สันติภาพปาตานีใต้เงื้อมมือ ‘ทวี สอดส่อง’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สันติภาพปาตานีใต้เงื้อมมือ ‘ทวี สอดส่อง’

ด้วยการหนุนหลังจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ทวี สอดส่อง ย่อมคิดว่าโชคเข้าข้างเขาแน่นอนงานนี้

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทวี ทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางเริ่มกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ซึ่งความไม่สงบได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5000 คนนับแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547

ทวี ได้ส่งตัวแทนไปประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาลับกับหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย

สิ่งที่ทวีได้ยื่นเป็นข้อเสนอคือ ให้มีการเลือกตั้งคนท้องถิ่นไปเป็นผู้นำของ ศอ.บต. นี่เป็นข้อเสนอที่ไล่หลังกันมากับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้พื้นที่ของคนที่พูดภาษามาเลย์เป็นเขตปกครองพิเศษ

ข้อเสนอของทวีที่จะให้คนท้องถิ่นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำ ศอ.บต.นั้นฟังดูดีมากเลยทีเดียว เพราะคนมาลายูซึ่งเป็นประชากรประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดในจังหวัดชายแดนใต้ย่อมปรารถนาที่จะให้คนในท้องถิ่นของตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าศูนย์ราชการแห่งนี้แน่นอน

แต่บรรดาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนและสมาชิกของบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) บางคนเห็นว่า ทวีและกลุ่มทักษิณน่าจะกำลังหาทางล้างมือจากปัญหาภาคใต้เสียมากกว่า

พวกผู้นำท้องถิ่นหลายคนพูดว่า คำว่าเขตปกครองตนเองนั้นอาจจะหมายถึงว่า อำนาจการเมืองการปกครองอาจจะตกอยู่ในมือของพวกผู้นำมาลายูกลุ่มเล็กๆ ที่พวกเขาสงสัยว่าอาจจะทำตัวเป็นขี้ข้าของกรุงเทพฯก็เป็นได้

หัวหน้าศอ.บต. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นอาจจะต้องกลายมาเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อการดำเนินการบางอย่างที่ผิดพลาดก็เป็นได้ บรรดาทหารพรานที่มาจากคนท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นเป้าของผู้ก่อความไม่สงบแทนทหารหลักซึ่งจะถอนกำลังกลับไปสู่ที่ตั้งเดิมก็ได้

ถ้าหากปราศจากการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงหรือการปฎิรูปโครงสร้างเพื่อให้ ศอ.บต.มีอำนาจทางการบริหารและทางด้านความมั่นคงอย่างจริงจังแล้ว หัวหน้าที่มาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นแค่เสือกระดาษ

อย่างไรก็ตาม ทวียังคงเดินหน้าแผนงานของเขาต่อไปและเตรียมที่จะกระจายข่าวนี้ไปยังผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

บรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งสังเกตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้มานานและบรรดาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยในต่างประเทศต่างพากันคิดว่าแนวทางตามตำราของทวีนี้คงจะใช้ไม่ได้ผล เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เขายังหาทางเอาชนะไม่ได้

สมาชิกบีอาร์เอ็นคนหนึ่งพูดว่า “แนวทางของทวีนั้นง่ายๆ ซื่อๆ เกินไป เขาคิดว่าจะเอาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมานั่งโต๊ะเจรจาแล้วตกลงยุติความขัดแย้งกันรวดเดียวจบแล้วแก้ปัญหาทุกอย่าง มันคงไม่ได้ผลอย่างนั้นหรอก ความคับแค้นใจที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมนั้นมันฝังรากลึกในหัวจิตหัวใจของชาวมุสลิมปัตตานีทุกคน ในที่สุดคนรุ่นใหม่จะโผล่ขึ้นมาสืบทอดการต่อสู้อีกจนได้”

ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอีกคนหนึ่งบอกว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของทวีคือ บรรดาผู้นำเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะแตกแยกและขัดแย้งกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง แถมยังควบคุมเด็กรุ่นใหม่ที่ก่อความไม่สงบอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้อีกด้วย แน่นอนว่าพวกผู้นำรุ่นเก่าอาจจะคุยกับจูแว (นักรบรุ่นใหม่) ได้ แต่บังคับบัญชาอะไรพวกเขาไม่ได้เลย

อีกอย่างหนึ่ง พวกที่ต่อสู้รุ่นเก่าๆ นั้นก็ไม่ได้เป็นเอกภาพกันสักเท่าใด มีความคิดที่แตกต่างกันระหว่างพวกที่ต้องการเอกราชโดยสมบูรณ์กับพวกที่ต้องการรูปแบบการประนีประนอมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ผู้นำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยในต่างประเทศและนักสังเกตุการณ์หลายคนอาจจะให้น้ำหนักกับบีอาร์เอ็นโคออดิเนท (BRN-Coordinate) ค่อนข้างมากว่าเป็นที่ยึดโยงและวางรากฐานให้กับนักรบจูแวรุ่นใหม่ แต่สมาชิกบีอาร์เอ็นหลายคนก็ยอมรับว่า สายการบังคับบัญชายังไม่แข็งแกร่งนัก และคงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสร้างระบบการสั่งการบังคับบัญชากันได้ พูดอีกอย่างหนึ่งช่องว่างระหว่างรุ่นและวัยเป็นปัญหาสำคัญ และถ้าเป็นหากการสื่อสารระหว่างผู้นำรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มีปัญหาอย่างนั้น ความพยายามของทวีที่จะไปพูดคุยกับผู้นำรุ่นเก่าก็คงไร้ความหมาย

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งสำหรับบีอาร์เอ็นตามที่สมาชิกรายหนึ่งกล่าว คือ บรรดานักรบรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่าจูแวส่วนหนึ่งนั้นได้ขายตัวให้กับขบวนการและกลุ่มอาชญากรรม พวกค้าของเถื่อนทั้งหลายไปแล้วก็มี

เรื่องที่ยังไม่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ ยังไม่ทราบว่ากองทัพมองความพยายามสร้างสันติภาพของทวีครั้งนี้อย่างไร แต่ถ้ามองจากมุมของผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะเห็นว่า มีอีกหลายประเด็นปัญหาที่ทวีจะต้องเอาชนะให้ได้ นอกจากนี้แล้วตัวทวีเองก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนท้องถิ่นเท่าใดนัก อันเนื่องมาจากชื่อเสียงและผลงานของเขาในอดีตนั่นเอง

หลายคนยังนึกถึงวันเวลาและวิธีการที่ทวีใช้ในการไล่ล่าบรรดาผู้ต้องสงสัยและครูสอนศาสนาในท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสแปอิง บาซอ ผู้นำทางจิตใจของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่พวกเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองยังพากันกระซิบกระซาบว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อสแปอิงนั้นเป็นเรื่องกุขึ้นมาทั้งสิ้น

และไม่ใช่แค่ว่ายังไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนท้องถิ่นเท่านั้น ทวีเจอปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กองทัพก็ไม่ค่อยพอใจนักกับการที่จะมีใครสักคนไปพูดคุยกับศัตรูของพวกเขา ยกเว้นเสียแต่ว่าคนในกองทัพจะเป็นคู่เจรจาเสียเอง

ความคิดเรื่องการปกครองตนเองหรือให้มีการเลือกตั้งหัวหน้า ศอ.บต.จากคนในท้องถิ่นอาจจะเป็นที่ชอบใจของบรรดาชนชั้นนำหลายคน แต่คนท้องถิ่นจำนวนมากคงไม่ชอบ เพราะเมื่อคราวเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในการรณรงค์หาเสียงกลับไม่ได้รับเลือกตั้งสักที่นั่งเดียวในเขตจังหวัดชายแดนใต้

คนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งพูดว่า พวกนักการเมืองควรจะสนใจประเด็นเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมทางสังคมของชาวบ้านมากกว่า เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงส่วนหัวขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ นั้นไม่มีความสำคัญอะไรเลย

สมาชิกระดับปฎิบัติการของบีอาร์เอ็นคนหนึ่งกล่าวว่า สันติภาพอาจจะมีทางเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในระดับชาติ รัฐไทยและสังคมไทยจะต้องยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของชาวมาลายู ซึ่งแตกต่างแบบคนละชุดกันเลยกับสิ่งที่คนส่วนอื่นของประเทศรับรู้ ไม่ว่าเรื่องพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ วีรบุรุษ วีรสตรี ล้วนแล้วแต่เป็นคนละเรื่อง

สมมติว่าทวีและกลุ่มของทักษิณประสบความสำเร็จในการตกลงสันติภาพกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ได้จริง ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้เลยว่า ความเข้าใจประวัติศาสตร์ชุดนี้จะผลิตนักสู้รุ่นใหม่ขึ้นมาอีกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เหมาะสม

สมาชิกระดับปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า บรรดานักสู้จูแวรุ่นปัจจุบันนี้ได้รับการฟูมฟักขึ้นมาประมาณ 10 ปีก่อนที่ทักษิณจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ.2544 ก็เป็นประวัติศาสตร์ปัตตานีนั่นเองที่หล่อหลอมพวกเขาให้เข้าสู่ร่มธงของบีอาร์เอ็นโคออดิเนท

นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่ตัวแทนรัฐไทยได้มีโอกาสได้พูดคุยกับบรรดาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็เคยเป็นตัวกลางการเจรจาในปี พ.ศ. 2548 และผลที่ได้จากการเจรจาไม่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสถานการณ์ในภาคใต้เลยแม้แต่น้อย

คราวนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่ให้การสนับสนุนทวีหลายคนก็พูดว่า ทวีหวังเอาไว้มาก แต่ปัญหาคือมีเหตุและปัจจัยจำนวนมากที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเขาที่ทำให้การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ยากพอๆ กับการย้ายภูเขาเลยทีเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท