Skip to main content
sharethis

เสวนาครบ 20 ปี งานศึกษา 'แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย' นักวิชาการชี้ 20 ปีสังคมเปลี่ยน แต่ผู้หญิงยังคงเป็นผู้หาเลี้ยงสังคม เพียงย้ายจากภาคเกษตรสู่แรงงานในภาคอุตสาหกรรม พร้อมตั้งคำถามใหม่ถึงอำนาจของผู้หญิง-การบริโภคผู้หญิง เปลี่ยนไปอย่างไร เวทีเสวนา ‘20 ปี แม่ญิงสิขายตัว’ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2555 ที่ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ “...เราจะยังคงมองโสเภณีว่าเป็น ‘ปัญหาสังคม’ และ ‘ปัญหาของผู้หญิง’ ไปอีกนานเพียงใด? โสเภณีเกิดจากปัญหาความยากจน ความเห็นแก่ตัวของพ่อแม่และความ ‘ใจแตก’ ของเด็กสาวสมัยใหม่เท่านั้นหรือ? เราสามารถมองโสเภณีโดยแยกออกจาก ‘ชุมชน’ และบริบททางสังคมวัฒนธรรมของพวกเธอเหล่านั้นได้จริงหรือ?” บางข้อคำถาม จากบทนำของหนังสือ ‘แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย’’ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่จัดทำขึ้นแด่ผู้หญิงทุกคนซึ่งเป็น ‘ผู้ผลิต’ ที่แท้จริงของสังคม ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2535 จากความพยายามหาคำตอบที่นอกเหนือไปจากกระแสความคิดสูตรสำเร็จที่ว่า “เพราะ ‘จน-แรด’ ผู้หญิงจึงต้องไปขายตัว” ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้กลายเป็นหนึ่งในงานวิชาการที่ถูกอ้างอิงถึงมากในแวดวงสตรีศึกษา และถือเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ผู้ต้องการทำความเข้าใจในประเด็นผู้หญิงควรได้อ่าน อาศัยกลิ่นอายวันสตรีสากล ติดตามความเปลี่ยนแปลง 20 ปีให้หลังของงานวิจัยดังกล่าว กับมุมมองผู้หญิงในสังคมไทยที่เปลี่ยนไป (?) ตามทัศนะของ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ นักวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้เขียน ในเวทีเสวนา ‘20 ปี แม่ญิงสิขายตัว’ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2555 โดยความตั้งใจของ Book Re:public นับตั้งแต่ปี 2529 ที่ได้รับรู้ถึงปรากฏการณ์การค้าประเวณีเด็กสาวในชนบทภาคเหนือ กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานวิจัยภาคสนามและเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนของหมู่บ้าน 2 แห่ง ในเขต อ.เมือง จ.พะเยา ช่วงระหว่างปี 2531-2533 เพื่อหาที่มาของปรากฏการณ์และเหตุผลที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือสิ่งที่ ศ.ดร.ยศ บอกเล่าถึงความเป็นมาในตอนต้น การวิเคราะห์ในระดับชุมชน และสหสัมพันธ์ของพลังต่างๆ ที่กำหนดความเป็นไปของสังคมไทย ทั้งในระดับมหภาคลงไปจนถึงชุมชนหมู่บ้าน ไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวหญิงบริการว่าเป็นปัญหาสังคม โดยอาศัยข้อมูลและความรู้ความเข้าใจถึงบริบทและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งกว้างขวางและเป็นพลวัต ทำให้งานศึกษานี้แตกต่างจากงานวิจัยโดยทั่วไปที่มีอยู่ในขณะนั้น เวลาผ่าน แต่ปรากฏการณ์ของปัญหายังคงอยู่ ศ.ดร.ยศ กล่าวถึงประเด็นที่จำเป็นต้องเข้าใจหากต้องการเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและยังคงความต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยย้อนไปถึงสิ่งที่ต้องการเสนอเมื่อราว 23 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่เริ่มเขียนงานวิจัย ว่า ประเด็นแรก ผู้หญิงเป็นผู้ผลิตทางสังคม และสังคมไทยมีการสร้างวัฒนธรรมบางอย่างที่สั่งสอนให้ผู้หญิงมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย แม้กระทั่งเมื่อเข้าไปทำงานในเมืองผู้หญิงก็จะถูกคาดหวังให้ส่งเงินกลับบ้านมากกว่าในกลุ่มแรงงานชาย โดยสังคมคาดหวังให้ลูกสาวเป็นผู้หาลี้ยงพ่อแม่และมีการสืบทอดความคาดคิดนี้จากรุ่นสู่รุ่น ประเด็นต่อมา ผู้หญิงเป็นเพศที่มีอำนาจ เช่น การมีอำนาจในการสืบทอดผีบรรพบุรุษ มีอำนาจในกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมีอำนาจในแง่กลุ่มเครือญาติที่อยู่แวดล้อมจากการที่ผู้ชายต้องแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งสภาพเหล่านี้สืบทอดมาหลายชั่วคนจนกระทั่งเริ่มเกิดปัญหาการพัฒนาในชนบทไทยขึ้นมา ทำให้ผู้หญิงค่อยๆ ถูกผลักออกจากภาคการเกษตร สถานะทางอำนาจของผู้หญิงจึงถูกลิดรอนตั้งแต่ตอนนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แรงดึง-แรงผลัก ที่ขับดับให้ผู้หญิงไปขายตัว ความเชี่ยวชาญในภาคเกษตรซึ่งเคยเป็นของผู้หญิงมาก่อน ถูกเปลี่ยนมือหลังจากมีแนวคิดวาด้วยเรื่องการพัฒนา ที่มองผู้ชายเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจสภาพของสังคมไทยโดยส่วนรวม ประกอบกับทิศทางการพัฒนาที่ถูกกำหนดโดยทุนนิยมตะวันตกได้วางผู้หญิงไว้เป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกในภาคอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเพศที่ถูกลิดรอนอำนาจ ลิดรอนสถานะทางเศรษฐกิจ และความพยายามที่จะกอบกู้สถานะในขณะที่สังคมตกอยู่ในสภาวะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ทำให้ผู้หญิงต้องดินรนออกไปทำงานภายนอก ศ.ดร.ยศ กล่าวด้วยว่า ช่วงปี 2520 ในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา ถึงยุคพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบที่สังคมไทยเปิดประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีการเชื้อเชิญให้เกิดการลงทุนอย่างมากมาย โดยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมเริงรมย์ เกิดวาทะกรรมของนักการเมืองที่ว่า “ที่ไหนก็มีกะหรี่” “กระหรี่กู้ชาติ” ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมเริงรมย์เฟื่องฟูทั้ง อาบอบนวด คาราโอเกะ ซ่อง เซ็กส์ทัวร์ ทำให้เกิดความต้องการแรงงาน โดยผู้หญิงเหนือและผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ยากจนตกเป็นเป้าหมายต้นๆ ที่ถูกมองว่ามีศักยภาพจะมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ ศ.ดร.ยศ เห็นว่าไม่เปลี่ยนคือการที่ผู้หญิงยังคงเป็นผู้หาเลี้ยงสังคม แต่เกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นมาและยังไม่มีคำตอบ คือ อำนาจของผู้หญิงเปลี่ยนไปอย่างไร? การบริโภคผู้หญิงเปลี่ยนไปอย่างไร? สังคมชนบทกับการยอมรับการค้าประเวณี ศ.ดร.ยศ เล่าว่า ในขณะทำการวิจัยอยู่นั้น การค้าประเวณีถูกพยายามทำให้เป็นอาชีพ ที่มีความเป็น Professional มีระบบการบริหารจัดการแน่นอนชัดเจน มีการจ่ายเงินจองตัวที่เรียกกันว่า ‘ตกเขียว’ มีการดูแลเรื่องที่พักและรถรับส่ง มีการฝึกฝนทักษะอาชีพ และเป็นการไปโดยไม่มีการบังคับ แม้อาจไม่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าไปด้วยความเต็มใจ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็พยายามจะมองการค้าประเวณีว่าเป็นอาชีพเพราะในวัฒนธรรมไทยไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ศ.ดร.ยศ กล่าวด้วยว่าการพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ และเล่าว่าในสมัยที่ทำการวิจัยมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งทำโครงการรณรงค์ให้หยุดขายลูกสาว ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นการทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะในความเป็นจริงนั้นซับซ้อน ไม่ใช่แค่การที่พ่อ-แม่ขายลูก ยกตัวอย่างกรณีที่พี่สาวซึ่งผ่านกระบวนการค้าประเวณีเป็นผู้พาน้องสาวเข้าสู่การค้าประเวณี ด้วยความคิดว่าเป็นการช่วยกอบกู้ชีวิตของน้องสาวออกจากสภาวะแร้งแค้น ไปสู่ความเจริญ หรือหลายกรณีที่หญิงสาวตัดสินใจไปค้าประเวณีทั้งที่พ่อ-แม่คัดค้าน เพราะรู้สึกว่าอยู่ที่บ้านแล้วไม่มีอะไรทำ อีกทั้งเพื่อนในวัยเดียวกันต่างก็ไป นอกจากนั้น งานศึกษายังพบว่า ฐานะทางการเงินไม่ใช่เงื่อนไขและปัจจัยให้หญิงสาวไปค้าประเวณี เพราะจากการเก็บสถิติตัวเลขฟ้องว่าบ้านที่มีฐานะดี มีลูกสาวไปค้าประเวณีมากกว่าบ้านที่ยากจน เพราะฉะนั้นการจะอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจทำไม่ได้อีกต่อไป “ผมพยายามจะอธิบายว่ามันซับซ้อนมากกว่าที่คุณจะไปบอกว่า ‘พ่อแม่ขายลูก’ ‘มันยากจน’ แต่ถ้าคิดว่ามันเป็นปัญหาการพัฒนา อันนี้จะเห็นว่ามันเป็นอะไรที่ซับซ้อน และมี human dimension มีมิติของความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย” ศ.ดร.ยศ กล่าว ทั้งนี้ งานวิจัย ‘แม่หญิงสิขายตัว: ชุมชนและการค้าประเวณีในสังคมไทย’ ของ ศ.ดร.ยศ เสนอว่า โดยเนื้อแท้แล้ว การค้าประเวณีเป็นเพียงปัญหาหนึ่งของชุมชนชนบทไทย ท่ามกลางปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ‘ผลิตผล’ ของการพัฒนาความด้วยพัฒนาของประเทศไทย คำถามต่องานวิจัย จากพลวัตของสังคมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คำถามของ ดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์ นักวิชาการและกรรมการศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตั้งคำถามถึงการใช้กรอบคิดการพัฒนาโดยพึงพา มาอธิบายสภาวะความเสื่อมถอยของชุมชนจนกระทั่งผู้หญิงต้องล่องใต้สู่ตลาดการค้าประเวณี เวลาผ่านไป 20 ปี ชุมชนไทยขณะนี้เป็นอย่างไร ทฤษฎีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด และแนวความคิดต่อการเสริมอำนาจให้ผู้หญิงด้วย ‘กองทุนพัฒนาสตรี’ ศ.ดร.ยศ ตอบว่า ภาพปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นในตอนนั้นคือการเข้ามาของทุนนิยมในประเทศโลกที่สาม โดยมี International division of labor เป็นทฤษฎีซึ่งพยายามจัดการให้ผู้หญิงมีที่ทางของตัวเองภายในอุตสาหกรรมบางอย่าง แล้วเมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ทฤษฎีว่าไว้ก็เริ่มเป็นจริง เมื่อผู้หญิงเริ่มไปทำงานในโรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะในกิจการที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความอดทน ตรงนี้ทำให้ International division of labor ไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎี แต่เปรียบได้กับแผนปฏิบัติการ เพียงแต่ในช่วงที่มีการทำวิจัยนั้นโรงงานยังไม่ได้เป็นที่นิยมของผู้คนในภาคเหนือ และที่ทางของผู้หญิงที่ถูกถีบออกจากภาคเกษตรก็มีไม่มากนัก ดังนั้นอุตสาหกรรมเริงรมย์จึงเข้ามาตอบคำถามตรงนี้ คำอธิบายในช่วงนั้นมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่คือการกล่าวโทษเหยื่อ ชี้โทษผู้หญิง หรือพ่อแม่ ซึ่งต่างก็เป็นเหยื่อ เพราะมันง่าย แต่การหาคำอธิบายที่หลุดออกจากประเด็นเหล่านี้เพื่อคิดใหม่ทำใหม่ ต้องอาศัยการรื้อสร้างคำอธิบายชุดเดิมๆ ซึ่งในช่วงหลังๆ ก็มีทฤษฎีที่จะมารับกับปัญหาเหล่านี้ แต่ทฤษฎีเหล่านี้กลับถามคำถามเดิมๆ และอาจไม่ได้ให้ชุดของคำอธิบายที่แตกต่างไป อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถโทษทฤษฎีได้ เพราะมันไม่ใช้คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือซึ่งขึ้นอยู่กับการหยิบนำไปใช้เชื่อมโยงกับบริบทของปัญหาที่ต้องการหาคำตอบ ทั้งนี้ การตั้งคำถามต่อความเป็นไปของสังคมต่างหากที่เป็นปัญหา ศ.ดร.ยศ กล่าวว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสังคมไทยหมกมุ่นกับเรื่องน้ำว่าจะแล้งหรือท้วม แต่น้ำท่วมกระทบต่อผู้หญิงอย่างไรกลับไม่ค่อยมีคนถาม จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ของประเทศเป็นแรงงานอยู่ในภาคการผลิตระบบอุตสาหกรรม แล้วผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังต้องเลี้ยงครอบครัวอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดน้ำท้วมแล้วผู้หญิงเหล่านี้ตกงาน ย่อมหมายความว่าลูก พ่อแม่ คนชรา คนป่วย ฯลฯ ที่ต้องพึ่งพิงพวกเธอย่อมได้รับผลกระทบ อีกทั้งสังคมมักไม่สนใจในมิติของปากท้องที่ผู้หญิงกำลังเผชิญอยู่ ไม่สนใจกับประเด็นที่ทางมานุษยวิทยาเรียกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “วิกฤติของสังคมไทยตอนนี้ก็คือผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ผลิตตกงานกันเยอะ หรือว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเยอะมาก และมันส่งผล แต่ไม่ค่อยมีคนถาม” ศ.ดร.ยศ กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า ‘กองทุนพัฒนาสตรี’ จะรองรับกับปัญหาของผู้หญิงซึ่งเป็นหัวใจการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้หรือไม่ ‘เมียฝรั่ง’ ปรากฏการณ์ใหม่ ที่ถูกเลือกนำเสนอ คำถามจาก สมหญิง สุนทรวงษ์ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) สอบถามถึงการวิเคราะห์เปรียบเทียบปรากฏการณ์และแนวคิดของ ‘แม่หญิงสิขายตัว’ ซึ่งเป็นแนวคิดเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับกระบวนการของการขายบริการทางเพศของวัยรุ่นในปัจจุบัน รวมถึงการมี ‘หมู่บ้านฝรั่ง’ ในภาคอีสานซึ่งได้รับการโปรโมทจากส่วนราชการในจังหวัด ศ.ดร.ยศ แสดงความเห็นว่า จากตัวอย่างที่เห็นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ต.แม่เหียะก็มีจำนวนมาก ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงไทยจะหาสามีเป็นฝรั่งเพราะผู้คนในปัจจุบันมีความลื่นไหล แต่ประเด็นก็คือส่วนหนึ่งผู้หญิงที่เป็น ‘เมียฝรั่ง’ ไม่ใช่ผู้หญิงสวย อยู่ในวัยกลางคน ส่วนใหญ่มีลูกแล้ว และมีสามีที่เป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ สร้างภาระให้ หรือเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้พวกเธอต้องดิ้นรนต่อสู้ดิ้นรมด้วยตนเอง นอกจากนั้นภาพที่เราเห็นกันส่วนใหญ่เป็นเพียงกรณีความสำเร็จ แต่ส่วนอื่นที่ไม่ได้ดีก็มีอีกจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้หญิงค้าประเวณีที่มีบ้านหลังใหญ่โต แต่ก็มีหายคนที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ หรือจนแล้วไม่กล้ากลับบ้านก็มีอีกจำนวนมาก แต่ภาพที่สังคมมักจะเห็น หรือเลือกที่จะเห็นคือภาพกรณีความสำเร็จ แม้ว่าในความเป็นจริงคนต่างชาติเหล่านั้นอาจเป็นคนที่ไม่สามารถหาภรรยาในประเทศตัวเองได้ หรือมีความเป็นอยู่แร้งแค้นในประเทศของตัวเอง ศ.ดร.ยศ แสดงความเห็นต่อมาว่า ในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคม กรณีของ ‘เมียฝรั่ง’ ทำให้เห็นลักษณะของการค้าประเวณีอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สมัยก่อนเมืองไทยเรียกว่า partner ซึ่งไม่ใช่หญิงบริการเต็มตัว แต่เป็นหญิงนั่งดริงค์ คู่เต้นรำ แล้วพัฒนาความสัมพันธ์เป็นเพื่อนเที่ยวระยะยาว เป็นคู่รัก และ ‘เมียฝรั่ง’ ที่สร้างบ้านอยู่ด้วยกันในที่สุด อีกส่วนหนึ่งคือบริษัทหาคู่ซึ่งเป็นบริการที่มีมายาวนานนับสิบปี ทั้งนี้ สิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้านฝรั่งไม่ได้มีมาก และการรวมตัวกันเป็นชุมชนก็คือการปรับตัวเพื่อหาทางรอดของพวกเขา และสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่พวกเดียวกันเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบนความยากจนของชนบท เพราะชนบทไทยไม่ได้ยากจนเหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างทางชนชั้นไปเป็นชนชั้นผู้ประกอบการจำนวนมาก แม้คนที่จนดักดานยังคงมีอยู่ แต่ก็มีความหลายหลายของอาชีพมากขึ้นไม่ได้มีเฉพาะชนชั้นเกษตรกร และมีการกระจายรายได้ในระดับรากหญ้ามากขึ้น อีกทั้งบางครั้งการเป็น ‘เมียฝรั่ง’ ก็ไม่ได้ทำให้โดนเด่นหรือน่าชื่นชมในสายตาของชาวบ้าน ผู้หญิงในพื้นที่การเมือง โครงสร้างทางชนชั้นเปลี่ยน ความสนใจก็เปลี่ยน ศ.ดร.ยศ ตอบคำถาม ของโสภิดา วีรกุลเทวัญ ผู้ประสานงานโครงการสื่อเพื่อประชาธิปไตย มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เจ้าของผลงานศึกษา ‘การนำเสนอความเป็นตัวตนของหญิงบาร์เบียร์’ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในทางการเมือง การต่อสู่ของภาคประชาชน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่มากขึ้นในปัจจุบันว่า จากการทำวิจัยในสังคมไทยมากว่า 30 ปี ส่วนตัวคิดว่าการมีบทบาทของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะในสังคมไทยระดับล่างผู้หญิงเป็นผู้นำชุมชนมาโดยตลอด เช่นกรณีจินตนาซึ่งถือเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ยกเว้นในระดับบนที่ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ เช่น การมีนายกหญิง สัดส่วนของการมี ส.ส. ส.ว.และรัฐมนตรีหญิงที่เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีผู้หญิงที่ออกมามีบทบาททางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่าง ดา ตอปิโด ผู้หญิงเสื้อแดง หรือในกรณีแม่ยกพันธมิตร ศ.ดร.ยศ มองว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจที่ได้เห็นศักยภาพในการนำของผู้หญิง เพราะส่วนตัวไม่เห็นว่าผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างในสังคม อีกทั้งผู้หญิงไทยในระดับล่างมีความแอคทีฟและเปิดพื้นที่ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่พวกเขาออกมาแสดงว่าเขาเห็นเป็นเรื่องสำคัญ “เมื่อโครงสร้างทางชนชั้นเปลี่ยน ผู้หญิงก็เริ่มหันมาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ทางการเมืองมันก็เคลื่อนจากประเด็นทางการเกษตร ประเด็นเรื่องที่ดิน มาสู่ประเด็นที่เป็นประเด็นทางการเมืองมากขึ้น และก็ไม่แปลกใจที่พวกเขาจะสนใจกับนโยบายและประเด็นที่มันกระทบกับผลประโยชน์ของเขาโดยตรง แล้วก็ไม่แปลกอีกเหมือนกันที่เขาจะลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของเขา เพราะที่เขามานี่ผมมองว่าเขาไม่ได้มาเพราะถูกจัดตั้ง แต่เขามาเพราะเขามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับเขาแต่เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา” ศ.ดร.ยศให้ความเห็น เฟมินิสต์ไทย ภายใต้ระบบประชาธิปไตยฯ ที่มีความต่างทางแนวคิด ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวตั้งคำถามถึง นักสตรีนิยม หรือ เฟมินิสต์ (Feminist) ไทย ในฐานะสถานบันทางสังคมที่มีอำนาจและเสียงดัง ซึ่งอาจไม่ได้ปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง ทำให้การต่อสู้เพื่อผู้หญิงเกิดข้อยกเว้น ขณะที่ผู้หญิงไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันทั้งหมด ผู้หญิงมีชนชั้น มีความต่าง และเขาอาจอยู่ในความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อถูกพูดรวมๆ กัน จึงทำให้เกิดคำถามว่าทำไมบางเรื่องเฟมินิสต์ไทยจึงเงียบ แต่ในบางเรื่องกลับตามติดวิจารณ์ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ ตั้งคำถามไปถึงการที่ผู้หญิงรากหญ้าลุกขึ้นมาต่อสู้แต่เฟมินิสต์ไทยไม่ออกมาพูดถึง ขณะที่บางส่วนกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ทักษิณลากไป ตรงนี้สะท้อนอะไร แล้วเรามีสิทธิ์จะวิจารณ์เรื่องแบบนี้หรือไม่ สำหรับประเด็นข้อวิจารณ์ต่อเฟมินิสต์ไทย ศ.ดร.ยศ กล่าวถึงประสบการณ์ความขัดแย้งกับเฟมินิสต์ซึ่งเป็นนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณี ‘พ่อแม่ขายลูก’ ซึ่งถือเป็นการตอบย้ำการกล่าวโทษเหยื่อ โดยส่วนตัวเขามองว่าเป็นการทำงานที่มักง่ายและไม่มีประโยชน์ “ถ้าทำงานวิชาการแล้วอย่าทำงานทางด่า ไปด่าหนะง่าย สะใจ แต่ว่าคุณต้องสร้างองค์ความรู้ ต้องทำลายมายาคติ และต้องให้ทางเลือกกับสังคม มากกว่าจะมานั่งด่า ไม่มีประโยชน์” ศ.ดร.ยศกล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่าปัญหาของนักวิชาการไทยคือการมองอย่างเหมารวมจากสายตาของตนเอง และไม่ได้มองคนอื่นอย่างเข้าใจ ส่วนเรื่องสถาบันเฟมินิสต์ ศ.ดร.ยศกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ค่อยแน่ใจ เพราะไม่คิดว่ามีความเข้มแข็งพอที่จะเรียกว่าสถาบัน นักวิชาการไทยยังไม่สามารถเรียกเป็นสถาบันได้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ในบางครั้งมีการใช้เครือข่ายในการทำงาน ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จบ้าง แต่ว่าน้อยมาก โดยหนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อนเรื่องแนวคิดสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างพลังทางวิชาการที่กลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้ใช้ในการเรียกร้อง “การจะพูดถึงความเป็นธรรมมันต้องทำงานด้านบวก แต่ในแง่ถ้าจะพูดถึงสถาบันสิ่งที่ต้องทำคือเปิดพื้นที่” ศ.ดร.ยศกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net