Skip to main content
sharethis

11 มีนาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาห้องเรียนประชาธิปไตยในหัวข้อ “ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย: ข้อถกเถียง”  โดยมี ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา โดยมี ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการ

ห้องเรียนประชาธิปไตย “ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย: ข้อถกเถียง”

ห้องเรียนประชาธิปไตย “ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย: ข้อถกเถียง”

ประชาสังคมไทย กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงคำต่างๆ เช่น การเมืองภาคประชาชน ประชาสังคม หรือการเมืองภาคพลเมือง เรากำลังพูดถึงประชาสังคมหรือ Civil Society ในความหมายของฝรั่ง แต่คำพวกนี้มันมีลักษณะเป็น Strategic Concept หรือแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ คือมันมีการให้นิยามความหมายแตกต่างกันไป ผมก็นิยามการเมืองภาคประชาชนแบบหนึ่ง หรือเวทีพันธมิตรฯ ก็บอกว่า เขาเป็นการเมืองภาคประชาชนของแท้ คนอื่นเป็นของปลอม หรือขบวนคนเสื้อแดงก็ใช้คำว่า “มหาประชาชน” ใช้คำว่าขบวนการภาคประชาชนเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า คำพวกนี้มันมีลักษณะที่ผู้คนนิยาม หรือให้ความหมายกันหลากหลาย ขึ้นกับทัศนะ จุดยืน การมองเห็นปัญหาของสังคมการเมืองรอบๆ ตัว รวมถึงการเสนอแนวทาง วิธีการแก้ปัญหาที่ล้วนแตกต่างกัน  อย่างมุมมองของผมก็มาจากการเมืองภาคประชาชนทัศนะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนจน คนเล็กคนน้อย หรือคนด้อยโอกาสอย่างสมัชชาคนจนที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง

ในบทความของอาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ชื่อ ประชาสังคมแบบไทย และไม้เกี๊ยะของการปฏิวัติ พูดง่ายๆ คือประชาสังคมไทยมันเป็นไม้รองส้นตีนของพวกปฏิวัติ ประชาสังคมไทยทำหน้าที่หรือมีสถานะแบบนี้ในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจารย์เวียงรัฐพยายามพูดเหมือนกับว่าเอ็นจีโอ เท่ากับประชาสังคม และกลายไปเป็นส่วนขยายของอำมาตย์ เป็นพลังของอนุรักษ์นิยม สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร อันนี้ก็คงเป็นประเด็นหลักอันหนึ่งที่การเมืองภาคประชาชนส่วนที่เอ็นจีโอเข้ามามีบทบาทถูกวิจารณ์มาก ผมเห็นด้วยแน่นอนว่า เอ็นจีโอ มันมีปัญหาและมีลักษณะอย่างที่อาจารย์เวียงรัฐได้พูดอยู่ ผมก็เคยวิจารณ์ว่าเหมือน “ผีกระสือ” มีแต่หัว ตัวไม่มี อย่างบนเวทีพันธมิตรฯ

ในบริบทของปัญหาประชาธิปไตยไทยตั้งแต่ช่วงประมาณทศวรรษ 2530 กลุ่มพลังที่สำคัญและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง การสร้างขยายพื้นที่ประชาธิปไตย คือพลังของชาวบ้านที่เอ็นจีโอเข้ามามีบทบาทมากพอสมควร อาจเรียกว่าเป็นเลขานุการของขบวนการหรือปัญญาชนของขบวนการ แต่เอ็นจีโอไม่ได้เท่ากับขบวนการชาวบ้าน เราต้องแยกการวิเคราะห์สองสิ่งนี้ 

ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากตอนนี้ คือเอ็นจีโอเหล่านี้ไม่เคารพประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยเฉพาะเอ็นจีโอสายหนึ่งในปัจจุบัน แต่ถ้าเรามองจากประสบการณ์ของชาวบ้าน ผมคิดว่าชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตัวแทน มันจำเป็นและสำคัญ แต่มันไม่เพียงพอที่จะปกป้องฐานทรัพยากร การใช้ประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่เรื่องการเข้ามาแทนประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่มันคือ Political Engagement หรือการที่จะทำให้ผู้คนที่ถูกกันออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง สามารถขยายพื้นที่เข้ามาเชื่อมกับระบบการเมือง โดยเฉพาะการตัดสินใจทางการเมืองได้

อย่างไรก็ดี ผมเห็นด้วยว่า ปัจจุบันการเคลื่อนไหวภาคประชาชนแบบนี้อยู่ท่ามกลางชีวิตทางเศรษฐกิจ และสังคมการเมือง ที่มีลักษณะที่ผู้คนเองก็มีปัญหาในแง่เศรษฐกิจ มีชีวิตแบบใหม่ในพื้นที่การบริโภคที่เปิดกว้าง ชีวิตที่ต้องมีรายได้ ผู้คนที่เปลี่ยนวิถีการดำรงชีพ Lifestyle ต่างๆ การเกิดขึ้นของขบวนการในช่วงหลัง คนเสื้อแดงอะไรต่างๆ ก็สะท้อนถึงข้อจำกัดของการทำงานของเอ็นจีโอ หรือการเคลื่อนไหวของประชาชนที่มักสนใจแต่ปัญหาบนฐานทรัพยากร ซึ่งเคยสำคัญในทศวรรษ 2530 แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันหายไป มันก็ยังอยู่ แต่มันมีภาพของการดำรงชีวิตของคนที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งการเมืองภาคประชาชนมันคุมไม่ถึง เช่น ทำไมผู้คนถึงมาสนใจประเด็นเรื่องมาตรา 112 เพราะประเด็นสิทธิเสรีภาพมันสำคัญ เรื่องการใช้เสรีภาพต่างๆ มันสำคัญมากขึ้น ควรได้รับการปกป้องมากขึ้น เราก็เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็เห็นข้อจำกัดของคนที่ทำงาน

ปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย

อนุสรณ์ อุณโณ กล่าวถึงการทำความเข้าใจประชาธิปไตยในความหมายที่กว้างกว่าแค่รูปแบบการเมืองการปกครอง แต่มองในฐานะที่เป็นการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจประเภทหนึ่ง คือการจัดการความสัมพันธ์ที่เปิดให้มีการเจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้าระหว่างบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ได้ ประชาธิปไตยจึงสามารถเป็นเรื่องของการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับต่างๆ สามารถเกิดขึ้นในสวนสาธารณะ ท้องถนน สภา บ้าน ไปถึงห้องครัว

การเคลื่อนไหวของประชาชนจริงๆ มีมานานแล้ว อย่างการยื่นฎีกาถวายพระเจ้าแผ่นดินเวลาคุณทุกข์ยาก แต่การเคลื่อนไหวที่เริ่มมีนัยยะสำคัญ และได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ก็คือการเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการนิยามส่วนหนึ่งก็โดยทีมนักวิชาการ อย่างอาจารย์ประภาส อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร หรืออาจารย์ไชยรัตน์ รัชชกูล เรียกมันว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ มันคือกิจกรรมรวมหมู่ที่มุ่งปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มันเป็นทั้งภาพสะท้อนและตัวกระตุ้นของการเติบโต-ขยายตัวของความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย เป็นการเมืองที่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย ในฐานะที่เคยถูกกีดกันไปจากการเมืองปกติ การเมืองแบบรัฐสภา ให้ได้มีโอกาสเจรจาต่อรองกับผู้ที่อยู่ในอำนาจได้อย่างเสมอหน้า

อนุสรณ์เสนอว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยที่ผ่านมามีข้อจำกัดหลายอย่าง ประการแรกคือการแยกรัฐกับสังคมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้ข้อถกเถียงว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ไม่ได้ต้องการช่วงชิงอำนาจรัฐ แต่มันต้องการขยายพื้นที่ของสังคม ควบคู่ไปกับการจำกัดพื้นที่ของอำนาจรัฐ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคม มันพร่าเลือน เลื่อนไหล และมันก็ขยับอยู่ตลอดเวลา มันเปิดโอกาสให้การแทรกซึมระหว่างเส้นแบ่งสองอันนี้ตลอดเวลา เช่น ถ้าพิจารณาตัวบุคคลที่สังกัดอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาสังคมในขณะนี้ เราพบว่าคนเหล่านี้กลายเป็นผู้มีตำแหน่งแห่งที่ในองค์กรกึ่งรัฐ หรือแม้แต่ในหน่วยงานรัฐ

อันที่สอง ก็คือการเน้นการเปิดพื้นที่ทางสังคม ทำให้การเคลื่อนไหวหรือการศึกษาการเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่สู้จะให้ความสำคัญกับรัฐเท่าที่ควร ไม่เห็นว่ารัฐอยู่อย่างไร ทำให้อาจจะเข้าใจสิ่งทีเกิดขึ้นเกินจริง หรือขาดความรอบคอบ เช่น การเห็นว่าข้อเสนอขององค์กรหรือเครือข่ายได้รับการผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐเป็นความสำเร็จของการเคลื่อนไหว  ในทางกลับกัน เราก็สามารถมองสภาวการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวของรัฐในการดูดซับ ปรับเปลี่ยน หรือลดทอนความเป็นอันตรายของการเคลื่อนไหวนั้นลง ตัวอย่างแนวคิดเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนก็ดี เศรษฐกิจชุมชนก็ดี ปัจจุบันมันถูกดูดซับหรือทาบถับด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่หรือเศรษฐกิจพอเพียง จนกระทั่งแนวคิดเก่ามันสูญเสียความหมายดั้งเดิมไป ขาดพลังในการท้าทาย

ขณะเดียวกัน การมุ่งเน้นขยายพื้นที่ทางสังคม แต่ละเลยรัฐ รัฐไม่ใช่สิ่งที่จะต้องสนใจอีกต่อไป ไปเน้นการพัฒนาชาวบ้าน รัฐถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ถูกปู้ยี่ปู้ยำมาโดยตลอด และปัญหานี้มันฉกรรจ์มากขึ้น หากพิจารณาท่าทีของบุคคลและองค์กรที่อยู่ในส่วนที่เรียกว่าภาคประชาชนที่พวกเขามีต่อความขัดแย้งทางการเมืองช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา แทนที่จะเป็นพลังแห่งการตั้งคำถาม หรือหัวหอกแห่งการเปลี่ยนแปลง บุคคลและองค์กรเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่เป็นปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแปลง และเป็นแนวร่วมของสถาบันการเมืองจารีตโดยผ่านการใช้โวหาร วาทกรรมชุดเดียวกัน เช่น แนวคิดเรื่องการพึ่งตัวเอง เรื่องการพอเพียง ซึ่งมันไปเน้นปัญหาที่เป็นอยู่ว่าเป็นเรื่องความบกพร่องของปัจเจก ไม่ได้เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงครอบงำ หรือกดขี่ขูดรีด เช่น การใช้โวหารว่าถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันกลับไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

ปัญหาอีกประการหนึ่งของการเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวก็คือ การไปเน้น “ความใหม่” ของขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ในบางครั้ง ไปชวนให้เราเข้าใจกลุ่มหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ คลาดเคลื่อน บางกลุ่มองค์กรอาจจะชูประเด็นที่ดูว่าใหม่ ไม่ว่าจะเรื่องอัตลักษณ์ สิทธิชุมชนอะไรก็ตามแต่ แต่ขณะเดียวกันกลุ่มองค์กรหรือเครือข่ายเหล่านี้ก็เคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นที่เก่า มีความสืบเนื่องมาจากอดีตด้วยเช่นกัน หรืออาจจะใช้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี รวมทั้งชูประเด็นทั้งเก่าและใหม่สลับกันไปมาด้วยก็ได้ ขึ้นกับอันไหนสอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่า การเน้นเฉพาะ “ความใหม่” ที่ไปยึดโยงกับประเด็นพวกสิทธิการจัดการทรัพยากร หรือการเมืองอัตลักษณ์ มันก็ทำให้ละเลยขบวนการเก่า เช่น สหภาพแรงงาน ทั้งที่กลุ่มเหล่านี้ก็เคลื่อนไหวปรับตัวภายใต้เงื่อนไขใหม่เช่นกัน

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคมที่หันไปให้ความสำคัญกับการเมืองเชิงอัตลักษณ์หรือเชิงวัฒนธรรม แต่มันก็ยังเป็นการเน้นแบบแผนหรือความเป็นเนื้อเดียวกันเป็นหลัก ไม่สู้จะแสดงให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย หรือการขัดกันเองภายในของขบวนการมากนัก ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการจัดองค์กร ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรวมหมู่ ผ่านทางปฏิบัติการ คำพูดและคำอธิบายของแกนนำเป็นหลัก แต่ไม่สู้จะให้ความสำคัญกับทัศนะ ท่าที ความฝัน แรงบันดาลใจ รวมทั้งยุทธวิธีของคนที่เป็นสมาชิกทั่วไปที่มีความแตกต่างหลากหลาย และไม่จำเป็นต้องเป็นชนิดเดียวกับที่ขบวนการหรือแกนนำชูเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม ยังไม่ให้ความสำคัญกับการเมืองในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญในระดับที่มากพอ

บทบาทชนชั้นกลางกับการพัฒนาประชาธิปไตย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและถามคำถามว่า ในขบวนการประชาชนหลังพฤษภา 35 ทุกคนตื่นเต้นมากกับคนชั้นกลาง และคิดว่าคนกลุ่มนี้จะนำไปสู่การแผ้วถางประชาธิปไตยในสังคม แต่พอ 20 ปีผ่านไป มันเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ขบวนการของคนชั้นกลาง หรือส่วนหนึ่งของขบวนประชาสังคม ถึงได้เปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง เห็นว่าถ้าในทางรัฐศาสตร์ เราก็ไปหลงใหลได้ปลื้มกับทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมสมัยใหม่ที่มีชนชั้นกลางมาก และจะเป็นพลังหลักในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ว่าของจริงมันก็ไม่ใช่แบบนั้น ชนชั้นกลางกลับได้ประโยชน์มากกว่าจากเครือข่ายที่เขาอยู่ การที่เอาอำนาจขึ้นไปข้างบนกลับดีกว่าเอาอำนาจไปให้ชาวบ้าน แทนที่จะพูดเรื่องการกระจายอำนาจก็ไปพูดถึงเรื่องวุฒิสภาแต่งตั้ง หรือตุลาการภิวัฒน์

อนุสรณ์ อุณโณ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีพฤษภา 35 เป็นไปได้ไหมว่า เราหยิบเอาภาพที่ดูตื่นตาตื่นใจมาแทนภาพรวมการเคลื่อนไหวทั้งหมด ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวในกรณีนี้ด้วย ไปชุมนุมและถูกจับไปติดคุกสองคืน ในห้องขังนั้นมีคนประมาณ 50-60 คน ผมไม่เจอคนชั้นกลางเลย คนคอปกขาวไม่มี หรือคนเหล่านี้อาจจะหนีก่อนได้ อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้จะไปเป็นตัวแทนหรือองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของการเคลื่อนไหวปี 35 ได้

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เสนอว่าต้องดูบริบทหลังพฤษภา 35 ว่าเป็นช่วงการเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะประชาธิปไตย (Democratization Process) โดยที่มีรัฐธรรมนูญ 40 เป็นตัวตั้ง คำถามคือกระบวนการนี้มันไปคุกคามอะไรคนชั้นกลาง จึงทำให้เขาสวิง 360 องศา ไปเลือกที่จะอยู่ข้างเผด็จการเพื่อจะต่อต้านทุนนิยมผูกขาด ในขณะที่กระบวนการนี้ได้สร้างอะไรกับชนบท มันทำให้คนชนบทคิดหรือเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างไร จึงทำให้คนชนบทมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างไปจากชนชั้นกลาง คือมันไม่ใช่มีใครที่ก้าวหน้า หรือล้าหลัง และเป็นอยู่อย่างนั้นโดยไม่เปลี่ยนแปลง ความคิดทางการเมืองของคนมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ในยุคนั้นชนชั้นกลางต่อสู้กับเผด็จการ ก็เพราะการเมืองการปกครองในยุคนั้น มันคุกคามเขา แต่เมื่อการเมืองการปกครองมันเปลี่ยน ทักษิณขึ้นมา อะไรต่ออะไร มันกลับไปคุกคามชนชั้นกลางอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องตอบโดยเอาเข้าไปอยู่ในตัวเงื่อนไข

บทบาทและปัญหาของเอ็นจีโอไทย

นักศึกษาที่ร่วมเสวนา ได้ถามถึงวิธีการทำงานของเอ็นจีโอไทยปัจจุบันว่า เป็นไปโดยยึดความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก หรือความต้องการของตัวเอ็นจีโอเอง ที่เอาวิธีคิดลงไปยัดเหยียด และจัดรูปแบบองค์กรต่างๆ ให้ เช่น เห็นมีการจับเอาวิถีของชาวบ้านที่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีอยู่ มาใช้จัดงานเสนอเรื่องวิถีชุมชน เพื่อใช้ต่อรองให้รัฐเห็น กลายเป็นเอาวิถีชุมชนมาหากินเชิงพาณิชย์

อนุสรณ์ อุณโณ เห็นว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 มันเกิดคำใหม่ที่จะเรียก คือคำว่าภาคประชาสังคมขึ้นมา ซึ่งองค์ประกอบของภาคประชาสังคมมันจะไม่ใช่องค์กรพัฒนาเอกชนในความหมายเก่าอีก แต่มักจะเป็นบุคลากรทางสายสาธารณสุขเป็นหลัก และคนเหล่านี้ก็มักจะดึงงบประมาณของภาครัฐออกมา และตั้งเป็นหน่วยงานนู้นนี่ เพื่อจะผันงบไปให้เอ็นจีโอ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันคือการย้ายฐานของทุนที่ให้กับเอ็นจีโอ โดยเฉพาะในสายทรัพยากร ปลาย 2530 องค์กรต่างประเทศเดิมไม่ได้ให้ทุนอีกต่อไป มันส่งผลให้เอ็นจีโอไทยหมดแหล่งทุน ทำให้เอ็นจีโอองค์กรขนาดกลางไปถึงขนาดย่อย ที่เมื่อก่อนมีจำนวนเป็นร้อย สาบสูญไปเกือบหมดเลย จึงเหลือแต่องค์กรใหญ่ๆ และองค์กรเหล่านี้ก็ปรับตัวไปเป็นแผนงานของโครงการต่างๆ เช่น สสส.หรือ พอช.

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้เอ็นจีโอที่เดิมทำงานจัดองค์กร โดยเคลื่อนไหวในการเรียกร้องรัฐรูปแบบต่างๆ เปลี่ยนรูปกลายไปเป็นการจัดสมัชชา และดึงเครือข่ายต่างๆ ที่เคยใช้ท้องถนนเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวหลัก มาเป็นห้องประชุมเสีย ดีกรีความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวจึงถูกลดทอนลงในเงื่อนไขของทุน และอีกข้อที่พ่วงไปด้วยกันคือ เขาเองส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยกับนโยบายหรือแนวทางพวกนี้ เอ็นจีโอจำนวนมากขึ้นไปเป็นหัวหอกสำคัญในการเคลื่อนไหวในเวทีของพันธมิตรฯ ทั้งหมดนี้มันสะท้อนความสามารถของรัฐไทยที่จะปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทาย และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ขยายความว่าเอ็นจีโอ และแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเพื่อเสริมสร้างการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน เกิดขึ้นภายใต้บริบทปัญหาการเมืองเรื่องการพัฒนา การทำงานเหล่านี้ก็ยังมีคุณูปการในบริบทใหญ่ตอนนั้น ถ้ามองประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับรัฐ ยุคแรกๆ อาจจะออกมาแบบโรแมนติกมากหน่อย แต่ช่วงหลังๆ คือมีการเข้าไปเชื่อมต่อกับรัฐ ซึ่งจะดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องการให้คุณค่า อย่างเรื่องกองทุนออมทรัพย์ หรือเรื่องเกษตรผสมผสาน มันก็ขยายพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น แต่แน่นอนว่ามันก็ถูกบิดเบือนไปด้วย ตามปฏิสัมพันธ์กับพลังกลุ่มอื่นๆ ในสังคม 

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อนุสรณ์ในปัญหาเรื่องเงินทุนและการเชื่อมต่อกับรัฐ เอ็นจีโอมีลักษณะที่เป็นองค์กรแบบราชการมาก ทำงาน Routine มาก แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอ็นจีโอที่ทำงานเคลื่อนไหวบางส่วน ที่ยังมีการตรวจสอบระแวดระวังแหล่งเงินทุนกันมาก คิดกันมากว่าจะรับดีไม่รับดี คือมันไม่ได้ขาว-ดำไปหมด  และอีกส่วนหนึ่งของปัญหาปัจจุบันของเอ็นจีโอบางส่วนบางคน คือความไม่ใจชาวบ้าน มองว่าต้นตอปัญหาอยู่ที่ชาวบ้าน อันนี้คือตรรกะการวิเคราะห์ปัญหาประชาธิปไตยกระแสหนึ่งในเอ็นจีโอ แน่ๆ ที่ผนวกกับการเคลื่อนของพันธมิตรฯ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าเอ็นจีโอไทยน่าสงสาร ช่วงแรกๆ ถูกด่าว่าเป็นพวกโรแมนติก ออกไปหาอะไรเล็กๆ ที่งดงามในหมู่บ้าน ต่อมาเป็นพวกรับเงินต่างชาติ พาชาวบ้านเคลื่อนไหว พอถึงตอนนี้มุมมองสังคมที่มีต่อเอ็นจีโอ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ๆ คือเป็นตัวตลก ปัญหาในการวิเคราะห์เอ็นจีโอว่าเป็นขุนนางอำมาตย์อะไรก็ตาม มันจะมุ่งเป้าไปที่ปัจเจก ซึ่งไม่ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก คือตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งในสังคมและรัฐ ในทางสังคม ตอนที่รุ่นผมเรียนจบ คนที่ชอบเรียกตัวเองว่าก้าวหน้า สนใจงานอยู่สามอย่างสื่อมวลชนเอ็นจีโอ นักวิชาการ ตอนนั้นความเข้าใจของคนที่พอจะเรียกว่าก้าวหน้าในสังคม งานเอ็นจีโอพอจะเรียกว่าเป็นงานที่มีคุณค่าอะไรบางอย่างอยู่ ถ้าเทียบกับปัจจุบัน ผมคิดว่าอันนี้เปลี่ยน

ในอีกแง่ ผมคิดว่ามันมีการปรับตัวของรัฐเกิดขึ้น เราเห็นการเข้ามารับเอาประเด็นที่เกิดในทางสังคม ดึงประเด็นและกลุ่มองค์กรทางสังคมเข้ามาอยู่ในอำนาจรัฐ ผมคิดว่านี่คือการปรับตัวที่สำคัญของรัฐไทย เอ็นจีโออาจจะมีทางเลือกไม่มาก แต่ในแง่หนึ่ง ถ้าเรายังเชื่อว่าอำนาจมันกระจัดกระจายอยู่ บางคนอาจจะเข้าไปแล้วต่อรองก็ได้ บางคนอาจจะไม่ คือผมยังคิดแบบตอนที่ผมเรียนจบอยู่ว่า คนที่เลือกเข้าไปทำเอ็นจีโอ อย่างน้อยเขาก็ต้องมีอุดมคติอะไรบางอย่างอยู่ อุดมคตินั้นเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เถียงกันได้ แต่เขาน่าจะมีอุดมคติบางอย่างที่ไม่ใช่เฉพาะตัวเอง แต่เกี่ยวกับคนอื่นด้วยอยู่ ผมจึงคิดว่าการเข้าใจสถานะเอ็นจีโอ มันต้องเข้าใจเงื่อนไขรายรอบด้วยว่าทำไมมันจึงไปอยู่จุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำอะไรได้มากไม่ได้มากบ้าง

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เสนอเพิ่มเติมว่าหัวใจของเอ็นจีโอ มันคือ Activism การไม่มีมันคือการเสื่อมถอยที่สำคัญมาก ไม่ใช่การทำงานหรือทำกิจกรรมเอ็นจีโอ นั้นเป็น Activist หรือนักกิจกรรมทางสังคม คือทุกๆ กิจกรรมมันมีคำถามทางการเมืองเสมอ คุณจะเลี้ยงเด็กกำพร้า ปลูกถั่ว จะทำงานศาสนา อะไรก็แล้วแต่ มัน Highly Political ซึ่งทำให้งานที่ทำอยู่มันมีความหมาย หรือ Meaningful มันคือการคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงงานทุกงานที่มันเป็นกิจกรรมทางสังคม มันจึงทำให้งานเป็นขบวนการได้ การผูกควบรวมโดยรัฐ มันไม่ใช่แค่ควบรวมประเด็น แต่มันเป็นการเปลี่ยนประเด็น ผ่านกระบวนการ De-politicization คือลดทอนมิติต่างๆ ทางการเมืองหมด ทำให้กลายเป็นประเด็นการจัดการทางเทคนิค กลายไปเป็นจักรกลหนึ่งของการจัดการทางเทคนิค ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากและเป็นหัวใจสำคัญ โดยที่ไม่มีการคุยกันเรื่องนี้ ว่างานขบวนการมันยังเป็นขบวนการอยู่หรือไม่ และถ้ามันเป็น มิติทางการเมืองของมันอยู่ที่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net