ผ่าร่างคุ้มครองผู้เสียหายฯ จุดยืนต่างขั้ว “หมอ-ประชาชน”

ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อ 2 ฉบับ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ....นางสาวปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนาประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ในฐานะคณะทำงานเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... นอกจากนี้ได้เชิญผู้แทนจากแพทยสภา ประกอบด้วย ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.)  นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการแพทย์  นาวาเอก(พิเศษ)นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และนพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา รวมถึงผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมอภิปรายและให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้ คปก.จะประมวลข้อมูลเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

พญ.อรพรรณ์ เปิดเผยว่า  ร่างกฎหมายภาคประชาชน มีเจตนาที่มุ่งร้ายต่อสังคมไทย หากพิจารณาตามมาตรา 50 ระบุระหว่างที่ยังไม่คณะกรรมการให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจ ให้มีเอ็นจีโอ 5 คนและผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งพ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ร.บ.การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ. คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.รับรองสถานพยาบาล และร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชน จึงไม่มีความยึดโยงกับภาคประชาชนผู้แทนที่มาจากเอ็นจีโอก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริงนอกจากนี้ยังพบว่าในพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจกับรัฐมนตรีทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่บรรลุเป้าหมาย จึงเห็นว่าควรเพิกถอน พ.ร.บ. ข้างต้นทั้งหมดเนื่องจากไม่มีความจำเป็นและมองว่าระบบเดิมดีอยู่แล้ว หากพบบกพร่องตรงจุดใดก็ให้แก้ไขตรงนั้นเป็นกรณีไป ดังนั้นจึงขอให้ คปก.พิจารณาทบทวน พ.ร.บ. ข้างต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535อีกครั้ง  

“สังคมไทยต้องพิจารณาความรับผิดที่เป็นการจำเพาะ มาตรฐานวิชาชีพสังคม โดยขณะนี้มี พ.ร.บ.วิชาชีพแล้วแม้จะล่าช้าแต่เทียบกับความเป็นธรรม กฎหมายแพ่งและอาญายังทำหน้าที่ได้ ซึ่งหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯได้ ขณะที่ความเสียหาย ความบกพร่องทางการรักษา มาตรฐานของภาวะวิสัยในสังคม กล่าวถึงคนให้เป็นโทษเกินจริงเพียงเพราะอยากตั้งกองทุน คณะกรรมการสามารถสั่งจ่ายได้ตามแต่กำหนด อีกทั้งยังมีการบังคับค่าชดเชยค่าเสียหาย ดอกเบี้ย รวมถึงยึดสถานพยาบาล ตรงจุดนี้รับไม่ได้” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

นางสาวปรียานันท์  กล่าวว่า  เมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ไม่ปรากฏความรับผิดชอบที่น่าพอใจภาระตกอยู่กับประชาชนผู้รับบริการ แม้ว่าประชาชนผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อร้องขอความเป็นธรรม ทั้งอาศัย พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ยังเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค และมีภาระการพิสูจน์ กระบวนการพิจารณา การไกล่เกลี่ย ภาระจึงตกแก่ผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น จึงเห็นควรให้ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... เพื่อชดเชยผู้เสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุข และ เพื่อลดการฟ้องร้องของผู้ป่วยต่อแพทย์และสถานพยาบาล และความขัดแย้งในปัจจุบันโดยเฉพาะการกำหนดวงเงินเยียวยา 

“ที่มาเงินกองทุนส่วนหนึ่งจะมาจากเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชน โดยเรียกเก็บเมื่อต่อทะเบียนใบอนุญาตประจำปี รวมถึงเงินสมทบจากกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามาตรา 41 และรัฐบาลจ่ายจากงบประมาณรวม” นางสาวปรียานันท์  กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายทางแพทยสภาเห็นด้วยว่าทุกฝ่ายควรได้รับการดูแล ทั้งนี้เห็นว่าควรนำร่างดังกล่าวทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนก่อนเพื่อพิจารณาว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ แต่เบื้องต้นตนเห็นด้วยกับการขยายมาตรา 41 และมีความเห็นว่าแพทยสภามีบทลงโทษแพทย์อยู่แล้ว การทำตามมาตรฐานในทางปฏิบัติทำได้ยากขึ้นกับตัวแปรเช่น สังขารคนไข้ ซึ่งเคยมีแพทย์ถูกลงโทษมาแล้ว แพทย์บางคนก็ตัดสินใจออกจากวิชาชีพไปแล้วบางส่วน

นพ. เมธี  กล่าวว่า  มีข้อสังเกตว่าจุดประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชนที่เห็นส่วนใหญ่กล่าวอ้างอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งลดการฟ้องร้อง และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความเป็นจริงไม่ได้อยู่ที่การเขียนกฎหมาย และวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทา และแก้ปัญหาความเดือดร้อนนั้นทั้งแพทย์ บุคลากรที่ทำงานยังไม่มีใครเอากฎหมายฉบับนี้ หากพิจารณาแล้วร่างพ.ร.บ.ภาคประชาชนก็เหมือน พ.ร.บ. สังคมสงเคราะห์ ผิดแล้วสำนึก เปลี่ยนเป็นเรื่องการสังคมสงเคราะห์ ไม่มีผิดถูก แต่ในกฎหมายมีคณะกรรมการพิสูจน์ผิดถูกเต็มไปหมด โดยแพทย์ต่างเป็นห่วงว่าจะให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์เป็นผู้ตัดสิน

นพ.ธเรศ  กล่าวว่า แพทยสภามีหน้าที่ตรวจสอบผู้ที่ทำผิด ถ้าการกล่าวหากล่าวโทษมีมากขึ้นจะเจอปัญหาการวินิจฉัยอาการของแพทย์ที่มากเกินไปซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้รับบริการ อย่างไรก็ตามควรเปิดรับฟังความเห็นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมาย และไม่ควรจะกำหนดระยะเวลารับฟังความเห็นเพื่อให้กระบวนการครบถ้วน ตั้งแต่กระบวนการยกร่างของรัฐบาลการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนให้มีความรอบคอบในการพิจารณาประเด็นและข้อสังเกตทั้ง12 ประเด็นหลักเช่น ความครอบคลุมของบทนิยาม รวมถึงที่มาของกรรมการต้องมีการทบทวนองค์ประกอบเนื่องจากยังมีหลายภาคส่วนที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วม ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาต้องอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงประเด็นเรื่องการเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาล กองทุนสำนักงานสุขภาพ ประกันสังคม ข้าราชการ การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือ  รวมถึงการยุติการดำเนินคดี  การฟ้องคดีอาญาและเมื่อทำระบบดีแล้วจึงค่อยนำกลุ่มสถานพยาบาลนอกระบบเข้าสู่ระบบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท