Skip to main content
sharethis

เปิด 11 ข้อหารือ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ กับ‘นาจิบ ราซัค’ มุ่งแก้ปัญหาชายแดนใต้ ยาเสพติด คน 2 สัญชาติ แรงงานร้านต้มยำ สร้างสะพานตากใบ ตั้งเขตอุตสาหกรรมยางพาราฝั่งมาเลย์ อุตสาหกรรมปาล์มฝั่งไทย ใบกระท่อม - ขึ้นชั้นระหว่างประเทศ – พืชกระท่อมจะเป็นประเด็นหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีจะหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เนื่องจากเป็นยาเสพติดที่กำลังระบาดหนักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในมาเลเซียเป็นพืชที่ไม่ผิดกฎหมาย จึงมีพ่อค้าเข้าไปเก็บมาขายในประเทศไทยจำนวนมาก การหารือข้อราชการระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 อาจมีนัยยะสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวม ต่อไปนี้เป็น 11 กรอบประเด็นในหารือข้อราชการดังกล่าว ที่ได้จากประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนไทย – มาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องสุริยาศศิน โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพ ....... ประเด็นหารือสำหรับการหารือข้อราชการระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรีไทย กับนายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 มีประเด็นที่ฝ่ายไทยควรยกขึ้นหารือ รวม 11 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือด้านความมั่นคง สภาพปัญหา การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากมาเลเซีย ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกัน จากปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี การขนน้ำมันเถื่อน ปัญหายาเสพติดที่ระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ กระท่อมเป็นพืชที่ไม่ถือว่าผิดกฎหมายในมาเลเซีย เป็นต้น ตารางแสดงการเพิ่มขึ้นของคดียาเสพติดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัด จำนวนคดียาเสพติด ปี 2549 ปี 2553 ยะลา 739 1,553 ปัตตานี 699 1,595 นราธิวาส 1,152 1,595 สงขลา 1,909 2,515 ขอบคุณที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความร่วมกับไทยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาด้วยดีโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของมาเลเซียในการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับและติดตาม ความร่วมมือด้านการข่าว เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสกัดปัญหา แยกกลุ่มผู้กระทำความผิด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างมาก ท่าทีไทย ฝ่ายไทยมองว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องได้รับการแก้ไขในการนำสันติสุขกลับสู่พื้นที่โดยเร็ว และถือเป็นปัญหาความมั่นคงร่วมกันระหว่างไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลามไปสู่มาเลเซียด้วย 2.ความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ท่าทีไทย ขอบคุณรัฐบาลและประชาชนชาวมาเลเซียที่ได้ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยผ่านการประสานงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) 3.การก่อสร้างสะพานตากใบ และสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 ข้อเท็จจริง สะพานตากใบ ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 5,664 ล้านบาท มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงกว่าสะพานข้ามแม่น้ำโก – ลกแห่งที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2559 ฝ่ายมาเลเซีย ประสงค์จะให้สร้างสะพานตากใบ ซึ่งจะมีผลทางเศรษฐกิจสูงกว่าและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจล้าหลังกว่าภาคเหนือของมาเลเซีย สะพานข้ามแม่น้ำโก – ลกแห่งที่ 2 ผ่านการศึกษา FS แล้ว ระยะทาง 310 เมตร ค่าใช้จ่าย 300 ล้านบาท โดยแต่ละฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง สำนักงานจังหวัดนราธิวาส สนับสนุนให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 เพื่อลดความแออัดของสะพานข้ามแม่น้ำโก – ลกแห่งแรก ท่าทีไทย เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนระหว่างจังหวัดนราธิวาสและรัฐกลันตันของมาเลเซีย จึงควรสนับสนุนการก่อสร้างสะพานทั้ง 2 แห่ง โดยอาจให้มีการดำเนินการไปในลักษณะคู่ขนาน 4.การแก้ปัญหาแรงงานไทยที่ทำงานร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย สภาพปัญหา มีชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปทำงานที่ร้านต้มยำในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย 195,000 คน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและส่งตัวกลับ สาเหตุที่แรงงานไทยไม่ขอใบอนุญาตทำงานเนื่องจากต้องเสียค่าธรรมเนียม (Levy) คนละ 18,000 บาท ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อขอให้ฝ่ายมาเลเซียลดค่าธรรมเนียม (Levy) ขอให้รัฐบาลมาเลเซียเปิดโอกาสให้แรงงานไทยใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปทำงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ เฉพาะในร้านอาหารไทยและร้านต้มยำได้ โดยขอให้ลดอัตราค่าธรรมเนียม (Levy) ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งฝ่ายไทยจะมีการเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทย ก่อนส่งออกไปทำงานอย่างเป็นระบบ โดยจะมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ท่าทีไทย ยินดีที่จะจัดส่งแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ Economic Transformation Program (ETP) ของมาเลเซีย ซึ่งต้องการแรงงาน 3.3 ล้านคน โดยแรงงานฝีมือไทยเป็นที่ยอมรับว่า เป็นแรงงานที่มีคุณภาพในตลาดแรงงานระหว่างประเทศ 5.การแก้ปัญหารถตู้ไทยขนส่งผู้โดยสารไปมาเลเซีย สภาพปัญหา เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการรถตู้ไทย โดยฝ่ายมาเลเซียมองว่า รถตู้ไทยมีการขนส่งแรงงานเถื่อนไปทำงานที่ร้านต้มยำ จึงได้จับกุมและปรับ ตั้งแต่ต้นปี 2553 และได้ออกกฏระเบียบที่รถตู้ไทยไม่สามารถปฏิบัติได้ ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว 2 ประเทศ ข้อเท็จจริง ล่าสุด Economic Planning Unit (EPU) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของกรอบความร่วมมือ JDS (คณะกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย : Thai – Malaysia Committee on Joint Development Strategies for Border Area – JDS) ฝ่ายมาเลเซียขอให้สำนักนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฝ่ายเลขานุการของ JDS ฝ่ายไทยจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 16 มกราคม 2555 เพื่อรวบรวมข้อเสนอของฝ่ายไทยที่สามารถปฏิบัติได้ ส่งให้มาเลเซียพิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีของการเจรจาในการแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามการเจรจาดังกล่าว ยังเป็นเพียงยกแรกเท่านั้น ท่าทีไทย ขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหารถตู้ไทยของ EPU ด้วย 6 การขอต่ออายุและขยายระดับของทุนการศึกษารัฐบาลมาเลเซีย ข้อเท็จจริง รัฐบาลมาเลเซียได้ให้ทุกแก่นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษา หลักสูตร 5 ปี ปีละ 60 คน เป็นเวลา 6 ปี ตามความตกลงร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย – มาเลเซีย ซึ่งได้ดำเนินมาแล้ว 3 ปี ปัจจุบันมีนักเรียนทุน 134 คน มาเลเซียเสนอจะให้การสนับสนุนไทยในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ใน 3 ด้าน เรียกว่า “3E” ได้แก่ Education (การศึกษา) Employment (การจ้างงาน) และ Entrepreneurship (ทักษะการประกอบอาชีพ) ร่วมการแสดงความยินดีในโอกาสการที่ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เดินทางมารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา (มอย.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2554 ท่าทีไทย ขอบคุณรัฐบาลมาเลเซียที่ให้ทุนการศึกษา แก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาในระดับมัธยมปลาย ซึ่งกระทรวงศึกษามาเลเซียให้การดูแลอย่างดี จึงขอขยายจำนวนและปีของทุนการศึกษาดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงระดับอุดมศึกษาในสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นการสงเสริมการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 7 การเปิดการค้าเสรีต้นกล้ายาง/เมล็ดพันธ์ปาล์มน้ำมัน และตั้ง Oil Palm Belt ข้อเท็จจริง ในการประชุม JDS มาเลเซียได้เสนอขอตั้ง “เขตอุตสาหกรรมยางพารา” Rubber Belt ตามแนวชายแดน เพื่อนำวัตถุดิบไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงควรหาทางร่วมมือ โดยอาจเริ่มจากให้มีการค้าเสรีต้นกล้ายางและเมล็ดพันธ์ปาล์มน้ำมัน ท่าทีไทย เสนอให้มีการเปิดการค้าเสรีต้นกล้ายาง/เมล็ดพันธ์ปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันปาล์ม การผลิตน้ำมันพืช รวมทั้งไบโอดีเซล เป็นต้น เสนอให้ตั้ง Oil Palm Belt ในฝั่งไทย เพื่อรับซื้อปาล์มน้ำมันดิบมาแปรรูป โดยฝ่ายไทยอาจชักชวนให้บริษัทแปรรูปปาล์มน้ำมันจากภาคใต้ตอนบน อาทิจากจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาลงทุน ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อเสนอที่จะแลกเปลี่ยนกับ Rubber Belt ของมาเลเซีย 8 การขยายด่านสะเดา – ด่านบูกิตกายูฮิตัม สภาพปัญหา สถิติการค้าผ่านด่านสะเดาปี 2554 มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท มีรถยนต์ผ่านแดนปีละ 8 แสนคัน และการเข้า – ออกของนักท่องเที่ยวปีละ 4.4 ล้านคน กรมศุลกากรจะต้องลงทุนก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่ เพื่อรับรองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งด่านสะเดามีมูลค่าส่งออก – น้ำเข้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับด่านอื่นๆ ทั่วประเทศ ข้อเท็จจริง ที่ประชุม JDS เห็นชอบโครงการขยายด่านสะเดา – ด่านบูกิตกายูฮิตัม กรมศุลกากรมีโครงการก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่บนเนื้อที่ 720 ไร่ ในตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ใช้งบ 123 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบ ที่ประชุม IMT – GT (แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย : Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT – GT) สนับสนุนโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ สายสะเดา – หาดใหญ่ ระยะทาง 65 กิโลเมตร งบประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท) โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ท่าทีไทย ขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สนับสนุนโครงการพัฒนาด่านบูกิตกายูฮิตัมในฝั่งมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยอำนวยสะดวกการขนส่งสินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศด้วย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง (Connectivity) ในการรองรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 ด้วย 9 การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ข้อเท็จจริง ไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการยอมรับในด้าน องค์ความรู้ในการตรวจสอบมาตรฐานอาหารและสินค้าฮาลาลในระดับโลก ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีตลาดโลกมุสลิม สำหรับส่งออกสินค้าฮาลาล นอกจากนี้ ไทยมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จะเห็นได้ว่า ไทยส่งออกปลาประป๋องทูน่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะนี้ มีบริษัท ลังกาสุกะ กรุ๊ป ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลจากมาเลเซีย สนใจที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารฮาลาลในจังหวัดปัตตานี (ไทยต้องการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล ) ทั้งนี้ บริษัทสหฟาร์ม เป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทของมาเลเซียในทำโครงการสร้างฟาร์ม/โรงชำแหละไก่เพื่อส่งออกไปยังมาเลเซียด้วย ท่าทีไทย ไทยมีความพร้อมในอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งด้านวัตถุดิบทางการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการฮาลาลจากมาเลเซีย มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี ไทยและมาเลเซียสามารถร่วมมือในการร่วมมือลงทุนผลิตและขยายการส่งออกสินค้าฮาลาล ไปยังตลาดมุสลิม ซึ่งมีขนาดประชากรถึง 1.8 พันล้านคน หรือมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม 1 ใน 3 ของประชากรโลก 10.ความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) ข้อเท็จจริง ในมาเลเซีย มีองค์กร Bernas เป็นองค์กรเดียวที่สามารถนำเข้าข้าวทางน้ำทางเดียวและจำหน่ายข้าวในมาเลเซีย และเห็นว่า ปัจจุบันตลาดข้าวอินทรีย์ (Organic Rice) มีความต้องการมากขึ้น รวมทั้งในอนาคต จึงประสงค์จะร่วมมือกับไทยในการใช้องค์ความรู้ (Know How) และเทคโนโลยีจากไทย รัฐกลันตันเปิดโอกาสให้ผู้สนใจมาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งรัฐจะหาที่ตั้งโรงงานในพื้นที่ 3 – 4 พันเอเคอร์ (ประมาณ 1 หมื่นไร่) ให้ เพื่อเพาะปลูกและผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกันสำหรับจำหน่ายในมาเลเซีย หากมีปริมาณมากพอจะร่วมกันส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งรัฐกลันตันได้รับใบรับรองคุณภาพข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว ท่าทีไทย ไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะการปลูกและผลิตข้าวอินทรีย์ในรูปแบบการร่วมทุนของเอกชน 11.ร่วมมือกับมาเลเซียในการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน ข้อเท็จจริง มาเลเซียได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการส่งทุเรียนไปยังตลาดจีน ระหว่างการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ซึ่งจีนมีความต้องการนำเข้าทุเรียนในปริมาณที่สูงมาก ท่าทีไทย ยินดีที่จะร่วมมือกับมาเลเซียในการจัดส่งทุเรียนไปตลาดจีน ซึ่งไทยมีความได้เปรียบกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศส่งออกทุเรียนมากที่สุด โดยครองตลาดส่งออก 1.5 แสนตัน/ปี ทุเรียนไทยสามารถเก็บได้ก่อนและสามารถส่งออกเป็นทุเรียนสดได้ ขณะที่มาเลเซียส่งออกทุเรียนแปรรูปเท่านั้น ทั้งนี้จังหวัดยะลามีศักยภาพด้านผลไม้ มีผลผลิตทุเรียน 4.8 หมื่นตัน/ปี ซึ่งสะดวกในการขนส่งไปยังท่าเรือปีนัง ของมาเลเซีย อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ชง 11 เรื่องเจรจา ‘นายกฯมาเลย์’ ‘ใบกระท่อม’ ขึ้นชั้นปัญหาระหว่างประเทศ http://prachatai.com/journal/2012/02/39224

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net