Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

-1- ย้อนไปสมัยเรียนปริญญาตรีเมื่อหลายสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งหนึ่งต้องลงเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ฉันจำได้แม่นยำว่านักศึกษาทุกคนต้องผ่านตาคำพูดหนึ่งของ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ที่พูดไว้ว่า “Quality means doing it right when no one is looking\ ซึ่งคำพูดนี้เป็นที่มาของ “วิถีการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism)” บริษัท Ford เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่มากในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) โรงงานผลิตรถยนต์แห่งนี้มีคนงานสูงกว่าหนึ่งหมื่นคน แต่กลับพบว่ามีการประท้วงของคนงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งมีคนงานเข้าร่วมถึงแปดพันกว่าคน ที่นี่มีคนงานหมุนเวียนเข้าออกจากงานมากถึงห้าหมื่นกว่าคน เนื่องเพราะอัตราการลาออกอยู่ในระดับที่สูงมาก ฉันไม่รู้ว่าขณะนั้นในฐานะ CEO บริษัท Henry Ford คิดอะไรอยู่ พอๆกับ Walter Reuther ประธานสหภาพแรงงานที่ต้องดูภาพคนงานที่เดินเข้าออกจากโรงงานเป็นว่าเล่น อย่างไรก็ตาม 5 มกราคม ค.ศ.1914 Henry Ford ตัดสินใจประกาศขึ้นค่าจ้างให้คนงานหนึ่งเท่าตัวจากที่เคยได้รับจากเดิม พร้อมๆไปกับการลดชั่วโมงทำงานของคนงานลง คำประกาศดังกล่าวในช่วงเวลานั้นได้สร้างความตกตะลึงให้แก่สังคมทุนนิยมอเมริกันอย่างมโหฬาร กำไรของบริษัท Ford ทะยานขึ้นอย่างก้าวกระโดด อัตราการลาออกของคนงานลดลงจากเดิมเหลือเพียงหนึ่งในสิบ ขณะที่อัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าตัว เกิดอะไรขึ้นเมื่อ “นายทุน” ตัดสินใจยอมลด “กำไร” หรือ “ส่วนเกิน” เพื่อขึ้นค่าจ้างให้คนงาน หรือนี้คือการนำมาซึ่ง “กำไร” ที่สูงกว่าในอนาคต Henry Ford รู้ดีว่า การ “จ่ายงาม” มักมาพร้อมกับ “งานที่ดี” ที่จะได้กลับคืนมาในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเครื่องบังคับทางอ้อมให้ลูกจ้างต้องขยันทุ่มเททำงานหนักเพื่อรักษางานนี้ไว้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่างานอื่นๆ ความขยันทำงานหนักของลูกจ้างจึงส่งผลประโยชน์ให้นายจ้างในบั้นปลาย รวมทั้งยังสามารถทำให้คนงานในโรงงานสามารถซื้อรถฟอร์ดที่โรงงานผลิตออกมาได้อีกด้วย -2- แม้ฉันจะเป็นลูกทะเลที่คุ้นชินกับกลิ่นทะเลมาแต่อ้อนแต่ออก แต่กลิ่นคาวของปลา ปลาหมึก กุ้งสดๆ ที่สะพานปลาแห่งนี้ กลับชวนให้คลื่นเหียนและต้องรีบวิ่งออกไปอาเจียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดแรง ที่นี่เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ากว่า 300 คน ที่จ้างงานด้วยค่าแรงไม่ถึง 150 บาทต่อวัน ภาพของการใช้รองเท้าบู้ทย่ำและเหยียบไปบนอาหารทะเลสดๆเหล่านี้ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคอย่างฉัน ทำให้คนโปรดปรานอาหารทะเลไม่กล้าแตะไปอีกหลายเดือน ด้วยค่าแรงต่ำต้อยเพียง 150 บาท แลกกับการทำงานตั้งแต่ตี 3 จนถึง 3 โมงเย็น กว่า 12 ชั่วโมง แม้จะเป็นที่โปร่ง แต่กลับอับชื้น และเต็มไปด้วยกลิ่วคาวคละคลุ้งของฟอร์มาลีนซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บางแพมีการแอบใช้แรงงานเด็ก อีกหลายคนก็ต้องทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเรือเข้าติดๆกันยิ่งไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุด แต่แรงงานข้ามชาติทุกคนกลับต้องยอมอดทนและก้มหน้ารับชะตากรรมที่ไม่ได้ร้องขอนี้ การลงแรงทำงานหนักไม่ได้ช่วยให้นายทุนเพิ่มค่าแรงให้แต่อย่างใด ดูเหมือนว่าการทำงานแต่ละวันๆเพื่อให้เวลาเดินผ่านไปเร็วที่สุดเป็นทางเลือกที่หล่อเลี้ยงความหวังของแรงงานที่นี่ หลายต่อหลายครั้งที่เรือลำแล้วลำเล่าแล่นเข้ามาเทียบท่า สองมือก็ระวิงไม่ได้หยุดพัก รถรับส่งอาหารทะเลจากโรงแรมคันแล้วคันเล่าทยอยเข้ามารับของไม่ขาดสาย แต่ค่าแรงคนงานก็กลับคงที่เท่าเดิมและกลายเป็นเรื่องปกติของนายจ้างแถบนี้ไป “ดำ” แรงงานข้ามชาติชาวมอญที่ทำงานที่นี่มากว่าสิบปีแล้ว เล่าให้ฉันฟังว่า “ถ้าผมมีบัตรถูกกฎหมาย ผมไม่อยู่ที่นี่แล้วพี่ แม้ผมจะขยันทำงานมาก แพปลามีอาหารทะเลส่งออกไปตามร้านอาหารใหญ่ๆมากขึ้น แต่ชีวิตพวกผมก็เหมือนเดิม ค่าแรงเท่าเดิม จะทำมากทำน้อยไม่ต่างกัน ค่าแรงเท่ากับการทำงานตามมีตามเกิด พวกผมถึงทำไปแบบให้หมดเวลาไปวันๆ งานอย่างนี้ไม่มีคนไทยคนไหนมาทำหรอก ถ้าไม่จ้างพวกผม เจ๊จะไปจ้างใครมาทำ ไม่มีหรอกครับ แม้ขยันทำงานมาก หนัก ทุ่มเท ทำให้แพได้กำไรมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยตกถึงพวกผมแม้แต่น้อย ที่พี่เห็นหลายคนใช้เท้าเหยียบไปบนอาหารทะเล เพราะไม่มีใครอยากใช้มือหรอกครับ กลัวฟอร์มาลีนกันทั้งนั้น และเจ๊ก็ไม่สนใจอยู่แล้ว ขอมีอาหารทะเลส่งออกเป็นพอ พวกผมมีหน้าที่ใช้เท้าคัดแยกเป็นกองๆตามขนาดอย่างเดียว ที่เหลือเจ๊ก็ไปจัดการเอาเอง สกปรก ไม่สกปรก กินได้ กินไม่ได้ ผมไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของผม” -3- “ปิดกิจการ ปลดคนงาน ย้ายฐานการผลิต ภาคธุรกิจกระอัก แรงงานตกงาน นายทุนพังแน่” การเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรแทนคนงานมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นห่วงอนาคตแรงงานไทยที่อาจจะลำบากในการหางาน แม้ว่าระยะสั้นนี้จะยังไม่เกิดปัญหาก็ตาม (นายพากร วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) หากเป็นไปได้รัฐบาลควรจะชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดนำร่อง เม.ย.55 นี้ออกไปอย่างน้อยสิ้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ประสบภาวะน้ำท่วม เนื่องจากคาดว่า มิ.ย.55 โรงงานต่างๆจึงจะกลับมาฟื้นตัวผลิตได้ 100% ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจไม่สามารถรักษาคนงานเอาไว้ได้ หากมีการขึ้นค่าแรงซ้ำ (นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ผู้ประกอบการในนิคมฯ ภาพรวมยังคงจ่ายค่าแรง 75% แม้ว่าจะยังไม่กลับมาผลิตเพราะต้องรอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ร้องผ่านมาเพื่อเสนอให้รัฐได้พิจารณาช่วยเหลือในการชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันออกไปก่อน เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ลงทุนอย่างมาก (นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรประธานกรรมการบริหาร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี่) โรงงานประสบน้ำท่วมในนิคมฯสหรัตนนคร คาดว่าจะเดินเครื่องผลิต 1 มี.ค.55 แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายเงินเดือนพนักงานเต็ม 100% อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น หากรัฐบาลชะลอออกไปได้ก็จะดีต่อภาพรวมของนักลงทุน (นายยาสุโนริ ซาคูไร ประธาน บริษัททีเอสเทค ประเทศไทย จำกัด) -4- แง่คิดจากเวทีเสวนาเรื่อง “มหาอุทกภัยจากไป คำถามต่อชะตากรรมและอนาคตแรงงานหญิง?” เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2555 จัดโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และจากการแลกเปลี่ยนกับผู้นำแรงงานบางท่าน [2] ชี้ชวนให้ตระหนักชัดในอีกมุมของความจริงที่บางครั้งหลงลืม-ละเลย-และไม่พยายามมองเห็นว่า (1) การที่ลูกจ้างยิ่งได้รับค่าจ้างสูงและเป็นค่าจ้างที่มีความเป็นธรรม มากพอที่ตัวเองและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคตามมา เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น แต่สินค้าก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น และสินค้าก็ขายได้มากขึ้น เพราะแรงงานมีอำนาจซื้อสูงขึ้น (2) ค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพียงเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานราคาถูกหรือกดค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องมาพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานควบคู่กันไป เช่น การลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net