บางความเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันนี้เป็นวันหยุดมาฆบูชา ผมอยู่บ้าน ตื่นสายหน่อยเพราะเป็นวันหยุด มีนัดกับรายการวิทยุเล็กๆ รายการหนึ่ง เขาขอคุยเรื่องวันมาฆบูชา เมื่อคุยกันแล้วก็มาอาบน้ำ กินกาแฟ มีหนังสือพิมพ์วางบนโต๊ะ ภรรยาซื้ออ่าน ปกติผมไม่ค่อยได้อ่าน แต่วันนี้เป็นอะไรไม่ทราบ มือเอื้อมไปหยิบหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับวันพุธที่ ๗ มีนาคมมาอ่าน หน้า 10 อันเป็นหน้าการศึกษามีคอลัมน์หนึ่งพาดหัวว่า “บอร์ด กกอ. อนุมัติ 15 ศาสตราจารย์ มากสุดในรอบ 5 ปี” อ่านข้างในก็พบว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาท่านประชุมกันและมีมติอนุมัติอาจารย์จำนวน 15 ท่านเป็นศาสตราจารย์ การอนุมัตินี้เป็นปลายสุดของทางราชการแล้ว จากนี้ไปก็จะเป็นขั้นตอนเสนอกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป อาจารย์ทั้ง 15 ท่านนี้บางท่านเราก็รู้จัก เช่นท่านอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ท่านอาจารย์เกษียร เตชะพีระ มีท่านอาจารย์ท่านหนึ่งที่พอผมเห็นชื่อท่านแล้วผมก็แปลกใจ เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อประมาณปีหรือสองปีก่อน ผมได้รับทาบทามจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของท่านให้เป็นกรรมการอ่านงานของท่านอาจารย์ท่านนี้เพื่อประเมินว่า ท่านควรเป็นศาสตราจารย์หรือไม่ ผมก็รับปากฉันมิตร ว่าไปแล้วผมกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คบค้ากันมานานในทางวิชาการ ทางมหาวิทยาลัยวานให้ผมช่วยอ่านและประเมินคนของท่านแบบนี้มาหลายปีแล้ว อาจารย์ท่านที่ผมรับปากว่าจะอ่านงานท่านให้นี้ ผมก็จำได้ว่าเคยอ่านงานของท่านสมัยขอรองศาสตราจารย์มาแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยแห่งนั้นส่งเอกสารทางวิชาการของอาจารย์ท่านนี้มาให้ ผมอ่านก็จำได้ว่า เหมือนกับว่าเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งคือตำราของท่าน ผมเคยอ่านและประเมินแล้วสมัยที่ท่านขอรองศาสตราจารย์ ผมไม่แน่ใจจึงโทรศัพท์ไปถามเจ้าหน้าที่ ทางโน้นก็บอกผมว่า “ใช่แล้วค่ะอาจารย์ เป็นเล่มเดียวกับที่อาจารย์เคยอ่าน คราวโน้นอาจารย์ให้เกรดซีค่ะ” ผมก็ทราบจากเจ้าหน้าที่วันนั้นเองว่า นอกจากความจำผมจะไม่ผิด ตำราเล่มนี้ของอาจารย์ท่านนี้ผมก็ให้เกรดซี ผมก็พูดไปว่า เอ... ถ้าอย่างนี้เกรงว่าตำราเล่มนี้จะใช้ประกอบการขอศาสตราจารย์ไม่ได้แล้วล่ะ เพราะหากได้ ก็แปลกที่ระบบของเราอนุญาตให้ใช้ตำราเล่มเดียวกันเสนอขอตำแหน่งสองครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็อึ้ง ผมเลยช่วยไขปริศนาว่า มันจะเป็นอย่างนี้ไหมครับ ในระเบียบที่ทางมหาวิทยาลัยแนบมากับเอกสารของอาจารย์ท่านนั้นให้ผมนั้น มีระเบียบว่า ตำรานั้นเมื่อเขียนแล้ว กรรมการของมหาวิทยาลัยอ่านแล้ว ให้ผ่าน เคยพิมพ์ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ขอตำแหน่ง หรือยังไม่พิมพ์เลย เมื่อถึงขั้นตอนจัดพิมพ์ หากเจ้าตัวเห็นว่า มีที่ควรปรับปรุงก็ปรับปรุงได้ เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด เมื่อได้หนังสือนั้นมาแล้วก็เอามาขอตำแหน่งได้ ผิดกับงานวิจัยที่เมื่อทำแล้ว กรรมการอ่านแล้ว พิมพ์เผยแพร่แล้ว ภายหลังเจ้าตัวคิดจะใช้ขอตำแหน่ง แต่ไปเห็นข้อบกพร่องบางจุดเข้า ดำริจะแก้เพื่อให้ดูดีที่สุด อย่างนี้ท่านห้าม แต่หากเป็นตำรา ท่านไม่ห้าม ตอนที่ผมอ่านตำราเล่มนี้ของท่านอาจารย์ ยังเป็นต้นฉบับอยู่ แต่มีหนังสือรับรองจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยของท่านว่ากำลังดำเนินการจัดพิมพ์อยู่ ก็เข้าข่ายว่ากำลังจะเผยแพร่ เล่มเดียวกันนี้ส่งมายังผมอีกครั้งตอนที่พิมพ์เป็นหนังสือแล้ว และท่านก็ใช้ฉบับพิมพ์เป็นหนังสือนี้ขอศาสตราจารย์ (คือต้นฉบับใช้ขอรองศาสตราจารย์ เมื่อพิมพ์แล้วใช้ขอศาสตราจารย์) ผมก็แปลกใจว่า ท่านจะไม่เข้าใจระเบียบกระมังว่า ที่เขาให้แก้ไขได้นั้นก็เพื่อให้งานนั้นดีที่สุดสำหรับขอตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ จะเอามาขอซ้ำกันสองครั้งไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมอธิบายแก่เจ้าหน้าที่ไป ทางนั้นก็ตอบผมว่า “เอาอย่างนี้ดีไหมค่ะ อาจารย์ไม่ต้องอ่านเล่มนี้ อ่านแต่งานวิจัยก็พอ แล้วคะแนนของอาจารย์ก็จะมีแต่ส่วนที่อาจารย์อ่าน คือจากงานวิจัยเท่านั้น ตำราเล่มนี้กรรมการท่านอื่นจะประเมินแทน” ผมก็บอกว่า เห็นจะรับไม่ได้หรอกครับ เพราะทำอย่างนั้นก็เสมือนลดผมไปเป็นเครื่องจักร ทักท้วงอะไรไม่ได้ มีหน้าที่เพียงทำงานตามใบสั่ง ติดขัดที่ตรงไหน หากเขาเห็นว่าผมเป็นปัญหาเขาก็จะยกผมออก เพื่อให้ระบบเดินไปได้ ทางโน้นท่าทางหนักใจ ผมก็เลยพูดไปว่า “หากจะบังคับให้ผมมองข้ามตำราเล่มนี้ อ่านแต่งานอื่น แล้วส่งคะแนนไปรวมกับของท่านอื่น ผมก็จะขอลาออกจากการเป็นกรรมการ” จากวันนั้นมา ผมก็คอยว่าเมื่อใดที่ท่านประธานจะนัดประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องที่ผมทักท้วง ผมไม่ได้ยืนยันว่าผมถูก แต่ผมคิดว่าที่ทำกันอยู่นี้น่าจะเข้าใจระบบผิดไป จะได้อภิปรายกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในที่ประชุม ปกติ ผมก็เข้าใจอะไรผิดอยู่เหมือนกัน ตามวิสัยปุถุชน แต่ที่ประชุมจะช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิดนั้น เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ผมก็ไม่ได้รับคำตอบอะไร จนเมื่อมาอ่านหนังสือพิมพ์วันนี้ จึงได้พบว่าท่านอาจารย์ที่ผมทักท้วงงานของท่านนั้นได้รับอนุมัติตำแหน่งศาสตราจารย์ รอเพียงขั้นตอนการโปรดเกล้าเท่านั้น สิ่งที่ผมคิดออกเวลานี้ก็คือ ผลที่ว่านี้น่าจะเกิดได้จากเหตุ 2 ประการคือ (๑) ผมถูกปลด แล้วตั้งคนอื่นแทน กรรมการคณะที่ไม่มีผมอยู่ด้วยก็พิจารณาให้ท่านอาจารย์ท่านนี้ผ่าน จะเอกฉันท์หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ก็ผ่าน (๒) ชื่อผมยังอยู่ แต่เวลาประชุม เขาไม่เรียกผมเข้าประชุมด้วย บังเอิญสองเสียงให้ผ่าน เสียงผมก็ไม่ต้องใช้ สองข้อนี้ผมเลือกข้อแรก เพราะหากเป็นอย่างข้อสอง คณะกรรมการชุดนี้ก็เป็นบุคคลที่ผมไม่อาจเข้าใจจิตใจของท่านได้ เพราะหากทำอย่างนี้ได้ ท่านก็กล้าหาญชาญชัยผิดมนุษย์ ดังนั้นทางที่เป็นไปได้ที่สุดก็คือ ผมถูกปลด ไม่เป็นไรครับ ท่านตั้งผมได้ ท่านก็ย่อมจะปลดผมได้ แต่ผมก็เสียใจอยู่หน่อยว่า หากจะปลดก็น่าจะมีน้ำใจแจ้งผมมาสักหน่อย ตอนตั้งผมท่านตั้งอย่างเป็นการเป็นงาน เป็นคำสั่งของมหาวิทยาลัย เป็นหนังสือราชการ ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรหรอกครับ เพียงเจ้าหน้าที่ชั้นธุรการธรรมดาๆ โทรศัพท์มาทาบทาม ผมก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติแล้ว ท่านอธิการบดียังไม่ต้องทำหนังสือแต่งตั้งผม ผมก็รับด้วยความดีใจที่จะได้ช่วยกันดูแลมาตรฐานทางวิชาการของประเทศนี้อยู่แล้ว แต่พอท่านจะปลดผม ท่านก็ปลดเสียอย่างนั้น ปล่อยให้ผมรอเก้อว่าเมื่อไหร่เขาจะเรียกประชุมอยู่เป็นปีสองปี ถ้าท่านไม่สะดวกจะทำหนังสือ เพียงให้เจ้าหน้าที่ธุรการชั้นผู้น้อยโทรศัพท์มาบอกผมหน่อยก็พอแล้วละครับ นี่ถ้าผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์วันนี้โดยบังเอิญ ผมก็อาจรอเก้ออยู่อีกนาน คิดไปคิดมาก็อดสงสารตัวเองไม่ได้ ทำไมผมเขียนเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ ก็ข้อความในย่อหน้าสุดท้ายของข่าวนั่นแหละครับเป็นเหตุ ท่านอาจารย์กำจร ตติยกวี ในฐานะผู้บริหารที่รับผิดชอบการให้ข่าวนี้แก่สื่อท่านบอกว่า “การอนุมัติบุคคลให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ออกประกาศมอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา แต่ยืนยันว่า การพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด...” ผมเกรงว่า กรณีที่เกิดกับผมนั้นจะขัดแย้งกับข้อความที่ผมอนุญาตขีดเส้นใต้ข้างบน สิ่งที่ผมทักท้วงนั้นสำคัญมากนะครับ เพราะเป็นงานจำนวน 50 % ของงานทั้งหมดสำหรับใช้ขอเป็นศาสตราจารย์ ถ้าตำราเล่มนี้ไม่อาจใช้ได้ตามที่ผมเข้าใจ เรื่องก็จะเป็นโมฆะหมด ผมไม่ยืนยันว่าผมถูก แม้จะเชื่อว่าตนเข้าใจไม่ผิดก็ตาม แต่ผมก็ไม่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้เราได้ศาสตราจารย์มาอย่างถูกต้อง ผมเสียใจตรงนี้เท่านั้นเอง ภรรยาบอกว่า “ต่อไปอย่าอ่านงานให้เขาเลยนะ เขาทำกับเราเหมือนอะไรก็ไม่รู้” ผมเข้าใจภรรยา แต่ก็บอกเธอไปว่า ผมมองเหตุการณ์ทั้งหลายแบบแยกส่วนตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ผมกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมายาวนาน ผมมาสอนพิเศษในระดับปริญญาโททางด้านรัฐศาสตร์ให้ที่นี่มาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านั้นก็เคยสอนปริญญาเอกให้ในสาขาสหวิทยาการอยู่สามสี่ปี การบอกปัดไม่รับอ่านงานให้เป็นการไม่แยกแยะ มหาวิทยาลัยนั้นอยู่นานครับ ที่ผ่านไปผ่านมาก็เฉพาะท่านที่มาทำหน้าที่บริหารเท่านั้น เวลาผมทำงานให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้และทุกแห่ง ผมไม่เคยคิดถึงบรรดาท่านผู้บริหารเลย แม้บางท่านจะรู้จักกันเป็นส่วนตัว คิดถึงก็แต่ตัวมหาวิทยาลัยที่เป็นนามธรรมที่จะอยู่ยืนนานไปชั่วลูกหลานเหลนโหลน หากในอนาคต ท่านขอมา ผมก็ต้องอ่านด้วยความเต็มใจและยินดีล่ะครับ ไม่ว่ากัน เราเป็นพี่เป็นน้องกันอยู่แล้ว ที่เขียนมานี้ก็ด้วยเหตุผลส่วนตัวแท้ๆ คือมีทุกข์บางอย่างในใจอันเนื่องมาจากการที่รู้สึกว่าเราถูกหยิบไปหยิบมาจะวางแหมะลงตรงไหนก็ได้เหมือนก้อนวัตถุ ผมไม่คิดจะไปร้องเรียนใคร แรกนั้นเคยคิดว่า มนุษย์มีกรรมเป็นของตน ดังนั้นใครทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เราไปเดือดร้อนแทนทำไม คิดไปอย่างนั้นเหมือนกันครับ แต่พออ่านข่าวแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนรวม อย่างน้อยคนเป็นศาสตราจารย์ก็ได้เงินเดือนเพิ่ม เงินเดือนก็มาจากเราๆ ที่เป็นชาวบ้าน ผมก็น่าจะช่วยคัดกรองให้เงินภาษีของเราๆ ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า ความคิดนี้เองที่ทำให้ที่สุดก็เขียนเรื่องนี้มาเล่า ไหนๆ ผมก็เรียนแล้วว่าผมมองมหาวิทยาลัยในแง่ที่เป็นสถาบันที่ผมให้เกียรติมาก ไม่ใช่คณะผู้บริหาร และเมื่อมองก็มองอย่างหวังดี อยากให้สถาบันที่ตนเกี่ยวข้องด้วยงามสง่าและทำอะไรถูกต้องเข้าร่องเข้ารอย เมื่อสิ่งที่ผมท้วงติงคราวนี้ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในแง่ที่เป็นสถาบันเลย ผมก็ไม่มีเหตุผลจะปิดบังนามของมหาวิทยาลัย บางทีการเปิดเผยนามตรงๆ ด้วยเจตนาดี ก็อาจช่วยทุ่นเวลาของท่านที่อยู่ในสถาบันนี้ที่เห็นว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันคิดแก้ไขแล้วล่ะ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนัก จะได้ไม่ต้องไปคิดตีปริศนาธรรม หรือหาข้อมูลเพิ่ม ไปหาก็จะเจอครับ แต่อาจเสียเวลา ในเมื่อผมช่วยประหยัดเวลาได้ ก็ขอเปิดก็แล้วกันนะครับว่า เรื่องนี้เกิดที่ธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท