สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (6) มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังผู้หญิง

 

“‘นายกฯปู-จีรนุช ประชาไท’ ติดโผสุดยอดหญิงนักสู้ของโลก’ พาดหัวข่าวแผ่หราอยู่บนหน้าของเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1USXdNakEwTVE9PQ==&subcatid=  ระบุเวลา  17:20 น. วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

มีเนื้อหาข่าวตอนหนึ่งระบุว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2555 พร้อมมอบโล่และประกาศเกียรติคุณสตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น จำนวน 19 สาขา

จากข่าวระบุ 19 สาขานั้น ผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กวาดไปถึง 5 รางวัล ประกอบด้วยนางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอ สตรีดีเด่นด้านการพัฒนาชุมชุนภาคใต้ นางรอซิดะห์ ปูซู สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพ นางแยน๊ะ สะแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง

ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารพิเศษเพ็ญสุข เสียงเพราะ ผู้บังคับบัญชากองพันนักศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนสตรียะลา จังหวัดยะลา สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ประเภทเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนางวิไล สังข์วิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานีนักการเมืองท้องถิ่นดีเด่นประเภทองค์การบริหารส่วนตำบล

ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพมากแค่ไหน แม้จะไม่ติดโผสุดยอดหญิงนักสู้ของโลก ตามที่นิตยสารนิวสวีคของสหรัฐจัดอันดับสุดยอดผู้หญิงนักสู้ของโลก 150 คนก็ตาม ทว่าก็มีพลังที่จะขับเคลื่อนแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับหนึ่ง

การออกมาส่งเสียง แถลงข่าว และเรียกร้องผ่านแถลงการณ์ของสตรีดีเด่น 3 คน คือนางแยน๊ะ สาแลแม นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ และนางรอซีดะห์ ปูซู ในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ช่วงเวลา 13.30-15.30 น. ของวันที่ 13 มีนาคม 2555 ณ เวทีกลางลานกิจกรรม ชั้น 1 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงชวนให้น่าติดตาม

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 12 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการเปิดฉากงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Media เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้องย่อย 1 (A 310) ชั้น 3 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ http://www.civicwomen.com/index.php เสวนาเรื่อง “ผู้หญิงชายแดนใต้กับการแปรเสียงแห่งความสูญเสียสู่เสียงแห่งสันติภาพ”

ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ภาคภาษาไทย นางอัสรา รัฐการัณย์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ นางสาวดวงสุดา นุ้ยสุภาพ ผู้สูญเสียชาวพุทธ นางแยน๊ะ สาแลแม สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง 2555 นางมาริสา สะมาแห ผู้สูญเสียชาวมลายูมุสลิม นายแวหามะ แวกือจิ หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สถาตันปัตตานี ดำเนินรายการโดยนางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นางสาวอัสรา รัฐการัณย์ แกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ บอกถึงจุดประสงค์ของการจัดเสวนาว่า เป็นการพูดคุยกับนางแยน๊ะ นางมาริสา และนางสาวดวงสุดา ผู้สูญเสียคนรัก ไม่ว่า พ่อ แม่ สามี ลูก สามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าทำอย่างไรถึงสามารถแปรเปลี่ยนจากเหยื่อ กลายเป็นผู้อุทิศให้กับสังคม

“จากการที่เธอเหล่านั้นเป็นผู้ถูกกระทำแต่สามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ แล้วเข้ามาทำงานในเครือข่ายผู้หญิงฯ ร่วมให้กำลังใจกับผู้ที่สูญเสียอื่นๆ และทุ่มเทเพื่อให้จังหวัดชายแดนใต้หลุดพ้นปัญหาคาราคาซังนี้ไปด้วยกันอย่างไร” นางสาวอัสรา เล่าถึงทิศทางของการเสวนา

นอกจากนี้แล้วในช่วงบ่ายเวลา เวลา 13.30-15.30 น. ที่ห้องเดิม เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมยังมีกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนและร่วมแลกเปลี่ยเรียนรู้เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ”

โดยมีนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน นางโซรยา จามจุรี นางยะห์ อาลี  ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจ.ปัตตานี ซึ่งมีนางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการวิทยุม.อ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ

นางสาวอัสรา อธิบายถึงการร่วมพูดคุยกับบรรดานักข่าวนั้น เพราะเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเล็งเห็นถึงการใช้สื่อไม่ว่า งานเขียนผ่านเว็บไซต์ วารสาร วิทยุ ฯลฯ เพื่อการขับเคลื่อนงานว่าควรใช้อย่างไรถึงจะมีพลัง โดยเชิญผู้สื่อข่าวที่คร่ำหวอดในพื้นที่ด้านต่างๆ มาชี้ประเด็นและเนื้อหา

“ขณะเดียวกันกลุ่มผู้หญิงกลุ่มน้ำพริกเซากูน่าจะมาเปิดบูธขายผลิตภัณฑ์ เช่นน้ำพริก เมี่ยงคำ เป็นต้น เพื่อระดมเข้ากลุ่ม ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่จัดนิทรรศการภาพถ่าย และผลงานที่ผ่านมา” นางสาวอัสรา สาธยายกิจกรรมที่จะจัดในงาน

ดูจากกิจกรรมที่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จัดในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ คล้ายๆ ว่ากำลังเร่งเสริมสร้างศักยภาพ มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังผู้หญิง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท