Skip to main content
sharethis

การอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้พ่อ ของไท พฤกษาเกษมสุข ผ่านมา 4 วันแล้วยังไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ ขณะที่สมยศถูกนำตัวไปสืบพยานถึงจังหวัดสงขลา แต่พยานไม่มาศาล เพราะพักอยู่ปทุมธานี สะดวกให้ปากคำที่กรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ สมยศถูกนำตัวไปสืบพยานที่จังหวัดสระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ โดยถูกนำตัวตระเวนไปฝากขังตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ทั้งที่พยานส่วนใหญ่พักอยู่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล สามารถออกหมายเรียกให้มาสืบพยานที่กรุงเทพฯ ได้ แต่จำเลยกลับถูกนำตัวใส่ขื่อคาตระเวนไปทั่วประเทศ จนทนายบอกว่าเหมือนกลั่นแกล้งกัน
 
ถามว่านี่ใช่ไหม ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครต่อใครแห่ออกมาพูดกันเซ็งแซ่ ว่าไม่ต้องแก้ ม.112 ให้แก้การบังคับใช้ ตั้งแต่ทักษิณไปจนอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ ดร.เหลิมไปจน ดร.สุวินัย ตั้งแต่มีชัยไปจนบวรสาก
 
แต่ไม่ยักมีใครกล้าพูดชัดเจนเหมือนธงชัย วินิจจะกูล ที่บอกว่า “การ ใช้มาตรา 112 ในแบบล่าสุดระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือใช้ทำลายจิตวิญญาณ หมายถึงการใช้อย่างไร้ความปรานีจนกว่าจะยอมรับสารภาพ คือมักจับไว้ก่อน ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาลับ ลงโทษรุนแรง แต่ให้ความหวังว่าจะพ้นคุกได้เร็วถ้ายอมรับสารภาพ จนหลายคนยอมแพ้ในที่สุด นี่คือการทำร้ายถึงจิตวิญญาณ หากต้องการอิสรภาพทางกายต้องยอมแพ้ราบคาบทางมโนสำนึก ชีวิตที่มีอิสระทางกายต้องขังจิตวิญญาณเสรีไว้ข้างในตลอดไป”
 
ปัญหาการบังคับใช้ 112 จึงไม่ใช่แค่ใครก็แจ้งความร้องทุกข์ได้ ปัญหาการบังคับใช้ยังรวมถึงการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้ประกัน โดยอ้างว่าเกรงจะหลบหนี ซึ่งก็เป็นปัญหาวัวพันหลัก ในเมื่อคดีนี้ มักไม่ให้ประกัน ใครโดนคนนั้นก็ต้องหนี ใครเล่าอยากสู้คดีโดยต้องตระเวนไปนอนเรือนจำ 77 จังหวัดอย่างสมยศ
 
และแน่นอน ยังเกี่ยวพันกับอัตราโทษ เพราะศาลมักอ้างว่าโทษสูง เกรงจำเลยหลบหนี
 
การไม่ได้ประกันตัวทำให้จำเลย 99.99% เลือกยอมรับสารภาพ เพื่อให้คดีถึงที่สุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็มักได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่ผลทางกฎหมายคือ มีคดีน้อยมากที่ขึ้นถึงศาลฎีกาจนมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน
 
พูดอีกอย่างคือ คำพิพากษาคดี 112 กว่า 99.99% ไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะเป็นแค่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำเลยส่วนใหญ่ไม่สู้คดีด้วยซ้ำ หรือสู้ไปแล้วก็ต้องถอดใจ ทั้งที่เป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งอย่างดา ตอร์ปิโด
 
นั่นทำให้ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ยิ่งกว้างขวางคลุมเครือ เพราะเมื่อใครคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิด ใครคนหนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์ แล้วคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ประกันตัว ศาลสืบพยานไป 2-3 ปาก จำเลยชิงรับสารภาพ คดีเป็นสิ้นสุด สรุปความได้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ ผิดตาม 112 ต่อมาใครทำอย่างนี้ก็โดนอีก
 
ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานว่า พฤติกรรมเช่นนี้ ผิดจริงหรือไม่
 
พฤติกรรม A พฤติกรรม B พฤติกรรม C….. ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทั้งที่ถ้าคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา อาจมีเพียงพฤติกรรม C ที่ผิดจริง แต่แทบทุกคดีถูกยุติก่อนขึ้นศาลฎีกา
 
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งต้องถามว่าเป็นแค่ปัญหาการบังคับใช้ หรือเกี่ยวกับตัวมาตรา หรือยิ่งกว่านั้นคืออุดมการณ์ “กษัตริย์นิยม” ของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม
 
ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ ผมไม่มีปัญหาเลยถ้าการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 คว้าน้ำเหลว แต่มีการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ยับยั้งการดำเนินคดีที่ไม่มีมูลเพียงพอ อย่างกรณีก้านธูป หรือนักปรัชญาชายขอบ ให้ประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างพิจารณาคดี ขณะเดียวกันก็เร่งกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ สำหรับผู้ที่คดีสิ้นสุดแล้ว
 
ถ้าปัญหาในทางปฏิบัติจบลง หรือลดลงไป ไม่มีใครถูกเล่นงานด้วย 112 อีก กระแสแก้ไขก็จะโทรมลงไป นี่คือวิถีของการเมือง แต่ตราบใดยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เชื้อไฟนี้ก็ยังคุโชนอยู่ รอเวลาปะทุอีกครั้งเท่านั้น
 
อย่าลืมนะครับว่า พ้น 112 วัน ครก.อาจยื่นรายชื่อ 10,000 คนแล้วสภาไม่รับ ข้อเสนอตกไป แต่ตัวร่างของนิติราษฎร์ยังอยู่ 1 ปีข้างหน้า 2 ปีข้างหน้า 3 ปีข้างหน้า ใครก็หยิบไปล่ารายชื่อใหม่ได้ทุกเมื่อ
 
ไม่มีใครชนะ
 
การได้ฟังปาฐกถาของธงชัย วินิจจะกูล ถือเป็นการเปิดกะโหลกเติมปัญญาอย่างแท้จริง ทำให้มองทะลุสถานการณ์ที่วิสัยคนทำข่าวมักพัวพันแต่เฉพาะหน้า
 
นอกจากนั้นยังเป็นการสรุปประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน เช่นการมองว่า ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์เพิ่งถือกำเนิดเมื่อ 14 ตุลา 2516 นี่เอง มิน่า รุ่นพี่ๆ เราที่ผ่าน 14 ตุลามา หลายคนถึงกลายเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
 
น่าเสียดายที่สื่อกระแสหลักไม่กล้าเสนอประเด็นสำคัญในปาฐกถาธงชัย นั่นคือการกล่าวถึงประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ ภายใต้ “ลัทธิกษัตริย์นิยม” ว่าแยกไม่ออกจากตัวบุคคล ถ้าไม่ยอมปรับตัว ก็อาจทำให้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้
 
สื่อไม่กล้าแม้แต่จะเอาไปโจมตี ซึ่งจะทำให้ประเด็นของธงชัยขึ้นมาเป็นกระแสสนใจ นี่ก็เข้าตามที่ธงชัยพูดอีกนั่นแหละ สังคมไทยหลอกตัวเอง พวกลัทธิกษัตริย์นิยมหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าสภาพที่ดำรงอยู่นี้จะเป็นไปชั่วนิรันดร์ หรือชั่วชีวิตของตน (ถ้าเป็นชั่วชีวิตของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คงไม่เถียง)
 
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผมประทับใจในปาฐกถาของธงชัย ไม่ใช่จุดแตกหักระหว่างประชาธิปไตยกับ “กษัตริย์นิยม” แต่เป็นคำเตือนที่ว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ก็แพ้กันหมด ไม่มีใครชนะ
 
หลายคนที่ฟังปาฐกถา สะใจว่างานนี้ธงชัย “แรง” “จัดหนัก” แต่สำหรับผม เห็นว่านี่คือความกล้าหาญ พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใช่พูดให้สะใจ แต่พูดเพื่อเตือนสติ เพื่อให้พวกกษัตริย์นิยม “ปรับตัว”
 
ธงชัยย้ำอยู่ 2-3 ครั้งว่า ถ้าไปถึงจุดที่สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ความสะใจ แต่มันคือสถานการณ์ที่ “แพ้กันหมด ไม่มีใครชนะ” ตอนหนึ่งยังกล่าวว่าเขามักถูกเพื่อนพ้องเก่าๆ มองว่าเขาเห็นอกเห็นใจรอแยลลิสต์ แต่ธงชัยยืนยันว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้ห่วงใยอย่างนั้น แต่เขากลัวว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นอันตรายทั้งสถาบันและประชาธิปไตย และจะทำให้ทุกคนเสียหายหมด
 
ผมไม่เคยสนิทกับธงชัยสมัยเรียนธรรมศาสตร์ เพราะทำกิจกรรมคนละกลุ่ม ไม่เคยเจอกันจนวิกฤต 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงได้ฟังได้คุยทั้งวงเล็กวงใหญ่ วงนอกวงใน แต่กระทั่งในวงที่คุยกันได้หมดเปลือก ธงชัยก็ย้ำเช่นนี้เสมอมา ช่วงหนึ่งที่เสื้อแดงพูดๆ กันถึง “ปฏิวัติประชาชน” ธงชัยก็ไม่ได้สนับสนุน เพราะเขาเห็นว่ามันจะสร้างความเสียหาย โดยเฉพาะชีวิตคนที่ไม่ควรสูญเสีย
 
แอคทิวิสต์รุ่นหลังที่เข้าข้างเสื้อเหลือง มักมองคนรุ่น 6 ตุลาว่ากลายเป็น “ตุลาแดง” เพราะความเคียดแค้นจากอดีต ผมไม่ปฏิเสธสำหรับบางคน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และน่าจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ด้วย เพราะผมเชื่อว่ามีเพื่อนจำนวนมากคิดอย่างธงชัย
 
ในฐานะคนรุ่น 6 ตุลา เราคงไม่กระแดะพูดว่า “จงรักภักดี” คงไม่บอกว่าอยากให้แก้ 112 อยากให้ปฏิรูปสถาบัน “ด้วยความจงรักภักดี” แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราคิดตรงข้าม มันไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมไทยต้องเลือกระหว่าง “รักเจ้า” กับ “ล้มเจ้า” ทางเลือกไม่ได้มีแค่นี้
 
คนรุ่น 6 ตุลาไม่ได้ตัดตอนความคิดอุดมการณ์แค่เพื่อนเราถูกฆาตกรรมกลางเมือง เพราะหลังจากนั้น เรายังเข้าสู่การสู้รบในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พลีชีวิต เลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ แรงใจ ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งกับ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” ขบวนแตก อุดมการณ์ล่มสลาย กลับกลายเป็นมนุษย์รุ่นที่ผิดหวัง เคว้งคว้าง ว่างเปล่า
 
เราผ่านอะไรมามากกว่าที่คนคิด เจ็บปวดมากกว่าที่คนรู้ สูญเสียมากกว่าชีวิต ร่างกาย หรือสถานะทางสังคม นั่นคือบทเรียนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใคร ไม่อยากเห็นความสุดขั้วสุดโต่ง ไม่ว่าฝ่ายไหน
 
ฉะนั้น ในขณะที่เราจะไม่กระแดะพูดว่า “จงรักภักดี” แต่เราก็พูดได้เต็มปากว่าเราไม่ต้องการเห็นจุดที่สถาบันกษัตริย์กับระบอบ ประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนั้น ก็คือหายนะของประเทศ จะเกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิต เลือดเนื้อ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว้างขวางต่อชะตากรรมของคนไทย 70 ล้านคน
 
แต่ถ้าจะไม่ให้เราผลักดันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ ก็เป็นไปไม่ได้ จะให้มวลชนที่เติบโตเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ถอยหลังเข้าคลอง ก็เป็นไปไม่ได้ ธงชัยจึงเรียกร้องให้ฝ่ายกษัตริย์นิยม “ปรับตัว” เพื่อการอยู่ร่วมกัน ก่อนที่จะ “แพ้ด้วยกันทั้งหมด” ไม่มีใครได้ มีแต่ความสูญเสีย
 
นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจจากการฟังธงชัยเสมอมา ไม่ว่าเนื้อหา “จัดหนัก” อย่างไรแต่เป้าหมายของเขาชัดเจน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net