รายงาน : เรียนรู้ชุมชนท่าสะแล เรียนรู้เรื่องหมอกควันไฟป่า

ชาวบ้านท่าสะแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่ารวม 10,447 ไร่ ย้ำรักษาผืนป่าตึงผืนสุดท้ายเอาไว้ เพราะคือป่าอุดมสมบูรณ์ ชุมชนหาอาหารจากป่าได้ตามฤดูกาล และใบตองตึง ยังเป็นรายได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนมหาศาล ในขณะที่รัฐบาลรวมทั้งภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนกำลังถกปัญหาเรื่องหมอกควันและไฟป่าที่กำลังก่อมลภาวะในหลายๆ พื้นที่ของภาคเหนือของไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.สุทธินี ดนตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควัน ในเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องการหาแนวทางการจัดการไฟป่าลดปัญหาหมอกควัน ห้องประชุม อาคารเครื่องกล2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า งานศึกษาวิเคราะห์สภาพอากาศและเฝ้าระวังการเกิดมลพิษทางอากาศ เมื่อปี 2551 โดยเจียมใจ เครือสุวรรณ และคณะ พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กใน จ.เชียงใหม่มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่าและการเผาพื้นที่การเกษตรประมาณร้อยละ 50-70 จากเครื่องยนต์ดีเซลประมาณร้อยละ10 ที่เหลือเป็นฝุ่นละอองที่ถูกพัดพาจากแหล่งกำเนิดภายนอกเชียงใหม่ เช่นอุตสาหกรรมครัวเรือน ฝุ่นละอองจากถนน ยังไม่รวมถึงหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านในลาว พม่า เป็นต้น ผศ.ดร.สุทธินี ดนตรี ยังกล่าวอีกว่า ผลการศึกษาพบว่า ปี2550 มีพื้นที่ร่องรอยการเผาสะสม 2,652,285 ไร่ และในพ.ศ.2553 มีพื้นที่ร่องรอยการเผาสะสม 2,962,329 ไร่ ส่วนพ.ศ.2554 มีภาวะลานิญ่า ทำให้ฝนตกมากกว่าปกติ การเผาไหม้จึงลดลงมาก ในปีที่พบสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันรุนแรงในปี2550และ2553เมื่อเปรียบเทียบลักษณะการกระจายตัวของพื้นที่เผาจากทั้งสามปี พบว่ามีรูปแบบการกระจายตัวที่คล้ายกัน โดยเฉพาะตามอำเภอที่มีภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีการใช้ที่ดินเป็นป่าผลัดใบและพืชไร่จำนวนมาก เมื่อนำร่องรอยการเผาทั้งสามปีมาซ้อนทับกันด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พบว่า มีอำเภอที่มีสัดส่วนพื้นที่เผามากที่สุดเฉลี่ยร้อยละ40 ของพื้นที่อำเภอขึ้นไป 9 แห่ง ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม ฮอด เชียงดาว อมก๋อย จอมทอง ดอยเต่า ฝาง แม่อาย และไชยปราการ อำเภอฝาง ก็เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่ถูกรายงานว่า กำลังก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แน่นอนว่า ไม่ว่าพื้นที่ใดที่ถูกเปิดเผยจากทางการ หรือจากสื่อ ย่อมถูกมองไปในทางลบต่างๆ นานา แต่เมื่อหันไปมองอีกมุมหนึ่ง กลับพบว่า ในความเป็นจริง ในหลายๆ พื้นที่ถูกกล่าวหานั้น หลายๆ ชุมชนเขากำลังเรียนรู้และป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่ากันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับชาวบ้านชุมชนบ้านท่าสะแล ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่กำลังได้รับการยกย่องและกล่าวถึงในเชิงบวก... เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนบ้านท่าสะแล ได้ร่วมมือกันทำแนวกันไฟ ที่ชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน รวม 10,447 ไร่ จากพื้นที่ครอบคลุมเขตปกครอง 14,447 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 2,000 ไร่ พื้นที่ทำกิน 3,800 ไร่ ทั้งนี้พื้นที่ป่าท่าสะแล มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่ ชุมชน หมู่บ้านใกล้เคียง ทิศเหนือติดต่อบ้านป่าแดงวิวัฒน์ (ชนเผ่าอาข่า) อ.แม่อาย ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่ที่ 12 บ้านโป่งถืบนอก (ลาหู่) ต.เวียงหวาย ทิศใต้ติดติดต่อกับบ้านหนองบัวคำ ตำบลแม่คะ อ.ฝาง ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลสันทราย อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ดูแลผืนป่าตึงผืนสุดท้าย นอกจากป้องกันไฟป่า ยังสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน นายไตรภพ เปรื่องการ ชาวบ้านท่าสะแล และเป็นสมาชิกสภาอบต.เวียง อำเภอฝาง กล่าวว่า ด้วยสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ของบ้านท่าสะแล เป็นพื้นที่ป่า ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพลวง (ป่าตึง) ที่สมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่ง และคิดว่า คงเหลือแห่งเดียวของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนท่าสะแลและชุมชนใกล้เคียงในอีกหลายๆชุมชน ในการเข้ามาหาอาหารจากป่าตามฤดูกาล และใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บเห็ด หน่อไม้ ผักป่า หาฟืน ไม้ใช้สอย ที่สำคัญการอาศัยผืนป่า เป็นแหล่งรายได้ในการเก็บใบตองตึงมา แปรรูป จักรสาน ที่เรียกว่า ไพตองตึง “ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าพลวง ที่เหลือเพียงเดียวในเขตลุ่มน้ำฝาง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งทุกปี ชุมชนบ้านท่าสะแล ทุกหลังคาเรือนรวม 95 ครัวเรือนช่วยกันในการทำแนวกันไฟ ป้องกันไฟป่า เพราะเราเห็นความสำคัญของป่าผืนนี้” นางหลง สายคำอ้าย ชาวบ้านบ้านท่าสะแล ที่มาร่วมทำแนวกันไฟครั้งนี้ กล่าวว่า มาทำแนวกันไฟทุกปี ปัญหาไฟป่าลดลงบ้าง ปัญหาหมอกควัน หมอกควันก็มาก หากถามว่า สาเหตุมาจากไฟป่าหรือไม่ คงมีบ้าง หากไม่จัดการดูแลรักษาป่า ผืนป่าก็คงจะเสียไป อย่างน้อยชาวบ้านที่นี่มีอาชีพในการเก็บใบตองตึง “หากไฟป่าลุกลามเข้ามา ชาวบ้านก็ช่วยกันพากันไปดับไฟ นำโดย สสอ.และร่วมกับชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวัน กลางคืน การมาทำแนวกันไฟครั้งนี้ มีการจัดแบ่งกันเป็นหมวดหมู่ กระจายไปตามผืนป่าที่ชาวบ้านดูแล” ในขณะที่นายรัตน์ บุญชาญ ประธานประธาน สสอ. และส.อบต.บ้านท่าสะแล ได้กล่าวถึงที่มาของการทำแนวกันไฟว่า ที่ผ่านมา เป็นฤดูกาลทำแนวกันไฟ ห้ามชาวบ้านไม่ให้เผาป่า ปีนี้อบต.สนับสนุนค่าอาหารและน้ำดื่ม ชาวบ้านระดมกันทำทุกปี “การที่มีหมอกควันในขณะนี้ คงจะเกิดไม่แต่ชาวบ้านเท่านั้น เพราะช่วงนี้ชาวบ้านยังไม่ได้เผาอะไรเลย อาจจะเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ อย่างพื้นที่ป่าไม้ที่ดูแลทุกวันนี้ ไม่มีการเผา มีการตั้งเวรยามคอยดูแล จัดกลุ่มอาสาสมัครรักษาป่าลาดตะเวน เฝ้าระวัง เพราะช่วงนี้ ชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตตองตึงไปไพตอง และเป็นรายได้ของชุมชน” นายรัตน์ บอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องปัญหาหมอกควัน นายรัตน์ยังเผยอีกว่า การเก็บใบตองตึงมาเป็นรายได้ จะช่วยลดปริมาณใบไม้ที่หล่นลงมา ซึ่งหากทับถมมากขึ้นก็อาจกลายเป็นเชื้อไฟไหม้ป่าเพิ่มมากขึ้น “การเก็บใบตองตึงไปทำไพตองนั้นจะลดปริมาณใบไม้ที่หล่นลงมาในเขตป่าตองตึง ลดไฟได้ระดับหนึ่ง เพราะปีหนึ่งๆไพตองตึงขายออกไปจากหมู่บ้านปีหนึ่งๆเป็นล้านๆไพ สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน ไม่เพียงแต่เฉพาะหมู่บ้านท่าสะแลเท่านั้น รวมไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ชาวบ้านได้ประโยชน์จากป่าอย่างมาก ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีความหวงแหน หากไฟเกิดขึ้นที่ไหน ชาวบ้านร่วมกันดับ ไม่ให้ลุกลามไปที่อื่น หากลุกลามไป จะทำให้สูญเสียเศรษฐกิจของชุมชนในการเก็บใบตองตึงมาไพขาย” นายรัตน์ บอกเล่าให้ฟังจนเห็นภาพและความสำเร็จของการดูแลป่าผืนนี้ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม มักมีเสียงสะท้อน ประเด็นคำถามที่สังคมไทยมักตั้งคำถาม โดยเฉพาะคนในเมือง ที่มักตั้งคำถามและบางคนถึงกับฟันธงว่า คนดอยคือตัวปัญหา ทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน “ที่คนในเมืองอาจจะมองว่า มาจากพี่น้องบนดอย พี่น้องที่อาศัยอยู่กับป่าเผาป่า แต่ถ้ามาเห็นจะรู้ว่าชาวบ้านได้เฝ้าระวังเต็มที่ ไม่ให้เกิดขึ้น ณ วันนี้ พี่น้องชาวบ้าน คณะกรรมการร่วมกันจัดทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า แบ่งออกเป็น 3 ชุดเพราะพื้นที่รับผิดชอบมีมากถึง 10,000 กว่าไร่ ระยะทางไม่ต่ำกว่า 5 กม. โดยใช้เส้นถนนเป็นแนวกันไฟ ถนนเป็นแนวที่เฝ้าระวัง ทุกวันต้องเปลี่ยนเวรยามป้องกันไฟป่า มาทำกิจกรรมร่วมกัน” นอกจากนั้น หลายคนชอบตั้งคำถาม การที่ชาวบ้านมาร่วมกันทำแนวกันไฟ จะช่วยลดปัญหาไฟป่าได้หรือไม่ นายรัตน์ บุญชาญ ประธานประธาน สสอ. และส.อบต.บ้านท่าสะแล บอกย้ำอย่างจริงจังว่า การทำแนวกันไฟ จะช่วยลดปัญหาไฟป่าได้มาก ดูได้จากพื้นที่ป่าหมื่นกว่าไร่ที่เราดูแลกันในขณะนี้ ยังไม่เป็นปรากฏการณ์ ไฟป่าเกิดขึ้น พี่น้องที่เข้าไปในป่า หาตองตึง เฝ้าระวังในตัวอยู่แล้ว รวมทั้งพี่น้องที่เข้าไปเลี้ยงสัตว์ในป่า ก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาส่วนหนึ่ง และนอกจากนั้น ในช่วงเย็นๆ เราจะมีขบวนคาราวานรถจักรยาน เมื่อเห็นไฟ ก็จะแจ้งกับทางคณะกรรมการหมู่บ้านและร่วมกันไปดับไฟ” ตัวแทนชาวบ้านท่าสะแล ยืนยันอีกว่า แม้ว่าในขณะนี้ผืนป่าที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลยังไม่เกิดไฟป่า แต่ถึงอย่างไร ทุกคนก็พร้อมจะช่วยกันเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในช่วงเดือนก.พ.ไปจนถึงเดือน เม.ย. และพี่น้องเข้าไปใช้ประโยชน์เก็บใบตองตึงในการนำตองไปแปรรูปตองตึงเพื่อนำไปคลุมต้นสตอเบอรี่ ย้ำหากทุกชุมชนทำแนวกันไฟจะช่วยลดปัญหาหมอกควันได้ ตัวแทนชาวบ้านท่าสะแล บอกอีกว่า หากมีการทำแนวกันไฟทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับป่า จะช่วยลดปัญหาหมอกควันลงมาอย่างมาก และหากทำพร้อมกันทุกพื้นที่ จังหวัด ที่มีป่าชุมชนก็จะสามารถลดปัญหาหมอกควันลงได้เช่นกัน จึงขอฝากทางจังหวัด ซึ่งมักจะไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านเผา แท้จริงชาวบ้านไม่ได้เผา แต่ร่วมกันจัดการดูแลรักษา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะสภาพดิน ฟ้าอากาศ หรืออุณหภูมิที่ต่ำลง “ส่วนการห้ามเผา ทางหมู่บ้านได้รณรงค์ร่วมกับอบต. ในการทำป้ายรณรงค์ และทำป้ายตามระเบียบกติกาของชุมชน ห้ามเผา หากพบเห็น ก็จะมีปรับตามระเบียบของชุมชน ส่วนการรณรงค์ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อโปสเตอร์ และมีป้ายไว้เป็นจุดๆ ตามสามแยก สี่แยกของชุมชน เผยชาวบ้านเฝ้าระวังเต็มที่ ไม่ให้มีการเผาป่า พื้นที่เกษตร ยังไม่ฤดูกาลที่จะเตรียมพื้นที่ จะเลยช่วงเมษายนไป ส่วนใหญ่พื้นที่จะไม่ค่อยมีการเผา เนื่องจากเป็นพื้นที่เดิม ที่ราบลุ่มน้ำ การเผาเบาบาง ไม่รุนแรง อาจจะไม่เหมือนพื้นที่อื่นๆ เพราะป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ทำกิน ได้จัดทำกันเขตชัดเจนแล้ว ไม่มีการบุกรุก หากมีการบุกรุกจะมีการจับกุม ป้องปรามกันไว้ “ขอให้พี่น้องในเมือง เบาใจได้ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากไฟป่า หรือการเผาพื้นที่เกษตร เพราะช่วงนี้ยังไม่มีการเผา แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร ประเทศใกล้เคียงเราหรือไม่ ที่พัดพาเข้ามา หรือปรากฏการณ์ทางอากาศ นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องถกกันต่อไป แต่ขอยืนยันว่า พื้นที่ป่าชุมชนเวียงด้ง 6 หมู่บ้าน ที่มีผืนป่าขนาดใหญ่ ช่วงนี้ไม่มีการเผา ยังคงดูแลรักษา เฝ้าระวังกันอยู่” ตัวแทนชาวบ้านท่าสะแล ยืนยัน ในขณะนายพรมพิริยะ รัตนมงคลชัย ตัวแทนชาวบ้านสันทรายคองน้อย และเป็นสมาชิกสภาอบต. หมู่ที่ 6 ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีผืนป่าติดกับบ้านท่าสะแล ก็ได้มีโอกาสไปร่วมทำแนวกันไฟกับพี่น้องบ้านท่าสะแล ได้กล่าวว่า บ้านสันทรายคองน้อย มีการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นโซนพื้นที่ และกระจายออกไปในการจัดการ โดยเฉพาะคนที่มีแนวเขตพื้นที่ทำกินติดกับพื้นที่ป่า จะทำแนวกันไฟของตนเอง แต่พื้นที่ป่าที่ป่าส่วนรวม ซึ่งมีพื้นที่ป่า 600 ไร่ ทางคณะกรรมการป่าจะร่วมกันออกไปทำแนวกันไฟ ซึ่งเป็นวิธีการแบ่งการจัดการ ไม่ได้ทำเฉพาะคณะกรรมการ แต่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน จิตสำนึกให้รักพื้นที่ป่า ร่วมกับพื้นที่ทำกินของตนเองควบคู่ไปด้วย พื้นที่ทำแนวกันไฟ รวม 200 ไร่ แต่พื้นที่ป่ามีมากถึง 700 ไร่ ปีที่ผ่านมาไฟป่าเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ เนื่องจากมีการกันไว้บางส่วน บางพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ก็มีการชิงเผาไปก่อนนี้แล้ว “การทำแนวกันไฟ จะช่วยลดปัญหาไฟป่าได้มาก เมื่อทำแนวกันไฟแล้ว คนที่ไปเสาะว่าหากินในป่าก็ช่วยเป็นหูเป็นตา รวมทั้งคนที่มีไร่ สวนติดกับพื้นที่ป่า ช่วยในการสอดส่องดูแลด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องกฎระเบียบ อาศัยกฎระเบียบกฎหมาย หรือคำสั่งที่ออกมา ส่วนกฎที่ควบคุมในหมู่บ้านไม่มีโดยตรง และได้ผลน้อยอยู่” นายพรมพิริยะ บอกเล่าให้ฟัง สาเหตุหนึ่ง ปัญหาหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตัวแทนชาวบ้านสันทรายคองน้อย บอกอีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งของหมอกควันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจากสาเหตุไฟป่า จากประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวเขตติดต่อจากประเทศพม่า บริเวณอำเภอแม่อาย เมื่อมีลมพัดพาเข้ามาในเขตไทยอากาศไม่สามารถไปไหนได้ มีส่วนอยู่บ้าง และเกินความสามารถของชุมชนที่จะแก้ไขได้ ต่อกรณีที่คนในเมืองมักกล่าวหาคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเป็นตัวก่อปัญหาไฟป่าและหมอกควัน นายพรมพิริยะ กล่าวว่า คนในเมืองจะโทษคนอยู่กับป่า ฝ่ายเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะคนอยู่ในเมืองก็มีส่วนเหมือนกันและ เกิดขึ้นได้มาก และทำให้ก่อมลพิษเป็นประจำด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นถนน ควันพิษ หรือธูปเทียนจากพิธีการต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องรถยนต์ “ในพื้นที่อำเภอฝางเช่นกัน เริ่มมีการใช้รถมากขึ้น ฉะนั้น อยากเสนอว่า การใช้รถ อยากให้ปรับปรุงระบบการเผาไหม้เครื่องยนต์ให้ดีขึ้น สมรรถภาพรถดีขึ้น การเผาธูปเทียน ปรับเปลี่ยนลดลง เช่นในงานศพ จุดธูปเทียนมีทุกวัน ทำเป็นประจำ ไปเห็นบางพื้นที่กำลังจะปรับเปลี่ยนอยู่บ้าง ในเรื่องของการแจกธูปโดยไม่มีไฟ แต่ก็ไม่มากนัก” ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านอำเภอฝาง ได้มีข้อเสนอทางนโยบาย เรื่องการจัดการไฟป่า ว่า ทางบ้านเมืองต้องเอาจริงจัง ลงมาเข้าถึงชุมชน ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่อย่างจริงจัง มากำหนด วางแผนร่วมกับชุมชนว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น เพราะทั้งสองส่วน มีทั้งอำนาจและงบประมาณ “ในส่วนของท้องถิ่นมีบทบาทในการสนับสนุน การรณรงค์ไฟป่า ปีที่ผ่านมา ก็มีการให้งบประมาณในการจัดการไฟป่า 7 หมู่บ้าน และการอบรม ให้ความรู้ทุกปีแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน ในส่วนของฝ่ายปกครอง ทางอำเภอรู้สึกว่า จะไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก แต่ก็มิได้หมายความว่า ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะทำโดยลำพัง ทุกส่วนต้องร่วมมือกัน ในเรื่องไฟป่า หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ส่วนแนวทางจากนี้ไปของเครือข่ายเวียงด้ง คือ เราจะต้องทำแนวเขตให้ชัดเจน ว่าแต่ละหมู่บ้าน แนวเขตถึงไหน เพราะจะได้แบ่งเขต แบ่งความรับผิดชอบในการจัดการได้ดียิ่งๆ ขึ้น”ตัวแทนชาวบ้านอำเภอฝาง กล่าวถึงการหาทางออกของปัญหาร่วมกัน. ข้อมูลประกอบ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท