Skip to main content
sharethis

“ในคดีที่ กสท. ฟ้องร้อง หากไม่มีการฟ้องร้องโดย กสท. และให้การคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลปกครอง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในความเห็นของผู้เขียนก็คือ 1.ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย แข่งขันกันให้บริการ 3G นอกเหนือจาก ทีโอที ซึ่งให้บริการอยู่แล้ว โดยการแข่งขันจะมีความเสมอภาค ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด 2.รัฐจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จากการออกใบอนุญาต 3 ใบ ใบละไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถลดภาระภาษีที่รัฐต้องจัดเก็บจากประชาชน หรือสามารถเพิ่มบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษา หรือสวัสดิการแก่ประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวจะไม่ทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น เพราะเป็นเงินที่ถูกเก็บมาจากกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ส่วนที่ไปเพิ่มต้นทุน อย่างที่มักมีความเข้าใจผิดกัน 3.ระบบใบอนุญาตโดยหน่วยงานกำกับดูแลอิสระคือ กสทช. เป็นระบบมีความโปร่งใสมากกว่าและไม่เลือกปฏิบัติ จะมาทดแทนระบบสัมปทานของรัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้เกิด “อภิมหาเศรษฐี” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งภายหลังก้าวเข้าสู่การเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน ระบบใหม่นี้จะมีผลในการลด “ธนกิจการเมือง” (money politics) และทำให้ประชาธิปไตยของไทยตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะพลเมืองมากขึ้น” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ? เต้นเป็นเจ้าเข้ากันไปหมดเมื่อวัฒนา เมืองสุข ส.ส.เพื่อไทย โยนระเบิดลูกใหญ่ เสนอให้ยุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ก็ไม่ใช่ว่าผมจะเห็นด้วยไปเสียหมดหรอกนะครับ แต่เห็นว่านี่เป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ และความจำเป็นของการมีองค์กรอิสระ ไม่ใช่อย่างพวกต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เหมาเอาว่าเป็นเพราะนักการเมืองไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบสถานเดียว องค์กรอิสระเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ขยายอำนาจและยึดอำนาจการสรรหา ไปไว้ในมือฝ่ายตุลาการ ฉะนั้นเราต้องแยกแยะทีละประเด็น ได้แก่ 1.ความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้อำนาจสรรหาและแต่งตั้ง ไม่ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน กรรมการสรรหาส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตุลาการ ส่งชื่อให้วุฒิสภารับรอง โดยวุฒิสภาเกือบครึ่งหนึ่งก็มาจากการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการสรรหา “สว.ลากตั้ง” ก็มาจากตุลาการและประธานองค์กรอิสระนี่แหละ สรุปว่าเหมือนควาย-เอ๊ย วัวพันหลัก เป็น Conflict of Interest ประเภทหนึ่ง ร้ายกว่านั้น ถ้ากรรมการสรรหาส่งชื่อไปแล้ว สมมติ เลือกนาย ก.เป็นกรรมการ ปปช. วุฒิสภาเกิดหือขึ้นมา ไม่ยอมให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญ 2550 ยังบัญญัติว่า ถ้ากรรมการสรรหามีมติยืนยันเป็นเอกฉันท์ ก็ต้องเอาตามกรรมการสรรหา ประธานวุฒิสภาต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยบอกว่านี่ผิดหลัก เพราะผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือผู้รับผิดชอบ วุฒิสภาเขาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหายังบังคับให้ประธานวุฒิลงนามรับสนองฯ ประหลาดไหม 2.ต่อให้แก้ไขกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหา เพราะอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการตั้งองค์กรอิสระคืออุดมการณ์ที่เชื่อว่า จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลอยลงมาจากฟากฟ้า จะมีมนุษย์เทวดาที่ไม่แปดเปื้อนมลทิน ไม่มีพวกพ้อง ไม่มีสังคม ไม่มีอคติ ไม่มีรัก โลภ โกรธ หลง ไม่ติดหนี้บุญคุณความแค้น มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แล้วเป็นไงล่ะ ก็ทีใครทีมัน “ทุนผูกขาด” กับ “อำมาตย์” ผลัดกันยึดครององค์กรอิสระ ไม่เห็นมีเทวดามาจากไหน ปรัชญาแห่งอำนาจคือ องค์กรใดที่มีอำนาจมาก อำนาจล้น ก็จะเป็นที่หมายปองของผู้ต้องการแย่งชิงอำนาจ แทนที่จะถ่วงดุล ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ \หลักง่ายๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีคนจำนวนน้อยมีอำนาจมาก จุดนั้นจะเป็นจุดที่จะถูกกดดันแทรกแซงมากที่สุด ทำไมองค์กรอิสระปี 2540 ล้มเหลว ก็เข้าข่ายนี้ไง กกต.5 คนอำนาจล้นฟ้า เขาต้องยึดให้ได้ ศาลรัฐธรรมนูญกี่คนเขาต้องพยายามยึดให้ได้ กรรมการสิทธิมนุษยชนเขาไม่ยึดเพราะอะไร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมฯ เขาไม่ยึดเพราะอะไร ไม่มีอำนาจ ป.ป.ช.มีอำนาจไหม มีต้องยึดให้ได้ เพราะฉะนั้นพอมันมีกลไกนี้ตายตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญปั๊บ คนที่คิดไม่ดีเขารู้เลยว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นยังไงต้องล็อกตัวนี้ไว้ก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสมัยคุณทักษิณเขาก็ต้องล็อกชุดนี้ไว้ก่อน อาจจะล็อกก่อนตัวอื่นด้วยซ้ำ” อย่าเข้าใจผิด นี่ไม่ใช่วรเจตน์พูด แต่เป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ!!! ให้สัมภาษณ์ผมลงไทยโพสต์แทบลอยด์เมื่อปี 2550 วิจารณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ตอนแรกจะตั้ง “คณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (เดี๋ยวจะเอากลับมาเผยแพร่ใหม่ ให้ดูว่าอภิสิทธิ์ 2550 พูดไว้อย่างไร) อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมนุษย์เทวดาที่ไหน อุดมการณ์ประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนกินปี้ขี้นอน มีกิเลส ตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ เราจึงไม่ฝากอำนาจไว้กับใครแต่ให้กระจายอำนาจ และมีการตรวจสอบถ่วงดุลให้มากที่สุด 3.นิสัยคนไทย ถ้าคุณเป็นผู้บริหารบริษัท ลูกน้องคนหนึ่งทำงานดีขอตั้งแผนกใหม่ ตอนแรกบอกขอแค่โต๊ะเก้าอี้ตัวเดียว ต่อมาก็เริ่มขอเลขาฯ ต่อมาก็ขอฝ่ายธุรการ ต่อมาก็ขอผู้ช่วย ต่อมาก็ขอคนขับรถ ฯลฯ เพื่อ “ขยายอาณาจักร” หน่วยงานราชการทุกแห่งเป็นอย่างนี้หมดครับ ไปดูได้ สมัยก่อนเราไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ มีแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีเรื่องให้วินิจฉัยก็มาประชุมกันครั้งหนึ่ง เสียแค่เบี้ยประชุม แต่พอมีศาลรัฐธรรมนูญคุณต้องมีตึก มีป้าย มีเลขา คนขับรถ มีรถประจำตำแหน่ง มีเลขาธิการสำนักงาน (ซี 11) มีรองเลขา มีรถประจำตำแหน่งเลขา มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่นิติกรยันพนักงานชงกาแฟ เปิดอัตรากันเข้าไป โอนย้ายมั่ง สมัครสอบมั่ง เงินเดือนดีกว่าข้าราชการที่ทำงานงกๆ (หลายองค์กรก็เลยมีกลิ่นเรื่องการสอบแข่งขัน) ทุกองค์กรนะครับ เป็นอย่างนี้ ต่างก็อยากมีอาณาจักรของตัวเอง แถมเป็นอาณาจักรที่ใครแตะต้องไม่ได้ ร้ายที่สุดคือ กกต.ซึ่ง อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ตอนเป็น สสร.40 ท่านเป็นต้นคิดเรื่อง กกต.โดยเอามาจากอินเดีย หมายจะให้มีหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับขยายอาณาจักร จนมีอำนาจออกใบแดง แล้วก็กลายเป็น “มหาดไทย 2” มีสาขาทุกจังหวัด มีข้าราชการไม่รู้กี่พันคน จาก กกต.อินเดียที่เขาทำหน้าที่ 2-3 คน กกต.ไทยกลายเป็นกระทรวงที่ 21 เปลืองงบมหาศาล แต่ล้มละลายทางความเชื่อถือ ฉะนั้นอันดับแรก ผมเห็นว่าต้องยุบอำนาจ กกต.ให้เหลือแค่จัดการเลือกตั้ง เจ๊เห็ดสดพูดถูกแล้ว แต่ลดอำนาจแล้วก็ต้องโละเจ้าหน้าที่ โละสำนักงานจังหวัดให้หมด ตรงนี้แหละยาก ราชการไทยพอขยายอาณาจักรแล้วไม่เคยลดได้ซักที ศาลรัฐธรรมนูญ - ถ้าเป็นระบบ Common Law ของอเมริกา อังกฤษ เขาไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ศาลสูงวินิจฉัย ของเราระบบ Civil Law แต่ถ้าจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้ระบบตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้ อ.วรเจตน์เคยให้ความเห็นว่า ใช้ระบบเลือกตุลาการเฉพาะคดีก็ดีไปอย่าง ไม่รู้ล่วงหน้าว่าใครจะเป็น วิ่งเต้นกันยาก ปปช. - ไม่ปฏิเสธว่าหน่วยงานตรวจสอบทุจริตยังต้องมีอยู่ และต้องเป็นอิสระ แต่ด้วยปรัชญาแห่งอำนาจ ปปช.นี่แหละตัวให้คุณให้โทษล้นหลาม มีทั้งอำนาจไต่สวนแบบอัยการในคดีอาญา และมีอำนาจวินิจฉัยแบบศาล ในความผิดทางวินัย นี่คือสิ่งที่ต้องทบทวน ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรจำพวก “เจว็ด” คือไม่มีอำนาจ แถมยังไม่ค่อยทำหน้าที่ (กรรมการสิทธิอะไรประกาศไม่แก้ 112 ทั้งที่มีหน้าที่โดยตรง) ยุบเสียหมดก็ได้ หรือตั้งเป็นองค์กรตามกฎหมาย ไม่ต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้รุงรังหรอก อีกเรื่องที่ผิดเพี้ยนอย่างหนักในรัฐธรรมนูญ 50 ก็คือ อัยการ ซึ่งแยกออกมาเป็นอิสระ (พร้อมกับให้ศาลเกษียณอายุ 70 มีประเทศเดียวนี่แหละที่กำหนดอายุเกษียณของผู้พิพากษาไว้ในรัฐธรรมนูญ) ชาวโลกไม่เคยพบเคยเห็นนะครับ อัยการต้องสังกัดฝ่ายบริหาร แม้ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระในการวินิจฉัยคดี แต่หลักการแยกอำนาจ 3 ฝ่ายถือว่า อัยการ คือทนายความของรัฐ ทำหน้าที่ฟ้องคดีให้ฝ่ายบริหาร ซึ่งรับผิดชอบดูแลความสงบสุขของประชาชน ขณะที่ผู้พิพากษาใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร คดีเด็ด ระบบ “ศาลคู่” คือศาลยุติธรรมกับศาลปกครองมีใช้ในประเทศยุโรป ที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ซึ่งพี่ไทยเราเอาระบบกฎหมายมาจากฝรั่งเศสนี่แหละ แต่ผลักดันให้ตั้งศาลปกครองกันมาตั้งนาน เพิ่งประสบความสำเร็จในรัฐธรรมนูญ 40 ตอนนั้นใครๆ ก็ช่วยกันเชียร์ แต่ตอนนี้ศาลปกครองกลายเป็นองค์กรที่เดือดร้อนที่สุด ต้องส่งโฆษกออกมาแถลง ก่อนหน้านี้ ประธานศาลก็ปรารภว่ามีคนคิดจะ “ล้มล้าง” ศาลปกครอง แหม ท่านครับ ถ้า สสร.ร่างรัฐธรรมนูญยุบศาลปกครอง แล้วประชาชนลงประชามติ ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจตุลาการได้ ไม่ใช่การล้มล้าง หรือแทรกแซงศาลแต่อย่างใด การยุบศาลปกครองไปเป็นแผนกในศาลยุติธรรมสามารถทำได้ (โดยแยกประมวลวิธีพิจารณาคดีปกครองออกมาต่างหาก) แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว จะยุบกลับไปเป็นแผนก ก็เดือดร้อนตั้งแต่ประธาน รองประธาน อธิบดี ลงไปจนถึง ผอ. (เงินเดือนเท่าเดิมแต่ยุบอาณาจักร) ฉะนั้นใจจริงผมเห็นว่าไม่ควรยุบหรอก แต่ถ้ายุบก่อน ล้างไพ่ แล้วตั้งใหม่ อันนี้อาจจะดีที่สุด เพราะอะไร เพราะปัญหาของศาลปกครองอยู่ที่ “วิธีคิด” และการขยายอาณาจักร ในแง่ขยายขอบเขตอำนาจ ถ้าจะให้เห็นชัดเจน ผมขอยก “คดีเด็ด” ของศาลปกครอง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมาเรียงลำดับให้ดูดังนี้ 1.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ แต่ศาลปกครองยังมีคำวินิจฉัยซ้ำ ให้เป็นโมฆะอีก กรณีนี้อาจเป็นความสะใจของพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่ไล่ทักษิณในตอนนั้น แต่ในแง่นักกฎหมาย เป็นอะไรที่ตลกมาก ไหนบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ไหงต้องออกคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดซ้ำอีก “ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่าการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ ต่อมาศาลปกครองก็ตัดสินทับลงไปอีกครั้งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือศาลรัฐธรรมนูญได้ฆ่าการเลือกตั้งนั้นไปแล้ว การเลือกตั้งนั้นถูกฆ่าอีกทีโดยศาลปกครอง” อ.วรเจตน์ให้สัมภาษณ์ผมเมื่อปี 51 (ซึ่งในความเห็นวรเจตน์ ไม่ว่าศาลไหนก็ไม่มีอำนาจสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ เพราะอำนาจตุลาการอยู่ต่ำกว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน) 2.ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่ล้มแปรรูป ปตท. บอกก่อนว่าผมเห็นด้วยทั้งสองคดี คดี กฟผ.ผมเห็นชอบว่า กฟผ.ไปเวนคืนทรัพย์สินชาวบ้านมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วจู่ๆ คุณจะเอาเข้าตลาดหุ้น แปรรูปเป็นเอกชน โดยเอาอำนาจการเวนคืนนี้ติดไปด้วย ทำได้ไง คดี ปตท.ศาลปกครองก็ตัดสินในบรรทัดฐานเดียวกัน แม้ไม่ล้มแปรรูป แต่ให้คืนที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางท่อก๊าซ คือกรณีของ ปตท.นี่เข้าตลาดหุ้นมานานแล้วครับ ถ้าไปเพิกถอนก็จะเสียหายใหญ่หลวง ศาลปกครองท่านต้องวินิจฉัยโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย เพียงแต่มันมีเรื่องตลกๆ เท่านั้นเองว่าหลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้อง รัฐบาลขิงแก่กับ สนช.ซึ่งรู้แนวอยู่แล้วจากคดี กฟผ.ก็เร่งรีบออกกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กันหูอื้อตาลาย หวุดหวิดจะไม่ทัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 ธันวาคม 2550 พอดี๊พอดี 3 วันก่อนศาลอ่านคำพิพากษาวันที่ 14 ธันวาคม 2550 แล้ว-แอ่นแอ๊น-ศาลก็ทันหยิบกฎหมายฉบับนี้ไปอ้างในคำพิพากษาด้วย “....ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 พยายามแก้ไขปัญหา รวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการตรา พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่บัญญัติให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติด้วย โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในกิจการพลังงาน และในบทเฉพาะกาล บัญญัติให้คณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของ บมจ.ปตท. ตาม พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว เป็นผู้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นการชั่วคราวแล้ว ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์เหตุแห่งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเพิกถอน พ.ร.ฎ. และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 รวมทั้งวิธีการแก้ไขความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่จำต้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว อีกทั้งเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้น มิได้มีความร้ายแรงถึงขนาดที่จะเพิกถอน พ.ร.ฎ.” เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ไม่ทันสังเกต แต่ไปเปิดดูคำพิพากษาได้เลยครับ หวุดหวิด 3 วันเท่านั้น ไม่งั้นนักเล่นหุ้น ปตท.เจ๊งกันเป็นแถบ และตลาดหุ้นก็อาจพังพินาศ 3.ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (กลางดึก) ให้ระงับแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร คดีที่ส่งผลทางการเมืองครึกโครมที่สุด พันธมิตรยึดทำเนียบกำลังจะย่ำแย่พ่ายแพ้ทางการเมือง ไปคว้าแถลงการณ์ร่วมมาปลุกกระแสชาตินิยม ยื่นฟ้องศาลปกครอง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กลางดึก!!! อ.วรเจตน์ชี้ว่า การออกแถลงการณ์ร่วมเป็น Act of State การกระทำทางรัฐบาล (หรือทางบริหาร) ซึ่งหลักการสากลในประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ทั่วโลก แยกว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีมี 2 อย่างคือ การกระทำทางรัฐบาล กับการกระทำทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำอย่างหลังได้ แต่ไม่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำอย่างแรก ซึ่งได้แก่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเรื่องทางการเมือง ทั้งนี้เคยมีคดี J-TEPPA ที่ NGO ยื่นคำร้องให้สั่งระงับข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น แต่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้วว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง (ตุลาการศาลปกครองสูงสุดในคดีนั้นคือ อ.วรพจน์ วิศรุฒพิชญ์) พอวินิจฉัยแถลงการณ์ร่วม ศาลปกครองก็ยอมรับว่า แถลงการณ์ร่วมเป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่อ้างว่าขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วม ศาลปกครองตรวจสอบได้ คำอธิบายอย่างงงๆ คือ ศาลปกครองยอมรับว่ามติ ครม.เรื่องนี้เป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นในการเสนอเรื่องเข้า ครม.เป็นการกระทำทางปกครอง 4.ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับ 76 โครงการมาบตาพุด คดีนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องสีเพราะเกิดในรัฐบาล ปชป. เพียงแต่ผู้ฟ้องคือพวกพันธมิตรในคราบสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน และชาวมาบตาพุด ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวมาบตาพุดได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษมายาวนาน หนักหนาสาหัส โดยหน่วยงานรัฐไม่เหลียวแล คำสั่งคุ้มครองของศาลปกครองจึงเหมือนเทวดามาโปรด แต่การที่ศาลสั่งระงับเหมารวด 76 โครงการ และต่อมาศาลปกครองสูงสุดปล่อยไป 11 เหลือ 65 โครงการ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจการลงทุน เพราะหลายโครงการยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางมลภาวะ แต่ศาลอ้างมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่วางหลักเกณฑ์ให้มีองค์กรอิสระมาให้ความเห็นก่อน สังระงับทั้งหมด ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นยังระบุว่า “ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ และการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน” อ.ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตตุลาการศาลปกครอง ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองระบุว่า การกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ ให้คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย แต่ศาลไปอ้างว่าสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาได้ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะก้าวล่วงข้ามแดนการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ศาลมีอำนาจตรวจสอบในแง่ความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่ในแง่ความเหมาะสมหรือกำหนดนโยบายให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ อ.อัครวิทย์ สุมาวงศ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เป็นเสียงข้างน้อย ชี้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวไม่ตรงตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด เพราะการสั่งคุ้มครองชั่วคราวมี 2 แบบ คือการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว คดีนี้ควรทุเลาการบังคับตามกฎ คือสั่งระงับการก่อสร้างหากเห็นว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาภายหลัง แต่ไม่ใช่ระงับหมดทุกโครงการ 5.ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูล 3G นี่ก็ไม่ใช่การเมืองเรื่องสี แต่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี และประชาชนผู้บริโภค ผู้ฟ้องคดีนี้คือ CAT หรือ กสท.ซึ่งอ้างว่าถ้าปล่อยให้ กทช.เปิดประมูล ตัวเองจะเสียรายได้จากค่าสัมปทาน ต้องอธิบายที่มาก่อนว่า กทช.ทำหน้าที่อยู่ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 เนื่องจากกฎหมาย กสทช.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่เสร็จ เมื่อมี กสทช.แล้วจะต้องจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และการกำหนดจัดสรรคลื่นความถี่ แยกคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม และใช้ในกิจการวิทยุโทรทัศน์ ให้ กทช.และ กสช.ออกใบอนุญาตตามลำดับ ศาลปกครองวินิจฉัยว่า การเปิดประมูลใบอนุญาตของ กทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าปล่อยไปจะเกิดความเสียหายร้ายแรง เพราะอาจเกิดการฟ้องร้องเพิกถอนในภายหลัง โดยศาลยังเห็นว่า การสั่งระงับไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะ เพราะกว่าจะทำ 3G ครอบคลุมทั้งประเทศต้องใช้เวลา 4 ปี ถ้ารอ กสทช.ถึงตอนนั้นอาจจะข้ามไปทำ 4G 5G เลยก็ได้ อ.วรเจตน์แย้งว่า คลื่นที่จะเปิดประมูลคึอคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น ต่อให้มี กสทช.ทำแผนแม่บท คลื่น 2.1 ก็จะต้องแยกมาให้ กทช.เปิดประมูลอยู่ดี จึงเป็นแค่เรื่อง “แบบพิธี” ที่ไม่คำนึงถึงสารัตถะ นั่นคือประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดกับประเทศและประชาชนผู้บริโภค หากประมูล 3G ได้เร็ว เสียงค้านในขณะนั้นอาจไม่ทำให้ผู้คนตระหนัก แต่ต่อมาเมื่อ กสท.เอาสัมปทาน 3G ที่ตัวเองมีอยู่ไปให้ TRUE ผู้คนจึง “ตาสว่าง” แม้แต่ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการ TDRI ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “ระบอบทักษิณ” และปกป้องคุณพ่อรัฐวิสาหกิจมาตลอด ยังเพิ่งรู้ว่าตนเองเสียค่าโง่ และเขียนบทความออกมาเมื่อปี 53 ดังที่ผมเอามาโปรยไว้ตอนต้น 39

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net