จดจำอุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมา อย่าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

กรีนพีซเรียกร้องรัฐบาลให้ถอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากแผนพลังงาน 5 มี.ค. 55 - นักกิจกรรมของกรีนพีซติดตั้งป้ายโฆษณาขนาด 1.2 x 2.5 เมตร รวม 30 ป้าย บริเวณสี่แยกไฟแดงหลัก 5 จุดในกรุงเทพมหานครโดยเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมาเพื่อเตือนให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครรำลึกถึงเหตุวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 1 ปีก่อน พร้อมกันนั้น อาสาสมัครของกรีนพีซ 35 คนได้เดินถือนิทรรศการภาพถ่ายเคลื่อนที่จากบริเวณสี่แยกปทุมวันผ่านย่านสยามสแควร์และไปสิ้นสุดลง ณ บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ที่จัดขึ้นตลอดสัปดาห์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย โดยเป็นวันปฏิบัติการร่วมกันทั่วโลกเพื่อรำลึกครบรอบหนึ่งปีอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมา “เรารำลึกถึงและเอาใจช่วยประชาชนในประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเผชิญกับอันตรายจากกัมมันตรังสีต่อไป แม้ว่าจะผ่านมาถึงหนึ่งปีแล้วก็ตาม พวกเขายังไม่ได้รับการชดเชยสำหรับสิ่งที่ได้สูญเสียไปและพวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นในการเริ่มต้นชีวิตใหม่เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นล้มเหลวในการปกป้องดูแลประชาชนของตนเองโดยเลือกจะปกป้องอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว แม้ว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยจะถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากกระแสคัดค้านอย่างหนักจากสาธารณชนทั้งก่อนและหลังจากเหตุการณ์ที่ฟูกูชิมา แต่โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโดยคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้นจะมีขึ้นภายในปี พ.ศ. 2569 “ประชาชนไม่ควรถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และภายใต้เงื้อมเงาของอุบัติภัยจากนิวเคลียร์ที่รอเวลาจะอุบัติขึ้น เราเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายพลังงานยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทยโดยทันที” จริยา เสนพงศ์กล่าวต่อ กรีนพีซได้เผยแพร่รายงานฉบับภาษาไทยเรื่อง “บทเรียนจากฟูกูชิมา” (1) รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมาไดอิจิ บริเวณทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากความล้มเหลวของรัฐบาลญี่ปุ่น คณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ สาระสำคัญจากรายงานฉบับนี้ก็คือความร้ายแรงของอุบัติภัยนิวเคลียร์นี้เกิดจากมนุษย์และอาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีกที่ใดก็ได้ในโลกที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และผู้คนหลายล้านคนจึงต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง นอกจากนี้กรีนพีซยังรณรงค์ให้อาเซียน “ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง” (2) เพื่อก้าวออกจากเส้นทางของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตามที่เป็นช่องโหว่ภายใต้สนธิสัญญากรุงเทพ (3) และยกเลิกข้อกำหนดการพัฒนานิวเคลียร์ตามที่ระบุไว้ในแผนความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนระหว่างปีพ.ศ. 2553-2558 (4) “เราขอเชิญชวนคนไทยทุกคนมีส่วนร่วมกับกรีนพีซเพื่อเรียกร้องอย่างจริงจังให้ผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนลงมือทำ โดยเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฟูกูชิมา เพื่อเป็นหลักประกันถึงอนาคตพลังงานที่ปลอดภัยและสะอาดสำหรับประชาชนในภูมิภาคนี้ ผู้นำอาเซียนควรยุติโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด และผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัยซึ่งมีอยู่อย่างมหาศาลในภูมิภาคนี้” จริยา เสนพงศ์ กล่าวสรุป กรีนพีซเป็นองค์กรสากลอิสระที่ทำงานรณรงค์เปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสันติภาพ หมายเหตุ : (1) รายงาน “บทเรียนจากฟูกูชิมา” www.greenpeace.or.th/lessons-from-Fukushima (2) ร่วมลงชื่อเรียกร้องอาเซียนได้ที่ www.greenpeace.or.th/fukushima (3) ในปี พ.ศ. 2538 อาเซียนได้ก้าวเข้าสู่การใช้สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ที่เรียกสั้นๆว่าสนธิสัญญากรุงเทพ สนธิสัญญาฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อปกป้องภูมิภาคนี้จากการพัฒนาและการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ร้ายแรง อีกทั้งยังมีข้อกำหนดสำหรับการแจ้งเหตุเตือนภัยในทันทีเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ นอกจากนี้ในสนธิสัญญายังระบุอีกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศมีอิสระและสิทธิในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม ดังนั้นจึงเป็นการผูกมัดภูมิภาคทั้งหมดไว้กับอนาคตด้านพลังงานร่วมกัน (4) แผนความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนปีพ.ศ. 2553-2558 มีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานของภูมิภาค (การบริโภคพลังงานต่อดอลลาร์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ลงอย่างน้อยร้อยละ 8 ภายในปีพ.ศ. 2558 จากระดับของปีพ.ศ. 2548 นอกจากนี้แผนดังกล่าวยังตั้งเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของศักยภาพพลังงานทั้งหมดภายในปีพ.ศ. 2558 ที่มาจากพลังงานหมุนเวียนภายในภูมิภาคร้อยละ 15 ทั้งนี้ในรายงานการพยากรณ์ความต้องการพลังงานของอาเซียนครั้งที่ 2 ซึ่งตีพิมพ์โดยศูนย์พลังงานอาเซียน หรือ ACE และ สถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานของญี่ปุ่น หรือ IEEJ ประเมินว่าการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์จะช่วยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 0.9 ภายในปีพ.ศ. 2553 และร้อยละ 1.6 ภายในปีพ.ศ. 2573

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท