ระบบนิเวศทางสังคมเดนมาร์ก เหตุไฉนจึงพัฒนาไปไกลกว่าประเทศไทย?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสังคมการเมืองในเดนมาร์กที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขคล้ายๆ ไทย แต่ก็มีระบบคุณค่า วัฒนธรรมความเชื่อที่แตกต่างไปจากไทย ถ้ากล่าวถึงประเทศเดนมาร์ก หลายคนคงนึกถึงประเทศที่มีแต่ฟาร์มโคนม หรือชาวไวกิ้ง เหล่านักรบในตำนานที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือ ก่อนจะอพยพมาสร้างถิ่นฐานบนภาคพื้นทวีป แถบแสกนดิเนเวียในปัจจุบัน แท้จริงแล้วประเทศนี้ยังเป็นต้นกำเนิดนิทานที่เราคุ้นเคยกันหลายเรื่อง อาทิ เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid), ลูกเป็ดขี้เหร่ (The Ugly Duckling), พระราชากับชุดล่องหน (The Emperor’s New Clothes) เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศเดนมาร์กยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง 1.สภาพสังคมของประเทศ: เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร เดนมาร์กเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มแสกนดิเนเวีย อากาศหนาวตลอดปี (มีหนาวมากกับหนาวน้อยจากที่ผู้เขียนได้สัมผัส อุณหภูมิต่ำสุดเมื่อปี 2553 ประมาณ -20 องศาเซลเซียส) ช่วงฤดูหนาวยาวนานประมาณ 6 เดือน ไม่สามารถปลูกพืชได้เลย เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีพื้นฐานมาจากเกษตรกรรมซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ทั้งการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหมู มีประชากรหมู ประมาณ 17 ล้านตัว (ข้อมูลปี 2010)1 ขณะที่มีจำนวนประชากรทั้งประเทศประมาณ 5.4 ล้านคน สินค้าหลักที่ส่งออกของเดนมาร์ก ได้แก่ อาหารสัตว์, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์จากนม, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า, ปลา, เฟอร์นิเจอร์, หนังสัตว์, เครื่องจักร, เนื้อสัตว์, น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น 2. การจัดการพลังงานของประเทศ: เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาวจึงต้องมีระบบทำความร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นในที่พักอาศัย และระบบน้ำอุ่นเพื่อใช้ในบ้านเรือน เขาใช้ความร้อนจากการเผาขยะเป็นแหล่งพลังงานทำความร้อนและน้ำอุ่น (ช่วงเริ่มต้นการพัฒนาก็มีการเสนอให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็มีการต่อต้านจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเสนอให้ใช้พลังงานทางเลือกจากการเผาขยะ แทน) และใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากลมเป็นหลัก และที่สำคัญคนเดนมาร์กจะเน้นการประหยัดพลังงาน ใช้หลอดไฟแบบประหยัด สว่างน้อย ไม่มีห้างใหญ่ๆ แบบเมืองไทย (แม้แต่ตัวเมืองหลวงยังไม่มีห้างใหญ่ขนาดเท่าเมืองไทยเลย อย่างมากตึกสามสี่ชั้นก็หรูสุดแล้ว) ไม่มีการประดับประดาไฟในเมืองหลวงให้สว่างไสวทั้งคืน ที่เดนมาร์กไม่มีเขื่อนนะครับเพราะภูมิประเทศเป็นเกาะ มีแต่เนินเตี้ยๆ ดังนั้นจึงไม่มีเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 3. อาชีพและรายได้: ระดับรายได้เฉลี่ยพื้นฐานต่อคน สูงกว่าคนไทยมาก ยกตัวอย่าง คนประกอบอาชีพพนักงานทำความสะอาดมีเงินเดือนประมาณ 8-9 หมื่นบาท (หลังหักภาษีในอัตรา 40-60 % แล้ว) ซึ่งรายได้นี้ก็ไม่ต่างกับเงินเดือนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากนัก อาชีพอื่นๆ ก็มีรายได้ใกล้เคียงกัน บางอาชีพอาจจะสูงกว่านี้ แต่ทุกอาชีพถูกจัดให้มีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่แบ่งแยกอาชีพหรือชนชั้น ต่างคนต่างทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ใช้ระบบเส้นสายหรือระบบเจ้านายแบบบางประเทศในแถบเอเชียมาปกครอง ระบบการทำงานว่ากันด้วยหลักเหตุผล ความถูกต้อง และความสามารถเป็นหลัก ไม่มีระบบประจบสอพลอหรือแบบข้าทาสบริวาร (ถ้าหัวหน้างานอยากดื่มกาแฟก็ต้องไปชงเอง ไม่มีใครไปชงให้ดื่ม มีมือมีตีนก็ทำเองประมาณนั้น) ไม่มีศักดินามาเบ่งว่าตัวกูเป็นศาล อัยการ ศุลกากร ตำรวจ ทหาร ครู อาจารย์ แล้วต้องใหญ่ มีศักดิศรีและมีอำนาจมากกว่าเกษตรกร หรืออาชีพอื่น ทุกคนทุกอาชีพเท่าเทียมกันหมด 4.ภาษีและการพัฒนา: ระบบภาษีในเดนมาร์กถูกใช้ควบคุมทุกอย่างเหมือนเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง ใช้แก้ปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ประชากรอ้วนมากก็เก็บภาษีไขมันเพิ่มจากอาหารที่มีไขมันมาก เพื่อให้คนบริโภคน้อยลง3 มีสื่อไร้สาระมากก็เก็บภาษีสื่อ ทุกอย่างที่เป็นสื่ออิเล็กโทรนิกส์ผู้บริโภคต้องเสียภาษี ภาษีต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปใช้พัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆให้กับพลเมือง อาทิ จ่ายเงินเดือนให้กับคนตกงาน เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คนชรา หรือเป็นเงินเดือนหลังเกษียณสำหรับคนทำงาน 5.การศึกษา: เด็กทุกคนได้เรียนฟรีและมีเงินเดือนให้ด้วยระหว่างเรียน ถ้าเป็นระดับปริญญาตรีมีเงินเดือนให้ขณะเรียนประมาณ 27,000 บาท (5,000 เดนมาร์กโครน รวมค่าอาหารและค่าหอพักเบ็ดเสร็จ ให้ไปบริหารชีวิตตัวเอง) ถ้าไม่พอใช้จะกู้ยืมเพิ่มก็มีให้อีกประมาณ 17,000 บาท (3,000 เดนมาร์กโครน) ต่อเดือน แต่ถ้าจบไปทำงานรัฐบาลก็จะทยอยหักคืน (เฉพาะที่กู้เพิ่ม) ระบบการศึกษาสอนเน้นระบบคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลเป็นหลัก (ไม่มีระบบความเชื่อแบบห้ามตั้งคำถาม) ทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่อนุบาล เมื่อเด็กถามผู้ปกครองหรือครูก็ต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผล และเปิดโอกาสให้คิดโต้แย้งได้ ไม่เชื่อเรื่องผีสาง เทวดา โชควาสนา หรือเทวดากลับชาติมาเกิดเป็นคน (ทุกคนต้อง กิน ดื่ม ขับถ่าย สืบพันธุ์ นอนหลับ เป็นปกติวิสัยของมนุษย์ทั่วไป) เชื่อเรื่องการกระทำที่มีเหตุผล และคำอธิบายที่ถูกต้อง รัฐให้ความสำคัญกับระบบการศึกษามาก4 การใช้ห้องสมุดสามารถนำอาหารไปทานด้านในได้ ในห้องสมุดมีมุมเกมส์ ภาพยนตร์ให้ดู และของเล่นครบครัน ส่วนบรรยากาศในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย การถกเถียงระหว่างนักเรียนกับครู อาจารย์เป็นเรื่องปกติ ไม่นับถือกันตามระบบอายุ นับถือตามความสามารถ ความคิด หรือดีกรีเป็นหลัก นักศึกษาก็เถียงกับอาจารย์ได้ด้วยเหตุผล ทฤษฎี เด็กโต้เถียงกับผู้ใหญ่ได้เมื่อมีความเห็นแย้งหรือคิดต่างออกไป ระบบความคิดหรือระบบความรู้ก็เลยมีการพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เนื่องจากทุกคนถูกฝึกฝนให้รู้จักคิดตั้งแต่เด็ก (ชาวยุโรปส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบนี้) เรียนได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กยันวัยชราตามที่อยากจะเรียน 6.อาชีพและความสำคัญ: ผู้คนสามารถที่จะเลือกเรียนสาขาใดก็ได้อย่างอิสระ ตามความชอบ ประกอบอาชีพอะไรก็ได้เพราะสำคัญเท่ากัน เงินเดือนก็ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ตกงาน ถ้าตกงานก็มีเงินเดือนให้ (เงินจากการเก็บภาษี) 7.การพนันและสื่อลามก: เดนมาร์กเป็นประเทศที่เปิดให้มีบ่อนคาสิโนตามเมืองใหญ่ๆ มีตู้สล๊อตเรียงรายอยู่ดาษดื่น และเปิดให้มีการขายหวยออนไลน์ (Lotto) อย่างเสรี แต่ผู้คนก็ไม่ได้เสียเวลากับสิ่งเหล่านี้ เขามองว่ามันเป็นสิ่งไร้สาระ ถ้าเขาจะซื้อทีก็ถือแต่เพียงว่าซื้อไว้เล่นๆ และยังพบว่าในบ่อนคาสิโนนั้น ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนเอเชีย ในเรื่องสื่อลามกรัฐบาลก็เปิดให้มีสื่อลามกเสรี มีร้านให้เช่าได้พร้อมกับขายอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมทางเพศด้วย (sex shop) ในทางกลับกันหลังสี่ทุ่มรายการโทรทัศน์ก็จะมีรายการภาพยนตร์ให้ดูส่งตรงถึงบ้าน ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่าจะมีใครมาหมกมุ่น หรือมีข่าวข่มขืนมากมายให้เห็นอย่างในประเทศไทย 8.สถาบันกษัตริย์: เดนมาร์กปกครองแบบระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพระราชอำนาจถูกจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งไม่เหมือนกับราชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จและไม่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) มีสถาบันกษัตริย์แต่ตัวสถาบันไม่ยุ่งกับการเมือง สถานะของคนในสถาบันกษัตริย์นั้นเฉกเช่นคนปกติ ออกมาเดินถนน ทานอาหารในร้านได้เหมือนกับคนปกติ ไม่มีพิธีรีตองอะไรที่ต่างกับสามัญชนทั่วไป แต่ละปีรัฐจะจัดสรรงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์ เช่น ในปี 2552 จัดสรรให้ประมาณ 1,710 ล้านบาท (342 ล้านเดนมาร์กโครน) (แต่ในปีต่อๆ มาสถาบันกษัตริย์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในเรื่องงบประมาณทั้งจากทางรัฐบาลเดนมาร์ก สื่อ และประชาชน เพราะงบประมาณบางอย่าง เช่น ค่าเรือ ค่าเครื่องบินโดยสาร ค่ารันเวย์ขึ้นลงสนามบินต่างประเทศ ที่สถาบันใช้เดินทางไปร่วมงานต่างๆ ใช้งบค่อนข้างสูงและตัวสถาบันไม่ได้ออกงบประมาณเอง ดังนั้นจึงได้ถูกตัดงบประมาณลง อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับสถาบันก็จะถูกจับตา และรายงานโดยสื่อเฝ้าระวังราชวงศ์เดนมาร์ก – Danish Royal Media Watch)5 สถาบันกษัตริย์ของเดนมาร์กไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งต่อหน้าและลับหลัง หรือเข้าไปมีผลประโยชน์ในเชิงลึกกับรัฐวิสาหกิจ หรือการลงทุนต่างๆ ทุกคนทุกระบบตรวจสอบกัน เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ซึ่งสอดคล้องกับอันดับที่ได้จากดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (อันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2554 เดนมาร์กได้อันดับ 2 ด้วยคะแนน 9.4 ไทยได้อันดับที่ 80 ด้วยคะแนน 3.4 จากทั้งหมด 182 ประเทศ)6 บทสรุป ประเทศเดนมาร์กมีสภาพภูมิหลังที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยทั้งพื้นฐานการพัฒนาที่มาจากการทำเกษตรกรรม และรูปแบบการปกครองระบอบราชาธิปไตย (กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยผ่านระบบรัฐสภา) แต่คุณภาพของการพัฒนากลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้เขียนคิดว่าระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ (criticize)ได้ในทุกภาคส่วนซึ่งสั่งสอนกันมาตั้งแต่แรกเกิด เริ่มจากครอบครัวไปสู่สถาบันการศึกษา และสังคมนั้น ไม่ได้สอนให้คนยอมเชื่อโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ (criticize) ทำให้องค์ความรู้มีการต่อยอดไม่หยุดนิ่ง สิ่งที่ดีกว่าไปทดแทนสิ่งเก่าที่ล้าหลัง และการคิดแบบมีส่วนร่วม (participatory) ของสังคม เน้นประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม สิ่งแวดล้อม มากกว่าส่วนตัว โดยที่กรอบศาสนาไม่ได้เป็นส่วนหลักของสังคม (คนเดนมาร์กในปัจจุบันมีส่วนน้อยที่จะยึดมั่น ถือมั่นตามหลักศาสนา) แต่ทุกคนรู้ว่าอะไรดีไม่ดี อะไรคือหน้าที่ที่ต้องทำ การคอร์รัปชั่น ความพุ่มเฟือยเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ คนเดนมาร์กส่วนใหญ่จะประหยัด ทำอาหารทานเอง เพราะที่ร้านราคาค่อนข้างแพง เท่าที่ได้สอบถามมา ในส่วนของสถาบันกษัตริย์คนเดนมาร์กยังคงรู้สึกชอบ (like) ไม่ใช่รัก (love) เพราะสถาบันก็ยังมีส่วนที่ดีอยู่ คนสามารถวิจารณ์ในขอบเขตที่ไม่ล้ำเส้นเกินไปได้ เช่น สามารถวิจารณ์เรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชน แต่ก็มีแนวโน้มลดลง หรือปรับตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เอกสารอ้างอิง: (1) http://www.lf.dk (2) http://th.wikipedia.org (3) http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-15137948 (4) http://www.uvm.dk (5) http://danishroyalmediawatch.blogspot.com/2011/08/pro-monarchy-press-danish-royals-too.html (6) www.transparency.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท