งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา การผลิตซ้ำแนวคิดการแบ่งแยก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 68 จบลงแล้วอย่างสมบูรณ์ ในปีนี้ก็มีผู้เข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบันหรือที่จบไปแล้วของทั้งสองมหาวิทยาลัย ร่วมไปถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการไปซึมซับบรรยากาศของงาน ไม่ว่าจะเป็นการชมฟุตบอล บรรดาขบวนพาเหรด ผู้นำเชียร์ และที่เป็นไฮไลต์ของงานก็คงจะเป็นการแปรอักษรของแสตนด์เชียร์ งานฟุตบอลประเพณีจัดขึ้น (โดยการกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่าย) เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาของสองมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการแข่งขันกันในหลายมิติ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากที่ได้ไปขึ้นแสตนด์เชียร์ของฝั่งธรรมศาสตร์ คือ งานนี้จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์กันได้อย่างไร หรือจริงๆแล้วนี่เป็นการตอกย้ำว่าแนวคิดการแบ่งแยกและแข่งขันกันในสองมหาวิทยาลัยยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม งานฟุตบอลประเพณีคือการผลิตซ้ำแนวคิดของการแบ่งแยกของทั้งสองมหาวิทยาลัย ผู้เขียนขอยกคำพูดบางช่วง บางตอน ของกลุ่มกิจกรรมหนึ่งที่ได้เข้ามานำกิจกรรมในช่วงสั้นๆ ระหว่างการพักครึ่งของแสตนด์เชียร์ฝั่งธรรมศาสตร์ “ยินดีต้อนรับเข้าสู่งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์- ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 68” หรือ “แม้ว่ามหาวิทยาลัยของเราจะน้ำท่วมแต่ก็เปิดให้ประชาชนเข้ามาอยู่ ไม่เหมือนกับบางมหาวิทยาลัยที่ปิดประตูลงกลอนซะแน่นหนา” เมื่อผู้พูดกล่าวจบเ หล่านักศึกษาที่นั่งอยู่บนแสตนด์เชียร์ก็โห่ร้องลั่นด้วยความชอบใจ สะใจและภาคภูมิใจในความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนของตน ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกเหล่านั้นก็ได้เบียดผลักให้อีกฝ่ายตกไปอยู่ในแดนของ “พวกเธอ” ที่ไม่ดี ไม่มีมาตรฐานเดียวกับ “พวกฉัน” ไปโดยไม่รู้ตัว ความคิดประเภท “พวกฉัน” สิดี เสียสละ อุทิศตนเพื่อประชาชน แล้ว “พวกเธอ” ล่ะทำอะไรกันบ้าง พวกนักศึกษาชนชั้นผู้ดี แม้ว่าผู้พูดอาจจะพูดไปโดยความคึกคะนองเพื่อปลุกความฮึกเหิมของชาวเหลืองแดง แต่คำพูดย่อมสะท้อนออกมาจิตสำนึก คำพูดย่อมสะท้อนให้เห็นว่าคนผู้นั้นคิดอะไร และสะท้อนให้เห็นว่าผู้พูดได้รับการบ่มเพาะมาอย่างไร ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้การเชื่อมสัมพันธ์จะเกิดขึ้นจริงหรือ หรือก็เป็นเพียงแค่วาทกรรมจอมปลอมที่ใช้เป็นข้ออ้างให้การจัดงานฟุตบอลประเพณีดูมีสาระขึ้นมาบ้าง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เหล่าปัญญาชนทั้งหลายจะละทิ้งแนวความคิดเดิมๆ ที่แบ่งแยกพรรคพวก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เลือดใหม่จะช่วยกันล้างแนวคิดเก่าๆ ให้หมดไป แล้วหันมาแข่งขันกันในเขิงสร้างสรรค์ ในทางที่จะช่วยพัฒนาให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าได้ ฉันรักธรรมศาสตร์ แต่จำเป็นด้วยหรือที่ต้องไม่ชอบจุฬา? นี่คือสิ่งที่คนธรรมศาสตร์ต้องก้าวผ่านให้พ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท