้อแดงมักพูดถึงประเด็นทางชนชั้น แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครอธิบายออกมาในมุมมองแบบมาร์กซิสต์ ปัญหาตรงนี้คือเราจะมองชนชั้นของกลุ่มคนเสื้อแดงได้อย่างไร แล้วจะอธิบายอย่างไรกับกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจคล้ายกันกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดง เช่น กลุ่มคนยอดหญ้าหรือกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในภาคใต้ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง อนุสรณ์กล่าวต่อไปว่าสถานะและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโดยลำพังไม่สามารถนำมาอธิบายกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมดได้ ความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องทางชนชั้น เพราะในกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีองค์ประกอบที่หลากหลาย และมีลักษณะเป็น “แนวร่วมทางชนชั้น” มากกว่า อนุสรณ์กล่าวปิดท้ายว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเป็นการใช้เครื่องมือในเรื่องของ Identity Politic เช่น การผลิตสินค้าของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าง เสื้อสีแดง และรองเท้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะเป็นแนวแบบมาร์กซิสต์ กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผลจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองตามกฎวิพาษวิธีในแบบมาร์กซิสต์ และสังคมยูโทเปียแบบไทยๆถูกทำลายโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 กิติภูมิ จุฑาสมิต กล่าวว่าต้องยอมรับว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นขบวนการภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีมาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสรีไทย พคท. เหตุการณ์14ตุลา พฤษภาทมิฬ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นขบวนการภาคประชาชนที่เล็กกว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง กิตติภูมิกล่าวว่าที่ผ่านมามีคนอธิบายปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงไว้อย่างหลากหลาย โดยเขาได้ยกตัวอย่างคำอธิบายของนายของอุเชนทร์ เชียงแสน ที่อธิบายไว้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงก็คือผู้ที่แอนตี้ (Anti) กลุ่มคนเสื้อเหลือง การเกิดขึ้นของกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือการตอบโต้กลุ่มคนเสื้อเหลืองนั่นเอง กิติภูมิอธิบายการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงผ่านกระบวนการวิพาษวิธี (Dialectics) ตามทฤษฎีของมาร์กซิสต์ โดยเริ่มต้นที่การเปลี่ยนจากปริมาณสู่คุณภาพ ซึ่งก็คือจำนวนของผู้ร่วมชุมนุมในกลุ่มคนเสื้อแดงที่เพิ่มมากขึ้น ประเด็นต่อมาคือเกิดจากความขัดแย้งของระบบที่เป็นอยู่ และสุดท้ายคือการปฏิเสธของการปฏิเสธ กล่าวคือ มีกลุ่มคนเสื้อเหลือง (Thesis) และต่อมาเกิดกลุ่มคนที่ต่อต้านเสื้อเหลืองอีกทีซึ่งก็กลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง (Anti-thesis) ส่วนกระบวนการขั้นต่อไป (Synthesis) นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หากกล่าวว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีที่มาจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ต้องอธิบายย้อนกลับไปอีกว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองมาจากไหน กิติภูมิอธิบายว่าคนเสื้อเหลืองมีอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แต่เขาก็ตั้งข้องสังเกตว่าอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนอุดมการณ์ลวง แล้วทำไมชนชั้นกลางจึงยอมรับอุดมการณ์อันนี้ได้ กิตติภูมิอธิบายต่อไปว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองก็คือกลุ่มคนที่ถูกคุกคามทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยมีศัตรูคือทักษิณ โลกาภิวัตน์ และประชาชน ที่ก่อให้เกิดการช่วงชิงผลประโยชน์และทรัพยากร โดยมีคนที่สังกัดในกลุ่มคนเสื้อเหลืองคือ กลุ่มเจ้า ขุนนาง อำมาตย์ ข้าราชการ ทหาร ร่วมกับชนชั้นกลาง กิตติภูมิกล่าวว่าทักษิณคือผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำลายรัฐในอุดมคติ หรือสังคมยูโทเปีย (Utopia) ของรัฐไทย ย้อนไปในยุคของพลเอกเปรม ติณสูญลานนท์ ประเทศไทยในขณะนั้นเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ต่อมาในยุคของชาติชาย ชุณหวรรณ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจมาก ประเทศไทยก็ถูกดึงกลับสู่ความเป็น “บ้านดีเมืองดี” โดยคณะ รสช. และในเวลาต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ได้สร้างทักษิณขึ้นมา ก็ทำให้เกิดการกลับสู่การเป็นบ้านดีเมืองดีอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน 49 และพอมีการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังการชนะของพรรคพลังประชาชน ประเทศไทยก็กลับสู่ความเป็นบ้านดีเมืองดีอีกครั้งโดยกลุ่มพันธมิตร ประเด็นต่อมาคือรูปแบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป โดยประชาชนเลือกพรรคตามนโยบายที่หาเสียง และรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ถูกออกแบบโดยมีลักษณะเสมือนระบบกึ่งประธานาธิบดี การเสียประโยชน์ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องทักษิณเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะคนไม่สามารถยอมรับระบบในลักษณะนี้ได้ กิตติภูมิกล่าวต่อไปอีกว่าเรื่อง “ประสิทธิภาพ” และ “การเปรียบเทียบ” ไม่เคยมีขึ้นในประเทศไทย ก่อนหน้านี้สิ่งที่วงการเมืองคุยได้อย่างเดียวคือ สุจริต ไม่โกง แต่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน จนกระทั่งมาในยุคของทักษิณที่ทำให้มีการพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพ และเกิดการเปรียบเทียบขึ้นมา กิตติภูมิอธิบายถึงขบวนการของกลุ่มคนเสื้อแดงว่ามีอุดมการณ์หลากหลาย มีทั้งอุดมการณ์เสรีนิยม สากลนิยม และสังคมนิยม กลุ่มคนเสื้อแดงอธิบายตนเองให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์กว่าคนเสื้อเหลือง เช่น ไม่มีเรื่องไสยศาสตร์มากมายเท่ากับกลุ่มคนเสื้อเหลือง และเป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึกทางอุดมการณ์มากกว่าคนเสื้อเหลือง เป็นต้น กิตติภูมิสรุปทิ้งท้ายว่าหากมองเหตุการณ์หลังการผ่านพ้นวิกฤติตามหลักของมาร์กซิสต์แล้ว เมื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชนะก็จะเกิดการแตกแยกและขัดแย้งกันเอง และจะเกิดร่วมมือข้ามกับอีกชนชั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท