ปัญหาควันพิษในภาคเหนือ: ภาพสะท้อนของการเมืองและสังคมไทยหลังปี 2550

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหามลพิษในภาคเหนือที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งทศวรรษ ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างจริงจังทั้งจากทางรัฐส่วนกลางหรือทางท้องถิ่น วาทกรรม "ชาวบ้านเผาป่าเอาเห็ดเอาผักไปขาย" ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายปัญหาควันพิษนี้ ถือเป็นวาทกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการอธิบายสภาวการณ์ดังกล่าว เพราะแม้จะมีการควบคุมการเผาป่า การทำแนวกันไฟที่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหานี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามมีความพยายามที่จะวิจัยศึกษาสาเหตุของปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ผ่านการเก็บข้อมูล การสำรวจพื้นที่ เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับปัญหามลพิษหมอกควันทางภาคเหนือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่คำอธิบายเหล่านั้นก็ไม่ได้พ้นไปจากกรอบการอธิบายแบบเดิมๆ เลย ดังจะเห็นได้จากคำอธิบายสำเร็จรูปถึงวิธีการแก้ปัญหา นั่นคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านคือคนที่ยังไร้การศึกษา (โง่) หรือต้องการเงินมากกว่าคำนึงถึงปัญหาสังคม (จน) การทำความเข้าใจต่อสาเหตุของปัญหาดังกล่าวโดยมองข้ามพลวัตทางสังคมของชาว บ้าน ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถก้าวข้ามพ้นขอบเขตเดิมดังที่กล่าวมาข้างต้น ในที่นี้จะเสนอสาเหตุของปัญหาอย่างคร่าวๆ โดยการวิเคราะห์พลวัตทางสังคมของ ชาวบ้านในภาคเหนือในปัจจุบัน

ปัจจุบันคนในเมืองส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับภาพของชนบทที่หยุดนิ่ง ชาวบ้านที่ยังคงรักษาระบบการผลิตแบบเดิม มีความเชื่อถือและพึ่งพาพิธีกรรมตามฤดูกาลต่างๆ ของปีมากกว่าคนในชนบทที่มีวิถีชีวิตเลื่อนไหลไปมาระหว่างการใช้ชีวิตในเมืองในช่วงนอกฤดูการเกษตรกับชีวิตในชนบทในแต่ละช่วงของปี พูดอย่างง่ายๆ คือ คนในเมืองมองภาพของชนบทเป็นแบบเพลงมนต์รักลูกทุ่ง มากกว่าที่เป็นแบบเพลงของตั๊กแตน ชลลดา มโนทัศน์ดังกล่าว ทำให้เกิดความผิดพลาดต่อการทำความเข้าใจปัญหาควันพิษเป็นอย่างยิ่ง เพราะชนบทแบบดังกล่าวได้ล่มสลายลงไปแล้วพร้อมกับการเข้าไปของระบบ การเกษตรสมัยใหม่ในชนบท

คำนิยามของอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่ว่า คนชนบทปัจจุบันนั้นคือ "สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ ที่ยังคงมีการผลิตการเกษตรอยู่" ชาวบ้านในชนบทไม่ได้เป็นคนปลูกข้าวหรือเก็บของป่าเพื่อยังชีพหาเลี้ยงปากท้องของตนเองเหมือนในสมัยสี่ห้าสิบปีก่อน แต่ชาวบ้านคือกลุ่มผู้ทำการผลิตทางการเกษตรเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบตลาดสมัยใหม่ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น การปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขายส่งแก่บริษัท หรือการรับจ้างปลูกหรือผลิตสินค้าเกษตรให้แก่บริษัท ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ชาวบ้านเข้าสู่ระบบของการผลิตเพื่อขายและการแข่งขันกันในตลาดของสังคมการผลิตสมัยใหม่

เมื่อฤดูการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลงแล้ว ของเหลือจากการเก็บเกี่ยวจำนวนมากในอดีตจะถูกนำมาแปรรูปเพื่อใช้สำหรับการเกษตรในปีต่อไป เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด เอามาใช้เลี้ยงสัตว์ หรือนำมาใช้คลุมดิน แต่เมื่อระบบการผลิตทางการเกษตรสมัยใหม่เข้าไปสู่สังคมชนบท ของเหลือจากการเกษตรเหล่านี้ก็หมดประโยชน์ลง กลายเป็นเพียง "ขยะ" ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวโดยปริยาย แม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรจะถูกนำเข้าไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ เช่น การนำไปแปรรูป หรือการนำไปคัดบรรจุโดยเครื่องมืออุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยห้างร้านหรือบริษัทขนาดใหญ่ แต่ขยะจากการเกษตรเหล่านี้กลับถูกผลักให้เป็นภาระของชาวบ้านในการกำจัด โดยไม่มีระบบการจัดการขยะใดๆ รองรับ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ชาวบ้านจำเป็นต้องกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยวิธีการที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด นั่นคือการเผาทิ้ง ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ง่ายที่สุด และไม่จำเป็นต้องใช้ทุนใดๆ เพื่อเตรียมพร้อมกับการผลิตในครั้งหน้า การเผาจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวๆ กันแทบจะทุกพื้นที่ เพราะต่างคนต่างก็เร่งที่จะกำจัดขยะและเริ่มทำการเพาะปลูกในรอบต่อไปให้เร็วที่สุดเพื่อให้ได้รอบของการผลิตที่มากขึ้น หรือเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนที่ผลผลิตของคนอื่นๆ จะถูกป้อนเข้าสู่ตลาดพร้อมๆกันจนทำให้เกิดการล้นตลาดและราคาสินค้าตก

นอกจากนี้ การเผาเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้เชิงเขาหรือป่าที่ไม่มีผู้ใดถือกรรมสิทธิ์ การเผาป่าเหล่านี้เองที่ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการเผาเอาเห็ดเอาผัก ซึ่งแท้จริงแล้วแม้จะเป็นผลผลิตที่ราคาสูงแต่ก็มีความคุ้มค่าน้อยกว่าการผลิตทางการเกษตร เพราะไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ และผลผลิตที่ได้ก็มีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้นเห็ดหรือผักที่เกิดขึ้นจากการเผาจึงเป็นเพียงผลประโยชน์ในชั้นรองมากกว่า

ในขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มได้รีบเผาทำลายขยะจากการเกษตรอย่างเร่งรีบเพื่อเตรียมเดินทางเข้ามาทำงานนอกภาคการเกษตรในเมืองหรือตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในช่วงที่คอยฤดูการเกษตรครั้งใหม่ เพื่อที่จะให้ได้งานที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าหรืองานที่ตนมีทักษะและความถนัด (ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตที่จะนำมาซึ่งรายได้ที่มากขึ้น) ชาวบ้านจึงต้อง ทำการกำจัดขยะเหล่านี้แข่งขันกับชาวบ้านคนอื่่นๆ (ที่ไม่ใช่เฉพาะแต่ในหมู่บ้านตัวเอง แต่หมายรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ที่มีวิถีชีวิตในลักษณะเดียวกันด้วย) ที่เตรียมตัวเดินทางออกไปสู่การผลิตนอกภาคการเกษตรเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเร่งเผาทำลายขยะที่เหลือจากการผลิตทั้งหมดเพื่อเตรียมพร้อมสู่การผลิตครั้งต่อไป รวมถึงการพยายามขยายพื้นที่การผลิตโดยการเผาป่าที่เกิดขึ้นในฤดูแล้งที่ไม่ มีน้ำฝนคอยช่วยสกัดการลุกลามของไฟและลดความหนาแน่นของควันไฟ จึงกลายเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งอันนำมาซึ่งปัญหาหมอกควันในภาคเหนือในปัจจุบั

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาควันพิษเหล่านี้คือ การเกิดขึ้นของปัญหาดังกล่าวมีลักษณะที่สัมพันธ์อยู่กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้ว่า ปัญหาควันพิษเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อปี 2550 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะวิกฤติ เป็นไปได้หรือไม่ว่าปัญหาควันพิษดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเมืองที่เริ่มไร้เสถียรภาพในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศนั้นชะลอตัวลง การจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไร้ทักษะมีแนวโน้มที่ลดลง อีกทั้งงานในกลุ่มภาคบริการขั้นต่ำหลายประเภทที่มีความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวเองก็ซบเซาลงไป ทำให้กลุ่มคนที่เคยอยู่ในภาคการผลิตและบริการเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่คือคนในชนบทโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาที่เคยเป็นผู้ทำงานอยู่นอกภาคการเกษตรต้องผันตัวเองหรือกลับเข้าไปสู่สภาวะของการเป็นผู้ผลิตที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างการทำการเกษตรและการทำงานนอกภาคการเกษตรอีกครั้ง

ท้ายที่สุดการแข่งขันกันในตลาดของการเกษตร ซึ่งพึ่งพากับสังคมการผลิตสมัยใหม่และการขายแรงงานของตนเองนอกฤดูกาล เกษตรดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงกลายมาเป็นวังวนที่เกิดขึ้นซ้ำๆในทุกๆปี โดยมีปัญหาควันพิษเป็นเครื่องหมายยืนยันของการดำรงอยู่อยู่ของวงจรดังกล่าว 

หากทุกฝ่ายสามารถเปลี่ยนมโนทัศน์เกี่ยวกับควันพิษได้พ้นจากกรอบคำอธิบายเดิมๆ ที่มองชาวบ้านและชนบทอย่างหยุดนิ่งมาสู่ภาพของชนบทที่มีพลวัต และมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ การแก้ปัญหาควันพิษในภาคเหนือก็คงจะไม่ใช่เพียงแต่การแก้ปัญหาในระดับปฏิบัติการแบบเฉพาะหน้าเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ผู้เขียนหวังว่า อย่างน้อยที่สุดบทความนี้คงจะช่วยทำให้ผู้อ่านหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบางคน หันมาตระหนักถึงปัญหาควันพิษนี้ในระดับโครงสร้างได้ไม่มากก็น้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท