Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรมชลประทานอ้างว่า “มีคนสตูลจำนวนหนึ่งทำหนังสือถวายฎีกา ถึงสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานสร้างเขื่อนคลองช้าง ด้วยเหตุผลว่าจังหวัสสตูลประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม” นี่คือเหตุผลที่กรมชลประทานพยายามชี้แจงเพื่อให้ได้กลับมาทบทวนการสร้างเขื่อนในพื้นที่จังหวัดสตูลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากความพยายามก่อนหน้าที่เคยล้มเหลว เมื่อปี พ.ศ. 2538 เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ รวมถึงสมาชิกสภาตำบลทุ่งนุ้ย ในสมัยนั้นมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งว่า...ด้วยเหตุผลตามที่กรมชลประทานกล่าวอ้างนั้น มีที่มาที่ไป และข้อเท็จจริงประการใด และนั่นก็เป็นที่มาของคำถามที่ชวนสงสัยยิ่งหลากหลายแง่มุม...เช่น “ สตูล แห้งแล้งถึงขนาดจะต้องสร้างเขื่อนแล้วกระนั้นหรือ....? ” “ ภูมิประเทศของจังหวัดสตูลซึ่งมีแผ่นดินหน้าแคบ และมีพื้นที่ลาดชันจำนวนมากนี้ เหมาะสมจะมีเขื่อนหรือไม่ และมีความเสี่ยงขนาดไหน หรือไม่อย่างไร..? “ “ สตูลเมืองที่ฝนตกชุก...และมีลุ่มน้ำ สายคลองกระจายอยู่เกือบทั่วทุกอำเภอ...ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีกว่านี้แล้วหรือ...ถึงตัดบทสรุปว่าต้องสร้างเขื่อน...? “ “ การอ้างว่า เขื่อน จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม..จะเชื่อถือได้อย่างไรเมื่อน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และภาคกลางเมื่อปลายปีที่ผ่านมา..ทุกคนต่างรู้กันทั่วทั้งประเทศว่า...กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในเขื่อนผิดพลาด...ไม่ใช่หรือ..? “ “ กรณีข่าวลือที่ว่า...มีการปลอมแปลงรายชื่อ..เพื่อขอถวายฎีกา...ขอพระราชทานเขื่อน..ที่กรมชลประทานเอามาอ้าง สร้างความชอบธรรม เพื่อกลับมาทบทวนโครงการอีกครั้งหนึ่งนั้น...เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครอยู่เบื้องหลัง..? นี่เป็นข้อสงสัยเพียงส่วนหนึ่งครับ หากเป็นเรื่องที่อดคิดไม่ได้ เพราะหากเราจะนึกถึงเขื่อนขึ้นมา เราก็มักจะนึกถึงภาคอีสาน หรือภาคเหนือภาคเหนือ เนื่องจากเป็นภาคพื้นที่ต่างรู้กันว่าฝนตกไม่ชุกเหมือนภาคใต้ จึงมีสภาพแห้งแล้งสูง จะเห็นได้ว่าในที่เหล่านั้นจะมีเขื่อนต่างๆเกิดขึ้นเยอะแยะ มากมาย แต่พอมาที่ภาคใต้ พบว่ามีอยู่ไม่มากนัก หรือมีแบบที่นับกันได้เลยทีเดียว ไอ้ที่สร้างไปแล้วก็ว่ากันไปครับ...เห็นปัญหากันอยู่ เพราะสุดท้ายแล้วเขื่อนเหล่านั้นก็ไม่ได้ดูแล หรือให้ประโยชน์อะไรกับชาวบ้านเท่าที่ควร ที่เห็นๆก็ กรมชลประทานได้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นรีสอร์ท ทั่กตากอากาศ เป็นร้านอาหาร ไว้รองรับบรรดาลูกพี่หรือขาใหญ่ทางการเมือง อย่างที่รู้ๆกันอยู่ เขื่อนบางแห่งถึงขั้นเอาที่ดินริมเขื่อนที่เวนคืนจากชาวบ้าน มาทำสนามกอล์ฟ ตีข้ามหัวชาวบ้านไปมา ก็เยอะไป อย่างนี้จะให้คิดอย่างไง นอกจากนั้นก็ไว้จัดหารายได้เข้ากรม หรือเข้ากระเป๋าใครบ้างก็ไม่รู้เหมือนกัน (ใครอยากรู้ก็ไปตรวจสอบกันเอาเอง) จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดเล็กๆ ประชากรเพียง 300,286 คน บนเนื้อที่ 1,754,585 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขารอยต่อของสองเทือกเขาคือ เทือกบรรทัด และเทือกสันกลาคีรี จึงมีพื้นที่ลาดชันอยู่เยอะมาก มีที่ราบสำหรับปลูกข้าวเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็เป็นที่ทะเลชายฝั่ง ที่มีหน้าแผ่นดินแคบมาก เมื่อดูโดยภาพรวมแล้วแทบไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่จะสร้างเขื่อน และเมื่อถามถึงความแห้งแล้ง ก็ยิ่งกล่าวได้ว่าเป็นจังหวัดฝั่งอันดามันจังหวัดหนึ่งที่มีฝนตกชุกหนาแน่นตลอดทั้งปี เพราะจากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณน้ำฝนเมื่อปี พ.ศ. 2550 ทั้งปี 2,300 มม. และในปี พ.ศ. 2554 มีปริมาณฝนทั้งปี 2,427 มม. ถือว่าเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งไม่ถือว่าจังหวัดนี้จะแห้งแล้งจนถึงขั้นวิกฤติร้ายแรง ส่วนข้ออ้างเรื่องน้ำท่วม นี่ยิ่งใช้อ้างไม่ได้อีกแล้วนับจากหลายเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งประจักษ์ชัดกับคนทั้งประเทศแล้วว่า เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญสามสี่เขื่อนของกรมชลประทาน เช่นเขื่อนภูมิพล เขื่อนปาสักฯ จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และภาคกลางเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นเหตุผลที่อ้างเมื่อไหร่..ก็ตายเมื่อนั้น ส่วนปัญหาน้ำในฤดูแล้ง อันนี้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ในบางปีเกิดขึ้นจริงกับบางพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนริมชายฝั่งทะเล หากแต่นี่คือสิ่งที่ไม่น่าจะเกินภาวะวิสัยที่จะแก้ไข เพราะจังหวัดสตูลมีความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ หรือแหล่งน้ำพอประมาณ ซึ่งต่างกับภาคอีสานหากถึงฤดูแล้ว น้ำในบึงในหนองก็จะเหือดแห้งตามไปด้วย เพราะฉะนั้นปัญหานี้จะต้องกลับมาทบทวนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อยกระดับ หรือพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ตลอดถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายน้ำต่างๆที่มีอยู่ และการจัดทำเหมืองฝายหรือระบบชลประทานเพื่อการเกษตรในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้นด้วย เหล่านี้เป็นเรื่องที่ระดับผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องขบคิดให้หนัก ใช่สักแต่จะสร้างเขื่อนอยู่ท่าเดียว อย่างนี้ถือว่าไม่ได้ใช้ความสามารถจริง แล้วยังมีเหตุผลอื่นใดอีก ที่จะมาอ้างเรื่องการสร้างเขื่อนอีกหรือไม่...? แต่อีกประเด็นหนึ่งที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้ คือเรื่องการยื่นถวายฎีกา...นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ เพราะปกติแล้วการรบกวนเบื้องสูง นั่นหมายถึงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ที่ใครไม่ก็ไม่อาจช่วยได้ แม้แต่พ่อบ้าน พ่อเมือง หรือระบบกลไกทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศแห่งนี้ จึงต้องถวายความเดือนร้อนเหล่านั้น เป็นฎีกา ให้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับทราบ ซึ่งพระองค์ท่านก็ไม่เคยทรงละเลยต่อความเดือดร้อนของพสกนิกรของพระองค์ หากแต่เรื่องการถวายฎีกาเขื่อนคลองช้างนั้น พบว่าไม่ปกติ ด้วยว่า หลังจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดคุณหมดนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้มีการลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องโครงการเขื่อนคลองช้าง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ตามที่ชาวบ้านร้องเรียนไป ทำให้พบว่าหนึ่งในประเด็นร้องเรียนนั้นคือ การกล่าวอ้าง ปลอมแปลง หรือแอบอ้างการใช้รายชือราษฎรกว่า 200 รายชื่อ แนบไปกับฎีกาฉบับดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2552 จนเป็นเหตุผลให้กรมชลประทานอ้างได้ว่า..เหตุผลสำคัญที่ต้องร้างเขื่อนที่สตูลเพราะชาวบ้านเดือดร้อน และขอพระราชทานเขื่อนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนมีการพูดกันในพื้นที่สร้างเขื่อนอย่างแพร่หลายว่า “เขื่อนพระราชทาน” แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริง หลังจากกรรมการสิทธิ์ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวัง ว่าเขื่อนนี้เป็นโครงการหลวงหรือไม่ กลับได้รับการชี้แจงเจ้าหน้าที่ของสำนักว่า ไม่มีโครงการนี้ในโครงการหลวงแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีเจ้าของรายชื่ออย่างน้อยสามคนที่ถูกแอบอ้างชื่อ ได้มาแสดงตัวต่อเวทีการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการสิทธิ์ฯในครั้งนั้น ว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้มีรายชื่อตามเอกสารแนบท้ายฏีกา แต่ลายมือชื่อตามที่ปรากฏในนั้นไม่ใช่ของตน นอกจากนั้นยังพบข้อพิรุธในการเซ็นต์ชื่ออีกหลายจุด ซึ่งล้วนน่าสงสัย และชวนคิดได้ว่า นี่คือลายมือชื่อปลอม จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อพิรุธดังกล่าว และเพื่อพิสูจน์ให้แจ้งชัด เพราะหากเป็นอย่างนั้นจริง ถือว่าเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพราะเป็นการทูลเท็จ จนขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าผลการสอบเหล่านั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ อย่างไร จากข้อสังเกต ข้อสงสัย และคำถามที่ได้หยิบยกมานี้ ไม่ทราบได้ว่าจะได้รับคำตอบได้อย่างไร และจากใคร หรือใครจะเป็นคำสมควรตอบ หากแต่เป็นประเด็นที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง นี่ขนาดว่ายังไม่ได้โยงใยกับประเด็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา และการจัดสรรพื้นที่เพื่อการนิคมอุตสาหกรรม มาให้ขบคิดอย่างมีเหตุมีผลนะครับ หากแต่เบื้องต้นมีข้อมูลที่แสดงอยู่ในเอกสารโครงการยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของกรมเจ้าท่า ที่ปรากฏอยู่ด้วยว่าจะต้องจัดหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อสำรองไว้ใช้กับโครงการดังกล่าว สงสัยว่างานนี้คนสตูลคงโดนปั่นหัวกันหลายตะหลบแล้วละครับ เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเชื้อเชิญให้พวกเราคนสตูล และคนในพื้นที่ที่จะได้รับผลได้ หรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวนี้ ได้โปรดพินิจ พิเคราะห์ด้วยเหตุ ด้วยผล และศึกษาสืบค้นข้อมูล ข้อเท็จจริง และเชื่อมโยงให้เป็นระบบ..ก็จะทำให้เห็นถึงซอกหลืบอะไรบางอย่างที่มันซ่อนเร้นอยู่ มากกว่าที่เราคิด และทั้งนี้เพื่อจะได้ร่วมกันคิด ตริตรอง และร่วมกันตัดสินใจต่อชะตากรรมของตัวเอง..ว่า..ที่สุดแล้ว จังหวัดสตูลมีความจำเป็นแค่ไหน อย่างไรที่จะต้องสร้างเขื่อน..ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เรียกว่า..”คลองช้าง” (คิดเอาเถอะครับ..)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net