Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงต้นปีนี้ในประเทศไทยเรามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคัก ในระดับชาติ เรื่องที่ร้อนแรงที่สุดก็คือ การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ท่ามกลางการโต้ตอบอย่างหนักหน่วงของฝ่ายไม่เห็นด้วย การเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ข่าวลือเรื่องการรัฐประหาร และอื่นๆ ฯลฯ ส่วนในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน เช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีการเคลื่อนไหวจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้มีพิธีมอบป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงพร้อมกัน 17 หมู่บ้าน และแกนนำเปิดเผยอีกว่าในจังหวัดอุบลจะมีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงอีกนับร้อยแห่ง น่าสนใจว่าการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระรอกใหม่ของคนเสื้อแดง จะมีความหมาย หรือ เป็นตัวแปรต่อการเมืองไทยในขณะนี้อย่างไร บทความนี้จะเริ่มต้นจากการนำเสนอข้อสังเกตและให้ภาพบรรยากาศพิธีมอบป้ายหมู่บ้านเสื้อแดง ซึ่งผู้เขียนได้ไปสังเกตการณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่อำเภอบุญฑริก จากนั้นจะให้ข้อมูลพร้อมกับการวิเคราะห์การจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง และในตอนท้ายจะนำเสนอข้อถกเถียงที่ว่า ด้วยธรรมชาติของขบวนการเสื้อแดง เมื่อตกอยู่ในบริบททางการเมืองปัจจุบัน จากฝ่ายก้าวหน้าที่ต่อสู้ผลักดันให้เกิดประชาธิปไตย ขบวนการนี้กลับมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพลังอนุรักษ์นิยม ที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยเสียเอง ประชาธิปไตย ความบันเทิง และอาหาร การมอบป้ายหมู่บ้านคนเสื้อแดง จัดขึ้นเป็นพิธีการโดยเชิญบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทย มาทำพิธีมอบป้ายชื่อหมู่บ้านให้แก่ตัวแทนหมู่บ้าน เพื่อประกาศต่อสาธารณะให้รู้จักหมู่บ้านที่มุ่งมั่นจะทำกิจกรรม “เพื่อประชาธิปไตย” ในการไปร่วมงานครั้งนี้เพื่อนชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาสังเกตการณ์กล่าวกับผู้เขียนว่า พวกเขารู้สึกแปลกใจมากต่อสิ่งที่พบเห็น ที่จริงแล้วไม่เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น สำหรับคนไทยที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง และไม่ใช่คนท้องถิ่นอีสานก็อาจรู้สึกประหลาดใจและสงสัยต่อหลายๆอย่างที่มาประกอบกันเข้าเป็นงานนี้ หากเรามองปรากฏการณ์รอบตัวเป็นสัญญะ หรือตัวสื่อความหมาย ผู้เขียนเห็นว่างานนี้ ประกอบด้วยสัญญะที่น่าสนใจดังนี้ ประชาธิปไตย ศูนย์กลางของพิธีนี้คือป้ายชื่อหมู่บ้านเสื้อแดง ซึ่งเป็นแผ่นป้ายไวนิลพื้นสีแดง มีชื่อหมู่บ้าน และถ้อยคำ “เพื่อประชาธิปไตย” และรูป พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทราบว่ารูปแบบของแผ่นป้ายใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในจังหวัดอุบล และอาจจะเป็นจังหวัดอื่นๆในประเทศไทยด้วย รูปแบบที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า ทักษิณ ชาวบ้าน และ ประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากจะมีคำที่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยที่สุดในงานนี้คำนั้นก็คือ “ประชาธิปไตย” จากเวทีปราศรัยของนักพูดหลากหลายท่าน ผู้เขียนพยายามจะจับใจความว่าเป้าหมายหรือนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมของหมู่บ้านคนเสื้อแดงคืออะไร แต่ไม่สามารถสรุปได้ สาระสำคัญของการปราศรัยโดยรวมเกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในปี 2553 ผลงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การเคลื่อนไหวของฝ่ายอำมาตย์เพื่อจะโค่นล้มรัฐบาล การต้านรัฐประหาร และความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก่อนที่จะจบลงด้วยการมอบป้ายชื่อหมู่บ้านโดยตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ความบันเทิง สนุกสนานดูจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และในการชุมนุมของคนไทยไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมกันในรูปแบบใดความบันเทิงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะชาวอีสานที่มีวัฒนธรรม “ม่วนซื่นโฮแซว” ในการจัดกิจกรรมของคนเสื้อแดง ความบันเทิงได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง การจัดกิจกรรมที่ยาวนานและมวลชนจำนวนมหาศาลก่อให้เกิดอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง ซึ่งได้เกิดนักร้องมากหน้าหลายตา และอัลบัมเพลงหลากหลายชุด เพลงสื่อเรื่องราวหลากหลายประเด็น ในงานนี้ผู้เขียนได้ฟังเพลง “หมู่บ้านคนเสื้อแดง” ซึ่งสะท้อนถึงอุตสาหกรรมหมู่บ้านเสื้อแดงและอุตสาหกรรมเพลงในเวลาเดียวกัน ในงานนี้มีศิลปินนักร้องชื่อดังรับเชิญ มีหางเครื่องสมัครเล่น และการเต้นรำกันหน้าเวทีของผู้มาร่วมงาน ก่อนที่จะมีขบวนรำเซิ้งป้ายชื่อหมู่บ้านรอบหมู่บ้านจัดงานกันอย่างสนุกสนาน อาหาร เป็นอีกส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมที่มีความสำคัญไม่น้อย ผู้มาร่วมงานมีความคาดหวังจากความเคยชินว่าอย่างน้อยผู้จัดก็ควรมีอาหารเล็กๆน้อยๆไว้ต้อนรับ หากผู้จัดงานขาดตกบกพร่องในเรื่องนี้ไป ก็มักจะถูกตำหนินินทาลับหลัง และจัดงานคราวหน้าอาจจะมีคนมาร่วมงานน้อย การเลี้ยงดูด้วยอาหารอาจมองได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ แม้ว่างานนี้จะเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย แต่โอกาสการจัดงานแบบนี้ผู้จัดจำต้องรู้ธรรมเนียมที่จะต้องแสดงน้ำจิตน้ำใจต่อผู้มาร่วมงาน ในงานนี้ผู้เขียนได้ยินเสียงชมเชยของชาวบ้านต่อผู้จัดในเรื่องอาหาร ที่มีการจัดหามาให้อย่างดี มีอาหารที่ถูกปาก ดังที่มีการยกครกส้มตำมาตำกันสดๆข้างๆเวทีปราศรัยเลยที่เดียว สำหรับคนต่างวัฒนธรรมหรือฝ่ายผู้ไม่ชอบคนเสื้อแดง อาจจะรู้สึกว่า นี่คือประชาธิปไตยแบบไหนกัน แต่สำหรับคนเสื้อแดง สัญญะทั้งหมดหาได้ขัดแย้งไม่ลงรอย แต่สอดประสานให้ความหมายเชิงความคิดและอารมณ์ได้ลงตัว สำหรับชาวบ้าน ประชาธิปไตยนั้นต้องกินได้ และสนุกได้ด้วย (ภาพประกอบโดย ทาคาฮาชิ คัทซึยากิ) การจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง การจัดพิธีมอบป้ายหมู่บ้านเสื้อแดงในครั้งนี้ ได้มอบให้แก่หมู่บ้านจำนวน 17 แห่ง จาก 4 ตำบล ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านใน อ.บุญฑริก และมีหมู่บ้านจากอำเภอใกล้เคียงอีกจำนวนหนึ่ง การจัดตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดง เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของเครือข่ายคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันจากระดับ จังหวัด สู่อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมื่อมีการพูดคุยกันในเครือข่ายและมีความเห็นร่วมกันว่าจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง แกนนำระดับหมู่บ้านก็จะไปปรึกษาหารือกัน หากคิดว่ามีความพร้อมและชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะให้การสนับสนุน ก็เตรียมการที่ประกาศตัวเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า การจัดตั้งหมู่บ้านเป็นความร่วมมือของกลุ่มคน 3 ส่วนด้วยกัน 1. มวลชนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้านเสื้อแดง แน่นอนว่าในหมู่บ้านหนึ่งๆชาวบ้านมีความแตกต่างกันในฐานะและอาชีพ ตั้งแต่ครัวเรือนยากจน ไปถึงผู้มีอันจะกินของหมู่บ้าน ตั้งแต่เกษตรกร ไปจนถึงข้าราชการ และผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่สิ่งที่พวกเขาเหมือนกันก็คือ ความชื่นชอบนโยบายพรรคเพื่อไทย นิยม พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร และเลือก ส.ส. เพื่อไทย ชาวบ้านหลายคนประเมินสอดคล้องกันว่า “คนเสื้อแดง” ในหมู่บ้านของพวกตน เป็นชนส่วนใหญ่ คือประมาณร้อยละ 80-90 ของประชากรหมู่บ้าน ในขณะที่แกนนำในระดับตำบลคนหนึ่งก็เห็นด้วยกับการประเมินนี้ กล่าวในเชิงข้อสรุปทางวิชาการ ผู้เขียนคิดว่ามวลชนชาวบ้านก็คือบรรดา “ชาวชนบทยุคใหม่” ตามที่นักวิชาการหลายๆท่านได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือ พวกเขาเป็นผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ยกระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และจำนวนมากปรับเปลี่ยนตัวเองสู่อาชีพในเศรษฐกิจแบบใหม่ มีการรับรู้ข่าวสาร และลีลาชีวิตที่คล้ายคลึงชนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็เป็นผลจากประสบการณ์ทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ในยุคของพรรคไทยรักไทย ที่ทำให้ได้เรียนรู้และเกิดความหวงแหนอำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กล่าวให้ชัดเจนขึ้น บรรดาชาวชนบทใหม่นี้เอง ก็คือ “คนเสื้อแดง” ที่นักวิชาการหลายท่านได้ให้อรรถาธิบายว่าพวกเขาคือใครและเป็นมาอย่างไร กระนั้นก็ดีผู้เขียนพบว่าชาวชนบทยุคใหม่ (หรือจะเข้าใจว่าคนเสื้อแดงก็ได้) โดยทั่วไป ก็ไม่ได้เป็นผู้ตื่นตัวทางการเมือง (active citizen) กันอย่างที่จินตนาการ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ก็สาละวนอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ชาวบ้านจำนวนมากไม่สนใจการเมือง แต่นิยมชมชอบในเรื่องอื่นๆอีกสารพัด ที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ซึ่งก็หมายความว่าพวกเขาไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองอย่างใกล้ชิด ไม่รู้และไม่เข้าใจประเด็นทางการเมืองที่ซับซ้อน แน่นอนว่าชาวบ้านมีบรรทัดฐานทางการเมืองแบบใหม่ แต่ก็เป็นความรู้สึกอย่างกว้างๆ เช่นไม่ชอบเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร ชมชอบพรรคเพื่อไทย ทักษิณ และการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะเข้าถึงข่าวสารมากขึ้น แต่ชีวิตของพวกเขาก็แวดล้อมด้วยแวดวงเพื่อนฝูง หรือเครือข่ายการเมืองในท้องถิ่น ที่คิดหรือรู้สึกอะไรคล้ายๆกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน รับฟังข่าวสารแบบเดียวกัน มีความเชื่อคล้ายๆกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งชาวบ้านก็มีความรู้สึกนึกคิดไปตามกระแสสังคมรอบตัว กล่าวเช่นนี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านไร้สติปัญญา เป็นไปตามกระแสสังคมอย่างไร้ความคิด หรือมักถูกชักจูงโดยไม่โต้ตอบ หากแต่ต้องการให้ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจชาวบ้านโดยคำนึงถึงเงื่อนไขและความซับซ้อนทางสังคม โดยไม่ด่วนสรุปภาพชาวบ้านแบบรวมๆตามที่ใจอยากเห็น ซึ่งเป็นปัญหาของการมีภาพอุดมคติต่อชาวบ้านอีกแบบหนึ่ง และก็จะเป็นปัญหาของการประเมินขบวนการคนเสื้อแดงดังจะกล่าวต่อไป 2.แกนนำในท้องถิ่น ในท้องถิ่นเราจะพบกับบรรดาบุคคลที่มีความกระตือรือร้นตื่นตัวทางการเมืองจำนวนหนึ่ง แน่นอนว่าพวกเขาเป็นผลผลิตของสังคมชนบทแบบใหม่ในทำนองเดียวกับกลุ่มแรก แต่ต่างกันที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้ตื่นตัวก้าวเข้ามานำการเปลี่ยนแปลง บรรดาคนเหล่านี้เองคือแกนนำในเครือข่ายคนเสื้อแดงที่ผลักดันการเคลื่อนไหวต่างๆ พวกเขาจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งในการเคลื่อนไหวของขบวนการคนเสื้อแดง ในสังคมชนบทเราจะพบว่ามีคนเหล่านี้มากขึ้น คาดว่ามีประมาณร้อยละ 20-30 ของประชากรในหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ การเพิ่มขึ้นของคนเหล่านี้ผู้เขียนเสนอว่าเกิดขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของ “พื้นที่”ทางเศรษฐกิจการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงการเกิดความคึกคักของการทำมาหากินและทำธุรกิจต่างๆ พร้อมกับความเปิดกว้างในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองมากขึ้น ดังที่เราจะพบว่าแกนนำในท้องถิ่นส่วนใหญ่คือผู้คนที่เข้าทำกิจกรรม เพื่อปกป้องหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเขา และเขาก็พบว่าการเข้าไปสู่เครือข่ายการเมืองหรือเล่นการเมืองจะเอื้อต่อความมั่งคั่งของตน กล่าวอีกนัยหนึ่ง แกนนำในท้องถิ่นก็คือ “ผู้ประกอบการทางการเมือง” (political entrepreneurs) ประเภทหนึ่ง การมองพวกเขาในฐานะผู้ประกอบการทางการเมืองในที่นี้ ไม่ได้ใช้ในความหมายลบ แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นการใช้โอกาสตามระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่ม และไม่จำเป็นต้องหมายถึงการโกงกินคอรัปชั่น (ทั้งนี้คนชั้นกลางและคนชั้นสูงก็แสวงหาประโยชน์ในทำนองนี้และทำมานานแล้ว) ผู้เขียนคิดว่าการมองพวกเขาในฐานะผู้ประกอบการทางการเมือง ยังจะช่วยให้เข้าใจลักษณะธรรมชาติของพวกเขาคือ การร่วมมือกันในขณะเดียวกันก็แข่งขันกันเอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจในภาวะที่โครงสร้างตลาดไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร ในที่นี้ก็คือพวกเขาก็แข่งขันกันที่จะเข้าถึงการได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูหรือบำเหน็จรางวัลจาก “นายใหญ่” หรือ “พรรค” ซึ่งจะเป็นทุนสำหรับอาชีพหรือสถานะทางการเมืองของพวกเขาต่อไป ผู้เขียนรู้จักกับแกนนำในท้องถิ่นหลากหลายคน บางคนเป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง (หัวคะแนนก็เป็นการประกอบการทางการเมืองแบบหนึ่ง ดังลุงคนขับแท็กซี่คนหนึ่ง ทำงานรับใช้ ส.ส. มานาน รางวัลที่ภูมิใจก็คือเจ้านายผ่อนรถแท็กซี่ให้มาขับ) บางคนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เซลล์ขายของเงินผ่อน เจ้าของร้านขายต้นกล้ายางพารา ผู้จัดการหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดการบริษัทเดินรถโดยสาร เจ้าของร้านเกมส์ เจ้าของอู่ซ่อมรถ ในกรณีของการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงที่บุญฑริก เกิดจากเครือข่ายแกนนำระดับอำเภอและตำบลที่เข้มแข็ง การสนทนากับแกนนำระดับตำบลท่านหนึ่งที่มีบทบาทในการจัดงานพิธีมอบป้ายหมู่บ้านครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า เขารักทักษิณเพราะเงินทุนกองทุนหมู่บ้านที่เขายืมมาซื้อหม้อต้มก๋วยเตี๋ยวทำให้เขาตั้งตัวได้ ปัจจุบันเป็นเจ้าของสวนยางพาราหลายสิบไร่ ในการชุมนุมเมื่อปี 2553 เขาไปอยู่ร่วมชุมนุมตลอด เมื่อกลับมาก็ยังทำงานสร้างความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงในตำบลอย่างต่อเนื่อง เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ส.ส. เพื่อไทยเขตนี้ต้องมาหาเขา มาขอให้ช่วยหาคะแนน เขาเป็นหัวคะแนนที่ ส.ส. ต้องมาขอความช่วยเหลือ และเป็นผู้บอกว่า ส.ส. ควรจะต้องทำอะไรให้ประชาชน และเขาบอกว่ากำลังเตรียมตัวลงสมัครแข่งขันสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ในตำบลที่อยู่ในสมัยเลือกตั้งครั้งต่อไป เหนือจากแกนนำในพื้นที่ระดับตำบลและอำเภอ แกนนำพื้นที่ได้ประสานงานแกนนำระดับจังหวัด ในช่วงปี 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงในอุบลมีอยู่ 7-8 กลุ่ม หลังจากนั้นก็สลายตัวและฟอร์มตัวกันใหม่ กลุ่มคนเสื้อแดงระดับจังหวัดนี้เป็นหนึ่งใน 3-4 กลุ่มในปัจจุบัน มีแกนนำเป็นเจ้าของร้านอาหารมีชื่อแห่งหนึ่ง ร่วมด้วยคณะทำงานที่เป็นนักธุรกิจชนชั้นกลางในจังหวัดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลายคนก็เคยอยู่ในสังกัดกลุ่มแดงกลุ่มอื่นๆมาก่อน เป็นที่รู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงอุบลไม่ได้เป็นเอกภาพ แต่ทำงานแข่งขันกัน เมื่อปลายปีที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดง โดยเชิญระดับนำของ นปช. มาเป็นประธาน แต่ก็ถูกเยาะเย้ยจากกลุ่มอื่นว่าหมู่บ้านที่เปิดไปก็ไม่เวอร์ค ในครั้งนี้ในพิธีที่บุญฑริก แกนนำสามารถประสานระดับนำปีกหนึ่งในพรรคเพื่อไทยมาเป็นประธานได้ และประกาศว่ามีแผนจะเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงเพิ่มอีกนับร้อยหมู่บ้าน ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มีแนวทางเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดง แต่ประสานงานกับปีกหนึ่งของพรรคเพื่อไทย และทำงานจัดตั้งมวลชนในรูปแบบอื่น 3. ส่วนนำระดับประเทศ ส่วนนำระดับประเทศในที่นี้หมายถึง พรรคเพื่อไทย และ นปช. ซึ่งทั้งสองต่างก็มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจาก พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในพรรคเพื่อไทย และใน นปช. ต่างก็มีกลุ่มก้อนหลายฝักฝ่ายไม่ได้เป็นเอกภาพ และอีกนัยหนึ่งพวกเขาก็เป็น ผู้ประกอบการทางการเมืองในระดับนำ ที่ใกล้ชิดหรือแอบอิงอำนาจรัฐ เมื่อมองจากสายตาของแกนนำในท้องถิ่น ส่วนนำในระดับประเทศ ก็คือศูนย์อำนาจที่พวกเขาคาดหวังเข้าไปแอบอิงอำนาจ ไต่เต้าเข้าไปสู่วงใน และดึงความช่วยเหลือมาสร้างฐานเสียงบารมีและผลประโยชน์ในท้องถิ่นให้กับพวกตน ส่วนเมื่อมองมาจากส่วนนำในระดับประเทศ แกนนำในท้องถิ่นก็คือเอเย่นต์ที่จะควบคุมฐานมวลชนในท้องถิ่นให้กับส่วนนำในระดับประเทศ ในการจัดพิธีมอบป้ายคนเสื้อแดงในครั้งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงระดับจังหวัดได้ประสานงานกับปีกหนึ่งในพรรคเพื่อไทย โดยมี ส.ส. พรรคเพื่อไทยประจำเขตเลือกตั้งนี้เป็นผู้เชื่อมต่อกับพรรค และ ส.ส. ท่านนี้ก็เป็นผู้อุปถัมภ์การจัดงานครั้งนี้ เป้าหมายของการจัดตั้งหมู่บ้าน และ มาตรา 112 เป้าหมายของหมู่บ้านเสื้อแดง นอกเหนือจาก “เพื่อประชาธิปไตย” (ซึ่งผู้เขียนพยายามสอบถามหานโยบายหรือแผนกิจกรรมที่ชัดเจนของพวกเขา แต่ก็ไม่มีคำตอบ) ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือความภาคภูมิใจแล้ว ผู้เขียนพบว่ามียังเป้าหมายทางการเมืองบางประการ ดังนี้คือ ประการแรก การเข้าถึงโครงการและงบประมาณของรัฐ พบว่าแรงจูงใจที่เป็นชิ้นเป็นอันของการรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงสำหรับชาวบ้านก็คือ โอกาสเข้าถึงสิ่งดีๆสำหรับพวกเขาจากรัฐบาล โครงการที่กล่าวถึงกันมากในช่วงนี้ก็คือ กองทุนพัฒนาสตรี และกองทุนหมู่บ้าน S M L ซึ่งเป็นงบประมาณก้อนใหม่ที่รัฐบาลจะผลักดันลงมา นอกจากนั้นยังมีงบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะผ่านมายังองค์กรส่วนท้องถิ่นตามแผนงบประมาณประจำปี อีกทั้งยังมีมีงบพัฒนาจังหวัดที่จะผ่านทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด อีกส่วนหนึ่งก็งบประมาณของส่วนกลางผ่านกระทรวงต่างๆ มาทำโครงการของกระทรวงในพื้นที่ ในทางหลักการงบประมาณเหล่านี้จะลงสู่หมู่บ้านโดยเสมอภาคกัน แต่ในทางปฏิบัติหากหมู่บ้านใดมี “ความพร้อม” ก็ย่อมมีโอกาสมากกว่า ประการที่สอง การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำท้องถิ่นกับแกนนำระดับประเทศ การจัดตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดงอาจเรียกว่าเป็นการสร้างผลงาน เพราะเป็นการจัดตั้งฐานมวลชนที่หนาแน่นให้แก่พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชิตวัตร ความสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นโอกาสไปสู่ความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในลำดับต่อไป ประการที่สาม การเป็นฐานการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และ นปช. แม้ว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและ นปช. จะไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันซะทีเดียว แต่เป้าหมายการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาคือการปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากที่ผู้เขียนติดตามการปราศรัยในเวทีภูมิภาค และการรับฟังสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ซึ่งเป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อมวลชนคนเสื้อแดงพบว่า ยุทธศาสตร์การปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้เกิดแนวการนำเสนอข้อมูลต่อมวลชนดังนี้คือ 1) ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล เช่นโครงการจำนำข้าว การเร่งรัดเอาผิดผู้สั่งการคดีสังหารคนเสื้อแดง การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง การแก้ไข พรบ.กลาโหม 2) โต้ตอบการโจมตีของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม การปลุกให้คนเสื้อแดงระวังการรัฐประหาร และ 3) การเคลื่อนไหวสร้างประชาธิปไตย ด้วยการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ล่าสุดมีการรณรงค์ให้มวลชนเสื้อแดงลงชื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการจัดเวทีการปราศรัยใหญ่ในจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน และประกาศจะมีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงอีกนับพันแห่งในภาคอีสาน ผู้เขียนได้สอบถามคนเสื้อแดงที่บุญฑริกเรื่อง การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญา 112 การถูกจับกุมของผู้ถูกกล่าวหาหลายคนในคดีนี้ และกรณีคนเสื้อแดงที่ยังถูกคุมขังอีกนับร้อยสืบเนื่องจากกรณีพฤษภาคม 2553 คำตอบที่ได้ไม่น่าประหลาดใจ เพราะการรับฟังสื่อกระแสหลักของพวกเขาและข่าวสารในเครือข่ายการเมืองของพวกเขา ทำให้พบว่า มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากไม่รู้ว่า ม.112 คืออะไร หรือบางส่วนเคยได้ยินแต่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ส่วนแกนนำระดับท้องถิ่น ซึ่งมีโอกาสและทางเลือกในการติตามข่าวสารมากขึ้น พวกเขาบอกว่ารู้เรื่อง ม.112 รู้จักคณะนิติราษฎร์ ติดตามข่าวผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่พวกเขาส่วนใหญ่กล่าวเหมือนกันว่า แม้จะเห็นข้อดีของแก้ไข ม. 112 แต่ไม่ขอแสดงการสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและสุ่มเสี่ยงโดยไม่จำเป็น การมีท่าทีไม่สนับสนุนการแก้ไข ม.112 ได้กลายเป็นญัตติร่วมของคนเสื้อแดง อย่างน้อยก็ในส่วนที่อยู่ในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย และ นปช. ดังที่กล่าวมา ในบางโอกาสการปลุกความกลัวรัฐประหาร และการไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจประเด็นปัญหากรณี ม.112 อย่างจริงจัง ทำให้นักปราศรัยบางคนถึงกับกล่าวโทษว่า พวกแก้ไข ม. 112 จะต้องรับผิดชอบหากเกิดรัฐประหาร และบางคนถึงกับประกาศข่มขู่ว่าพวกแก้ไข ม. 112 อย่ามา “เกาะ” เวทีคนเสื้อแดง เป็นที่น่าเสียดายว่า “ไฟ” แห่งการเปลี่ยนแปลงที่จุดขึ้นโดยคณะนิติราษฎร์และพันธมิตรในขณะนี้ ถูก “ดับ” โดยพลังมวลชนที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จากพลังก้าวหน้าสู่อนุรักษ์นิยม บทความนี้ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นกลุ่มพลังใหม่ทางการเมืองในชนบท (ที่จริงยังมีชาวชนบทส่วนหนึ่งกลายเป็นคนชายขอบผู้ไร้อำนาจและได้รับความเดือดร้อนแต่ยังไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้) และได้เสนอให้มองแกนนำขบวนการคนเสื้อแดงในฐานะ ผู้ประกอบการทางการเมือง ซึ่งผู้เขียนมองในแง่ดีว่า เป็นการเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจการเมือง จากพัฒนาการที่ดีของประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสกว้างขวางให้กับชาวบ้านสามัญชนทั่วไป การมองเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง ยังจะทำให้เราเข้าใจพลวัตการเคลื่อนไหวของขบวนการคนเสื้อแดงในท้องถิ่น เข้าใจแรงผลักดัน และความมุ่งมาดปรารถนาของแกนนำในการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย กระนั้นก็ดีประวัติศาสตร์มักจะเล่นตลกเสมอ เมื่อเรามองไปที่การเมืองของพรรคเพื่อไทย และ นปช. ซึ่งเป็นส่วนนำระดับประเทศของคนเสื้อแดง เป็นที่รับรู้กันดีว่าส่วนนำได้เลือกเดินแนวทางประนีประนอมกับฝ่ายอำมาตย์ ดังท่าทีที่ออกมาของทักษิณ ชินวัตร ผู้นำและคณะรัฐบาล รวมทั้ง นปช. กรณีล่าสุดที่งานเลี้ยงเดินหน้าประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งไม่เกรงใจความเป็นความตายที่ผ่านมาไม่นานนี้ อาจทำให้หลายๆคนคิดว่ากำลังฝันร้าย แน่นอนมีเหตุผลมากมายของนักเคลื่อนไหวที่ต้องเลือกการประนีประนอม แต่ที่สำคัญผู้เขียนเสนอว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการทางการเมือง เพราะตั้งแต่ส่วนนำสูงสุด ไปจนถึงแกนนำในท้องถิ่นในทุกหัวระแหง ไม่ต้องการแตกหัก ไม่ต้องการสถานการณ์ที่ปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะในขณะนี้พวกเขากำลังเติบโตไปได้ดีกับระบบที่เป็นอยู่ การเคลื่อนไหวเชิงหลักการประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งจำเป็น ขอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเวลาบริหารงานไปเรื่อยๆ งบประมาณต่างๆกำลังลงมาในชนบท แกนนำในท้องถิ่นหลายๆคนกำลังได้รับโอกาสดีๆ ขณะที่ข้างบนกำลังเกี้ยเซี้ยะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ก้อนโต แต่การประนีประนอมมีราคาสูงลิ่วที่ต้องจ่าย โดยเฉพาะสำหรับหุ้นส่วนทางการเมืองที่ทุ่มเททั้งชีวิตในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ภายใต้การประนีประนอมเราจะหวังอะไรได้กับการแก้ไข พ.ร.บ. กลาโหม การเอาผิดผู้รับผิดชอบสั่งการสังหารผู้ชุมนุม หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่มีการยื่นข้อแลกเปลี่ยนกันในวงใน การแกไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบจะทำได้จริงหรือ และประชาชนจะสามารถแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ หรือว่านี่คือการแบ่งผลประโยชน์มโหฬารกันระหว่างกลุ่มทุนในสังกัดเพื่อไทย กลุ่มทุนเก่า และระบบราชการ และต้นทุนที่แพงที่สุดก็คือการแลกกับโอกาสการถกเถียงผลักดันประเด็นหลักการสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย เพราะภายใต้การประนีประนอม รัฐบาลต้องสวมบทบาทเอาใจพวกกษัตริย์นิยมอย่างออกหน้าออกตา เช่น การปิดกั้นข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นทางสื่อต่างๆ การแสดงท่าที่ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะไม่แตะต้อง ม.112 ไปจนถึงการข่มขู่คุกคามกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้ ผลที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลเพื่อไทยและขบวนการคนเสื้อแดงได้กลายเป็นพลังอนุรักษ์นิยม ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า ไม่เพียงไม่สนับสนุน แต่ยังปิดกั้น คุกคาม และทำลายความน่าเชื่อถือของการเคลื่อนไหวที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นหัวใจของปัญหาความสัมพันธ์ในสังคมไทย การรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 กลายเป็นเรื่องไม่บังควร ถูกปิดกั้นข่มขู่ การรณรงค์ให้ได้รับสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งได้รับความสนใจในนานาประเทศ กลับได้รับความสนใจน้อยมากจากรัฐบาลและคนเสื้อแดง ยังไม่นับนักโทษการเมืองผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ และความจริงอีกจำนวนมากที่จะต้องสะสาง ผู้เขียนตระหนักดีว่าคนเสื้อแดงมีกลุ่มย่อยๆแตกต่างหลากหลายกลุ่ม แต่กำลังวิจารณ์คนเสื้อแดงกระแสหลักที่อยู่ในอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยและ นปช. น่าเสียใจและน่าอนาถใจว่าเหตุการณ์เสียเลือดเนื้อครั้งใหญ่ ไม่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สมคุณค่า ล่าสุดมีการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดงในอีสานแล้วกว่าหนึ่งหมื่นหมู่บ้าน แต่เรื่องตลกคือหมู่บ้านเสื้อแดงไม่ได้มีความก้าวหน้าอย่างที่คาดหวังกัน และการเคลื่อนไหวจัดเวทีของคนเสื้อแดงถี่ยิบในภูมิภาคในขณะนี้จะไม่มีความหมายก้าวหน้าใดๆ หากแต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นเพียงการแสดงพลังระรอกใหม่ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ในสังคมไทยเท่านั้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net