ศศิน เฉลิมลาภ: ท่าเรือปากบารา อีกหนึ่งการทำลายที่ไม่พอเสียที

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปากบาราเป็นชื่อท่าเรือที่ผมเคยใช้เดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะเภตรา ใกล้ๆกันนั้นมีหมู่บ้านปากบาราและหมู่บ้านชาวประมงที่เป็นมุสลิมประมาณ 99 % อยู่เรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลอย่างสงบสุข ภาพสงบงามของผู้คนและทรัพยากรทางทะเลแถบนี้อยู่ในความทรงจำของผมเป็นอย่างดี

ใกล้ๆเกาะตะรุเตาข้ามเขตพรมแดนไทย-มาเลเซียจะเป็นเกาะใหญ่ขนาดใกล้เคียงกันชื่อเกาะลังกาวี เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบมีคาสิโน มีแหล่งชอบปิ้งแหล่งใหญ่ของมาเลเซีย ขณะที่เกาะตะรุเตาของเรามีสถานภาพเป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยงามมาก ทรัพยากรบนบกและใต้น้ำมีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วระหว่างเกาะสองเกาะที่อยู่ใกล้กันของสองประเทศ สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมแล้วผมภูมิใจในประเทศไทยของเราจริงๆที่กล้า “เก็บ” และ “ใช้” เกาะตะรุเตาเป็นแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติที่สุดยอด และคงคุณค่าทางธรรมชาติไว้อย่างยั่งยืนมานมนาน แน่นอนว่าคนจากทั่วโลกก็ได้มาซึมซับใช้ประโยชน์จากเกาะตะรุเตาในมิติที่ “ต่าง” จากเกาะลังกาวีโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่าการกล้าเก็บตะรุเตาเป็นอุทยานแห่งชาติย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ “ความเจริญ” ของประเทศไทยที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติเพื่อให้ประโยชน์อย่างรอบด้านต่อประชาชนในระยะยาว

ด้านเหนือของตะรุเตาเป็นที่ตั้งของเกาะเขาใหญ่ เวิ้งทะเลระหว่างเกาะใหญ่ทั้งสองส่วนหนึ่งถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่กินอาณาเขตไปคลุมกลุ่มเกาะบุโหลน จนถึงเกาะเหลาเหลียง กลุ่มเกาะใกล้ฝั่งเหล่านี้เป็นที่รู้กันว่ามีแนวปะการังที่สวยงาม และมีความสำคัญยิ่งในแง่นิเวศวิทยาของทรัพยกรประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งอันดามันตอนล่าง และเวิ้งทะเลหน้าปากคลองปากบาราที่ว่านี้ยังเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญมากของชาวประมงพื้นบ้านประมาณสามสิบชุมชน พื้นที่ทะเลในอุทยานแห่งชาติเภตราข้างเกาะเขาใหญ่นี้เองที่เป็นเป้าหมายของโครงการท่าเรือน้ำลึกปาบาราที่กำลังเดินเรื่องขอยกเลิกเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเพื่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดมหึมากลางทะเล ที่ใช้เนื้อที่นับพันๆไร่ แนวทางของโครงการชัดเจนว่าจะทำทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมโยงจากฝั่งละงู สตูลไปสู่โครงการท่าเรือน้ำลึกที่นาทับ สงขลาที่ระบุว่าต้องเป็นโครงการที่เกิดพร้อมๆกันเพื่อสร้างทางผ่านของสินค้าทั้งในและนอกประเทศข้ามคาบสมุทรไทยแทนที่การไปอ้อมแหลมมาลายูและใช้ท่าเรือสิงค์โปร์

วันนี้ความคืบหน้าของโครงการเดินไปเรื่อยๆ ในระหว่างเหตุการณ์ที่การเมืองวุ่นวายอยู่ในกรุงเทพ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นใบเบิกทางออกมาแล้ว รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ระบุชัดว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ระบุในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เพียงพอและยังมีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามเจตนาของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข่าวต่างๆออกมาถึงการจัดตั้งนิคมอุสาหกรรมขนาดใหญ่ในอำเภอเล็กๆที่สวยงามที่ละงู มีการรังวัดเพื่อขอเวนคืนบ้านช่องนาสวนของผู้คนจากสตูลไปสงขลาเป็นทางยาว มีที่ตั้งคลังน้ำมันกลางหมู่บ้าน ดังนั้นวันนี้ชุมชนที่ละงูมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งถึงการรุกล้ำ และ ไล่ คนออกไปเพื่อใช้พื้นที่แผ่นดินที่สงบงามเป็นทางผ่านสำหรับธุรกิจยักษ์ข้ามชาติข้ามโลก

แน่นอนเช่นกันว่าโครงการนี้มีผลประโยชน์ที่ตกตรงถึงนักการเมืองทุกระดับ นักธุรกิจในถิ่นต่างถิ่นกระหยิ่มย่องที่จะได้ทำงานไล่คนซื้อที่ ขุดทรายถมทะเล สร้างถนน สร้างเขื่อนกันคลื่นกันทราย กันอย่างวุ่นวายในระดับผลประโยชน์แบบไทยสุดยอดเข้มแข็งมาก

แนวคิดการทำท่าเรือน้ำลึกเป็นความฝันของคนทำธุรกิจข้ามชาติ ที่ระนองสร้างแล้วไม่มีสินค้า ย้ายมาพังงา กระบี่ ภูเก็ต ก็ติดเรื่องแหล่งท่องเที่ยวและที่ดินราคาแพง จนในที่สุดก็เคลื่อนมาบุกรุกชุมชนชาวบ้านตามถนัด แน่นอนว่าที่ดินหลายแห่งที่ยังเป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ที่ดินสาธารณะรูปแบบต่างๆ ที่ยังมีมาก รวมถึงระยะทางที่ค่อนข้างใกล้เมื่อเทียบกับการข้ามคาบสมุทรในแนวอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศนี้กำลังจะเอาเงิน เอาผลประโยชน์โดยไม่แคร์ทีจะทำลายชุมชนผู้คนและทะเล ผมนึกภาพตู้คอนเทนเนอร์นับล้านตู้ที่ถ่ายสินค้า ล้างตู้ น้ำมันรั่ว อยู่กลางทะเลอย่างอนาถใจ นึกถึงผลกระทบต่อปะการัง หญ้าทะเล นึกถึงปัญหาแรงงานต่างชาติที่เข้ามาอยู่แทนที่ชุมชนมุสลิมที่สงบเย็น จินตนาการไปถึงปัญหาความรุนแรงที่อาจจะทวีความเข้มข้นขยายพื้นที่ออกมาเมื่อทับถมปัญหาสังคมนนานับประการในพื้นที่

แนวคิดการอยากรวย ไม่พอใจในสิ่งที่เรามีและคนอื่นไม่มีอย่าง ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวสวยงามระดับเสนอมรดกโลก อิจฉาท่าเรือสิงค์โปร์ปีนัง อยากเปิดธุรกิจโลจิสติคข้ามสมุทร คิดเชื่อมสินค้าจีนจากการระเบิดแก่งเชียงแสนลงรถไฟมาปากบารา ครอสกับนครพนมแม่สอด สร้างความเป็นเมืองท่าทางผ่านให้นักธุรกิจโลกโดยไม่คำนึงถึงการรักษาของดีที่เรามีอย่างทะเล อุทยานแห่งชาติ ทรัพยากรประมง วัฒนธรรมชุมชน และทักษะการจัดการการทรัพยกรและการท่องเที่ยวที่เราไม่เป็นรองใคร เปิดหน้างานใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเจ๊งหรือจะรวยเฉพาะกลุ่มในระยะสั้นๆแล้วทิ้งขยะไว้เกลื่อนเมือง

เราน่าจะปฏิรูปความคิดอยากรวยแบบโลภ แข่งทุกอย่างกับเพื่อนบ้าน มาเป็นการอยู่ร่วมกันตามศักยภาพ ให้คาบสมุทรไทยเป็นแหล่งธรรมชาติ การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมในระดับโลกที่ดีที่สุดในเอเชีย หาพันธมิตรการค้าอย่างท่าเรือปีนัง ทำธุรกิจร่วมกับสิงค์โปร์ เก็บประเทศไทยเป็นเมืองน่าเที่ยวน่าอยู่ให้นักธุรกิจที่อยู่รอบประเทศเรา เหมือนกับที่เราเคยกล้าๆ รักษาเกาะตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติไว้ข้างเกาะที่พัฒนาแบบลังกาวี

ผมเชื่อว่าในโลกนี้ต้องมีคนรักเกาะตะรุเตา และเห็นคุณค่า มีความทรงจำดีๆกับหาดทรายและปะการังมากกว่าเกาะชอปปิ้งข้างๆ โมเดลนี้ขยายมาสู่คาบสมุทรไทย และประเทศไทยได้ไหมครับ

หยุดท่าเรือน้ำลึกปากบาราเถอะครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท