Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ปิดแคมเปญแรก “ก้าวข้ามความกลัว” ซึ่งเป็นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นความรับรู้แก่สังคมในประเด็นปัญหาการบังคับ ใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีจำนวนผู้ถูกกล่าวหา จับกุมคุมขังมากขึ้นหลายเท่าตัวหลังการรัฐประหาร โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกรณีที่นายอำพล (สงวนนามสกุล) หรืออากง วัย 62 ปี ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่ง sms ที่มีข้อความเข้าข่ายละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 4 ข้อความไปยังเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ปวิน ได้รวบรวมเงินจากการเคลียร์บัญชีขายหนังสือรอบแรกจำนวน 35,000 บาท ไปมอบให้นางรสมาริน (สงวนนามสกุล) หรือป้าอุ๊ ภรรยาของอากง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังจากที่ทั้งสองได้เข้าเยี่ยมอากงเป็นเวลา 15 นาที

 

เป็นครั้งแรกทีได้เจอกับอากง ได้พบกันแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นครั้งแรกจริงๆ ครับ ตั้งแต่ผมเริ่มรณรงค์เรื่องอากงจริงๆ ผมก็คิดว่าผมมาช้าเกินไปนะครับ แต่ก็ในที่สุดแล้วก็ได้มาเยี่ยมจริงๆ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นต้องทำต่อไป

ผมได้พบอากงแล้ว อากงก็ทั้งดีใจด้วยที่ได้เจอกัน และก็ทั้งเสียใจด้วย ผมเห็นแกแล้วผมก็สะเทือนใจ แกก็ร้องไห้ อาจจะเป็นเพราะว่าแกก็ไม่ค่อยได้เจอใครนะครับ ผมก็ได้พยายามอธิบาย คุยกับอากงว่าการรณรงค์เป็นแบบไหน ไปถึงไหนแล้ว ผมทำได้อย่างเดียวคือให้กำลังใจแก บอกแกว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง อยากจะให้รู้ว่าคนที่อยู่ข้างนอกกก็ยังต้องการช่วยแกอยู่ และมันก็จะไม่จบแค่นี้นะครับ คือการต่อสู้มันต้องมีความหวัง และแกก็ฝากขอบคุณที่ได้ช่วยแก โดยเฉพาะขอบคุณโครงการที่เราทำร่วมกัน คือโครงการก้าวข้ามความกลัว และหนังสือที่เราทำขึ้นมา อากงก็ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า อากงได้หนึ่งเล่ม มีคนส่งให้อากง อากงก็ได้ดูและยังไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนทำหนังสือให้ เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำก็ยังได้อ่านด้วย แกก็หัวเราะออกมาได้นิดหนึ่ง

 

แคมเปญก้าวข้ามความกลัวก็จะยุติตรงนี้ใช่ไหม

เรียกว่า จบลง ณ ขั้นหนึ่งเท่านั้น แต่ผมคิดว่าผมอาจจะมีโปรแกรมอื่นๆ เกี่ยวกับอากงหรือนักโทษการเมืองอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร แต่ผมยังไม่อยากให้จบแค่นี้ รายได้ทั้งหมดอยากฝากบอกทางประชาไทด้วยว่าที่เราตั้งแต่แรกคือรายได้ทั้งหมด ที่ได้จากการขายหนังสือนั้นจะมอบให้กับครอบครัวอากง ซึ่งวันนี้ได้ทำไปแล้ว เราก็ได้มอบเงินส่วนหนึ่งในการขายหนังสือให้กับภรรยาอากง และก็จะมีส่วนต่อๆ ไป ที่จะนำมามอบให้ต่อไป แต่เรารวบรวมได้เท่านี้ ณ ตอนนี้ ก็อยากบอกว่ายังไม่จบแค่นี้ แต่ก็ติดตามกันต่อไปแล้วกันว่าจะมีอะไรมากขึ้นกว่านี้

 

พอจะบอกรายละเอียดรายได้ขณะนี้ได้ไหม

ครับ เงินก้อนแรกที่เรามอบให้ภรรยาอากงเป็นเงิน 35,000 บาท เป็นเงินที่ได้จากการขายหนังสือทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจัดพิมพ์ เท่านั้น แล้วไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งสิ้น ที่เหลือเรามอบให้ครอบครัวอากงจริงๆ แต่ว่ายังมีเงินที่เหลืออีกก้อนหนึ่งที่ยังติดด้านเทคนิคนิดหน่อย คือยังมีเงินบริจาคเข้ามาด้วย ซึ่งเราจะเก็บเงินบริจาคส่วนนั้นไว้ส่งมอบเป็นเงินก้อนที่สอง ผมจะจัดการรวบรวมเงินก้อนที่สองส่งให้กับทางครอบครัวอากงต่อไป ซึ่งผมจะบอกกับทุกคนเมื่อเวลานั้นมาถึง ก็ต้องขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งสำหรับคนที่ช่วยเหลือโครงการนี้

 

อากงนั้นเป็นหนึ่งในนักโทษและผู้ต้องหาในคดีอาญามาตรา 112 อาจารย์มองเห็นปัญหาที่เป็นลักษณะร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าประเด็นที่เราคุยกันอยู่นั้นเป็นประเด็นด้านการเมือง ถ้าเป็นประเด็นด้านความยุติธรรม หรือกระบวนการศาลผมยังไม่หนักใจเท่าไหร่เพราะมันมีกระบวนการของมัน แต่เมื่อมันเป็นประเด็นการเมืองแล้ว ผมรู้สึกหนักใจ เพราะเมื่อเป็นประเด็นการเมืองแล้ว มันก้าวข้ามความมีเหตุผล ไม่มีการใช้เหตุผลในการพิจารณา นี่ผมไม่ได้ว่าหรือตำหนิวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการศาลนะครับ แต่ผมต้องการบอกว่าเรื่องนี้มันกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะผมเชื่อว่าการใช้มาตรา 112 ทุกวันนี้ เป็นการใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น

ในบริบทนี้ผมขอกล่าวประณามคนที่ใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะนี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ และที่เหนือไปกว่านั้นที่ผมพูดแล้วพูดอีกคือเรื่องนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อ สถาบัน คุณอย่ามาอ้างว่าคุณใช้มาตรานี้ในการปกป้องสถาบัน เพราะสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม

กลับมาที่คำถามนี้ผมก็คิดว่านักการเมืองทุกคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่น นี้จึงต้องประสบกับความยากลำบากคล้ายๆ กัน ความยากลำบากเรื่องนี้มันเริ่มตั้งแต่วันแรกๆ จนกระทั่ง ผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งการจับกุม การประกันตัว การลงโทษ มันเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ผมเห็นความยากลำบากที่มีอยู่ข้างหน้า

และผมขอฝากนิดหนึ่งว่า สิ่งที่เราทำอยู่บางครั้งก็เหมือนดาบสองคม แม้ที่สิ่งที่เราทำอยู่จะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการจะช่วยเหลือก็ ตาม เพราะว่านี่เป็นประเด็นทางการเมืองอีกนั้นเอง พอกลายมาเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้แต่ละกรณียิ่ง ยากขึ้นมาก เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน และผมเชื่อว่าระบบศาลของเราก็ไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกมาสร้างความกดดัน มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่สำหรับพวกเราแล้ว เรามาไกลเกินกว่าจะถอยหลังไป มีอะไรทำเราคงต้องทำต่อไป

 

เนื่องจาก 112 ก็เกี่ยวพันกับการเมือง ตัวอาจารย์เองเผชิญกับการต่อต้านอะไรบ้างไหม

มันก็มีเป็นเรื่องปกติ ถึงแม้จะไม่ใช่มาตรา 112 เป็นเรื่องการเมืองทั่วไป ก็ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ผมไม่มายด์นะ ผมยินดีที่จะมีคนที่ไม่เห็นด้วย มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การที่คุณไม่เห็นด้วยต้องทำอยู่ในกรอบของความมีจริยธรรมและศีลธรรม ไม่ใช่ว่าจะใช้การข่มขู่หรือการใช้มาตรการต่างๆ สร้างความหวาดกลัว

การต่อต้านในส่วนที่ผมพบก็มีเข้ามาบ้าง ทั้งในแง่ส่วนตัว และผ่านหน้าที่การงาน แต่ผมอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นนิดหนึ่งตรงที่ว่าผมไม่ได้อยู่ในเมืองไทย การเคลื่อนไหวการรณรงค์อะไรเพื่อสร้างความยุติธรรมมากขึ้นในสังคมไทยสำหรับ ตัวผมเองก็ทำได้มากกว่าคนอื่น แต่มันก็ยังมีอุปสรรคเหมือนๆ กับที่ทุกคนต้องเจอ

ที่ผมอยากฝากก็คือ ขอให้คนที่ทำเรื่องนี้ด้วยกันอย่าเพิ่งท้อถอยนะครับ ยิ่งศัตรูมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างให้เรามีความเด็ดเดี่ยวมากขึ้นในการต่อสู้ กับความไม่ยุติธรรม

 

นักโทษ 112 มีอยู่จำนวนหลายสิบคน แต่ทำไม หรืออะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์รณรงค์ให้กับอากง

ผมก็เข้าใจประเด็นนี้นะครับว่านักโทษบางคนอาจจะรู้สึกน้อยอกน้อยใจว่า ทำไมบางคนได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากกว่ากัน ผมก็ต้องบอกนิดหนึ่งว่า ผมติดตามเรื่อง 112 พอสมควรแต่ผมยอมรับว่าไม่มีกรณีไหนที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ และชี้ให้เห็นว่าเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง อย่างเห็นได้ชัด ก็คือกรณีอากง โดยเฉพาะการถูกตัดสินโทษถึง 20 ปี นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผมตั้งแต่แรก และตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มมาตลอด

ผมเข้าใจคำถามนะครับ และคิดว่าจากนี้ไป ถ้าเกิดผมจะเริ่มโครงการอะไรอีก อาจจะไม่ใช่ประเด็นอากงอีกต่อไป แต่อากงเหมือนกับเป็นแรงบันดาลใจ แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้วเราควรจะมองไปที่นักโทษทางการเมืองโดยเฉพาะในกรณี 112 เท่าๆ กันทุกคน เพราะทุกคนนั้นต้องได้รับผลกระทบทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจเท่าๆ กัน ผมก็คิดว่าถ้าเกิดจะมีโครงการอะไรขึ้นมาก็คงจะไม่เน้นไปที่อากงแต่เพียงคน เดียว ก็จะมองในภาพกว้างมากขึ้น แต่ว่าในการทำการรณรงค์ผมก็ขอให้สาธารณชนเข้าใจอย่างหนึ่งว่าบางทีก็ต้องมี โฟกัสนะครับ การรณรงค์ที่ไม่มีโฟกัสมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดี ผมก็คิดว่ากรณีของอากงก็คือการจุดกระแส ทำให้มีคนตื่นตัวมากขึ้น และผมก็คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ที่สาธารณชนเริ่มหันมาเห็น

 

อาจารย์เป็นนักวิชาการ และเป็นคอมเมนเตเตอร์ในประเด็นการเมือง แต่ว่าช่วงหลังมาสนใจประเด็น 112 อะไรที่ทำให้เห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ

มีสองประเด็นครับ คือ ประเด็นแรกคือ การจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 นั้นมีเพิ่มขึ้นมาก มากจนเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 เท่าตัว นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อ 5-6 ปีทีผ่านมา และการเพิ่มทวีคูณมากขึ้นของกรณีเหล่านี้มันส่งผลประทบโดยตรงต่อการละเมิด สิทธิมนุษยชน ไม่จำเป็นหรอกที่จะต้องให้นักรัฐศาสตร์หรือนักวิชาการออกมาเคลื่อนไหว เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นกระทบต่อคนทุกคนในสังคม เพราะฉะนั้นผมถือว่ามันเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่ต้องทำ ไม่ใช่เพราะว่าผมเป็นนักวิชาการ

ประเด็นที่สอง คือเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันกษัตริย์ และมีความเกี่ยวโยงกับประเด็นการเมือง การจะเข้าใจการเมืองทุกวันนี้โดยที่ไม่ดูประเด็น 112 ไม่ดูประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นเรื่องทีเป็นไปไม่ได้ ประเด็นนี้ผมสามารถพูดได้ในฐานะที่เป็นนักวิชาการและเป็นนักรัฐศาสตร์ว่าการ ที่เราจะพูดถึงเรื่องการเมืองนั้นถ้าเราไม่ดูประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่าเรามองภาพพลาดไปหมด เพราะผมเชื่อว่าตอนนี้ ณ วันนี้ จะมีใครพูดว่าคุณทักษิณจะกลับมาหรือเปล่า จะเกิดน้ำท่วมอีกไหม ซึ่งก็เป็นประเด็นสำคัญ แต่ผมเชื่อว่า 112 และความสำคัญสถาบันกษัตริย์คือหัวใจสำคัญของประเด็นการเมืองไทยทุกวันนี้ ฉะนั้นผมจึงมีความสนใจเป็นพิเศษ นอกเหนือจากเรื่องการเพิ่มจำนวนของผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตราดังกล่าว

 

เมื่อสักครู่อาจารย์บอกว่าเป็นนักวิชาการและอยู่ในต่างประเทศ สถานการณ์ 112 ในความรับรู้ของประชาคมนานาชาติเป็นอย่างไร

เขารับรู้มากนะครับ และจะให้ผมไปอธิบายให้คนต่างชาติฟังว่านี่คือความเป็นไทย ผมทำไม่ได้ เพราะผมโกหกตอแหลไม่ค่อยเก่ง ต่างชาติเขาเข้าใจดี เพราะคุณจะอ้างอะไรก็ตามแต่นี่เป็นเรื่องการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย ชน เราต้องทำ ยิ่งเกิดเหตุการณ์กรณีต่างๆ มากขึ้นเท่าไหร่ เขายิ่งไม่เข้าใจเรามากขึ้นว่าทำไมบทบาทของรัฐบาลซึ่งหน้าที่หลีกคือการปก ป้องสิทธิมนุษยชนทำไมกลับปล่อยให้มีกรณีอย่างนี้มากขึ้น เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย แล้วทำไมจึงมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่อยู่นอกเหนือระบบรัฐสภาถึงออกมาเคลื่อนไหว ให้มีการเพิ่มโทษมากขึ้นด้วยซ้ำ ให้มีการจับกุมมากขึ้นด้วยซ้ำ มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย เขามีความตื่นตัวกันมากและผมขอบอกอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยนั้น (ผมพูดไปแล้ว และผมก็ต้องพูดอีก) ไม่ได้อยู่บนดาวอังคาร ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่เราอยู่ร่วมกับประชาคมโลก เราในอดีตก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของการละเมิดสิทธิ มนุษยชน ทำไมถึงตอนนี้เรามีปัญหาถึงไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นเขาพูด ไม่ต้องใช้คำว่าวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ เอาเป็นว่าแสดงความห่วงใย เราคงต้องทำกันอย่างแฟร์ๆ มากขึ้น และถ้าไทยคิดว่าเราเป็นประเทศอารยะ ถ้าเราคิดว่าเราอยากอยู่ร่วมกับสังคมโลก ถ้าเราคิดว่าเราจะก้าวขึ้นมามีบทบาทผู้นำในภูมิภาคนี้ เราต้องยอมรับและเปิดใจคุยเรื่องนี้ และต้องหาทางแก้ไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net