ว่าด้วยความรักใต้รัฐเดียวกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เนื่องในโอกาสที่เทศกาลแห่งความรักเวียนมาถึง เดือนกุมภาพันธ์นี้มีวันสำคัญทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ความรัก” ของ ศาสนาคริสต์ อันเป็นวันรำลึกถึงเซนต์วาเลนไทน์ ผู้อุทิศตนให้แก่มวลมนุษยชาติอันเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ และเดือนมีนาคม ก็มีวันมาฆบูชาของศาสนาพุทธซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระอรหันต์ 1,230 รูปซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้อุปสมบทด้วยพระองค์เอง ได้มารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย เสมือนการระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาผู้บรรลุธรรมและชี้ทางสว่างให้กับมวลชน

ความรักเป็นนามธรรมที่สามารถให้นิยามไปได้อย่างหลากหลาย และอาจครอบคลุมกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมต่างๆ มากมาย และมีการวิพากษ์ความรักไว้ในหลากหลายทิศทางทั้งในดีและด้านร้าย เช่น ความรักคือ การให้ การอภัย การเสียสละ หรืออีกฟากฝั่งก็อาจกล่าวว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ความรักทำให้คนตาบอด เป็นต้น สำหรับการพูดเรื่องความรักในทางโลกที่มนุษย์จำต้องใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกับผู้อื่น ข้าพเจ้าขอหยิบความรักในมิติทางสังคมด้านหนึ่งมากล่าวถึงในบทความนี้

“ความรัก” ที่หลายคนคาดหวังมักเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับ “ความสุข” ซึ่งนิยามที่ข้าพเจ้านำมาวิเคราะห์สังคมไทยก็คือ นิยามของ ชีลส์ เดอเลิซ และ เฟลิกซ์ กัตตารี่ (อ้างอิงจาก ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, แนะนำสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยม, 2554) นักคิดทั้งสองคนเสนอนิยามของคำทั้งสองว่า “ความรักคือการเชื่อมต่อ” ส่วน “ความสุขคือการได้ใช้ชีวิตตามที่ตนปรารถนา”

หากนำคำทั้งสองมาเทียบเคียงกับเรื่องกฎหมายกับสังคม จะเห็นว่า เป็นนิยามที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง การอยู่ร่วมกันในรัฐบนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน บนพื้นฐานของสันติภาพ

การเชื่อมต่อ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคน การได้ใช้ชีวิตตามที่ตนปรารถนา ก็คือ การกำหนดอนาคตตนเอง การมีความรักและมีความสุขในเวลาเดียวกัน มนุษย์จึงต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น และยังสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ อย่างไรก็ดีเรื่องทั้งสองมีทั้งความสอดคล้องและขัดแย้งกันในตัวเอง

หากใครเคยมีความรักความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะคนที่ตนรัก จะพบว่าบ่อยครั้งเราไม่อาจกำหนดอนาคตตนเองได้ตามที่ใจปรารถนาอยู่เนืองๆ ยกตัวอย่าง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตประจำวัน

กลับกันในหลายกรณีความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความรักของผู้คนจำนวนไม่น้อย ก็สามารถผสานเป้าหมายทั้งสองเข้าหากันได้บนพื้นฐานของดุลยภาพในความสัมพันธ์

เมื่อนำนิยามทั้งสองมาปรับใช้กับการเมืองเรื่อง “ความรัก” และ “ความสุข” ที่มีการพูดถึงถี่ยิ่งขึ้นในสังคมการเมืองไทยช่วงหลัง เราจะพบความผิดปกติบางอย่างที่ถูกทำให้กลายเป็นปกติในสังคมไทย เช่น การบังคับให้คนเลือกข้างที่รัก มักข้างที่ชัง และยังมีมาตรการบีบบังคับรูปแบบต่างๆ ตามมา ทั้งที่สังคมไทยมักพูดซ้ำๆ ว่า “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก” แต่การบังคับให้เลือกรักย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในตัวเอง

ดังปรากฏ กรณีการจับจ้องและเฝ้ามองผู้ที่ไม่รัก....ฝ่ายตน แล้วระดมมวลชนฝ่ายตนเข้าบีบบังคับผู้ที่เห็นต่างด้วยวิธีการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคาม หรือแม้กระทั่งต้องเผชิญกับการกล่าวหาทางอาญาจากการแสดงความเห็น มิพักต้องกล่าวถึงการถกเถียงถึงของสังคมต่อคดี “อากง” ที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยประณามอากง โดยมุ่งโจมตีว่าข้อความที่อากงส่งมีผลทำร้าย “ความรู้สึกของคนไทย” ซึ่งแสดงนัยยะของความรักแบบกำหนดนิยามตายตัวตามนิยามของ “ความรักชาติแบบราชาชาตินิยม” ที่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้กระทั่งชีวิตและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ที่พึงมีอย่างเสมอกัน

ความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นจากการอ้างความรักตามนิยามของข้างฝ่ายตน และทำร้ายจิตใจของผู้อื่น ย่อมไม่ต่างจากความรักของคนเอาแต่ใจตัวเอง เหมือนคนรักที่บ้าคลั่งจำนวนมากที่บีบบังคับให้คนรักเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงถึงความปรารถนาของอีกฝ่าย

วิกฤตกาลของสังคมไทยจึงตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่ว่า หากบุคคลใดมีนิยามความรักที่ผิดแผกแตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องการกำหนดอนาคตตนเองนอกกรอบที่สังคมนั้นตั้งไว้ ก็เสี่ยงอย่างยิ่งที่ความรักของบุคคลนั้นจะพบกับความผิดหวัง ทั้งที่เรากล่าวอย่างต่อเนื่องว่า ต้องผลักดันให้คนไทยคิดนอกกรอบและขับดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคนอื่น ประเทศอื่น

ความคับแคบทางความคิดและความรู้สึก ดังที่ครอบงำสังคมไทยอยู่นี้จึงมีผลไม่น้อยต่อการปิดกั้นโอกาสของนักคิดนักสร้างสรรค์ในสังคมไทย จึงไม่แปลกที่นักคิด นักสร้างสรรค์ชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังในต่างประเทศ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือร้ายแรงกว่านั้นก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนนอก คนนอกที่ว่าก็คือ นอกคอกของ “ความเป็นไทย” ที่เชื่อมโยงอยู่กับการแสดงออกอย่างล้นเหลือต่อความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่มิพักต้องสนใจเรื่องมนุษยธรรม หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เรื่องเศร้าที่เคยเกิดกับมหากวีเอกที่เด็กแทบทุกคนรู้จักก็คือ การตายของอีสป ที่เกิดจากการเล่านิทานที่แฝงข้อคิดย้อนแย้งถากถางผู้มีอำนาจและชนชั้นนำในสังคม จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ปกครองจนถูกคำสั่งให้จับโยนลงมาจากหน้าผาตายในท้ายที่สุด

สิ่งที่เกิดร่วมสมัยในสังคมไทย คือ นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวที่พยายามสร้างสรรค์ประเด็นขับเคลื่อนทางสังคมซึ่งมีข้อเสนอแหลมคมเสียบตรงไปที่โครงสร้างของสังคมการเมืองไทยที่ไร้มาตรฐานว่าควรจะต้องปรับเสียใหม่ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยและธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงออก เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ วิทยุโทรทัศน์ หรือ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีผลจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เช่น กฎหมายอาญาว่าด้วยลักษณะหมิ่นประมาทฐานต่างๆ

ขบวนการขับเคลื่อนสังคมเหล่านี้ต้องเผชิญกับกระบวนการเบียดขับให้กลายเป็นอื่น เช่น เปลี่ยนจากคนชาติไทย ให้เป็นคนชาติมั่ว คนต่างด้าว ขับไล่ให้ออกจากประเทศ ล้วนแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนหนึ่งมองการขับเคลื่อนทางสังคมเหล่านั้นว่าเป็นการสั่นคลอน “ความเป็นไทย” ที่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องการจะแช่แข็งไว้ให้นิ่งที่สุด

นักจิตวิทยาและนักมานุษยวิทยาที่ทำงานด้านความสัมพันธ์ล้วนเสนอความคิดเห็นว่า ในการรักษาความรักความสัมพันธ์ไว้ให้ยั่งยืนยาวนานนั้น ต้องมีการปรับเข้าหากัน หรือเอาอกเอาใจ ตามใจคนรักบ้าง เพื่อเว้น “ที่ว่าง” ไว้ให้กับความสุขของคู่รักที่ย่อมต้องมีสิ่งที่ปรารถนาแตกต่างไปจากเรา การพยายามบีบบังคับทุกวิถีทางให้ทุกคนรักในแบบที่เราต้องการ นับเป็นความด้านชาต่อความรู้สึก และตัวตนของคนรักเป็นอย่างยิ่ง

หากนิยามความรักและความสุขในสังคมไทยยังถูกควบคุมให้หยุดนิ่งอยู่ ก็เห็นทีจะต้องอยู่แบบตัวใครตัวมันเพราะไม่สามารถผสานสัมพันธ์กันบนพื้นฐานของการยอมรับการกำหนดอนาคตตนเองอย่างแตกต่างหลากหลายของผู้อื่นในสังคม

การปรับปรุงแก้ไขแม้ยากที่จะเปลี่ยนทันทีทันใด แต่อย่างน้อยๆ ช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านก็ขอให้อดทนอดกลั้นรับฟังกันบ้างก็ยังดี

 

 

/////////////////
หมายเหตุ:
 ชื่อบทความเดิม: ความรักคือการเชื่อมต่อ ความสุขคือการกำหนดอนาคตตนเอง

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท