ดูหนัง “The Lady” แล้วย้อนมองอีกหลายชีวิตในพม่า

เสวนา “อองซาน ซูจี...เรื่องเล่า นอกเรื่อง The Lady” ที่จุฬาฯ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” ชี้ยังมี “กำแพง” ที่กั้นให้คนไทยไม่เห็นชีวิตประชาชนพม่า ขณะที่ “จ๋ามตอง” ชี้ยังมีอีกหลายครอบครัวในพม่าที่ต้องพลัดพรากเหมือนฉากในหนัง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่แม้จะหยุดยิงแล้ว แต่ทหารพม่ายังไม่ถอนกลับ ด้าน “สุเนตร ชุตินทรานนท์” อธิบายแนวทางสันติวิธีกับเงือนไขที่ไม่มีทางเลือกของออง ซาน ซูจี ในวันแรกของการฉายภาพยนตร์ “The Lady” หรือ “ออง ซาน ซูจี: ผู้หญิงท้าอำนาจ” ผลงานกำกับของลุค เบซง (Luc Besson) ในประเทศไทยนั้น เมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ร่วมกับหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “อองซาน ซูจี...เรื่องเล่า นอกเรื่อง The Lady” ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานนอกจากมีวงเสวนาแล้ว ยังมีการสาธิตการฝนแป้งทะนาคา ซุ้มอาหารพม่า พร้อมฉายตัวอย่างของภาพยนตร์ The Lady และภาพยนตร์ “Bringing Justice to Women” ด้วย ในช่วงเสวนาซึ่งมี ดร.นฤมล ทับจุมพลผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ นักประวัติศาสตร์ด้านพม่าศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ๋ามตอง ผู้แทนจากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (Shan Women’s Action Network: SWAN) และจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์ผู้เคยพบสนทนากับออง ซาน ซูจี การพลัดพรากจากครอบครัวของออง ซาน ซูจีสะท้อนหลายชีวิตในพม่า โดยจ๋ามตอง กล่าวถึงฉากในภาพยนตร์ The Lady ที่ออง ซาน ซูจี ต้องพลัดพรากจากสามีและลูกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ครอบครัวของออง ซาน ซูจีเท่านั้น แต่ได้เกิดกับอีกหลายๆ ครอบครัวในพม่า ซึ่งบางครอบครัวต้องพลัดพรากจากกัน 30 ปี หรือ 40 ปี ถึงจะได้มีโอกาสกลับมาเจอกันอีก นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะนำเสนอในเรื่องออง ซาน ซูจี แต่หลายแง่มุมได้สะท้อนชีวิตความเป็นจริงของคนในพม่า จ๋ามตองกล่าวด้วยว่า หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลพม่าที่นำโดยเต็งเส่งกำลังจะเป็นประชาธิปไตย แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ต้องไม่ลืมว่ากองทัพพม่ายังไม่ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งยังมีกรณีที่เมื่อปี 2554 กองทัพพม่ากำลังทำสงครามกับกองทัพรัฐฉานเหนือ ทั้งที่ทำสัญญาหยุดยิงกันมา 23 ปี มีการทำสงครามกับกองทัพคะฉิ่น ซึ่งทำให้มีผู้อพยพจำนวนมาก และเมื่อปีที่แล้วในรอบ 8 เดือน มีการเปิดเผยรายงานที่ระบุว่าผู้หญิงถูกทหารพม่าข่มขืน 81 คน ในพื้นที่รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และในจำนวนนี้ 35 คนถูกฆ่า และกองทัพพม่าไม่เคยนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ขณะที่สถานการณ์การเมืองในพม่าแม้จะมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองออกมา แต่ก็ยังมีนักโทษการเมืองกว่า 1,000 คนที่ยังถูกจองจำ ตัวแทนจากเครือข่าย SWAN ยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาและโครงการลงทุนในพม่าว่า ที่ผ่านมาชาวพม่าต้องอพยพเพราะโครงการที่รัฐบาลพม่าบอกว่าเป็นโครงการพัฒนา เช่น โครงการสร้างเขื่อน การทำเหมืองแร่ ซึ่งมีการเวนคืนบ้านเรือน ไร่นาของชาวบ้าน ทำให้ประชาชนนับหมิ่นนับแสนต้องหลบหนีออกมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือออกมาหางานทำในเมืองใหญ่ ขณะที่การค้าและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น ชาวบ้านไม่มีโอกาส ไม่มีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบต่อชีวิตประชาชน บริษัทหรือว่านานาชาติอาจจะคุยกับเต็ง เส่ง อาจจะคุยกันเนปิดอว์ หรือย่่างกุ้ง แต่ประชาชนในพื้นที่ต้องคุยกับกระบอกปืน กับกองทัพพม่าที่ยังไม่ได้หายไปไหนในความเป็นจริง “จิระนันท์” ชี้ “กำแพง” ที่กั้นอยู่ ทำให้คนไทยไม่เห็นชีวิตประชาชนพม่า จิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งมีโอกาสได้พบออง ซาน ซูจี กล่าวว่า เรื่องประวัติศาสตร์ไทย-พม่า เป็นส่วนหนึ่งที่กลบปิดบังสายตาที่จะมองประชาชน ชีวิตในประเทศพม่า ซึ่งแท้จริงพวกเขาคือเพื่อนร่วมโลก ร่วมสาขาวัฒนธรรมกัน ภาษาอาจไม่เหมือน แต่กินหมากเหมือนกัน นับถือพุทธศาสตร์ เราจะมีกำแพงอะไรกั้นอยู่จนมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เรามีร่วมกันนั้นมีมากมายเหลือเกิน จิระนันท์ กล่าวว่า ออง ซาน ซูจี ไม่ได้เกิดมาจากเอาอุดมการณ์เข้าว่า แต่เกิดจากการปรับตัวเรียนรู้ตามสถานการณ์และคิดว่าอะไรคือทางออกที่ดีที่สุด จิระนันท์กล่าวถึงโอกาสที่เข้าไปพบกับออง ซาน ซูจีว่า ในราวปี 1995 (2538) จะมีการประชุมสตรี (APC Conference) ที่ปักกิ่ง ตัวแทนฝ่ายไทยคือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ต้องการให้ปาฐกถาเปิดงานเป็นการกล่าวของออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ยืนหยัดเพื่อความเป็นธรรม ประชาธิปไตย และเพื่อนพี่น้องด้วยกัน จึงติดตามคุณหญิงสุพัตราเข้าประเทศเพื่อไปเป็นช่างภาพ โดยเข้าประเทศพม่าด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และมีรถจากสถานทูตไทยมารับ ฝ่ายท่านทูตบอกว่าเคยแอบไปพบออง ซาน ซูจีมาแล้ว โดยขณะที่ไปในย่างกุ้งก็จะมีสันติบาลพม่าคอยติดตาม และบันทึกชื่อและถ่ายรูปว่ามีใครบ้างที่มาพบออง ซาน ซูจี จิระนันท์ เปิดเผยว่าตัวเองเข้าไปในฐานะช่างภาพ แต่ไม่ได้พูดอะไรกับออง ซาน ซูจี มีเพียงคุณหญิงสุภัตราที่เป็นคู่สนทนา โดยความประทับใจที่มีต่อออง ซาน ซูจีคือ ผู้หญิงคนนี้มีความฉลาดมาก บางเรื่องที่พูดอยู่ก็เกินเลยความสามารถที่จะรับรู้ หรือบางเรื่องเป็นอนาคตอันไกลโพ้นไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบัน และเวลาตอบคำถามที่ตอบไม่ได้จะไม่เลี่ยงตอบ แต่ตอบให้เป็นนามธรรม ตอบให้ถูกใจไว้ก่อน ซึ่งเก่งมาก แสดงระดับสติปัญญาและเสน่ห์ พอคุยไปคุยมาก็จะออกเรื่องผู้หญิง เช่นถามเรื่องเสื้อผ้าว่าซื้อมาจากไหน ถือเป็นเสน่ห์บุคลิกส่วนตัว ที่ทำให้เราเห็นว่าออง ซาน ซูจีมีความแข็งแกร่งแต่ไม่บึกบึน ในความนุ่มนวล พอถามเรืองส่วนตัว ซึ่งครอบครัวของออง ซาน ซูจีมาเยี่ยมไม่ได้ เธอก็ไม่ฟูมฟายเลย ก็ได้ตอบว่าก็แล้วแต่อนาคต ซึ่งที่เราเห็นภาพในภาพยนตร์ก็เป็นห้วงที่ออง ซาน ซูจีอยู่กับตัวเอง ในห้วงที่เป็นห่วงสามีเป็นห่วงลูก ซึ่งภาพยนตร์มีข้อดีที่ทำให้เห็นตรงนี้ “คือภาพวีรสตรีที่ทุกคนยุให้สู้ ก็อาจร้องไห้อยู่ที่บ้าน จะร้องไห้ให้คนอื่นเห็นก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกประณามอีก” นักเขียนรางวัลซีไรต์กล่าว อย่างไรก็ตามในครั้งที่จิระนันท์ไปพบออง ซาน ซูจี ไม่ได้มีการบันทึกเทปปาฐกถาสำหรับใช้ในการประชุม เนื่องจากคณะที่ไปพบออง ซาน ซูจีมีเวลาจำกัดและใกล้เวลาจะกลับประเทศไทยแล้ว จึงใช้วิธีถ่ายทำภายหลัง แล้วนัดหมายให้มีคนในพม่านำเทปส่งออกมาให้ โดยต่อมาก็ได้นำเทปนั้นไปเปิดในการประชุมด้วย “สุเนตร” ชี้แนวทางสันติวิธีในพม่า เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีทางเลือกสำหรับซูจี ด้านสุเนตร ชุตินทรานนท์ ตอบคำถามที่มีผู้ถามเรื่องการใช้แนวทางสันติวิธีในพม่าว่า การต่อสู้กับอำนาจรัฐพม่ามีอยู่หลายรูปแบบ หลายสถานการณ์ และหลายเงื่อนไข ในบางรูปแบบ บางสถานการณ์ และบางเงื่อนไข คู่ต่อสู้ไม่ได้ใช้วิธีการสันติวิธี เช่น การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยที่ต้องสู้อย่างยาวนาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใช้สันติวิธีเป็นตัวตั้ง แต่พอมาในเงื่อนไขของออง ซาน ซูจี เป็นการต่อสู้ของคนพม่า ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจรัฐของพม่า เป็นคนที่มีบ้าน ครอบครัว วงศ์ตระกูล เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะถามว่า เมื่อออง ซาน ซูจีถูกกักขังแล้วเขาต่อสู้ด้วยสันติวิธีมันเวิร์คไหม ต้องถามใหม่ว่าเขามีวิธีอื่นที่ดีกว่าไหมที่จะต่อสู้ในเงื่อนไขของเขา เพราะฉะนั้น ในเงื่อนไขของเขา เขาทำในสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยทำไม่ได้ ซึ่งเขาไม่มีเงื่อนไขนั้น เพราะฉะนั้นเงื่อนไขของซูจีต้องเป็นเงื่อนไขเดียว เขาไม่มีทางโดยเด็ดขาด ถ้าคุณรู้จักทหารพม่า รู้จักอำนาจรัฐพม่า ไม่มีทางโดยเด็ดขาดที่จะใช้อาวุธต่อสู้เพราะมันไม่เกิดผลอะไร ในทางที่จะเอื้ออำนวยให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ในเงื่อนไขของออง ซาน ซูจี เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีทางเลือก ต้องใช้การต่อสู้ด้วยวิธีนี้ และการต่อสู้ด้วยวิธีนี้ ที่ผ่านมาระยะหนึ่ง นักศึกษา การปฏิวัติชายจีวรก็ดีก็ใช้วิธีการทำนองนี้ ก็มีนักศึกษาที่หนีเข้าป่าและไปจับอาวุธด้วยเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเป็นการขับเคลื่อนการต่อสู้ในเมืองหลวง มันไม่มีวิธีอื่นนอกจากวิธีที่เป็นสันติวิธี แล้วการตอบโต้ของรัฐบาล ก็ต้องดูว่าเป็นใครที่ออกมาต่อสู้ ใครตั้งเงื่อนไข สถานการณ์ประมาณไหน อย่างสังคมเราก็คงไม่คิดว่าจะมีการทำอะไรกับพระ แต่สังคมพม่าในช่วงปฏิวัติชายจีวร มีพระถูกจับกุมสังหารจำนวนมาก ตั้งคำถามกับความเข้าใจกันลำบากเหมือนกัน แต่ผมอยากจะกลับมาว่า เขาไม่มีทางเลือกอื่นนะ เขาต้องต่อสู้ด้วยวิธี เป็นวิธีการที่ผมคิดว่าเขาสามารถทำได้ในบนเงื่อนไขของเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท