Skip to main content
sharethis

ศาลสืบพยานนัดแรกคดีปีนสภา สมัย สนช.ค้านออกกฎหมายอันตราย ‘มีชัย ฤชุพันธุ์-วัลลภ ตังคณานุรักษ์-เตือนใจ ดีเทศน์’ เบิกความฐานะพยานโจทก์ ประธาน สนช.ยัน สนช.มีหน้าที่ออกกฎหมาย โดยการรับรองของ รธน.

วานนี้ (21 ก.พ.55) ที่ศาลอาญารัชดาภิเษก ห้อง 801 มีการสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีหมายเลขดำ อ.4383/2553 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน กรณีเหตุการณ์ในปี 2550 ที่ผู้ชุมนุมนับพันคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เร่งผ่านกฎหมายสำคัญก่อนหมดวาระ อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ฯลฯ โดยมีการปีนรั้วเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา
 
 
 
ภาเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 อันเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องคดี
 
คดี ดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 โดยฟ้องร้องว่า ผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, มาตรา 362 เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, มาตรา 364 เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก, มาตรา 365 ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364
 
‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ยัน สนช.มีหน้าที่ออกกฎหมาย โดยการรับรองของ รธน.
 
นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง เบิกความต่อศาลว่า สนช.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นช่วงที่ สนช.ทำการออกกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่ดำเนินการ การเลือกตั้งก็จะไม่สามารถทำได้ ส่วนรัฐบาลในขณะนั้นและ สนช.ก็จะต้องอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น สนช.ก็ได้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 50 อย่างครบถ้วน
 
สำหรับ ในวันเกิดเหตุ สนช.เข้าร่วมครบองค์ประชุม และต้องเลิกการประชุมเพราะคิดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะมีความปลอดภัย เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมาปิดทางเข้าออกห้องประชุม โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายบางฉบับของ สนช. เช่น ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งกฎหมายนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้แสดงความประสงค์ และให้ สนช.เป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวเห็นว่าหากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ควรไปโน้มนาวให้ทางจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเปลี่ยนใจ หรือคุยกับสมาชิกสภาเป็นรายบุคคลเพื่อให้มีความเห็นคล้อยตาม การห้ามไม่ให้ สนช.ทำหน้าที่นั้นเป็นไปไม่ได้
 
 
ชี้กฎหมายออกโดย สนช.แก้ได้ แต่ผ่านมา 5 ปียังบังคับใช้
 
เมื่อ ทนายจำเลยซักค้านถึง กรณีที่ นายมีชัย เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ.2535) ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2534 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเสียงค้านจำนวนมากเนื่องจากมาคณะปฏิวัติ (รัฐธรรมนูญฉบับ ร.ส.ช.) โดยนายมีชัยเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง ร่วมทั้งการบัญญัติกฎหมายนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ขณะนั้นมีความพยายามในการปฏิรูปการเมือง ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจึงนำมาสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนอันถือเป็นวิธีการ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
 
นาย มีชัย กล่าวตอบคำซักค้านด้วยว่า ตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยสันติวิธี แต่ สนช.มีขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และได้ทำหน้าที่ออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ถึงปัจจุบัน โดยที่กฎหมายให้ สนช.ทำหน้าที่ดังกล่าวในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย นอกจากนั้น กฎหมายลูกที่ออกโดย สนช.ได้บังคับใช้มาถึง 5 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีใครเสนอแก้กฎหมายดังกล่าวแต่อย่างไร ซึ่งผู้คัดค้านสามารถทำได้
 
“การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ใครเห็นด้วยได้” นายมีชัย กล่าว
 
ประธาน สภา สนช.กล่าวถึงกฎหมายต่างๆ ที่ถูกคัดค้านว่า กฎหมายเหล่านั้นเป็นเรื่องยากของ สนช. โดยหลายเรื่องเป็นเรื่องที่องค์กรพัฒนาเอกชนเรียกร้องให้ทำ ขณะที่มีคนอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้ทำ แต่สิ่งที่ทำให้ สนช.เชื่อว่าเป็นความต้องการของคนจำนวนมาก เพราะมีการพูดคุยจนรัฐบาลตกลงให้มีการเสนกฎหมายนั้น ส่วนกฎหมายพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพยากรน้ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล
 
ส่วน ประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องที่ประชาชนเป็นกังวล นายมีชัย กล่าวว่า การพิจารณาใน สนช.ไม่ได้ละเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงออกหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่ทราบว่ามีการชี้แจงของ สมาชิก สนช.ต่อข้อกังวลต่างๆ หรือไม่ และไม่ทราบว่ามีการเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาออกกฎหมายสำคัญต่างๆ
 
‘ครูหยุย’ รับไม่เห็นด้วยกฎหมายบางฉบับ เหตุเวลากระชั้น ทำพิจารณาไม่ถี่ถ้วน
 
 
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เบิกความต่อศาลโดยสรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด แต่เป็นผู้ทำหน้าที่ประสานนายนายมีชัยเพื่อไปพูดคุยกับกลุ่มผู้คัดค้านที่ รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าห้องประชุมชั้น 2 อาคารหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการประชุมสภาผ่านร่างกฎหมายหลายฉบับ เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกับผู้ชุมนุมบางคน คือ นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายศิริชัย ไม้งาม นายไพโรจน์ พลเพชร และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง อีกทั้งยังรับที่จะนำข้อเอาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปเสนอยังที่ประชุม
 
นาย วัลลภกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมระบุข้อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายออกไปก่อน ซึ่งเมื่อนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพูดคุยในที่ประชุม สนช.และเสนอให้พักการประชุม หลังจากนั้นก็มีการยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งตนเองไม่ทราบเหตุผล แต่โดยปกติการยกเลิกการประชุมจะเกิดขึ้นเมื่อองค์ประชุมไม่ครบ หรือประธานในที่ประชุมสั่งยกเลิก อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าหากไม่มีการชุมนุมในวันนี้แล้วการประชุมจะดำเนินไป โดยปกติหรือไม่ เนื่องจากส่วนตัวไม่พึงพอใจกฎหมายหลายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณา และคิดว่าจะทำการเสนอให้นับองค์ประชุม
 
ส่วนเหตุผล ที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับการผ่านกฎหมายบางฉบับนั้น นายวัลลภกล่าวว่า สนช.มีกฎหมายจำนวนมากต้องพิจารณา และกฎหมายหลายฉบับไม่สมควรให้ผ่านไปได้โดยง่าย แต่ระยะเวลาที่จำกัดทำให้ไม่มีการกลั่นกรองโดยถี่ถ้วน ในขณะที่คนบางกลุ่มที่เสนอกฎหมายของตนเองได้ ก็พยายามเร่งรัดให้กฎหมายของตนเองผ่านการพิจารณา นอกจากนั้นยังห่วงเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างจากการออกกฎหมาย บางฉบับ เช่น กฎหมายทรัพยากรน้ำ และการแปรรูปรับวิสาหกิจ
 
นอก จากนั้น นายวัลลภยังเห็นด้วยที่สภารักษาการอย่าง สนช.ไม่ควรพิจารณากฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเวลากระชั้นชิด เพราะในขณะนั้นมีกฎหมายลูกออกมาเพื่อรองรับการเลือกตั้งแล้ว และใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่
 
พยานโจทก์เผยการชุมนุมไม่รบกวน ไม่มีความรุนแรง
 
นาย วัลลภ กล่าวด้วยว่า ปกติการเคลื่อนเรื่องกฎหมายมี 2 ทาง คือในสภาและนอกสภามาโดยตลอด และในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถร่วมแก้ไขกฎหมายได้ 3 ทาง คือ 1.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2.การร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวของกับการพิจารณากฎหมาย 3.ตามกฎหมายระบุให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง กฎหมายในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำกฎหมายสำคัญหลายฉบับ
 
สมาชิก สนช.ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในวันเกิดเหตุว่า การชุมนุมในวันนั้นเป็นการเคลื่อนตัวปกติของขบวนการม็อบ ผู้ชุมนุมไม่มีใครเข้าไปในที่ประชุม ไม่มีเหตุรุนแรงจากการปะทะกัน และไม่มีการส่งเสียงรบกวนไปถึงในห้องประชุม ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นผลให้เกิดความหวาดกลัวจนต้องเลิก การประชุม
 
‘เตือนใจ ดีเทศน์’ เชื่อ สนช.ไม่รับข้อเรียกร้อง เพราะยังไม่ได้หารือจริงจัง
 
นาง เตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเบิกความต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุได้เสนอให้ปิดประชุมเพื่อให้เกิดการเจรจาและรับฟังความคิดเห็น ของกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุม เพราะเห็นว่าหากสภายังดื้อดึงที่จะประชุมต่อไปจะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ชาติ และเมื่อออกมาจากห้องประชุมก็เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมนั่งอยู่หน้าห้อง โดยได้เข้าไปพูดคุยกับนายจอน อึ๊งภากรณ์ และนายไพโรจน์ พลเพชร ซึ่งมีความรู้จักคุ้นเคยกันในฐานะคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งนี้ส่วนตัวมีความเห็นว่าหากมีการเจรจากันก่อนหน้านั้น ผู้ชุมนุมก็ไม่ต้องบุกเข้าพบ สนช.ถึงในอาคาร
 
นาง เตือนใจ กล่าวถึงการทำงานของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นตัวหลักในการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า กป.อพช.ทำงานด้วยความเสมอภาค รับฟังความเห็นของกันและกัน โดยมีผุ้ประสานงานเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย แต่ในเรื่องการสั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวใดๆ ไม่เคยทำได้ ในการชุมนุมจึงไม่มีผู้สั่งการ แต่มีผู้ทำงานเรื่องการสร้างความเข้าใจ ส่วนโฆษกบนรถเครื่องขยายเสียงไม่ใช่ผู้สั่งการ แต่การพูดส่วนใหญ่เป้นการให้ข้อมูลและขอความเห็นจากผู้ร่วมชุมนุม
 
อย่าง ไรก็ตาม การที่มีความพยายามรักษาความปลอดภัยในอาคารรัฐสภาอย่างเต็มที่ เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่หวั่นวิตกเรื่องความรุ่นแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่คนตื่นตัวในเรื่องนี้ แต่หากมีการประสานงานที่ดี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเชื่อว่าไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น
 
นาง เตือนใจกล่าวด้วยว่า การที่ สนช.ไม่รับข้อเรียกร้องให้ระงับการพิจารณากฎหมายนั้น เป็นเพราะยังไม่ได้มีการหารือกันอย่างจริงจัง และคิดว่าหากมีเวลามากพออยากเชิญภาคประชาชนเข้าหารือกับ สนช.เพื่อเสนอข้อวิตกกังวล
 
 
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาคดีในวันนี้ได้มีการนัดหมายนางพจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานในการประชุมขณะเกิดเหตุการณ์เข้าสืบพยานโจทย์ด้วย แต่นางพจนีย์ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งความฟ้องร้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และพวกรวม 10 คน ประกอบด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.
 
สำหรับกำหนดการพิจารณาคดี ฝ่ายโจทก์นัดสืบพยานทั้งสิ้น 24 ปาก ตั้งแต่วันที่ 21-24, 28-29 ก.พ.55 และ 1-2, 13-16 มี.ค.55 ส่วนฝ่ายจำเลยนัดสืบพยานทั้งสิ้น 24 ปาก ตั้งแต่วันที่ 20-23, 27-30 มี.ค.55 และ 3,5 และ 10 เม.ย.55

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net